CITY CRACKER

รับมือ PM 2.5 ตัวร้าย ด้วยแนวต้นไม้ดักฝุ่น

ฝุ่นเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เราไม่อยากให้กลับมา แต่มันก็กลับมาอีกครั้ง และอีกหน่อย- ถ้าเรายังไม่ลงมือทำอะไร ด้วยสภาพเมืองใหญ่ และวงจรของลม ฝน ฟ้า เมื่อสภาพอากาศปิด ฝุ่น 2.5 PM ตัวร้าย จากกิจกรรมสารพัดในเมืองก็จะกลับมาปกคลุมกรุงเทพฯ ของเราอยู่ร่ำไป

ไม่ใช่แค่เราที่เจอปัญหาเรื่องฝุ่นๆ เมืองใหญ่ทั้งหลายเองก็เจอและพบว่า PM 2.5 เป็นภัยร้ายแรง ส่งผลกระทบกับสุขภาพและในที่สุด เมืองที่เต็มไปด้วยความเจ็บป่วยและความชะงักงันย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาพรวมของประเทศ วิธีการแก้ไขที่ง่ายที่สุดคือการจัดการกับเจ้ามลพิษซะ ซึ่งแน่นอนว่าต้นไม้สีเขียวๆ นี่แหละที่นอกจากจะช่วยเพิ่มออกซิเจนตามที่เราเคยเรียนเมื่อนานมาแล้วแล้ว เจ้าต้นไม้ใบเขียวเหล่านี้ยังช่วยเราจัดการกับอนุภาคขนาดจิ๋วเหล่านี้ได้อีกด้วย

สหรัฐอเมริกาเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมและเจอกับปัญหามลพิษ อเมริกาเองก็พยายามเพิ่มคุณภาพชีวิตและจัดการกับมลพิษด้วยผังเมืองและการออกแบบ ด้วยสวน ด้วยต้นไม้ งานศึกษาในปี 2013 จากการสำรวจ 10 เมืองใหญ่ของสหรัฐพบว่าพื้นที่สีเขียวที่เพิ่มขึ้นสัมพันธ์กับการลดลงของมลพิษและลดปริมาณฝุ่นขนาดเล็กลงได้ เช่นในเมืองแอตแลนต้าพื้นที่สีเขียวที่เพิ่มขึ้นลดปริมาณฝุ่นลงได้ราว 64 ตันต่อไป หรือในนิวยอร์กที่ลดลงได้ 37 ตันต่อปี ทาง The Nature Conservancy องค์กรทางสิ่งแวดล้อมก็พบว่าต้นไม้ในเมืองช่วยลดฝุ่นละอองขนาดเล็กแถมเพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนเมือง การปลูกต้นไม้ในเมืองจึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าแถมเป็นการแก้ปัญหาสารพัดในระยะยาวต่อไป

 

เครื่องกรองฝุ่นตามธรรมชาติ

นึกภาพเจ้าฝุ่นเล็กๆ ที่ล่องลอยกระจัดกระจายอยู่ในอากาศ การมีต้นไม้แผ่กิ่งก้านขึ้นไปในอากาศ ใบไม้ที่แผ่ขึ้นนั้นก็ย่อมทำหน้าที่ดักจับ กรองฝุ่น ฝุ่นเล็กๆ ด้วยความที่มันเล็กมาก บางส่วนจะถูกดูดเข้าไปพร้อมกับกระบวนการหายใจของพืช ในขณะที่บางส่วนจะติดอยู่ที่ใบของพืชเพราะความชื้น เมื่อใบเหล่านั้นร่วงหล่นหรือมีฝุ่น ฝุ่นขนาดเล็กเหล่านั้นก็จะถูกชะลงสู่พื้นดินไป

 

เลือกต้นไม้ให้เหมาะกับการกรองฝุ่น


ผศ.ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทย อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า พืชทุกชนิดมีความสามารถดักจับฝุ่นละอองและช่วยกรองมลพิษได้ เพียงแต่ว่าต้นไม้บางลักษณะจะช่วยเรื่องดักฝุ่นได้มีประสิทธิภาพมากกว่า เช่น ต้นไม้ที่มีใบเป็นขน จะจับฝุ่นได้ดีกว่าที่เป็นใบเรียบ นึกภาพใบไม้ที่มีความชื้น มีฝุ่นมาติดปุ้บ ถ้าใบเรียบๆ พอเจอลม ฝุ่นเหล่านั้นก็สามารถกระจายกลับไปได้ง่ายกว่า ต้นไม้ที่ไม่ผลัดใบและมีผิวใบมากย่อมดักได้ดีกว่า หรือต้นไม้ที่มีใบเล็กๆ เป็นไม้พุ่มเตี้ยๆ ก็ย่อมสามารถดักกรองฝุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ต้นไม้ดักฝุ่นเก่ง


จากการศึกษาต้นไม้ 35 สายพันธุ์ของผศ.ดร.ธรรมรัตน์ ว่าต้นไม้ชนิดใดมีความสามารถดักฝุ่นได้ยอดเยี่ยมบ้าง ผลการศึกษามีการจัดลำดับให้คะแนน ความสามารถในการดักฝุ่นโดยจัดลำดับความสามารถดักฝุ่นออกเป็น 5 ระดับ พืชเลเวล 5 คือสามารถดักฝุ่นได้อย่างยอดเยี่ยมมากที่สุด แต่งานศึกษาบอกว่า ในพืช 35 ชนิดนั้น ยังไม่มีพืชชนิดไหนที่สามารถดักฝุ่นได้ดีเลเวล 5 เลย ในขณะที่พืชระดับ 4 ได้แก่ ต้นทองอุไร, ตะขบฝรั่ง, เสลา, จามจุรี และแคแสด โดยพืชระดับที่ 3 ประกอบด้วยสร้อยอินทนิล, เล็บมือนาง, กะทกรก, ไผ่รวก, แก้ว, หางนกยูงไทย, กรรณิการ์, คริสตินา, ข่อย, โมกมัน, ไม้สกุลชงโค, ต้นตะแบกและต้นอินทนิล

สร้างแนวกำแพงสีเขียวกรองฝุ่น

ด้วยความที่ฝุ่น PM 2.5 เป็นภัยคุกคามสุขภาพ นักวิจัยเองก็พยายามหาแนวทางการใช้ต้นไม้เพื่อเป็นแนวกรองฝุ่น นักวิจัยมักพุ่งเป้าไปที่ถนนในฐานะพื้นที่ปล่อยฝุ่นสำคัญของเมือง การปลูกแนวต้นไม้ริมถนนจึงดูจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและได้ประโยชน์หลายต่อ แต่การปลูกต้นไม้ใหญ่ต้นสูงๆ ที่เรามักเห็นตามท้องถนนอาจไม่มีประสิทธิภาพในกรองฝุ่นนัก การสร้างแนวกันฝุ่นจึงต้องใช้ต้นไม้หลายประเภท ทั้งไม้พุ่ม ไม้เลื้อย ที่ทำหน้าที่ดักฝุ่นร่วมกัน กระทั่งไม้คลุมดินเอง แม้ว่าจะไม่ได้มีกิ่งก้านแผ่ขึ้นฟ้า ก็ยังช่วยทำหน้าที่กันฝุ่นไว้ไม่ให้กลับมาฟุ้งกระจาย

Illustration by Thitaporn Waiudomwut
Share :