CITY CRACKER

Human adaptation ปรับตัวเพื่ออยู่ร่วม (กับธรรมชาติ) และการอยู่รอดของมนุษย์

ตั้งแต่อดีตกาล มนุษย์เรียนรู้ที่จะต่อกรกับธรรมชาติเพื่อสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิต และการมีชีวิตที่สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น สิ่งจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์ เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัย และความปลอดภัย เมื่อมนุษย์ไม่พึงพอใจกับการอาศัยอยู่ในทุ่งหญ้าสาวันน่าอีกต่อไป จึงเริ่มเดินทางออกไปแสวงหาดินแดนใหม่ และเริ่มตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่ที่มีเงื่อนไขแตกต่างจากพื้นที่ของบรรพบุรุษ และปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม

การปรับตัวนี้มีทั้งระดับชีวภาพ (biological) และระดับวัฒนธรรม ซึ่งการปรับตัวทางวัฒนธรรมนั้น นอกจากการหุงหาอาหารโดยวัตถุดิบที่หาได้ใกล้ตัว หรือการหยิบเอาของที่หาได้ง่ายในแถบนั้นมาทำเป็นเครื่องนุ่งห่มแล้ว ยังมีการออกแบบที่อยู่อาศัยให้เข้ากับสภาพภูมิประเทศต่างๆ โดยรูปแบบการปรับตัวของคนในระดับวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการอยู่อาศัยนั้น จะมีตั้งแต่การเปลี่ยนจากพื้นที่ธรรมชาติเป็นที่อยู่ หยิบจับวัสดุจากธรรมชาติมาสร้างบ้านแปลงเมือง จนถึงปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เหมาะแก่การอยู่อาศัยมากที่สุด

Carved houses in rock formations in Uçhisar near Goreme, Cappadocia, Nevşehir, Turkey
windows10spotlight.com

Cappadocia เปลี่ยนพื้นที่ธรรมชาติให้เป็นที่อยู่อาศัย

Rock houses and Underground cities  หรือ แคปพาโคเชีย (Cappadocia) ที่คนตุรกีเรียกว่า คัปปาโดเกีย คือพื้นที่ธรรมชาติที่ถูกทำให้เป็นที่อยู่อาศัยได้ เป็นที่ราบสูง 1,000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ภูมิประเทศอันโดดเด่นที่เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟ ทำให้ลาวาจากการปะทุของภูเขาไฟไหลปกคลุมพื้นที่เป็นวงกว้างจนแข็งเป็นหินและมีเนื้อแน่นละเอียด เมื่อโดนกัดกร่อนจากลมและฝนเป็นเวลานานจึงเกิดเป็นหุบเขา เสาหิน และถ้ำ หลังจากเมื่อหลายปีก่อนคนที่เข้าเริ่มมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ ด้วยความที่หินภูเขาไฟนี้มีความอ่อนละเอียด ซึ่งงานต่อการเจาะจึงได้มีการเจาะหินให้เป็นห้องสำหรับกิจกรรมต่างๆ และสร้างเส้นทางเชื่อมต่อกันระหว่างห้อง เกิดเป็นที่อยู่อาศัยและหลบภัยในยามค่ำคืน

048c339fbb32495e6063b883bda566b5
windows10spotlight.com

 

หลังจากนั้นมีการรุกรานจากพื้นที่รอบข้าง ทำให้คนพื้นถิ่นเริ่มขุดดินลงไปใต้ดินเพื่อใช้หลบภัย และมีการขยายการใช้งานพื้นที่ใต้ดินขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งมีการแบ่งสัดส่วนพื้นที่ภายในเป็นพื้นที่สำหรับการใช้ประโยชน์ต่างๆ อย่างชัดเจนจนเกิดเป็นเมืองใต้ดินที่สามารถรองรับคนได้จำนวนมาก

 

เมืองใต้ดิน Derinyuku ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุด สามารถจุคนได้ประมาณ 20,000 คน (vintag.es)

Turf House แหล่งพักพิงที่สร้างได้ด้วยวัสดุตามธรรมชาติ

ไอซ์แลนด์เป็นพื้นที่ที่ต้นไม้ใหญ่เจริญเติบโตได้ยาก ไม้จึงเป็นวัสดุหายากในแถบภูมิประเทศนี้ ต่างจากดินที่สามารถหาได้ทั่วไปแถมยังมีความทนทาน ดินจึงได้รับความนิยมมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 บ้านแบบดั้งเดิมของชาวไอซ์แลนด์ส่วนใหญ่สร้างขึ้นด้วยดินที่หาได้จากบึง (bogs) และพื้นที่ชุ่มน้ำ (marsh) อื่นๆ และเมื่อดินถูกนำขึ้นมาใช้ในการทำกำแพงและหลังคา พืชที่ชอบความชุ่มชื้นจะตายไปแล้วหญ้าก็ขึ้นมาแทนที่ และเกิดเป็นสถาปัตยกรรมที่มีความกลมกลืนไปกับพื้นที่รอบข้าง หรือที่เรียกว่า Turf House นั่นเอง

 

Nupsstadur ancient village หมู่บ้านโบราณทางตอนใต้ของไอซ์แลนด์ (thevintagenews.com)

 

Stone Houses ออกแบบที่อยู่อาศัยเหมาะกับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ

การออกแบบหรือสร้างที่อยู่อาศัยโดยคำนึงถึงสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศก็สำคัญไม้น้อย พื้นที่บริเวณตะวันออกกลางที่มีภูมิอากาศแบบร้อนแล้ง อาคารที่อยู่อาศัยจะได้รับการออกแบบโดยให้มีผนังหนาเพื่อดูดซับความร้อน ความร้อนจะเข้ามาภายในอาคารน้อยลง มีช่องเปิดขนาดเล็กเพื่อควบคุมปริมาณแสงแดดที่จะเข้ามาภายใน มีเพดานสูงให้อากาศร้อนลอยขึ้นข้างบน และบางอาคารจะมีการเจาะช่องเปิดขนาดเล็กด้านบนของผนัง (Roshan) เพื่อให้ความร้อนจากภายในระบายออกไปข้างนอก และมีทางเดินภายนอกในแนวอาคาร (liwans) ทำให้ผนังไม่โดนแดดโดยตรงและเกิดร่มเงาสำหรับทางเดินนอกอาคาร

ทางด้านภาพรวมในการวางผัง อาคารแต่ละหลังจะถูกให้วางใกล้กัน และวางตัวตามแนวเหนือใต้เพื่อลดพื้นที่ผนังที่จะโดนแสงแดด และเกิดร่มเงาแก่พื้นที่ทางเดินระหว่างอาคาร รวมทั้งการวางอาคารที่เว้นให้เกิดทางเดินในแนวต่อกันก็จะทำให้เกิดเป็นช่องลมที่ช่วยลดอุณหภูมิของพื้นที่

 

stone houses, yemen photo
Stone Houses ของประเทศ Yemen ออกแบบเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ (onebigphoto.com)

 

 

Machu Picchu เมืองภูเขากับการปรับเปลี่ยนพื้นที่

มาชูปิกชูเป็นเมืองอยู่บนภูเขาของอารยธรรมอินคา สร้างขึ้นช่วงศตวรรษ 13 เนื่องจากเป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนที่สูงจึงต้องมีการวางแผนการจัดการพื้นที่ให้เหมาะการอยู่อาศัย การปรับพื้นที่ที่เห็นได้ชัด คือปรับพื้นที่บริเวณเชิงเขาให้เป็นขั้นบันได (Terrace) ความสูงตั้งแต่ 2,800 ถึง 4,500 เหนือระดับน้ำทะเล เพื่อลดความเสี่ยงการพังทลายของดินขณะก่อสร้างเมือง และใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูกผลิตผลทางการเกษตร  เช่น ข้าวโพด มันฝรั่ง และหญ้าเลี้ยงสัตว์ และด้วยพื้นที่มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 200 มิลลิเมตรต่อปี จึงต้องมีการวางระบบการระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดการพังทลายของกำแพงกันดินจากน้ำหนักของน้ำที่ดินอุ้มไว้ โดยชั้นดินในการเพาะปลูกแบ่งเป็น 3 ชั้น ชั้นบนสุดเป็นดิน รองลงมาเป็นชั้นของทราย และด้านล่างสุดเป็นกรวด เพื่อให้น้ำฝนสามารถซึมได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีการวางร่องระบายน้ำเป็นแนวขนานไปกับความชันของภูเขา เพื่อรองรับน้ำผิวดินที่ไหลมาจากพื้นที่สูง

 

Machu Picchu (thebestglobaloffers.com)

 

ชั้นดินและระบบระบายน้ำบริเวณพื้นที่ลาดที่ถูกปรับเป็นขึ้นบันได (omrania.com)

 

 

ญี่ปุ่นกับการบริหารการใช้งานพื้นที่ให้สมดุลกับธรรมชาติ

ญี่ปุ่นคือดินแดนแห่งวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับธรรมชาติ หลายครั้งเราจึงจะเห็นว่าความเป็นอยู่ ตลอดจนลักษณะการอยู่อาศัยของชาวญี่ปุ่นนั้นจะเชื่อมโยงกับป่าไม้ทุ่งหญ้าอย่างแยกไม่ขาด ซาโตยามะคือพื้นที่เชิงเขาและพื้นที่ราบอันอุดมสมบูรณ์ในเมืองคุมาโมโตะ จังหวัดคุมาโมโตะ ประเทศญี่ปุ่น ที่เมื่อพูดถึงก็จะนึกไปถึงระบบของภูมินิเวศบริเวณเขา ที่ประกอบด้วย ป่าไม้ แหล่งน้ำ ทางน้ำ ทุ่งนา ทุ่งหญ้า ซึ่งก็ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่องค์ประกอบทางกายภายและการจัดสรรพื้นที่ แต่ยังรวมถึงวิธีชีวิตของคนที่มีความสัมพันธ์กับธรรมชาติด้วย

 

 

 

นอกจากซาโตยามะที่บริหารการใช้งานพื้นที่ให้สมดุลกับธรรมชาติ ย่านอิบะ เมืองฮิงาชิโอมิ จังหวัดชิกะ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของทะเลสาบบิวะ ก็เป็นตัวอย่างซาโตยามะที่มีความสมบูรณ์มาจนถึงปัจจุบันเช่นกัน ด้วยการดูแลรักษาจากคนในพื้นที่และผู้เชี่ยวชาญ และการสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้ภูเขาซึ่งอยู่ทางด้านหลังหมู่บ้านเป็นพื้นที่ป่าอันเป็นแหล่งต้นน้ำของพื้นที่ป่าที่ได้รับการจัดสรรแบ่งส่วนเป็นป่าอนุรักษ์ และป่าเพื่อใช้ประโยชน์ น้ำจากป่าบนเขาจะไหลผ่านหมู่บ้าน ทุ่งนา และบึง แล้วไหลลงสู่ทะเลสาบที่เป็นแหล่งอาศัยของปลาหลากหลายชนิด และแม้ว่าเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักของคนในพื้นที่จนมีการสร้างแบรนด์ของชุมชนขึ้น แต่ก็มีการควบคุมปริมาณการใช้สารเคมีทำให้น้ำในทุ่งนาและหมู่บ้านมีคุณภาพดีพอสำหรับการอาศัยอยู่ของปลา นอกจากนี้ยังมีการใช้ประโยชน์จากผลผลิตที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น การนำกกจากริมบึงมาแปรรูปเป็นม่านบังแดด

การปรับตัวของมนุษย์ให้เข้ากับบริบทแวดล้อมทางธรรมชาติทำให้มนุษย์สามารถอยู่อาศัยได้อย่างปลอดภัย และมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น จนเกิดเป็นวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ในขณะเดียวกันก็เกิดการเรียนรู้ในการอนุรักษ์และดูแลรักษาพื้นที่เพื่อคงไว้ซึ่งนิเวศบริการและความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ย้อนกลับมาส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

zmescience.com

ancient-origins.net

 youtube.com

.youtube.com

arcgis.com

doi.org

nationalgeographic.com

courses.lumenlearning.com

omrania.com

perurail.com

doi.org

geoexpro.com

unesco.org

theculturetrip.com

 

Illustration by Supatsorn Boontumma
Share :