CITY CRACKER

เราเรียกร้องให้เมืองดีกว่านี้ได้ไหม? Right to City สำรวจแนวคิดว่าด้วย ‘สิทธิต่อเมือง’ ของ Henri Lefebvre

ทุกวันนี้คำว่าสิทธิในเมือง หรือสิทธิที่เรามีต่อพื้นที่เมืองเป็นสิ่งที่เราเข้าใจ ความคิดเรื่องสิทธิที่เรามีต่อพื้นที่เมืองสัมพันธ์กับแนวคิดที่เรียกว่า Right to City ความหมายทั่วไปเรามักนึกถึงสิทธิที่เราจะเรียกร้องให้เมืองกลายเป็นพื้นที่ที่ดี เราอาจเรียกร้องการพัฒนาที่อยู่อาศัย การดูแลพื้นที่ชุมชนแออัดให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น การเรียกร้องขนส่งสาธารณะ พื้นที่สีเขียวและอื่นๆ ทั้งหมดนี้สะท้อนสิทธิของเราที่มีต่อเมือง ในการมีชีวิตที่ดีขึ้นโดยสัมพันธ์กับพื้นที่เมืองในฐานะพื้นที่กายภาพ พื้นที่ที่มีความสลับซับซ้อนของรัฐ การลงทุน และจินตนาการในการใช้ชีวิตของผู้คน

©️i.insider.com

คำถามที่เรียบง่ายที่สุดของมโนทัศน์ของ Right to City มาจากคำถามง่ายๆ ว่าทำไมถึงเป็น สิทธิ ‘ต่อ’ เมือง ไม่ใช่สิทธิในพื้นที่เมือง (Right in City) ซึ่งคำว่าสิทธิต่อเมืองนอกจากนิยามร่วมสมัยอันหมายถึงการมีสิทธิในพื้นที่เมืองเพื่อการมีชีวิตที่ดีแล้ว ที่มาของความคิดมาจากงานเขียนเชิงปรัชญาของนักคิดฝ่ายซ้ายคือองรี เลอแฟร์บ Henri Lefebvre จากงานเขียนสำคัญในชื่อเดียวกันคือ Le Droit à la Ville ตีพิมพ์ในปี 1968

ในวันที่เราเริ่มมีแนวคิดเรื่องเมืองที่ดี สิ่งที่เมืองควรมอบให้ผู้คน City Cracker ชวนย้อนดูแนวคิดเรื่องสิทธิต่อพื้นที่เมือง จากรากฐานของนักปรัชญาที่มองการเมืองของพื้นที่เมือง และมองสิทธิในฐานะสิ่งที่เราต้องต่อสู้และทดลองถึงจะได้มา ชวนเข้าใจว่าทำไมพื้นที่เมืองถึงสำคัญ และอะไรคือสิทธิที่เราพึงมีกับพื้นที่เมืองที่เปลี่ยนแปลงและแผ่ขยายอยู่ตลอดนี้

 

©️wikimedia.org

 

Lefebvre กับเมือง และข้อขบคิดอันซับซ้อน

คอนเซปต์เรื่องสิทธิต่อพื้นที่เมืองเป็นแนวคิดที่ได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นภาคปฏิบัติ หรือกลายเป็นแนวทางหลักในการดำเนินนโยบายหรือต่อสู้เพื่อเมืองที่ดีในปัจจุบัน ทว่าการกลับไปดูที่มาของความคิดก็อาจทำให้เรามองเห็นปฏิสัมพันธ์ของเราที่มีต่อเมือง และความเคลื่อนไหวของเรานั้นมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงเมืองได้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิความเป็นเมือง (citizenship)

สำหรับประเด็นเมือง อองรี เลอแฟบวร์ ถือเป็นหนึ่งในนักคิดสมัยใหม่ที่ให้ความสนใจเรื่องเวลาและพื้นที่เมืองในฐานะพื้นที่ที่เราใช้ชีวิตและมีปฏิสัมพันธ์อย่างซับซ้อน คำว่าเมืองหมายถึงพื้นที่ที่มีความซับซ้อนและส่วนหนึ่งเป็นผลผลิตของโลกทุนนิยม นอกจากหนังสือ Le Droit à la Ville ที่พูดถึงสิทธิที่ผู้คนมีต่อเมืองแล้ว เลอแฟบวร์ยังเสนอแนวคิดสำคัญที่ปูทางมาสู่เรื่องสิทธิคือแนวคิดเรื่อง Critique of Everyday Life แนวคิดที่ชี้ให้เห็นความซับซ้อนของชีวิตประจำวันที่โลกของทุนนิยมและรัฐเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวัน เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในการมีชีวิต รวมถึงการทำให้เราเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตและการบริโภคอย่างไม่รู้จบ

ด้วยบริบทข้อเขียนของเลอแฟบวร์ที่ค่อนไปทางสังคมวิทยาและเป็นแนวคิดแบบหลังมาร์กซิสต์ งานเขียนของเลอแฟบวร์เองจึงค่อนข้างซับซ้อน เช่น หนังสือ Right to City อภิปรายบริบททั้งความเป็นเมือง ประวัติศาสตร์การต่อสู้ กรอบความคิดเรื่องวิทยาศาสตร์ ความรู้ สถาปัตยกรรม การบริหารเมืองและอื่นๆ อย่างกว้างขวางและค่อนข้างซับซ้อน โดยนักคิดในชั้นหลังๆ ไปจนถึงภาคประชาสังคมในยุคต่อๆ มาเป็นกลุ่มที่นำเอาความคิดของเลอแฟบวร์ มาประยุกต์และปรับใช้คนกลายเป็นแนวคิดพื้นฐานในปัจจุบัน

©️jacobinmag.com

สิทธิต่อเมืองคืออะไร

อันที่จริง แค่การที่เลอแฟบวร์เลือกคำว่าสิทธิต่อเมือง ไม่ใช่แค่การบรรยายว่าเรามีสิทธิอะไรในเมืองบ้างก็เป็นเรื่องชาญฉลาดและสะท้อนพลวัตรการต่อสู้จากยุค 1960 ได้อย่างน่าสนใจ ถ้าอธิบายในภาพรวม เมืองของเลอแฟบวร์เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยพลวัตรและความเปลี่ยนแปลง เมืองเป็นพื้นที่ของอำนาจ เป็นพื้นที่ที่สัมพันธ์กับทุนและการลงทุน ทว่า เมืองที่ขับเคลื่อนด้วยระบบทุนนิยมและรัฐนั้นกลับเป็นพื้นที่ที่มีพวกเรา ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองด้วย ดังนั้น ในความเปลี่ยนแปลงและความเคลื่อนไหวของเมืองที่ไม่รู้จบนี้ เรา ในฐานะผู้อยู่อาศัยจึงมี ‘สิทธิ’ ที่จะเข้าร่วม ชี้นำและปรับเปลี่ยนเมืองไปตามความต้องการและจินตนาการที่เรามีต่อเมืองนั้นๆ ด้วย

ความซับซ้อนของสิทธิที่เรามีต่อเมืองจึงมีความซับซ้อนมาก เลอแฟบวร์ใช้คำว่าการที่เราจะได้สิทธินั้นมาเราต้อง ‘ส่งเสียง’ และ ‘เรียกร้อง’ (เลอแฟบวร์เขียนว่า the right to the city is like a cry and a demand.) ในมุมมองของเลอแฟบวร์ ความสุขและการใช้ชีวิตธรรมดาสามัญของเราเป็นผลผลิตจากย่านและเมืองที่เราอยู่อาศัย

ทว่า มุมมองสามัญเรื่องสิทธิและเมืองนั้นมีความซับซ้อนและมีนัยของการเมืองและการต่อสู้ อย่างแรกคือเมืองเป็นพื้นที่ของผู้มีอำนาจ เป็นพื้นที่ของการใช้อำนาจ การเรียกร้องสิทธิจึงมักเกี่ยวข้องกับการเรียกร้องเพื่อกลุ่มคนชายขอบ กลุ่มคนท่ีไม่ได้รับความเป็นธรรมและถูกละเลย ความคิดเบื้องต้นที่สุดของสิทธิในเมืองคือการอ้างสิทธิ การป่าวร้อง และการรับรู้สิทธินั้น (claimed, stated, and then realized)

©️freedomforum.org

สิ่งที่น่าสนใจของกระบวนการนี้ยังสอดคล้องกับความคิดพื้นฐานเรื่องพลวัตรหรือความเปลี่ยนแปลงของเมือง คือด้านหนึ่งสิทธิหรือจินตนาการการใช้งานเมืองของเรา ของผู้ใช้งาน ของประชาชน เป็นสิ่งที่เรายังจินตนาการไม่ได้ เรายังไม่รู้ว่าพื้นที่เมืองอาจกลายเป็นอะไรได้และเราใช้งานมันในฐานะผู้มีสิทธิต่อเมืองได้อย่างไร

จากฐานความคิดที่เป็นปรัชญาในที่สุดแนวคิดเรื่องสิทธิในเมืองจึงนำไปสู่กระบวนการต่างๆ ที่กลุ่มผู้ใช้เมืองอื่นๆ องค์กรหรือนักออกแบบ จะทำหน้าที่รวบรวมผู้คน ส่งเสียง และหาวิธีการใช้งานเมืองผ่านเวิร์กชอป การทำกิจกรรมและการส่งเสียงในรูปแบบต่างๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงพื้นที่เมืองนั้นๆ ไปข้างหน้า โดยมีแนวคิดพื้นฐานเรื่องสิทธิต่อเมืองของคนทุกคนเป็นสมการของการพัฒนา

สุดท้าย หนึ่งในความเข้าใจที่ค่อนข้างชัดเจนขึ้นจากแนวคิดสิทธิต่อเมืองคือการสรุปข้อสรุปของเลอแฟบวร์ที่เขียนถึงสิทธิต่อเมืองในฐานะคำเรียกร้อง-ความต้องการ (demand) คือคำอธิบายเพิ่มเติมของนักคิดชื่อ David Harvey นักสังคมวิทยาผู้สนใจอำนาจและความซับซ้อนของระบบทุนนิยมว่า

สิทธิต่อเมืองไม่ใช่แค่การเข้าถึงทรัพยากรของเมือง (urban resources) แต่เป็นสิทธิของเรา(ผู้อยู่อาศัย) ที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเราเองผ่านการเปลี่ยนแปลงเมือง (it is a right to change ourselves by changing the city)

ดังนั้น ในฐานคิดเรื่องสิทธิต่อเมือง เราในฐานะผู้อยู่อาศัย มีสิทธิ หรือกระทั่งหน้าที่ ในการร่วมจินตนาการ ร่วมเรียกร้องและขับเคลื่อนในพื้นที่เมืองสู่จินตนาการและการใช้พื้นที่เมืองแบบใหม่ๆ เป็นการต่อรองกับอำนาจทั้งรัฐและการลงทุนโดยยืนเคียงข้างคนทุกกลุ่ม การขยายจินตนาการและการเรียกร้องต่อสู้ จึงอาจยังเป็นกระบวนการขับเคลื่อนเมืองอย่างสำคัญที่จะพาหน้าตาและดินแดนของตึกสู่ไปสู่พรมแดนและโฉมหน้าใหม่ๆ ต่อไป

 

อ้างอิงข้อมูลจาก
theanarchistlibrary.org
metropolitics.org
researchgate.net
habitat3.org

 

Graphic Designed by eggyolkcity
Share :