CITY CRACKER

เมืองอีเวนต์คืออะไร สิงค์โปร์กับการพัฒนาเมืองตั้งแต่เรื่องพื้นฐานจนถึงการเป็นเมืองอีเวนต์

คอนเสิร์ตเทย์เลอร์สวิฟต์ 6 รอบที่สิงคโปร์เพิ่งจบไป เหล่าสวิฟตี้จากทั่วภูมิภาค ทั้งประเทศไทย มาเลเซีย ฟิลิปินส์ รวมถึงชาติอื่นๆ ต่างเดินทางจากหลายพื้นที่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปเพื่อชมคอนเสิร์ตของเทย์เลอร์ที่สิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศเดียวของภูมิภาคที่ได้จัดคอนเสิร์ตทั้ง 6 รอบของเทเลอร์ สวิฟต์

ภายใต้บรรยากาศการถกเถียงกันเรื่องการผูกขาดคอนเสิร์ตของสิงคโปร์ ไปจนถึงข้อคิดเห็นว่าในมิติของสาธารณูปโภค เช่น พื้นที่จัดคอนเสิร์ตของไทยอย่างสนามราชมังคลากีฬาสถานก็อาจมีศักยภาพในการจัดคอนเสิร์ตระดับโลกได้ไม่แพ้กัน

แต่ถ้าเราพูดกันตามจริง การจัดคอนเสิร์ตหรืออีเวนต์ขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ หรือใกล้เคียง ในฐานะคนที่ไปร่วมงานไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ตระดับนานาชาติ หรือกระทั่งการสอบสนามยักษ์ที่มีผู้คนไปรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก ผู้ร่วมงานทั้งหลายก็จะต้องเตรียมใจรับความลำบากไว้เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นขนส่งสาธารณะที่ไม่พร้อม ปัญหาพื้นที่รอบๆ ที่จัดงาน ความปลอดภัยและความพร้อมเมื่องานเลิกที่มักเป็นเวลากลางคืน หรือปัญหาร่วมของคนพื้นที่

ถ้าเรามองย้อนไป การพัฒนาโดยมีอีเวนต์เป็นตัวขับเคลื่อนถือเป็นกลยุทธ์การพัฒนาที่มีมาตั้งแต่ก่อนปี 2000 การพัฒนาด้วยอีเวนต์หรือ Eventful City เป็นแนวทางการพัฒนาที่หลายเมืองเลือกใช้ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองโดยมุ่งเน้นการท่องเที่ยว การลงทุนทั้งพื้นที่จัดงานและสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ การลงทุนสร้างเพื่ออีเวนต์ถือว่าเป็นการลงทุนที่ยืดหยุ่น คือเป็นการเปิดพื้นที่ที่สามารถใช้งานได้หลากหลาย จัดงานได้หลายรูปแบบ ทั้งยังมุ่งเน้นการเปิดพื้นที่เพื่อการใช้งานทั้งในช่วงที่มีและไม่มีงาน

อะไรคือเมืองอีเวนต์ที่ดี และสิงค์โปร์เริ่มปรับตัวเองสู่การเป็นเมืองอีเวนต์ได้อย่างไร City Cracker ชวนไปอ่านพร้อมกันในบทความนี้

เมืองอีเวนต์ คือเมืองที่ดี?

ประเด็นเรื่องเมืองอีเวนต์ที่ดีคืออะไร ด้านหนึ่งประเด็นเรื่องเมืองแห่งการจัดอีเวนต์นับเป็นนโยบายและการบริหารระดับใหญ่ของรัฐ หรือเมืองๆ หนึ่ง ซึ่งการจัดอีเวนต์สัมพันธ์กับหลายมิติรวมไปถึงการรวบรวมเครือข่ายเพื่อสร้างให้เกิดภาพของเมืองไปจนถึงการบริโภคสินค้าและบรรยากาศของเมืองจนกลายเป็นการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ของเมืองนั้นๆ

แต่ว่า คำตอบเบื้องต้นของคำว่าเมืองที่ดี ในบทความวิชาการ Eventful cities: Strategies for event-based urban development พูดถึงความสำคัญและเงื่อนไขเบื้องต้นของความเป็นเมืองที่สัมพันธ์กับการพัฒนาเมืองอีเวนต์ที่จะสร้างความสนใจในระดับโลกได้ การพัฒนาเมืองเพื่ออีเวนต์ก็เริ่มต้นที่คำตอบแสนพื้นฐานคือการเป็นเมืองที่ดีก่อน

บทความชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาเมืองเพื่ออีเวนต์เรามักนึกถึงการลงทุนสร้างพื้นที่ เช่น อาคารขนาดใหญ่เพื่อการจัดงาน แต่นอกจากพื้นที่สเตเดียมหรือศูนย์จัดแสดงแล้ว ยังมีเงื่อนไขสำคัญคือบริบทเมืองโดยรอบ นั่นคือการพัฒนาขนส่งสาธารณะโดยทั่วไปพร้อมๆ กัน ซึ่งก็รวมไปถึงประเด็นเรื่องที่พักอาศัยและบริบทการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้วย

ความพร้อมด้านขนส่งสาธารณะ รวมถึงตัวพื้นที่ทั้งสนามกีฬาแห่งชาติที่พัฒนาขึ้นใหม่ในช่วงปี 2010 และสร้างเสร็จในปี 2014 สเตเดียมของสิงคโปร์ถือเป็นหนึ่งในอาคารที่มีความก้าวหน้าด้านการก่อสร้างในระดับภูมิภาค มีหลังคาที่เปิด-ปิดได้ซึ่งถือว่าเป็นโดมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งการออกแบบยังเน้นความเข้าใจเรื่องภูมิอากาศความเป็นเมืองร้อน ออกแบบให้สะท้อนความร้อนและเน้นการดึงอากาศจากภายนอกเพื่อให้ควบคุมอุณหภูมิภายใน มีระบบระบายน้ำที่ซับซ้อนซึ่งการันตีว่าน้ำไม่ท่วมไม่ว่าจะแข่งกีฬากลางแจ้ง ตัวพื้นที่ติดกับแหล่งน้ำขนาดใหญ่ของเมืองทำให้จัดงานได้อย่างยืดหยุ่น

นอกจากตัวอาคารแล้ว สนามกีฬาสิงคโปร์ยังเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาใจกลางเมือง ตัวสนามมีขนส่งสาธารณะรองรับถึง 3 สถานี ตัวสนามเองก็เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาของมารีน่า เบย์ แซนด์ ทำให้ย่านรอบๆ เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวและพื้นที่ประสบการณ์ ประกอบไปด้วยโรงแรม ร้านอาหาร ไปจนถึงจุดท่องเที่ยว ซึ่งความน่าสนใจของสนามกีฬาที่เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาบริเวณอ่าวนี้ ในที่สุดภาพกลางเมืองที่ทันสมัย ดึงดูดใจและเป็นพื้นที่ของการจัดงานระดับโลกได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนของสิงคโปร์ไปโดยปริยาย

ถ้าเราดูทิศทางของสิงคโปร์ พื้นที่ที่สิงคโปร์เชิญชวนให้อีเวนต์ระดับโลกมาเยือนและใช้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางมีองค์ประกอบหลายด้าน เช่น การพูดถึงสาธารณูปโภคล้ำสมัยที่มารีน่า เบย์ แซนด์ การเชื่อมต่อกับเมืองสำคัญกว่า 400 แห่งทั่วโลก ไปจนถึงการมีทีมเชื่อมต่อและดูแลการจัดงานมืออาชีพที่จะร่วมสนับสนุนการจัดงานในระดับโลก นอกจากความพร้อมและความทันสมัยของเมือง และของรัฐบาลแล้ว สิงคโปร์ยังเริ่มชูจุดเด่นคือการเป็นเมืองสีเขียว การจัดกิจกรรมต่างๆ ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม การบริการขนส่งสาธารณะที่หลากหลายและครอบคลุมไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า รถเมล์หรือแท็กซี่ที่ล้วนเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนของโลก

ย้อนดูการเป็นเมืองอีเวนต์ของสิงคโปร์

การสร้างความเป็นเมืองอีเวนต์ ในบางงานศึกษาพูดถึงการสร้างตัวตนของเมืองนั้นๆ ไปจนถึงการสร้างตัวตนที่น่าสนใจให้กับเมือง สิงคโปร์เองเริ่มพบว่าภาคท่องเที่ยวของตัวเองเป็นพื้นที่สำคัญตั้งแต่ราวปี 2006 เป็นภาคธุรกิจที่เติบโตแม้สิงคโปร์จะเจอกับโรคซาร์สในตอนนั้น

สิ่งที่น่าสนใจของสิงคโปร์คือ สิงคโปร์รู้ว่าตำแหน่งของตัวเองคือการเป็นเมืองทางการค้า เป็นเมืองของภูมิภาคที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจแซงหน้าเมืองอื่นๆ ในขณะเดียวกัน สิงคโปร์เองก็รับรู้ว่าตัวเองไม่ได้มีบริบทของพื้นที่สันทนาการหรือกิจกรรมจากเกษตรกรรมเหมือนเมืองอื่นๆ ของเอเชีย สิ่งที่สิงคโปร์ทำคือการลงทุนพื้นที่และพัฒนาความเป็นเมืองการค้าสมัยใหม่ จากแถบอ่าวมารีน่า ถึงชิงช้าสวรรค์ (Singapore Flyer) สวนมหัศจรรย์การ์เดนบายเดอะเบย์ การเปิดย่านออร์ชาดให้เป็นย่านชอปปิ้งที่ครบและทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่ง ไปจนถึงการพัฒนาแม่น้ำและพื้นที่ริมน้ำ

การพัฒ นาพื้นที่ปลูกสร้างใหม่ๆ ทั้งหมดของสิงคโปร์หรือ builtscape มีกลยุทธ์ที่น่าสนใจคือสิงค์โปร์ทำร่วมกับการจัดกิจกรรมต่างๆ ไปพร้อมๆ กันเรียกว่า eventscapes ช่วงนี้เองที่สิงคโปร์เริ่มจัดกิจกรรมในพื้นที่เมืองของตัวเองตั้งแต่การจัดงานพาเรด จัดมาราธอน และการที่สิงคโปร์เริ่มกลายเป็นผู้เจรจาและประมูลรายใหญ่ของอีเวนต์กีฬาและสันทนาการระดับโลก เช่น การจัดโอลิมปิกเยาวชนในปี 2010 การแข่งขันฟอมูลาร์วันในปี 2008 ซึ่งจัดต่อเนื่องมาจนถึงปี 2017 การแข่งขันเทนนิสหญิงซึ่งจัดตั้งแต่ปี 2014-2019

นอกจากพื้นที่กีฬาแล้ว สิงคโปร์ยังกระจายพื้นที่สันทนาการเพื่อให้ตัวเองเป็นหมุดหมายไลฟ์สไตล์และสันทนาการ รวมถึงเป็นพื้นที่อีเวนต์ระดับโลก เช่น การเป็นพื้นที่จัดประชุมสำคัญ ทั้งประชุมผู้นำโลก พื้นที่จัดงานสถาปัตยกรรมโลก (WAF) ประเด็นสัมนาและการเป็นพื้นที่การประชุมกำหนดนโยบายหรือสถาปัตยกรรมที่ล้ำหน้าในระดับโลกล้วนเดินทางมาจัดที่สิงคโปร์ เช่น การจัด Singapore International Water Week หรือ Singapore Air Show

บริบทหนึ่งที่สิงคโปร์ลงทุนและให้ความสนใจอย่างสำคัญคือพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สิงคโปร์วางกลยุทธ์และแบ่งเซ็คเตอร์ของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไว้อย่างกว้างขวางและหลากหลายซึ่งทั้งหมดสัมพันธ์กับหน้าตาและการลงทุนของสิงคโปร์ในภาคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในปัจจุบัน ภาคสร้างสรรค์ทั้งสามส่วนประกอบด้วย 1, ศิลปวัฒนธรม(arts and culture) เกี่ยวข้องตั้งแต่ศิลปะการแสดง ทัศนศิลป์ ศิลปะวรรณกรรม(literary arts) ภาพถ่าย หัตถกรรมไปจนถึงห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ หอเอกสาร พื้นที่เพื่อการประมูล พื้นที่มรดก พื้นที่จัดแสดง เทศกาลและอื่นๆ 2, งานออกแบบ(design) เกี่ยวข้องตั้งแต่โฆษณา สถาปัตยกรรม กราฟิก เวปไซต์ แฟช้น การออกแบบทั้งการสื่อสาร การออกแบบภายใน ไปจนถึงการออกแบบเชิงสิ่งแวดล้อม และ 3. สื่อ(media) สัมพันธ์กับการออกอากาศ สื่อดิจิตอล ภาพยนตร์ ดนตรี และการพิมพ์

การเปิดและสนับสนุนพื้นที่ทางวัฒนธรรม(cultural sector) ของสิงคโปร์ เป็นส่วนหนึ่งของการรีแบรนด์ จากการเป็นฮับด้านการค้าและธุรกิจ ไปสู่การเป็นพื้นที่ทางศิลปะซึ่งสัมพันธ์กับการปรับบริบทการท่องเที่ยวและตัวตนร่วมสมัยของสิงคโปร์ เช่นในระยะหลังสิงคโปร์นิยามตัวเองว่าเป็นเมืองศิลปะโลก(global arts city) ไปจนถึงนิยามว่าเป็นเมืองแห่งการจัดงาน(eventful city)และนิยามตนเองให้เป็นเมืองหลวงของเทศกาลและความบันเทิงแห่งเอเชีย(Events and Entertainment Capital of Asia)

ความน่าสนใจของสิงคโปร์ ในบริบทและรายละเอียด สิงคโปร์ยังมีรายละเอียดอีกมากมายทั้งการลงทุน การสร้างโครงข่ายการจัดงาน และการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทั้งในเชิงกายภาพและในมิติทางวัฒนธรรมของเมืองไปสู่การเป็นเมืองที่กลายเป็นหมุดหมายและปรากฏอยู่ในพื้นที่โลกสมัยใหม่ สำหรับสิงคโปร์เราจะเห็นถึงการพัฒนาที่ให้ความสนใจกับการเป็นเมืองที่ดี กระทั่งการเป็นเมืองสีเขียว เป็นเมืองนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมอันเป็นบริบทรายรอบของการลงมือและลงทุนในเชิงธุรกิจ

ในแง่นี้นิยามหนึ่งของเมืองอีเวนต์ คือการที่เมืองใช้กิจกรรมและเทศกาลนั้น ส่วนหนึ่งคือการเปิดเมืองดังนั้นควรลงทุนและนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในเมืองนั้นเอง การเปิดเพื่อจัดกิจกรรมจึงเริ่มจากบริบทเมืองรอบๆ ที่ควรจะดีขึ้นและใช้การได้ เกี่ยวข้องกับชีวิตผู้อยู่อาศัยและย่าน ไปจนถึงการพัฒนาที่น่าจะกลับคืนไปสู่คุณภาพชีวิตของผู้คน Greg Richards เขียนไว้ใน Developing the Eventful City: Time, space and urban identity ว่าในที่สุดนิยามของเมืองอีเวนต์คือปลายทางของการพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับทุกคน(support long-term policy agendas that enhance the quality of life for all)

อ้างอิงข้อมูลจาก

academia.edu

grin.com

researchgate.net

ncbi.nlm.nih.gov

researchgate.net

Share :