CITY CRACKER

เมื่อเยาวชนคือสะพานแห่งการเปลี่ยนแปลง ‘กรีซ’ กับการปลูกประชาธิปไตยในหัวใจคนรุ่นใหม่

ยุคกรีกโบราณ  คือต้นกำเนิดของประชาธิปไตยอันมีพื้นที่สาธารณะอย่าง ‘Agora’ ให้ประชาชนได้ออกมารวมตัวถกเถียงพูดคุยกันจนกลายเป็นพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนและส่งเสริมประชาธิปไตย แล้วปัจจุบันระบอบประชาธิปไตยในเมืองต้นกำเนิดเป็นอย่างไรแล้วบ้าง

ปัจจุบันระบอบประชาธิปไตยในประเทศกรีซ (กรีก ปัจจุบัน) ไม่ได้เข้มแข็งอย่างที่ควรจะเป็น การเมืองได้กลายเป็นเรื่องของการกอบโกยผลประโยชน์ คอรัปชั่น และการบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ จนคนกรีซมองการเมืองเป็นเรื่องไม่ดี แต่จริงๆ แล้วความเลวร้ายอาจไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยแต่เป็นนักการเมือง หากอยากได้การเปลี่ยนแปลง ชาวกรีซก็มองว่าการสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ออกมา ‘Vote’ อาจเป็นวิธีหนึ่งที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ระบบมีความเข้มแข็งขึ้น

 

“เราต้องสร้างคนรุ่นใหม่ เยาวชน เข้าสู่การเมืองและทำให้เขาออกมา vote เพื่อสร้างประเทศที่มีคุณภาพ ในแบบที่พวกเขาอยากเห็น” ชาวกรีซคนหนึ่งกล่าว

 

Youth Parliament คือกลไกสำคัญที่คนกรีซมองว่าเป็นการตรียมพร้อม และสะสมพลังของเยาวชนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งในเรื่องใกล้ตัวและปูทางไปสู่การเมืองระดับชาติ โดยแต่ละเมืองในกรีซ จะมีสภาเยาวชนที่คัดเลือกเข้ามาผ่านความสมัครใจ จากนั้นระบบจะสุ่มเลือกเพียง 49 คน และจัดตั้งเป็น Student Council และทีมบริหาร ที่มีวาระทำงาน 1-2 ปี รัฐสภาเยาวชน จะขับเคลื่อนในประเด็นที่หลากหลาย เช่น การศึกษา สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน เป็นต้น เมือมีตำแหน่งว่าง ระบบก็จะสุ่มเลือกคนที่สมัครใหม่เข้ามาทำงาน ด้วยระบบการสุ่มนี้นี้จึงทำให้เราได้เยาวชนที่แตกต่างหลากหลายเข้ามาทำงานด้วยกัน 

สภาเยาวชนจะเป็นศูนย์กลางในการทำงานร่วมกับองค์กร NGO หรือเยาวชนกลุ่มอื่นๆ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ไปด้วยกัน เช่น เยาวชนที่ทำเรื่องสิทธิพลเมือง เยาวชนที่ให้ความช่วยเหลือนักศึกษาใหม่ต่อการปรับตัวกับการเข้าเรียนในแต่ละเมือง เป็นต้น สิ่งสำคัญคือการมีองค์กรพี่เลี้ยงที่ทำงานกับเมืองเพื่อสนับสนุน เป็นที่ปรึกษา เชื่่อมโยง หาแหล่งทุน เพื่อให้การทำงานของเยาวชนสามารถขับเคลื่อนได้ตามแผนที่วางไว้แต่การทำงานนี้ก็ใช่ว่าจะราบรื่นเสียทีเดียว

หนึ่งในปัญหาสำคัญของการขับเคลื่อนสภาเยาวชนคือ การมองว่าเยาวชนไม่สำคัญ  ขนาดเมืองอย่าง Thessaloniki ที่ได้การมอบตำแหน่ง youth capital จากสหภาพยุโรปที่มาพร้อมแนวทางปฏิบัติและทุนสนับสนุนก็ไม่ได้ทำให้พวกผู้ใหญ่ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมองเห็นความสำคัญมากนัก แต่กลไกในการสร้างคนรุ่นใหม่สู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีก็ยังคงต้องดำเนินการต่อไป

เหมือนที่เพื่อนชาวกรีซกล่าวว่า “ประชาธิปไตยเป็นทั้งระบบและวิธีคิดที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีได้ เราต้องสร้างสะพานหรือทำสะพานที่มีอยู่ให้แข็งแรงเพื่อให้คนรุ่นใหม่ก้าวข้ามมาสร้างการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น” 

 

Graphic Designed by Warunya Rujeewong
  • Yossapon Boonsom

    ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker

  • Chayaporn Phungarmngern
Share :