CITY CRACKER

7 พื้นที่สีเขียวช่วยชะลอน้ำท่วมในเมืองใหญ่

ฝนตกน้ำท่วมดูจะเป็นปัญหาสำคัญ สำหรับฝนตกน้ำท่วมในเมืองมักเป็น ‘น้ำท่วมเมืองฉับพลันจากพายุฝน’ (urban storm floods)

 

นึกภาพว่าก่อนจะเป็นเมืองเรามีพื้นดิน มีต้นไม้ที่ทำหน้าที่ซับน้ำ แต่เมืองเป็นพื้นที่ที่ถูกแทนด้วยพื้นผิวแข็งๆ ถนน คอนกรีต ถึงเราจะมีการวางระบบระบายน้ำ แต่ด้วยข้อจำกัดทำให้เมื่อมีน้ำฝนตกลงมาปริมาณมาก น้ำก็ระบายไม่ทัน เราจึงเกิดคำว่าน้ำไม่ได้ท่วมนะ มันแค่รอการระบายเท่านั้น ก่อนหน้านี้ถ้ากรุงเทพฯ เกิดฝนหนักราว 100 มิลลิเมตรต่อชั่วโมงน้ำก็จะเริ่มท่วมแล้ว แต่ปัจจุบันกรุงเทพฯ หนาแน่นขึ้น พื้นที่วางน้อยลงกว่าเดิมมาก ฝนตกที่ 40 มิลลิเมตรต่อชั่วโมงน้ำก็ขังเรียบร้อย ต้องรอการระบายกันนานขึ้น

ในแง่เมือง เมื่อเรามีพื้นที่แข็งๆ เยอะขึ้น พื้นที่ธรรมชาติทั้งหลายน้อย การออกแบบและการวางผังเมืองจึงเข้ามามีส่วนช่วยซึมซับและบรรเทาความรุนแรงของน้ำท่วมภายในเมืองได้ การใช้พื้นที่สีเขียวนี้เริ่มต้นตั้งแต่ส่วนรับน้ำคือหลังคาขอองตึกอาคารต่างๆ ไปจนถึงการสร้างสวนรับน้ำที่นอกจากจะใช้หย่อนใจแล้วยังรับน้ำบางส่วนในพื้นที่ได้ด้วย

 

 

หลังคาสีเขียว  (green roofs)

ในหลายประเทศออกฏให้หลังคาสีเขียวเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบ ตัวหลังคาเขียวนี้นอกจากจะสวยงาม ลดความร้อนให้กับเมืองแล้ว ขณะที่ฝนตก หลังคาเขียวๆ เหล่านี้ก็จะช่วยซับน้ำบางส่วนเอาไว้ ช่วยลดปริมาณน้ำจากหลังคาไว้ได้ โดยเฉพาะในช่วง 10-20 นาทีแรกที่ฝนตกหนัก

 

ที่เก็บน้ำ (reservoirs)

คือการที่ตึกใหญ่ๆ มีการสร้างถังเก็บน้ำของตัวเองไว้ ซึ่งบางเมืองมีข้อบังคับให้ผู้สร้างอาคารต้องมีที่เก็บน้ำฝนไว้เป็นของตัวเอง เหมือนว่าพอสร้างตึกขึ้นมาที่ระบายน้ำก็หายไป ดังนั้นอาคารเลยต้องช่วยเมืองด้วยรับผิดชอบด้วยการมีถังเก็บน้ำส่วนตัวเพื่อช่วยลดปริมาณน้ำที่จะเข้าสู่ระบบระบายน้ำของเมือง นอกจากถังเก็บน้ำแล้ว พื้นที่เก็บน้ำอาจสร้างเป็นที่พักน้ำอื่นๆ ด้วย เช่นอ่างเก็บน้ำหรือสระน้ำ

 

แก้มลิง (retention ponds)

อีกหนึ่งวิธีการตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลก่อน แก้มลิงคือการสร้างพื้นที่ชะลอและเก็บกักน้ำฝนเหมือนกับลิงที่จะเก็บอาหารไว้ที่แก้มเมื่อมีอาหารมากเกินไป ตัวแก้มลิงนี้จะทำหน้าที่พักน้ำส่วนเกินไว้ ก่อนจะค่อยๆ ระบายทิ้งในภายหลัง ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีสร้างแก้มลิงตามพระราชดําริมากถึง 25 แห่ง แก้มลิงเหล่านี้สามารถอมน้ำฝนฉับพลันได้ถึง 13 ล้านลูกบาศก์เมตร

 

แก้มลิงชีวภาพ (bioretention ponds)

คำว่าชีวภาพเป็นประเด็นเรื่องความสะอาดของน้ำ ด้วยความที่เมืองใหญ่และมีปัญหาเรื่องการปนเปื้อนของสภาวะแวดล้อมเป็นอีกปัญหาที่มาพร้อมกับน้ำท่วม ดังนั้นการพักน้ำอย่างเดียวจึงไม่พอ การกรองน้ำก่อนปล่อยลงสู่ระบบระบายน้ำจึงเป็นอีกหนึ่งข้อบังคับที่หลายเมืองเริ่มวางไว้ให้กับอาคารทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ระบบพักน้ำและกรองน้ำนี้คือผิวดินและรากที่ดูดซับสารปนเปื้อนให้มากที่สุดก่อนปล่อยออกจากพื้นที่

 

พื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland)

พื้นที่ชุ่มน้ำในเมือง คือพื้นที่ลุ่มต่ำตามธรรมชาติที่มีอยู่แล้วหรืออาจสร้างขึ้นใหม่ พื้นที่ชุ่มน้ำคือการใช้พืชพรรณ ต้นไม้ แสงแดด และจุลชีพ ช่วยฟอกน้ำเสียที่ไหลเข้าสู่พื้นที่เมือง การปล่อยน้ำเสียเข้าสู่พื้นที่อย่างช้าๆ ตัวพื้นที่ชุ่มน้ำนี้จะใช้เวลาประมาณ 5 วันเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำ

 

สวนพิรุณ (rain gardens)

การจะสร้างพื้นที่ชะลอน้ำโดยเฉพาะในเมืองอาจทำได้ยากด้วยราคาที่ดิน การชะลอน้ำฝนจึงต้องใช้งานออกแบบที่รวมเอาวิธีรับมือน้ำฝนออกมาเป็นรูปแบบของสวน สวนพิรุณหรือ rain garden จึงอาจประกอบขึ้นด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ หลังคาสีเขียว บ่อพักและระบายน้ำ ไปจนถึงระบบกรองบำบัดน้ำ เป็นสวนที่นอกจากกจะเป็นที่หย่อนใจแล้วยังเป็นอีกพื้นที่ที่ช่วยรับและระบายน้ำให้กับเมืองด้วย ปัจจุบันแนวคิดเรื่องสวนพิรุณกำลังเป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับทั้งในระดับเมืองคือสร้างเป็นสวนสาธารณะไปจนถึงงานออกแบบในภาคเอกชน เช่นสวนของตึกอาคารไปจนถึงบ้านเรือนทั่วไป เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญในการบรรเทาและรับน้ำฝนอันเกิดจากฝนตกหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

อ้างอิงข้อมูลจาก การบรรยายของ ศาสตราจารย์กิตติคุณ เดชา บุญค้ำ วันที่ 18 ตุลาคม 2561 ณ ห้องประชุมสำนักศิลปกรรม

 

Illustration by Thitaporn Waiudomwut

 

Share :