CITY CRACKER

‘ฝุ่น PM 2.5 ภัยเงียบที่มองไม่เห็น’ ปรับเมืองเพื่อรับมือฝุ่นควันด้วยนวัตกรรมและต้นไม้

ในวันที่ต้องใส่หน้ากากกันจนอึดอัด ดูเหมือนว่าวิกฤติโรคระบาดกำลังจะคลี่คลาย เราได้ข่าวเรื่องวัคซีนต้านไวรัส และสถานการณ์การควบคุมโรคเริ่มดีขึ้น เราเริ่มรู้สึกว่าจุดจบของวิกฤติอาจจะอยู่ไม่ไกล หน้ากากที่เราต้องพกติดตัวตลอดอาจไม่จำเป็น  แต่เดี๋ยวก่อน เราต้องอย่าลืมว่าวิกฤติโรคระบาดที่เราเผชิญอยู่นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิกฤติการณ์ที่โลกเรากำลังเผชิญ เพราะนอกจากโรคระบาดที่กล่าวมา โลกเราต้องต่อสู้ทั้งกับภาวะโลกร้อน น้ำแข็งขั้วโลกละลาย จนถึงวิกฤติฝุ่นควัน ซึ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในการเติบโตที่อาจไม่ถูกทางนักของมนุษย์เรา การก่อตัวขึ้นของเมืองคอนกรีตขนาดใหญ่ การใช้ชีวิตอย่างกระจุกตัว ไปจนถึงสภาวะแวดล้อมที่ไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิตอื่นๆ และไม่เป็นมิตรกับมนุษย์ด้วยกันเอง วิกฤติโรคระบาดจึงเป็นเพียงแรงกระแทกที่เป็นรูปธรรมต่อเนื่องจากวิกฤติสิ่งแวดล้อมเท่านั้น

ถ้าเรายังไม่ลืม ตั้งแต่ช่วงก่อนต้นปี ก่อนที่เราจะต้องใส่หน้ากากเพื่อควบคุมสารคัดหลั่ง เราเองก็ต้องเรียนรู้ที่จะใส่หน้ากากเพื่อรับมือวิกฤติฝุ่น PM 2.5 ที่ดูจะเป็นเหมือนงานทดลองก่อนจะนำมาสู่ภาคปฏิบัติใหม่ของช่วงปีที่ผ่านมา แต่ที่น่าเศร้าคือเมื่อโรคระบาดดูจะบางเบาลง และช่วงส่งท้ายปีที่เริ่มเป็นบรรยากาศแบบสบายๆ มีสภาพอากาศที่ปิด และฝนตกลดลง ฝุ่นในฐานะปัญหาประจำของทุกหน้าหนาวก็ได้กลับมาเยี่ยมเราอีกครั้ง

 

With the air quality in Bangkok and nearby provinces continuing to worsen, authorities have begun imposing stricter measures.
straitstimes.com

 

ปัญหาเรื่องอนุภาคขนาดเล็ก หรือฝุ่น PM 2.5 เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ แต่ส่วนมากมักเป็นปัญหาของเมืองใหญ่ ที่เกิดจากการทำกิจกรรมภายในเมือง ฝุ่นควันจากการสัญจร ละอองขนาดเล็กจากการก่อสร้าง และจากความหนาแน่นของสิ่งปลูกสร้างและผู้คน  ลักษณะของเมืองที่เต็มไปด้วยตึกสูง ทำให้เกิดเกาะความร้อนและเกิดภาวะที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก แน่นอนสิ่งที่สำคัญคือการขาดพื้นที่ทางธรรมชาติ การออกแบบและการเติบโตของเมืองที่ไม่ค่อยมี ‘ความเป็นธรรมชาติ’ ไม่ได้คำนึงถึงสิ่งอื่นๆ ที่อยู่รอบๆ อย่างนุ่มนวลและรอบบด้าน จึงได้นำมาซึ่งปัญหาและวิกฤติที่เราต้องหาแนวทางเพื่อรับมือ

จากวิกฤติที่โลกเราเผชิญ ในต่างประเทศเจอพายุ น้ำท่วมอันแปลกประหลาด บ้านเราก็ตามรอยจีนคือเจอกับฝุ่นหนาตา ทำให้เราใช้ชีวิตกลางแจ้งแทบไม่ได้ แนวคิดเรื่องเมืองยืดหยุ่น หรือการรับรู้ รับมือ และปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงของโลก จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของเมืองยืดหยุ่น ที่อาจจะต้องการเปลี่ยนคอนกรีตแข็งๆ พื้นที่สีเทาๆ ที่เราเคยภูมิใจให้เป็นพื้นที่ที่มีธรรมชาติ มีต้นไม้และสรรพสัตว์ รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เพื่อรับมือและเติบโตต่อไป

กรณีของฝุ่นที่ดูเป็นอนาคตอันใกล้และวิกฤติที่อาจเกิดซ้ำได้ City Cracker จึงพาไปดูกระบวนการการใช้พืชพรรณในการรับมือฝุ่น PM 2.5 ว่าการเปลี่ยนความคิดของกรณีเช่นปัญหาฝุ่น มนุษย์เราได้พยายามศึกษาและมีวิธีการอย่างไร เมืองใหญ่เช่นสหรัฐฯ เองก็ล้วนเคยเติบโตโดยหลงลืมธรรมชาติ ตลอดจนองค์ความรู้ที่ว่าการขาดหายไปของต้นไม้ในเมืองใหญ่ คือหัวใจสำคัญในการมีท้องฟ้าสีฟ้าสดใส

 

thairesidents.com

แผ่กิ่งก้านช่วยกวาดท้องฟ้า กายภาพของต้นไม้ที่ช่วยดักกรองฝุ่นขนาดเล็ก

ความเข้าใจเรื่อง PM 2.5 ทั้งในแง่อันตราย ความเสียหายทางเศรษฐกิจ และพลังของต้นไม้ในเมืองที่สามารถช่วยลดฝุ่นได้ ต้องอ้างอิงไปที่งานศึกษาของทางคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้ศึกษาและข้อเสนอแนะว่าต้นไม้และพืชพรรณนี่แหละที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการลด และดักจับฝุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในข้อมูลจากการศึกษาทางคณะสิ่งแวดล้อมได้อธิบายว่า ต้นไม้ช่วยดักจับและลดฝุ่นขนาดเล็กเหล่านี้ได้อย่างไร แถมยังคัดเลือกไม้ท้องถิ่นที่เราคุ้นเคยมาร่วมทดสอบว่ามีพรรณไม้ลักษณะใดและประเภทไหนที่จะดักฝุ่นได้ดีบ้าง

ปัญหาสำคัญของฝุ่นขนาดเล็ก หรือเจ้า PM 2.5 คือขนาดที่เล็ก จำนวนที่มาก และการฟุ้งกระจายของมัน ที่ในที่สุดจะไปติดอยู่ในระบบทางเดินหายใจ ส่งผลเสียกับสุขภาพอย่างฉับพลันและส่งผลกับร่างกายในระยะยาว แต่หากมีต้นไม้ เจ้าฝุ่นขนาดไม่เกิน 10 ไมครอนที่ลอยๆ อยู่นี้ ก็จะลอยและไปติดกับใบของพืช ดังนั้นใบพืชที่มีความชื้น ใบหยาบ มีขนเล็กๆ หรือมีประจุไฟฟ้าก็จะดักฝุ่นได้ดี พอฝุ่นไปติดที่ใบ เมื่อเกิดน้ำค้างและมีฝนตกอันทำให้เกิดความชื้น ฝุ่นละอองบนผิวใบก็จะถูกชะล้างลงสู่ผิวดิน จากงานศึกษาของมหิดลนั้นบอกว่าต้นไม้ใดๆ ล้วนช่วยดักฝุ่นได้เหมือนกัน แต่ก็จะมีที่ดักฝุ่นได้เก่งเป็นพิเศษ ซึ่งมักจะเป็นไม้พุ่มหนา มีขนใบเยอะ หรือมีใบละเอียด เช่น จามจุรี เสลา แคแสด ทองอุไร ตะขบฝรั่ง สร้อยอินทนิล ฯลฯ

ดังนั้น ถ้ามองง่ายๆ ต้นไม้ที่แผ่กิ่งก้านระบัดใบขึ้นอยู่บนอากาศ นอกจากจะทำหน้าที่ฟอกอากาศด้วยระบบทางชีวภาพอันซับซ้อน และช่วยยลดก๊าซเรือนกระจกแล้ว ต้นไม้ในเชิงกายภาพยังช่วยทำหน้าที่กักฝุ่นละอองรวมถึงมลพิษไว้ โดยมีวิธีการทางธรรมชาติแบบชำระล้างหมุนเวียน หรือฟอกอากาศของเราให้สดใสต่อไป

 

เลียบทางรถไฟมักกะสัน

นวัตกรรมคือความรู้เชิงเทคนิคและเทคโนโลยี

จากงานศึกษาข้างต้นของมหาวิทยาลัยมหิดล แง่หนึ่งที่นักวิจัยเสนอคือการมีองค์ความรู้ เช่นเอาต้นไม้พื้นถิ่นต่างๆ มาทดสอบการดักฝุ่น ในที่สุดก็ได้ชุดความรู้ว่าไม้หลายๆ ประเภท ทั้งไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม ไม้เลื้อย หรือพืชคลุมดินประเภทไหนที่มีคุณสมบัติพิเศษที่เหมาะกับการออกแบบเพื่อรับมือสถานการณ์ต่อไปในอนาคต ที่มากไปกว่านั้นคือการประยุกต์ใช้พืชพรรณ มีงานศึกษาและข้อเสนอแนะว่าการใช้ต้นไม้เพื่อดักฝุ่นควรใช้การออกแบบเข้ามาร่วมด้วย การจะดักฝุ่นได้ดีต้องวางแนวต้นไม้อย่างผสมผสาน มีแนวไม้ใหญ่และไม้พุ่มลดหลั่นกัน มีการเว้นระยะ โดยทั้งหมดนั้นก็อาจนำไปสู่การวางพืชพรรณตามแนวถนน เพิ่มฟังก์ชั่นจากความสวยงาม ช่วยลดอุบัติเหตุ ลดคาร์บอนไดออกไซด์ ไปสู่การช่วยลดปริมาณฝุ่นได้อีกด้วย

ประเทศจีนที่เจอปัญหาฝุ่นก็พยายามหาองค์ความรู้ เช่นความรู้เรื่องศักยภาพในการดักฝุ่นของพืชประเภทต่างๆ ไปจนถึงลักษณะการออกแบบเพื่อศักยภาพในการดักฝุ่นได้สูงสุดที่มีการทดลองด้วยอุโมงค์ลม สำหรับจีนที่ฝ่าวิกฤติฝุ่นและมลภาวะมาได้ จีนเองก็ใช้ต้นไม้และพื้นที่สีเขียวเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเช่นกัน นอกจากจะส่งเสริมเรื่องการเพิ่มปริมาณต้นไม้ในพื้นที่เมืองแล้วก็ยังเน้นการฟื้นฟูป่าทั่วประเทศ อันส่งผลสืบเนื่องต่อกันเป็นนิเวศขนาดใหญ่

 

 

ทั้งนี้จีนยังแก้ด้วยมิติอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับการพัฒนา เช่น การหันเข้าหาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดอย่างไฟฟ้าและลม และปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนและขนส่งทั่วไปให้มีคุณภาพและมีปริมาณที่เพียงพอ ด้วยความรู้ ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงเชิงมุมมอง ก็เลยเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการรับมือความเปลี่ยนแปลง ซึ่งตอบต่อโจทย์ที่โลกกำลังตั้งขึ้นเพื่อท้าทายเราด้วยการทวีความยากให้มากขึ้นเรื่อยๆ (ซึ่งความยากนั้นก็เกิดจากมนุษย์เองนั่นแหละ)

นอกจากการใช้ธรรมชาติและความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติเข้ามาช่วยรับมือฝุ่นแล้ว ด้วยความที่ปัญหาฝุ่นเป็นปัญหาที่ค่อนข้างรุนแรงและแก้ไขยาก ประเทศที่เผชิญกับฝุ่นก็เลยต้องระดมสรรพกำลังมาร่วมรับมือด้วย ประเทศเช่นจีน อินเดีย รวมถึงบ้านเราก็มีการพัฒนานวัตกรรมเช่นหอคอยฟอกอากาศ อันเป็นหอคอยขนาดใหญ่ที่จะทำหน้าที่ดูดอากาศโดยรอบเข้าสู่ตัวหอ และใช้ระบบที่ได้รับการออกแบบเฉพาะกรองและดักฝุ่นไว้ก่อนจะปล่อยอากาศสะอาดกลับเข้าสู่เมือง

หอคอยฟอกอากาศก็เลยดูจะเป็นอีกหนึ่งสถาปัตยกรรมและจินตนาการใหม่ของเมืองที่ดูจะพาเราไปสู่ภาพเมืองของอนาคตที่เราจินตนาการกันไว้ ตัวหอคอยฟอกอากาศที่ได้รับการพัฒนาขึ้นนั้นมีการใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน สำหรับบ้านเราที่เริ่มเผชิญกับฝุ่นกันมาอย่างหนักหน่วงแล้ว เราเองได้พัฒนา ‘หอฟ้าใส’ เป็นหอฟอกอากาศที่ทางศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) และบริษัท เนสเทค พัฒนาเป็นระบบหอฟอกอากาศอัตโนมัติแบบไฮบริด (Hybrid Air Purifier Tower) ขึ้น

เจ้าหอฟ้าใสนี้เป็นหอคอยฟอกอากาศที่สามารถฟอกอากาศได้สูงสุดที่ 120,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง หลักการฟอกอากาศของหอฟ้าใสคือการใช้ใบพัดความเร็วสูงดึงอากาศเข้าสู่ระบบ ในระบบจะมีกระบวนการคัดกรองฝุ่นขนาดเล็กและใหญ่ด้วยแรงลม โดยหอฟ้าใสจะมีกระบวนการควบคุมความเร็วลมอัจฉริยะ คือปรับความแรงลมตามปริมาณและความเข้มข้นของฝุ่น ก่อนจะใช้ละอองน้ำฉีดเพื่อดักกรองฝุ่นขนาดเล็กอีกครั้ง ด้วยระบบการควบคุมตามสภาวะแวดล้อม หอฟ้าใสจึงเป็นนวัตกรรมที่ค่อนข้างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากจะออกแบบเพื่อช่วยฟอกอากาศแล้ว ตัวหอฟ้าใสก็ใช้พลังงานต่ำ เพราะระบบจะใช้น้ำเพียง 70 ลิตร ใช้พลังงานจากโซลาร์เซลและแบตตารี่ หอฟ้าใสก็เลยถือเป็นเทคโนโลยีที่มีลักษณะผสมผสาน (hybride) ทั้งในแง่ของการประหยัดพลังงาน และการใช้ระบบที่ซับซ้อนทั้งมอเตอร์อัจฉริยะ ลม และน้ำเข้าทำงานเพื่อรับมือกับวิกฤติใหม่ของเมือง

 

thansettakij.com

ฟังดูเป็นเรื่องตลกร้ายที่สุดท้ายปัญหาในการสร้างความยิ่งใหญ่ของมนุษย์ จากตึกสูงถึงระบบขนส่ง ที่ในที่สุดความยิ่งใหญ่ของมวลมนุษย์กลับมีฝุ่นละอองขนาดเล็กเป็นโจทย์ที่เราต้องระดมกันแก้และหาคำตอบใหม่ๆ ร่วมกันด้านหนึ่ง เราอาจพูดได้ว่า จริงๆ แล้วโจทย์ที่เรากำลังแก้อยู่นี้ก็คือการรักษาความเป็นอยู่ รักษาอนาคตของมวลมนุษยชาติให้อยู่ดีมีสุขต่อไปได้นั่นเอง

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

researchgate.net

mckinsey.com

en.mahidol.ac.th

citycracker.co

europepmc.org

nature.com

researchgate.net

businessinsider.com

thenextweb.com

 

Illustration by Montree Sommut
Share :