CITY CRACKER

เอาถนนออกแล้วทำเมืองให้ผู้คน Gwanghwamun Square จากพื้นที่ประวัติศาสตร์สู่โอกาสใหม่ของเมือง

การพัฒนาเมืองแห่งยุคสมัยคือการคืนพื้นที่ให้ผู้คนคนได้ออกมาใช้ชีวิตเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจให้กับเมืองไปพร้อมกับผสานธรรมชาติอย่างพื้นที่สีเขียวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวัน

จตุรัสกวางฮวามุน หรือ Gwanghwamun Square คือลานอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่ที่เป็นพื้นที่ศูนย์กลางของประวัติศาสตร์เกาหลี หรือที่คนเกาหลีเรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญลักษณ์ชาติ ตั้งอยู่คู่กับกรุงโซลมาอย่างยาวนาน และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองในฐานะพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่ใช้สอยของผู้คนมากขึ้น

ก่อนจะมีหน้าตาแบบที่เราเห็นกันในปัจจุบัน ในอดีตกวางฮวามุนเคยเป็นในลานปกครองและเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์แบบโบราณ แต่เมื่อโซลขยายตัว จัตุรัสแห่งนี้ก็กลายเป็นพื้นที่ของรถยนต์ที่มีถนนมากถึง 16 เลน ก่อนจะค่อยๆ ปรับจากพื้นที่ของรถรามาสู่การเป็นลานของประชาชนในปี 2009 ได้มีการลดถนนลงเหลือ 10 เลน ปรับพื้นที่ให้เหมาะกับการเดินและการใช้งาน กลายเป็นพื้นที่บริหารราชการและสถานทูต ทั้งยังเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรม เช่น พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยและศูนย์ศิลปะการแสดงเซจง

หลังจากใช้งานมากว่า 10 ปี กวางฮวามุนก็ได้เวลาปรับปรุงครั้งใหญ่ในปี 2020 ผ่านการประกวดแบบนานาชาติที่ถูกจัดขึ้นในปี 2018 และถูกพัฒนาด้วยแนวคิด Deep Surface ที่เพิ่มพื้นที่การใช้งานมากถึง 3 เท่า การประกวดแบบในครั้งนี้จึงเป็นเหมือนหมุดหมายใหม่ของโซลที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของผู้คน การเดิน และสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมๆ กับฟื้นฟูความหมายและสร้างประวัติศาสตร์ของเมืองให้กลับมาเด่นชัดอีกด้วย

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่ได้ทำแค่การปรับภูมิทัศน์เพียงเล็กน้อยแต่คิดใหญ่ในระดับการฟื้นฟูย่าน โดยมีการปรับระบบการจราจรในย่าน ลดถนนด้านนึงออกไปและเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะขนาด 40,000 ตร.ม. จากเดิมที่มีพื้นที่ใช้งาน 18,000 ตร.ม. พร้อมเพิ่มความร่มรื่นและสร้างความหลากหลายของระบบนิเวศในเมืองด้วยต้นไม้และพืชพรรณกว่า 5,000 ต้น ทั้งไม่ใหญ่ที่สัมพันธ์กับความเป็นเกาหลี ต้นไม้ที่ให้สีสัน ไปจนถึงต้นไม้ท้องถิ่น ให้ลานแห่งนี้พร้อมรองรับกิจกรรมทั่วไป รวมถึงอีเวนต์ต่างๆ ของเมือง และเพื่อให้แกนเมืองนี้ส่งเสริมประวัติศาสตร์และวังหลวงด้านหลัง ได้มีการเสนอให้ย้ายรูปปั้นของกษัตริย์เซจงออกไปด้านข้างอีกด้วย

อีกหนึ่งจุดเด่นของกวางฮวามุน คือการใช้พื้นที่ใต้ดินเป็นอีกหนึ่งพื้นที่กิจกรรม มีการออกแบบทางลาด บันไดที่ใช้พื้นที่สาธารณะที่ใช้งานหลากหลาย บางส่วนเน้นการรักษาประวัติศาสตร์ เช่น การจัดแสดงพื้นที่ทางโบราณคดี เช่น การจัดแสดงระบบระบายน้ำ บ่อน้ำโบราณ หรือหลักฐานทางโบราณที่ขุดพบขณะทำการปรับปรุง พร้อมเพิ่มพื้นที่ทางวัฒนธรรม เช่นห้องสมุด พิพิธภัณฑ์และพื้นที่อำนวยความสะดวกต่างๆ โดยไม่ต้องรบกวนภูมิทัศน์ด้านบน

เมื่อพื้นที่นอกอาคาร กลายเป็นพื้นที่สาธารณะและลานกว้างที่มีผู้คนจำนวนมากมาใช้งานก็จะส่งผลให้พื้นที่ชั้นล่างของอาคารรอบๆ มีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้เชื้อเชิญและสอดคล้องกับกิจกรรมภายนอกมากขึ้น เช่น เป็นร้านกาแฟ เป็นแกลเลอรี่ เป็นร้านอาหาร เป็นต้น

หากเราอยากให้เมืองสร้างโอกาสอย่างแท้จริง เราจึงต้องการผู้นำที่มองเห็นโอกาสในการพัฒนา ไปพร้อมกับการทำงานร่วมกันของรัฐบาลกลาง และหน่วยงานท้องถิ่นผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เช่น การประกวดแบบ การทำประชาพิจารณ์ เพื่อทำให้เมืองเห็นโอกาสที่ต่างไปจากเดิม และทำให้โอกาสที่เรามองเห็นนั้นเป็นจริงได้

 

Graphic Designed by Pimlada Pongpisudtigoson

 

  • Yossapon Boonsom

    ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker

Share :