CITY CRACKER

เรามีสวนสำหรับเด็กผู้หญิงรึยัง? รู้จักสวนเมืองย่างกุ้งที่ออกแบบโดยเด็กผู้หญิง

ช่วงนี้ทางพม่าเพื่อนบ้านของเรากำลังเกิดความเคลื่อนไหวที่น่าจับตา โดยเฉพาะความเข้มแข็งและการรวมตัวของภาคประชาชนที่ไม่ยอมรับอำนาจที่ตนเห็นว่าไม่ถูกต้อง และมีการออกมาร่วมเรียกร้องต่อต้านจากประชาชนในหลายภาคส่วน

นอกจากความเคลื่อนไหวทางการเมืองของภาคประชาชนแล้ว ที่พม่าเองก็มีความเคลื่อนไหวในแง่การพัฒนาเมือง ในการรวมกลุ่มรวมตัวกันเพื่อเปลี่ยนพื้นที่เมืองไปสู่พื้นที่ของการทำประโยชน์ให้กับทุกคน ราวปี 2019 ที่ย่างกุ้งเกิดการรวมตัวของกลุ่มเด็กผู้หญิงที่ร่วมกันบอกว่า “พื้นที่สาธารณะที่ย่างกุ้งมีไม่ใช่ของพวกเธอเลย” ด้วยความช่วยเหลือของสตูดิโอออกแบบ และพลังของเหล่าสาวน้อย ในที่สุดพวกเธอก็สามารถส่งเสียงจนภาครัฐได้ยิน และไม่เพียงแค่ได้ยิน เด็กสาวแห่งเมืองย่างกุ้งนั้นก็ได้รวมตัว ฝึกฝนทักษะในการออกแบบและบริหารจัดการ จนสามารถผลักดันและออกแบบสวนของพวกเธอขึ้น จนกลายเป็นพื้นที่สีเขียวรูปแบบใหม่ที่ร่วมออกแบบโดยเด็กผู้หญิง ที่ไม่ได้ดีแค่กับเด็กผู้หญิงเท่านั้น ลานกว้างๆ บ้านต้นไม้ และทิวไม้สีเขียวกลางเมืองใหญ่นั้นกลายเป็นพื้นที่แห่งจินตนาการที่ปลอดภัยกับทุกคน

 

Hsu Linn Htet, 17, is one of 15 teenagers helping to design the park in Yankin township. (Ryan Phyoe)
myanmarmix.com

 

เมืองของเด็กผู้ชาย? กับเหล่าเด็กหญิงที่จะไม่ยอมทนอยู่ในบ้าน

ประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศยังคงเป็นประเด็นที่ยังล่องลอยและเป็นปัญหา เส้นแบ่งของพื้นที่นอกบ้าน โดยเฉพาะความรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่ภายนอกเช่นพื้นที่สาธารณะตลอดจนความรู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่นอกบ้านนั้น ยังคงมีการเมืองเรื่องเพศแฝงฝังอยู่ แนวคิดเช่นเด็กผู้หญิงควรอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ตรงข้ามกับที่เด็กผู้ชายสามารถออกไปวิ่งเล่นกลางแสงแดดได้อย่างสบายใจ

จากความคิดดังกล่าว ก็เลยค่อนข้างสะท้อนไปที่งานออกแบบและการใช้งานตัวพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะสวนสาธารณะที่กลายเป็นสวนของเด็กผู้ชาย ด้วยความเชื่อดั้งเดิมที่ยังคงส่งอิทธิพลในย่างกุ้งอยู่นี้ ทำให้เด็กผู้หญิงยังตกอยู่ในความคิดที่ว่าพื้นที่ของพวกเธอคือในรั้วบ้านไม่ใช่ด้านนอก

ดังนั้นเด็กผู้หญิง 15 คนจึงรวมตัวกัน เหล่าเด็กผู้หญิงที่อายุเพียง 13-18 ลุกขึ้นบอกว่าพื้นที่ภายนอก สวน และสนามเด็กเล่นนั้นควรจะเป็นพื้นที่ของพวกเธอด้วย  Kyawt Kay Zin Thwe หนึ่งในผู้ร่วมขบวนการบอกว่า พื้นที่สาธารณะด้านนอกนั้นไม่เคยเป็นของพวกเธอ แต่เป็นพื้นที่ของพวกเด็กผู้ชาย เช่นเป็นสนามฟุตบอล เป็นต้น

 

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

ไม่ใช่แค่สันทนาการ แต่คือเรื่องจริงจังเช่นความปลอดภัยในเมือง

ในระดับวัฒนธรรม การจัดผู้หญิงไว้กับบ้านก็ถือว่าเป็นปัญหาพอสมควรแล้ว ทีนี้ปัญหาที่เข้มข้นกว่านั้นคือเมื่อพื้นที่นอกบ้านไม่ใช่พื้นที่ของผู้หญิง สิ่งที่พวกเธอเผชิญคือความรู้สึกไม่ปลอดภัย และแน่นอนพวกเธอต้องเผชิญกับการถูกล่วงละเมิดในหลายระดับ ย่างกุ้งก็เลยเป็นเหมือนอีกหลายเมืองใหญ่ที่ไม่ได้ ‘นับรวม’ ผู้หญิงเข้าไปด้วย ด้านหนึ่งก็คล้ายๆ โทษว่าพวกเธออยู่ผิดที่ผิดทางจึงตกเป็นเป้าของความรุนแรงได้ ในอีกด้านคือการไม่ได้ออกแบบพื้นที่ของเมืองเพื่อป้องกันการล่วงละเมิด หรือคำนึงว่าเป็นพื้นที่ของผู้หญิง ที่มีทั้งกิจกรรม มีการใช้งาน และความรู้สึกของเมืองที่ต่างออกไป

เรื่องการล่วงละเมิดทางเพศในพม่าถือเป็นประสบการณ์เลวร้ายที่ผู้หญิงพม่าต้องเผชิญ และเป็นสาเหตุหนึ่งที่มาจำกัดการใช้งานพื้นที่สาธารณะ รายงานสำคัญคือรายงานจากกลุ่มสิทธิสตรีในปี 2015 ที่รายงานว่าในจำนวนกลุ่มตัวอย่าง 38 คน มีกว่าครึ่งที่เคยเผชิญกับการคุกคามทางเพศในพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะการลวนลาม ตรงนี้จากสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างระบุว่า ความไม่ปลอดภัยนี้ทำให้พวกเธอไม่กลับไปใช้งานพื้นที่สาธารณะเหล่านั้นอีก

ในแง่อาญชกรรมพม่าก็มีปัญหาจากอาชญากรรมต่อเพศหญิง มีตัวเลขกรณีการข่มขืนที่สูงและค่อยๆ สูงขึ้น เช่นในปี 2016 มีตัวเลขคดีข่มขืนที่ 305 กรณี ในขณะที่ปี 2017 ตัวเลขคดีข่มขืนกลับพุ่งทะยานไปที่ 1,405 คดี ซึ่งตัวเลขนี้ถือว่าน้อยกว่าที่เกิดขึ้นจริงเนื่องจากปัญหาที่เหยื่อต้องเผชิญรอยแผลจากสังคมทำให้เหยื่อมักจะไม่แจ้งความหรือดำเนินคดีจากการถูกข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศ

ด้วยตัวเลขและความรู้สึกว่าเมืองไม่ปลอดภัยพวกเธออีกต่อไป เด็กผู้หญิงชาวย่างกุ้งนั้นจึงลุกขึ้นแล้วบอกว่ามันถึงเวลาแล้วที่สวนและเมืองต้องมีผู้หญิงอยู่ในสมการ อยู่ในแกนกลางของงานออกแบบและของพื้นที่

 

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

‘สวยงาม ปลอดภัย และมีชีวิตชีวา’ เรียนรู้และร่วมสร้างสวนให้เกิดขึ้นจริง

ความพิเศษของโครงการนี้นอกจากจะเป็นการร่วมมือของเด็กผู้หญิงที่อายุน้อยมากๆ แล้ว กระบวนการทำงานโดยมี Doh Eain แพลตฟอร์มเพื่อการพัฒนาที่ครั้งนี้จับคู่เข้าทีมออกแบบมืออาชีพเข้ากับเด็กสาวที่เต็มไปด้วยจินตนาการ โดยที่ไม่ใช่ให้เด็กๆ เพียงวาดฝันไป แต่ได้ให้เด็กๆ นั้นได้ลงมือ เรียนรู้ เป็นผสานความเป็นเด็กเข้ากับเงื่อนไขการทำงาน และสร้างเป็นสวนขึ้นมาจริงๆ ซึ่งความเคลื่อนไหวนั้นนำไปสู่การรับฟังของนักการเมืองท้องถิ่น พวกเธอก็เลยได้พื้นที่ร้างแห่งหนึ่ง และแพลตฟอร์มก็ได้เงินทุนมาราว 10,000 เหรียญสหรัฐ

สวนที่สร้างขึ้นจากการเคลื่อนของเด็กๆ นั้นในที่สุดเป็นสวนได้ร่วมสร้างกันอย่างจริงจัง ตัวแพลตฟอร์มทำหน้าที่ช่วยให้เด็กๆ สร้างไอเดียที่เป็นแกนกลาง วาดแบบ ไปจนถึงจัดการควบคุมงบ ซึ่งในการสร้างสวนที่พวกเธอหวังใจนั้นในที่สุดเด็กทั้งสิบกว่าคนนั้นต้องทำงานร่วมกับมืออาชีพทั้งในระดับประเทศและมือโปรในระดับนานาชาติ

ในที่สุดสวนจากพื้นที่ร้างก็ออกมาเป็นสวนแห่งใหม่ในนาม Mya Malar Park ในย่านยานขิ่น (Yankin) ที่ค่อนข้างอยู่กลางเมืองย่างกุ้งพอสมควร ซึ่งเป้าหมายสำคัญของสวนแห่งนี้คือการเป็นสวนที่สวย ปลอดภัย และสร้างชีวิตชีวาให้กับผู้คนที่มาเยือน จริงๆ ตัวสวนแห่งนี้ถือเป็นสวนที่กะทัดรัดและสร้างอย่างรวดเร็วโดยมีชุมชนเข้าช่วยเหลือ ในแผนการคือจะสร้างเสร็จในเพียงเดือนเดียว

แม้ว่าสวนแห่งนี้จะเริ่มโดยเด็กผู้หญิง แต่ก็ไม่ใช่สวนที่จำเพาะแต่ผู้หญิงเท่านั้น ตัวสวนสัมพันธ์และมีชุมชนเข้ามาร่วมลงขันและลงแรง เช่นสนับสนุนแผ่นพลาสติกรีไซเคิล ร่วมปลูกและดูแลต้นไม้ ในขณะที่สนามตะกร้ออันเป็นที่เล่นของเด็กผู้ชายก็ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นด้วย

 

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

 

ตัวสวน Mya Malar ในที่สุดกลายเป็นที่หลบภัยสำคัญของเมือง ด้วยงบราว 23,000 เหรียญสหรัฐ จินตนาการและไฟของเด็กๆ พร้อมการร่วมงานกับคนทำงาน สวน Mya Malar จึงกลายเป็นที่หลบภัยที่ซ่อนตัวอยู่ในแนวไม้ใหญ่ มีบ้านต้นไม้ สะพานแขวน ชิงช้าจากยางรถยนต์ ชั้นหนังสือเก่าที่กลายเป็นป่าของเล่น เครื่องออกกำลังกาย ตัวสวนมีแสงไฟที่สว่างไสวสัมพันธ์กับการทำงานของเด็กผู้หญิงที่ต้องอยู่ในสวนในทุกช่วงเวลา

จากที่มาของการเป็นสวนเพื่อเด็กผู้หญิง ออกแบบโดยเด็กผู้หญิง ทำให้สวนแห่งนี้เป็นที่ที่ปลอดจากการแซว การลวนลาม และกลายเป็นพื้นที่ที่สงบ สวยงามและปลอดภัยกับผู้หญิง ความพิเศษของการมีพื้นที่ของผู้หญิง เพื่อผู้หญิงนี้จึงถือเป็นการผลักสังคมให้ตระหนักถึงประเด็นเรื่องผู้หญิงกับเมืองให้ก้าวหน้า และรอบคอบกับทุกเพศมากขึ้น

นอกจากนี้ ตัวโครงการยังทำให้ทั้งนักออกแบบ ภาครัฐ หรือกระทั่งเด็กๆ เอง ได้เห็นมิติที่พิเศษขึ้น เห็นปฏิสัมพันธ์ของเด็กผู้หญิงและผู้หญิงต่อเมือง แต่สถาปัตยกรรมและภูมิสถาปัตยกรรมที่ถูกสร้างขึ้น

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

myanmarmix.com

asia.nikkei.com

ericsson.com

doheain.com

 

Illustration by Montree Sommut

 

 

 

Share :