CITY CRACKER

ย่านที่เลี้ยงน้องหมาอาจเกิดอาชญากรรมน้อยกว่า ว่าด้วยความปลอดภัยของย่านและการเลี้ยงสุนัข ผ่านแนวคิด Eyes on the Street ของ เจน จาคอบส์

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สวนป่าเบญจกิติเปิดโซนสำหรับสุนัข ให้คนกรุงเทพฯ จูงน้องหมาไปพักผ่อนหย่อนใจได้ เป็นภาพน่ารักและทำให้เมืองเริ่มเห็นวิถีชีวิตใหม่ๆ เช่น การมีสัตว์เลี้ยงเป็นสมาชิกใหม่ของครอบครัว

City Cracker ได้เสนอภาพของเมืองที่ดีต่อสัตว์เลี้ยง อันเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการพัฒนาเมืองที่รับกับการเปลี่ยนแปลงของผู้คน และเมืองที่มองเห็นสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ก็อาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนได้ เช่น พาให้ผู้คนใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น การกระจายขนส่งสาธารณะ การใช้สัตว์เลี้ยงเพื่อตอบสนองความต้องการ เช่น ในกลุ่มผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ กระทั่งเมืองที่มองเห็นสัตว์อื่นๆ อาจร่วมลดปัญหาสุนัขและแมวจรลงได้

ในภาพเมืองที่มีความหลากหลายขึ้น การเลี้ยงสุนัขในย่านอย่างที่เราเห็นในหลายเมืองของยุโรป คือเป็นเมืองที่ผู้คนจูงสุนัขออกมาเดินเล่น ขึ้นรถเมล์และรถไฟฟ้า ซึ่งในที่สุดแล้ว การมีสุนัขอยู่ร่วมกับย่านนั้นอาจไม่ใช่แค่ช่วยชุบชูความรู้สึกต่อย่านให้มีชีวิตชีวาและน่ารักขึ้น แต่ยังมีงานศึกษาที่พบว่า ย่านที่มีการเลี้ยงสุนัขนั้นมีอัตราการเกิดอาชญกรรมที่ต่ำกว่า มีความปลอดภัยและไว้เนื้อเชื่อใจสูง โดยงานศึกษาดังกล่าวใช้หลัก eyes on the street ของ เจน จาคอบส์ นักทฤษฎีและนักพัฒนาในตำนานมาอธิบายว่าเจ้าสี่ขานั้น ทำให้ถนนมีชีวิต และช่วยสร้างความปลอดภัยให้ชุมชนได้

 

@RUFFWEAR

 

‘สี่ขาบนถนน’ กับอัตราการเกิดอาชญกรรมที่ลดลง

งานศึกษาที่ว่าด้วยความเป็นย่าน และผลของการเลี้ยงสุนัขที่ไปสัมพันธ์กับความปลอดภัยและความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจนี้มาจากทีมวิจัยของสองมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ คือ Ohio State University และ University of Texas at Austin ตีพิมพ์ในวารสาร Social Forces เมื่อฉบับเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

งานวิจัยรายงานว่า ย่านที่มีการเลี้ยงสุนัข มีรายงานตัวเลขการฆาตกรรม การปล้น และการทำร้ายร่างกายที่ต่ำกว่าย่านที่ไม่มีการเลี้ยงสุนัขหรือมีน้อยกว่า ทั้งยังรายงานว่าย่านที่มีน้องหมานั้น ผู้คนในย่านมีอัตราความไว้เนื้อเชื่อใจ (trust) ซึ่งกันและกันสูงกว่า ตัวงานศึกษาเป็นการจับคู่และวิเคราะห์ผลจากข้อมูลอาชญกรรม และตัวเลขความหนาแน่นอนของการเลี้ยงสุนัขในย่าน ซึ่งพอนำมาประมวลผลก็พบว่า ตัวเลขอาชญกรรมและความหนาแน่นของสุนัขมีความสัมพันธ์กัน

ในแง่ของกรอบทฤษฎี งานศึกษาชุดนี้นับเป็นการนำเอาหลักการสำคัญของเจน จาคอบส์ 2 ข้อ คือแนวคิดเรื่องการเฝ้าระวังซึ่งกันและกัน หรือ eyes on the street กับเงื่อนไขความไว้เนื้อเชื่อใจของผู้คนในย่าน ซึ่งย้อนกลับไปส่งผลกับความปลอดภัยของย่านนั้นๆ งานวิจัยนี้เชื่อมโยงมิติที่พิเศษเข้าไปอีก โดยเชื่อมโยงการมีสัตว์คือสุนัขของย่านเข้ากับภาพของย่านปลอดภัยที่สอดคล้องกับเงื่อนไขของเมืองที่ดี คือถนนและย่านที่ดีคือย่านที่มีชีวิต ผู้คนคอยดูแลซึ่งกันและกันและสร้างความไว้ใจกันโดยมีน้องหมาเป็นเงื่อนไขหนึ่ง

 

Neal Boenzi/The New York Times

 

การมีน้องหมาบนท้องถนน ไม่ใช่แค่การเลี้ยงแต่คือย่านที่คนจูงหมาไปมา

จากตัวเลขที่พบความเชื่อมโยงความหนาแน่นของการเลี้ยงสุนัขและอาชญกรรมที่ต่ำกว่า ในมิติของงานวิจัย ตัวงานวิจัยเองมีพื้นฐานจากหลักคิด 2 ประการของเจน จาคอบส์ที่เกี่ยวข้องกับย่านปลอดภัย ด้านหนึ่งคือการตรวจตาซึ่งกันและกัน อีกประการคือความไว้เนื้อเชื่อใจ

ทีนี้ การมีสุนัขที่นักวิจัยชี้ให้เห็น มีหน้าตาแบบไหน จากบทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ Christopher Browning หนึ่งในคณะวิจัย ค่อนข้างระบุถึงการ ‘พาสุนัขเดินเล่น (walking dog)’ โดยระบุว่า การที่ย่านหนึ่งมีผู้คนจูงหมาเดินไปเดินมานั้น มีลักษณะเหมือนการเดินตรวจตราเฝ้าระวังให้กับย่าน ในแง่นี้ หลักการของเจน จาคอบส์ ที่บอกว่าย่าน หรือถนนที่มีผู้คน มีการเฝ้ามองของผู้คน เป็นถนนที่มีชีวิต มีความเคลื่อนไหว การเฝ้าระวังซึ่งกันและกันนี้เองที่ทำให้ย่านปลอดภัย ในทางกลับกัน ถ้าถนนหนทางเดินไม่ได้ ถูกปล่อยให้ทิ้งร้าง ไม่มีสายตาหรือผู้คนจับจ้องบนถนน ถนนหรือย่านนั้นก็จะมีจุดบอดและเกิดอาชญากรรมได้โดยง่าย

แนวคิดเรื่อง eyes on the street จึงเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการพัฒนาย่านและจุดบอดของย่าน ด้วยการสร้างทั้งการเข้าถึง การมีกิจกรรม และการถูกมองเห็น โดยด้านหนึ่งนักพัฒนาเมืองและนักสังคมวิทยาเองใช้หลักสร้างความเคลื่อนไหวนี้ แต่นักวิจัยจากงานศึกษาดังกล่าวระบุว่า ในแง่วิชาการยังไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงระหว่างอาชญากรรมกับหลักการการดูแลซึ่งกันและกันที่ชัดเจน งานศึกษาชิ้นนี้จึงนับเป็นหลักฐานเชิงสถิติที่ชัดเจนชิ้นหนึ่ง

streeteasy.com

 

จูงหมาเดินเล่น กับปฏิสัมพันธ์และความไว้เนื้อเชื่อใจของผู้คน

ลองนึกภาพที่บ้านเราอาจจะยังมีไม่มากนัก คือภาพของย่านพักอาศัยที่มีคนจูงหมาไปมา แน่นอนว่าสุนัขมักเป็นจุดสนใจ และเป็นพื้นที่ปฏิสัมพันธ์ของผู้คน ในงานวิจัยชิ้นเดียวกันนี้ก็ได้พูดถึงผลกระทบของการเลี้ยง และจูงสุนัขในย่านว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้ย่านปลอดภัย และทำให้ความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจในย่านที่มีสุนัขเยอะสูงกว่าย่านที่มีการเลี้ยงสุนัขน้อยกว่า

งานศึกษานี้ใช้วิธีทั้งการสอบถามเก็บข้อมูลถึงความรู้สึก และการประมวลตัวเลขปริมาณการเลี้ยงสุนัขของย่านเข้ากับตัวเลขความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจ งานวิจัยรายงานว่าในย่านที่มีความไว้วางใจซึ่งกันและกันสูง (high-trust neighborhoods) มีอัตราการเลี้ยงสุนัขสูง (high in dog concentration) มีตัวเลขการปล้นที่ต่ำกว่าย่านที่มีการเลี้ยงสุนัขน้อยถึง 2 ใน 3 และมีอัตราการฆาตกรรมต่ำกว่าราวครึ่งหนึ่ง

นักวิจัยอธิบายผลการศึกษานี้ว่า สุนัขนับเป็นสัตว์เลี้ยงพิเศษที่จะต้องจูงเดิน และในระหว่างจูงเดินนั้น ทั้งผู้เลี้ยงและชาวชุมชนก็จะมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน บางครั้งเราไม่รู้ชื่อเจ้าของแต่รู้จักชื่อสุนัข ชุมชนที่มีสุนัขจึงมีความแน่นแฟ้นกันผ่านปฏิสัมพันธ์ของผู้คนโดยมีน้องหมาเป็นเครื่องมือ บางครั้งในการปฏิสัมพันธ์นั้นนำไปสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูล ไปสู่การทำความรู้จักซึ่งกันและกัน รวมถึงอาจนำไปสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูลและสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจช่วยป้องกันหรือระงับอาชญากรรมที่กำลังเกิดขึ้นได้

แม้ว่าในงานศึกษาจะพูดถึงประโยชน์ของการเลี้ยงสุนัขในย่านที่สัมพันธ์กับตัวเลขอาชญากรรมที่ลดลง เช่น รายงานการมีสุนัขที่สัมพันธ์กับการย่องเบาที่ลดลง แต่โดยรวมแล้วหลักการที่นักวิจัยอธิบาย สัมพันธ์กับการออกแบบย่านให้มีชีวิต เป็นพื้นที่ที่ผู้คนสามารถออกมาเดินและมีปฏิสัมพันธ์กัน อันจะนำไปสู่การดูแลและสอดส่องซึ่งกันและกันต่อไป

นอกจากนี้ หลักการและงานศึกษารวมถึงข้อมูลเชิงสถิติก็กลับไปเน้นย้ำถึงความสำคัญของชุมชนและของย่าน ที่สุดท้าย ย่านที่ปลอดภัยเกี่ยวข้องกับความไว้วางใจที่คนในย่านนี้มีต่อกัน โดยความไว้เนื้อเชื่อใจนั้นอาจมีเงื่อนไขหรือตัวเร่งพิเศษ ที่มีน้องหมาสี่ขาเป็นองค์ประกอบหนึ่ง ในแง่นี้ เมืองที่ดีกับน้องหมา และผู้คนพาสัตว์เลี้ยงออกมาเดินเล่นได้ ก็มีโอกาสสร้างความไว้ใจและเพิ่มสายตาบนท้องถนนได้อีกทาง

 

อ้างอิงข้อมูลจาก
academic.oup.com
planetizen.com
sci.news

 

Illustration by Montree Sommut
Share :