CITY CRACKER

6 แบรนด์ญี่ปุ่นเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ลดขยะพลาสติก

เราต่างคุ้นเคยกับงานออกแบบผลิตภัณฑ์อันโดดเด่นของญี่ปุ่นที่ทั้งใช้งานง่ายและน่ารักน่ามอง แต่หากมองในแง่สิ่งแวดล้อมแล้ว หลายคนอาจส่ายหน้ากับปริมาณขยะจากหีบห่อผลิตภัณฑ์เหล่านั้น แม้จะมีเทคโนโลยีกำจัดและแปรรูปขยะดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่ญี่ปุ่นกลับเป็นประเทศที่สร้างขยะหีบห่อผลิตภัณฑ์ต่อหัวมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา แน่นอนว่าเมื่อเป็นเรื่องมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม ‘ไม่สร้าง’ ย่อมดีกว่า ‘แก้ปัญหา’ ทีหลังมากนัก

 

ปัญหาขยะเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจขณะนี้ ในการประชุมระดับประเทศหลายๆ ครั้ง การลดขยะเป็นหัวข้อสำคัญที่นานาประเทศต้องร่วมกันขบคิดและหาข้อตกลงร่วมกัน  หลายประเทศสนองรับด้วยการออกมาตรการและนโยบายเพื่อควบคุมผลิตภัณฑ์ให้สร้างขยะน้อยลงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โตเกียวโอลิมปิกปี 2020 ที่ใกล้เข้ามากลายเป็นเส้นเวลาที่กระตุ้นให้ญี่ปุ่นจัดการปัญหาขยะอย่างเป็นรูปธรรม โดยญี่ปุ่นวางแผนจะลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวให้ได้ก่อนงานใหญ่ของประเทศครั้งนี้  ธุรกิจผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในญี่ปุ่นจึงตอบสนองนโยบายลดการใช้พลาสติกของประเทศ ด้วยการหาวัสดุทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 

Suntory Beverage & Food Ltd

เมื่อพูดถึงขยะพลาสติก ขยะชนิดแรกๆ ที่เรานึกถึงคงหนีไม่พ้นขวดน้ำพลาสติก Suntory คือบริษัทเครื่องดื่มรายใหญ่ของญี่ปุ่นที่ผลิตเครื่องดื่มหลากชนิด ไม่ว่าจะเป็นชาเขียว กาแฟ หรือน้ำหวานอื่นๆ  ทางบริษัทได้กำหนดนโยบายใหม่ของบริษัทชื่อว่า ‘นโยบายพลาสติก’ (Plastic Policy) โดยมีเป้าหมายผลิตพลาสติกที่เน้นการรีไซเคิลและลดการก่อคาร์บอน  ปีที่แล้ว Suntory เริ่มรีไซเคิลขวดพลาสติก PET มาใช้ใหม่เพื่อลดขยะ  นอกจากนั้นยังเป็นบริษัทแรกที่ใช้ฝาขวดจากวัสดุธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ และตั้งเป้าว่าในอนาคตจะผลิตขวดเครื่องดื่มจากวัสดุธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ด้วย  สำหรับเป้าหมายระยะกลางของนโยบายพลาสติก คือภายในปี 2025 Suntory จะเพิ่มปริมาณวัสดุรีไซเคิลในการผลิตขวดพลาสติก PET ให้มากกว่า 50 เปอร์ซ็นต์ และในปี 2030 จะเปลี่ยนไปใช้วัสดุรีไซเคิลหรือวัสดุจากธรรมชาติเพื่อผลิตขวดพลาสติก PET ทั้งหมด รวมถึงขวดผลิตภัณฑ์ของ Suntory ที่จำหน่ายในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกด้วย

 

Asahi Breweries Ltd.

ทางเลือกสำหรับผลิตภัณฑ์บรรจุเครื่องดื่มในงานอีเวนต์กลางแจ้งที่เราคุ้นเคยกันคงหนีไม่พ้นแก้วพลาสติกใช้แล้วทิ้ง ซึ่งกลายเป็นขยะปริมณมหาศาลทิ้งไว้ให้ดูต่างหน้าทุกครั้งหลังงานเฉลิมฉลองผ่านไป  เพื่อสร้างทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น Asahi Breweries Ltd. บริษัทผลิตเครื่องดื่มยอดนิยมอย่างเบียร์อาซาฮีจึงร่วมมือกับบริษัท Panasonic Corp. ผลิตแก้วเบียร์ที่ใช้วัสดุจากพืช  55 เปอร์เซ็นต์ของวัตถุดิบคือเรซินคอมโพสิต (resin composite) และเรซิ่นเส้นใยเซลลูโลส (cellulose fiber resin) แก้วเบียร์ที่ได้จึงเป็นขยะเผาไหม้ได้ ไม่เป็นภาระต่อโลก เราจะได้ทดลองละเลียดฟองเบียร์กันแบบรักษ์โลกภายในเดือนสิงหาคม โดยแก้วแต่ละใบจะมีราคาราว 290-300 เยน

 

Nissin Foods Holdings

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของญี่ปุ่นที่เรารู้จักกันดีอย่าง Nissin ก็มีแผนปรับผลิตภัณฑ์เพื่อลดขยะเช่นกัน  ปัจจุบันหีบห่อของ Nissin ใช้วัสดุเป็นกระดาษ 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 30 เปอร์ซ็นต์เป็นวัสดุปิโตรเคมิคอลที่ใช้ป้องกันยาฆ่าแมลงซึมเข้าไปในอาหาร  Nissin ตั้งเป้าจะลดวัสดุดังกล่าวลงครึ่งหนึ่งด้วยการหาวัสดุทดแทน โดยเปลี่ยนถ้วยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไลน์ Cup Noodle ให้เป็นพลาสติกชีวภาพที่ผลิตจากอ้อย 10-20 เปอร์เซ็นต์ ภายในปลายเดือนมีนาคม 2022  นอกจากลดขยะภายในประเทศแล้ว Nissin ยังวางแผนจะใช้วัสดุจากธรรมชาติสำหรับผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในต่างประเทศด้วย

 

Ohsho Food Service Corp.

ธุรกิจอาหารแฟรนไชส์ส่วนใหญ่อำนวยความสะดวกลูกค้าด้วยอุปกรณ์สำหรับกินอาหารแบบใช้แล้วทิ้ง แต่ล่าสุดบริษัทเจ้าของร้านแฟรนไชส์เกี๊ยวซ่า Gyoza no Ohsho ที่มีสาขาถึง 729 แห่งทั่วญี่ปุ่นได้ตอบรับนโยบายลดขยะด้วยการออกมาตรการไม่แจกหลอดและช้อนพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งให้ลูกค้าตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป  ซึ่งทางร้านจะใช้หลอดพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพสำหรับใช้ในร้าน และแจกช้อนที่ผลิตจากพลาสติกชีวภาพสำหรับลูกค้าที่ซื้ออาหารกลับบ้าน เพื่อให้ลูกค้าอร่อยกับเกี๊ยวซ่ากันได้แบบไม่ต้องทำร้ายโลก

 

Seven & i Holdings

ข้าวปั้นโอนิกิริเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายดีที่สุดชนิดหนึ่งของเซเว่นอีเลฟเว่น  เราคงคุ้นเคยกันดีว่าข้าวปั้นโอนิกิรินั้นห่อด้วยพลาสติกซึ่งจะกลายเป็นขยะใช้ซ้ำไม่ได้ เซเว่นอีเลฟเว่นจึงวางแผนจะเปลี่ยนมาใช้พลาสติกชีวภาพที่มีกากอ้อยเป็ยวัตถุดิบมาห่อข้าวปั้นที่ขายในร้านสะดวกซื้อภายในปลายเดือนกรกฎาคมนี้ และคาดว่าจะช่วยให้บริษัทลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ราว 403 ตันต่อปี และลดการใช้พลาสติกได้ราว 260 ตัน

Seven & i Holdings วางแผนจะใช้พลาสติกชีวภาพหรือพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพให้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของหีบห่อผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่เป็นแบรนด์ของ Seven & i Holdings ภายในปี 2030 และให้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2050

 

FamilyMart

ร้านสะดวกซื้อคู่แข่งเซเว่นอีเลฟเว่นอย่างแฟมิลีมาร์ทเองก็มีนโยบายเพื่อสิ่งแวดล้อมมาเนิ่นนานแล้ว  ในปี 2009 บริษัทเผยแพร่นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งครอบคลุมถึงข้อปฏิบัติกิจกรรมภายในบริษัทและการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานในร้านค้าเพื่อประหยัดพลังงานและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยไม่จำเป็น รวมถึงคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งกล่องสลัดที่ใช้วัตถุดิบหลักจากข้าวโพด และกล่องกราแตงที่ใช้วัตถุดิบหลักจากพืชจำพวกกกหรืออ้อ

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

foodnavigator-asia.com

asia.nikkei.com/Spotlight

asia.nikkei.com/Politics

suntory.com/topics

suntory.com/news

bioplasticsnews.com

asia.nikkei.com/Busines

japantimes.co.jp/asahi-panasonic

japantimes.co.jp/gyoza-no-ohsho

mastermind.earth

asia.nikkei.com/Spotlight/Environment

fu-hd.com

 

Illustration by Montree Sommut
Share :