เมื่อมีการจัดงานระดับโลก ไม่ว่าจะงานใดก็ตาม เป้าหมายสำคัญของเมืองเจ้าภาพไม่ได้มีแค่การดึงดูดนักท่องเที่ยวแต่ยังต้องมองว่าการจัดงานจะกระตุ้นการพัฒนาเมืองต่อจากนั้นอย่างไร เป็น legacy plan ที่ต้องคิดให้รอบคอบ เพราะเมื่อเป็นแค่การหวังผลระยะสั้น การลงทุนนั้นก็จะสูญเปล่าและทำให้เมืองเสียโอกาส ซ้ำร้ายที่สุดคือเสียเงินในการดูแลต่อระยะยาว
งานมหกรรมพืชสวนโลก 2022 ที่กำลังจัดขึ้นในเมือง Almere ประเทศเนเธอร์แลนด์ (Expo 2022 Floriade Almere) ณ ขณะนี้ ได้สะท้อนการจัดงานมหกรรมนานาชาติยุคใหม่ที่น่าสนใจและแตกต่างไปจากแบบเดิมๆ
เวลาไปงานพืชสวนโลก หลายคนคงนึกถึงแนวแกนและอาคารแลนด์มาร์กบางอย่างที่เป็นตัวแทนของประเทศนั้นๆ หรืออาจคิดว่าหลังเสร็จงานพื้นที่นี้อาจกลายเป็นสวนสาธารณะหรือสถานที่ท่องเที่ยวทั่วไป แต่งานนี้ไม่เพียงแต่วางผังเพื่อจัดงานสวนนานาชาติและนวัตกรรมภูมิทัศน์เท่านั้น แต่แผนผังยังถูกแบ่งเป็นตารางและแนวทางเดิน ที่จะกลายเป็นย่านใหม่หลังงานจบ เมื่องานมหกรรมพืชสวนโลกสิ้นสุดลงในเดือนตุลาคม 2022 พื้นที่แห่งนี้จะกลายเป็นที่พักอาศัย ที่ทำงาน และพื้นที่พักผ่อนที่จะผสานกับพื้นที่สีเขียวบางส่วนในงานที่จะคงเก็บไว้เป็นพื้นที่สาธารณะ
ลงทุนกับ infrastructure วางแผนระยาวสร้างย่านใหม่หลังจบงาน
การลงทุน infrastructure และการวางผังในระยะยาว นับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะนอกจากจะได้เงินจากการท่องเที่ยวแล้ว เมืองยังได้เงินคืนจากการขาย plot หรือที่ดินเพื่อพัฒนาเป็นบ้านเดี่ยวและอพาร์ตเมนต์ ตลอดจนพื้นที่เชิงพาณิชย์อีกด้วย ทำให้บางอาคารในงานมีหน้าตาเหมือนอพาร์ตเมนต์ เป็นตัวอย่างของตึกอาคารจะกลายเป็นย่านใหม่ในอนาคต
แนวคิดการวางผังของงานและย่านที่จะเกิดขึ้นที่นี่อยู่บนการพัฒนาที่ยั่งยืน เริ่มตั้งแต่การจำกัดรถให้อยู่ภายนอกและเปลี่ยนสู่การเดิน จักรยาน หรือระบบรถไฟฟ้า รวมถึง cable car โดยระยะการเดินจากจุดกิจกรรม (node) อยู่ในระยะเดินถึงได้ง่ายและสะดวกกับคนทุกวัย
ขึ้นชื่อว่าเนเธอร์แลนด์ ประเทศที่มีระบบการจัดการน้ำที่ดีที่สุดในโลก แน่นอนว่าภายในงานก็มีการวางแผนเรื่องการจัดการน้ำด้วย เช่น การสร้างพื้นดาดแข็งให้น้อยที่สุด และเน้นไปที่การสร้างพื้นให้น้ำซึมลงสู่ดินได้ผ่าน Turf Pave ที่เป็นวัสดุซึมน้ำ นอกจากนี้ยังมีการจัดทำ rainwater harvesting ที่เก็บรักษาปริมาณน้ำฝนไว้เพื่อทำประโยชน์ให้ได้มากที่สุด พร้อมทำแนวสวนรับน้ำตามทางเดินให้ไหลและบำบัดด้วยพื้นที่สีเขียวก่อนปล่อยลงสู่ทะเลสาบ
ตัวโครงสร้างของอาคาร หรือ pavilion มึการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไม้ มาใช้ในการก่อสร้าง มีการผสานโซลาร์เซลล์ (Solar Panel) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาคารและศาลาที่พักเพื่อใช้พลังงานสะอาด ส่วนองค์ประกอบอื่นๆ เช่น ที่นั่งถูกทำมาจากพลาสติกรีไซเคิลและวัสดุที่ย่อยสลายได้ เท่าที่สังเกตด้วยตา เราแทบไม่เห็นการใช้วัสดุก่อสร้างที่มากเกินความจำเป็นหรือวัสดุราคาแพงที่งานนี้เลย
ภายในงานยังมีการจัดการขยะ ด้วยการแยกขยะย่อยสลายได้และพลาสติกออกจากกัน แน่นอนว่าการจัดงานนี้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ดังนั้นตลอดกระบวนการของการสร้างและรื้อถอนจะมีการคำนวณคาร์บอนฟุตปริ้นต์ (Carbon Footprint) ให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมและระมัดระวังไม่ให้การพัฒนาพื้นที่ครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่โดยรอบที่เป็นทะเลสาบของเมืองให้น้อยที่สุด
เทรนด์การพัฒนาเมืองที่รักทั้งคน รักทั้งโลก
คีย์เวิร์ดสำคัญของงานนี้ คือการพัฒนาเมืองที่เอื้อให้สิ่งมีชีวิตอื่นสามารถอยู่ร่วมกับเราด้วย พื้นที่ในงานจึงมีการเก็บพื้นที่ป่าเดิมไว้เป็นเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ มีการปลูกพันธุ์ไม้ที่ดึงดูดแมลงและผึ้งซึ่งเป็นกลไกสำคัญในระบบนิเวศ บางอาคารจึงถูกออกแบบให้สามารถเป็นที่อยู่อาศัยของแมลงหรือผึ้งได้
การจัดงานระดับนานาชาติแต่ละครั้งจะเป็นหมุดหมายของประเทศเจ้าภาพและผู้ร่วมงานว่าจะสร้างหมุดหมายสำคัญอะไรต่อการพัฒนาโลกใบนี้ในอนาคต ที่ผ่านมาเราอาจเห็นการพยายามแข่งกันเพื่อแสดงอัตลักษณ์ผ่านวัฒนธรรมอันเป็นประวัติศาสตร์อันยาวนาน แต่ต่อจากนี้สิ่งปลูกสร้างทั้งหลายอาจต้องคำนึงถึงความยั่งยืนและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ เป็นอัตลักษณ์ร่วมกันที่ทุกชาติต้องร่วมใจและนำไปสู่เป้าหมายที่ยั่งยืน เพื่อให้เราและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ยังสามารถอยู่ร่วมกันบนโลกใบเดิมนี้ต่อไปได้
Photos by Yossapon Boonsom
Illustration by Warunya Rujeewong
- Yossapon Boonsom
ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker