CITY CRACKER

ขออยู่เงียบๆ บ้างได้ไหม? สิทธิและความจำเป็นของพื้นที่เงียบสงบในความอึกทึกของเมือง

เราอยู่ในช่วงที่กรุงเทพฯ เริ่มครึกครื้น ช่วงก่อนนี้ก็มีการเปิดพื้นที่สวนสาธารณะ ปรับพื้นที่สาธารณะเดิมให้มีสีสันด้วยกิจกรรมต่างๆ ถ้าเรานึกถึงพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะการมีสวนสาธารณะดีๆ การติดหนังสือไปสักเล่ม ไปลงนอนอ่านหนังสือบนสนาม ดมกลิ่นหญ้า หงายหน้ามองฟ้าไปพร้อมๆ กับการท่องสู่โลกของตัวหนังสือ การอ่านหนังสือในสวนจึงเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทำให้ชีวิตในเมืองดูอบอุ่นและนุ่มนวลมากขึ้น

แต่ทว่า… กิจกรรมการอ่านหนังสือก็อาจจะเป็นอีกกิจกรรมที่เราชอบทำ แต่ต้องมองหาพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่สวนที่สบายและเงียบสงบเพียงพอให้เราอ่านหนังสือได้เป็นอย่างดี ถ้ามองไปที่ภาพของเมืองใหญ่ เรามักเห็นภาพของเมืองที่เต็มไปด้วยเสียงอันอึกทึก เมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพ เป็นพื้นที่ของการจราจรอันคับคั่ง แต่เสียงอันอึกทึกของหลายเมืองใหญ่ก็ไม่นับว่าเป็นเรื่องธรรมดาและเริ่มมองเห็นว่า ประเด็นเรื่องมลพิษทางเสียงเป็นเรื่องที่เมืองต้องบริหารจัดการ และผู้คนมีสิทธิที่จะเข้าถึงพื้นที่ที่เงียบสงบ อันเป็นพื้นที่อีกประเภทที่เมืองควรมีไว้บริการประชาชน

 

ปัญหาของเสียงรบกวน มิติทางสุขภาพและประเด็นขัดแย้ง

อันที่จริงนับเป็นเรื่องเข้าใจได้ว่าเสียงดังที่ดังจนเกินไป เช่น เสียงจากการจราจร เครื่องยนต์รถ แตร ไม่ใช่เสียงที่เราเรียกว่าเป็น white noise คือฟังเพลินๆ แต่เป็นเสียงที่เสียดแทงประสาทและทำลายสมาธิ นอกจากเสียงที่ดังอยู่ทั่วไปจากท้องถนนหรือโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว ประเด็นเรื่องมลพิษทางเสียงในพื้นที่เมืองก็มักนำมาซึ่งความขัดแย้งที่หลายครั้งก็อาจบานปลายได้ เช่น กรณีเสียงดังจากกิจกรรมทางศาสนา ข้างบ้านเปิดเพลงเสียงดัง เป็นต้น

เนื่องด้วยเราเริ่มจากกิจกรรมการเขียน-อ่านมาสู่ความจำเป็นของความเงียบสงบในเมืองใหญ่ ในแง่การศึกษาก็มีผลการวิจัยที่เชื่อมโยงผลกระทบของเสียงดังที่มีต่อความสามารถในการเรียนเขียนอ่าน การทดลองจากสวีเดนในปี 2009 พบว่าผลกระทบของเสียงจากถนนส่งผลต่อการเรียนทั้งด้านภาษาและคณิตศาสตร์ งานวิจัยรายงานว่าเสียงของการจราจรส่งผลต่อความเร็วในการอ่าน และส่งผลต่อการเรียนรู้ทักษะทางคณิตศาสตร์ระดับพื้นฐาน

ประเด็นเรื่องเสียง แน่นอนว่าการถูกรบกวนโดยเสียงที่ดังและเป็นระยะเวลานานๆ ส่งผลเสียกับคุณภาพชีวิตอย่างเป็นรูปธรรม มีงานศึกษาบ่งชี้ว่าเสียงรบกวนส่งผลกับการนอนหลับ เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด สัมพันธ์กับภาวะความดันโลหิตสูงและภาวะความจำเสื่อม

นอกจากผลการศึกษาเชิงลบของเสียงที่เป็นรูปธรรมแล้ว นักวิชาการ เช่น Erica Walker จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดยังชี้ให้เห็นว่าเสียงของเมืองบางครั้งเราอาจจะไม่ได้ยินด้วยหู เช่นเสียงที่มีระดับพิชต่ำ (low pitch) แต่เสียงเหล่านั้นเป็นเสียงที่ร่างกายสัมผัสได้และนับว่าเป็นสิ่งรบกวนอย่างหนึ่ง เธอยกตัวอย่างจากการเก็บข้อมูลของชุมชนที่อยู่ใกล้ทางด่วนหรือสนามบิน ว่าชาวชุมชนรายงานว่าพวกเขารู้สึกถึงเสียงรบกวน ที่ไม่ใช่ว่า ‘ได้ยิน (hear)’ แต่เป็นเสียงที่พวกเขา ‘รู้สึก(feel)’ หรือตัวอย่างที่อธิบายคือความรู้สึกเวลาที่รถเมล์วิ่งผ่านเราแล้วเราไม่ได้ได้ยินเสียง แต่กลับสัมผัสถึงแรงสั่นสะเทือนบางอย่างได้ และความรู้สึกว่าเราสัมผัสได้เช่นรู้สึกว่าหัวใจเต้นแรงขึ้นก็เป็นสัญญาณว่าการเจอกับเสียงเหล่านั้นกำลังทำให้ร่างกายของเราอยู่ในภาวะเครียด

 

เมื่อเมืองเริ่ม ‘ฟัง’

ประเด็นเรื่องเสียงของเมืองเริ่มเป็นประเด็นที่เมืองและนักวิชาการสนใจ กรณีของ Erica Walker เองก็มีงานศึกษาเมืองนิวยอร์กที่นำไปสู่การทำแผนที่เสียงรบกวน (noise map) มีการวางระบบเซ็นเซอร์รับเสียง พัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อตรวจสอบเสียง หลายเมืองใหญ่เองก็เริ่มติดตั้งเซนเซอร์เพื่อวัดและทำแผนผังเสียงเพื่อนำไปสู่การวางมาตรการต่อไป เช่น กรุงดับลินหรือปารีส ก็มีการติดตั้งเรดาร์ตรวจจับเสียง

ในความร่วมมือระดับชาติเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต สหภาพยุโรปเองก็ได้ตระหนักเรื่องมลพิษทางเสียงของเมืองใหญ่ และออกเป็นข้อกำหนดในปี 2002 เรียกว่า EU Environmental Noise Directive ข้อกำหนดนี้พูดถึงการที่เมืองต้องปกป้องผู้คนจากมลพิษทางเสียงด้วยพื้นที่ที่เรียกว่าพื้นที่เงียบสงบหรือ Quiet areas โดยพื้นที่เงียบสงบคือพื้นที่ที่พ้นจากเสียงรบกวนของการจราจร พื้นที่อุตสาหกรรม และกิจกรรมสันทนาการอื่นๆ ซึ่งก็ระบุให้เมืองหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมและจัดให้มีพื้นที่เงียบสงบอันส่งผลโดยตรงกับสุขภาวะของผู้คน ตัวอย่างของพื้นที่เงียบสงบก็เช่น สวน ลาน พื้นที่ระหว่างอาคาร ลานกว้าง พื้นที่ว่างเปล่า ซึ่งในตัวข้อกำหนดของสหภาพยุโรประบุให้รัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรทำการสำรวจ คัดแยกและปกป้องพื้นที่เงียบสงบเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรม

จากการออกข้อกำหนดและความสนใจเรื่องเสียงรบกวนของเมือง รวมถึงข้อกำหนดจากสหภาพ ก็ทำให้เมืองในยุโรปรับหลักการนำมาศึกษาและบังคับใช้ต่อ บางเมืองเองก็สนใจเรื่องปัญหาเสียงรบกวนอยู่ก่อนและมีการศึกษาพร้อมทำแผนผังพื้นที่ไว้ก่อนแล้วเช่นเมืองลิสบอน ที่สนใจเรื่องเสียงรบกวนเช่นจากสนามบินในปลายทศวรรษ 1990 ต่อมาลิสบอนก็ได้ออกแผน Lisbon Noise Action  Plan โดยแผนเรื่องเสียงรบกวนของลิสบอนเน่นไปที่การปกป้องสุขภาพและสุขภาวะของพลเมืองจากเสียงรบกวน มุ่งเน้นลดระดับเสียงของสิ่งแวดล้อม และมุ่งรักษาพื้นที่เงียบสงบของเมืองไว้

cr. lisboa.pt
แผนที่เสียงของเมืองลิสบอน  cr. lisboa.pt

 

หนึ่งในวิธีการของหลายเมืองคือการสำรวจพื้นที่เงียบสงบเพื่อที่จะทำความเข้าใจและรักษาพื้นที่เงียบสงบของตนเองไว้ ลิสบอนเองก็เช่นกัน ลิสบอนมีจุดเด่นจากประวัติศาสตร์อันยาวนาน ลิสบอนได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่เงียบสงบ มีจัตุรัสที่โรแมนติก มีตรอกซอกซอยเล็กๆ มีสวน มีมุมของเมืองและพื้นที่ที่หลากหลายที่เปิดโอกาสให้ผู้คนที่อยู่กับความเงียบสงบและการครุ่นคิดทบทวน ดังนั้น ลิสบอนจึงมุ่งเน้นไปที่การรักษาพื้นที่ที่สงบเงียบของตัวเองด้วยการการลดการจราจรลง การเข้าใจแผนผังเสียงและมองเห็นพื้นที่เงียบสงบทำให้ลิสบอนสามารถรักษาและส่งเสริมพื้นที่เงียบสงบ โดยการระบุและจัดการพื้นที่อย่างเฉพาะเจาะจงและมีประสิทธิภาพทำให้ลิสบอนในภาพรวมมีตัวตนที่เงียบสงบ (peaceful) มากขึ้น

นอกจากลิสบอนแล้ว เมืองอื่นๆ ของยุโรปแน่นอนว่าก็มีการรับหลักการ โดยหลายเมืองใหญ่ก็เริ่มทำแผนผังเรื่องเสียงรบกวน มีการออกข้อกำหนดเพื่อควบคุมเสียง ในภาพรวม ข้อบังคับและการทำแผนที่เพื่อสำรวจมิติที่อาจจะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่านั้น ก็นำไปสู่การเพิ่มหรือจัดการพื้นที่กายภาพ อันจะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตหรือการส่งเสริมดูแลสุขภาพผู้คนอย่างเป็นรูปธรรม

เมื่อรัฐหรือผู้เกี่ยวข้องมองเห็นความจำเป็นของพื้นที่เงียบสงบ การมีพื้นที่เงียบสงบอาจไม่ใช่แค่การมีพื้นที่นอนเล่นอ่านหนังสือ แต่คือการที่เมือง จะมองเห็นสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้คนอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมมากขึ้น การเห็นแผนที่และแผนผังพื้นที่เงียบสงบอาจนำไปสู่การจัดการบางอย่าง เช่น การเพิ่มและกระจายสวนขนาดเล็ก การออกแบบพื้นที่สีเขียว และพื้นที่สาธารณะที่เน้นซับเสียงหรือสอดคล้องกับกิจกรรมที่มอบความเงียบสงบให้กับผู้คน การมองเห็นพื้นที่สาธารณะที่อาจอยู่ในพื้นที่เงียบสงบหรืออาจส่งเสริมให้สงบเงียบมากขึ้นได้ด้วยปรับปรุง การจัดการการจราจรโดยรอบ การส่งเสริมการเดินทางบางจำพวกที่ลดเสียงรบกวนลง

จากจุดเริ่มของการแสวงหาพื้นที่ทำกิจกรรมที่อาจเป็นกิจกรรมยามว่าง แต่อ้างอิงจากความตื่นตัวเรื่องเสียงรบกวนจนนำไปสู่การออกกฏหมายและการควบคุมอย่างจริงจัง ประเด็นเรื่องเสียงรบกวนในเมืองใหญ่อาจจะเป็นอีกหนึ่งโจทย์ของเมืองที่ดี ที่ส่งเสริมให้สุขภาพและกิจกรรมที่ดีกับผู้คน เพราะเมืองที่แข็งแรงก็ต้องการผู้คนที่มีสุขภาพกาย สุขภาพใจที่แข็งแรง

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

webgate.ec.europa.eu

noiseandhealth.org

popsci.com

academia.edu

earthjournalism.net

 

Illustration by Montree Summut
Share :