CITY CRACKER

จากเมืองคอนกรีตสู่เมืองฟองน้ำ จีนสร้างเมืองด้วยแนวคิด Sponge City เพื่ออยู่ร่วมและรับมือน้ำท่วม

จีนเป็นมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ และแน่นอนว่าเป็นประเทศที่เป็นเหมือนพี่ใหญ่ของภูมิภาค จากที่จีนเคยเป็นอู่อารยธรรมจนในศตวรรษใหม่ก็ยังคงเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม แต่กระนั้นจีนก็เจอปัญหาของเมืองใหญ่เช่นเดียวกับมหาอำนาจอื่นๆ ที่ในที่สุดเมืองและการพัฒนาอันเกรียงไกรย่อมสะดุดและถูกท้าทายด้วยธรรมชาติ-เงื่อนไข มิตร คู่ขัดแย้งที่เราทั้งรักและพยายามเอาชนะมาตั้งแต่ครั้งบรรพกาล สุดท้ายจีนก็พบว่าความยิ่งใหญ่ในเมืองอันล้ำค่าและล้ำสมัย เมื่อเผชิญกับภัยธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถรับมือได้ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องน้ำท่วม พายุ และมรสุม

ถ้าเราพอนึกภาพออก เมืองทางเศรษฐกิจและระบบเศรษฐกิจของจีนนั้นสัมพันธ์กับน้ำคล้ายคลึงกับไทย แม้ว่าลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศของจีนและบ้านเราจะแตกต่างกัน แต่ก็มีบางส่วนของจีนที่คล้ายคลึงกับบ้านเรา โดยเฉพาะพื้นที่ทางภูมิประเทศที่สัมพันธ์กับแม่น้ำ มีการสร้างบ้านแปลงเมืองโดยมีแม่น้ำและน้ำเป็นหัวใจสำคัญ ด้วยความที่เมืองดั้งเดิมเป็นเมืองเกษตรกรรม วัฒนธรรมของจีนจึงเป็นวัฒนธรรมลุ่มน้ำ มีการเพาะปลูกอยู่ที่เกี่ยวข้องฝน และมีฤดูของมรสุมคล้ายกับบ้านเรา

เมื่อเมืองเปลี่ยนแปลงเข้าสู่เมืองสมัยใหม่ การเข้ามาของโลกอุตสาหกรรม และการพัฒนาอันนำมาด้วยนวัตกรรมต่างๆ จากเมืองที่เคยอยู่คู่กับธรรมชาติ พื้นที่ธรรมชาติก็ถูกถมด้วยคอนกรีตและตึกสูง ปัญหาที่จีนและไทยเผชิญเช่นเดียวกันกับเมืองสมัยใหม่ทั่วโลก จึงเป็นเรื่องของน้ำที่เมื่อเข้าสู่หน้าน้ำหลาก เมืองไม่อาจรับมือกับน้ำจากธรรมชาติได้ ในท้ายที่สุดก็เกิดเป็นปัญหาน้ำท่วมตามมา

ดังนั้นการแก้ปัญหาสำคัญที่จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมายคือการนำธรรมชาติกลับเข้าสู่เมือง และปรับเมืองให้รับกับธรรมชาติ ด้านหนึ่งบ้านเราก็เข้าใจการอยู่ร่วมกับน้ำจึงได้ออกแบบบ้านเรือนยกสูงและการเดินทางด้วยเรือ ในทำนองเดียวกันจีนก็มองเห็นว่าบริบททางวัฒนธรรมและแกนปรัชญาแบบจีนคือแนวคิดสำคัญที่เมืองสมัยใหม่ในยุค Climate Change ต้องนำแนวคิดและวิถีดั้งเดิมมาปรับใช้ ที่ไม่ใช่กลับไปสู่จีนยุคก่อนสมัยใหม่

จีนจึงได้เลือกแนวคิดเมืองฟองน้ำ หรือ Sponge City มาใช้ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวคือใช้การออกแบบทั้งทางภูมิทัศน์และผังเมืองมาทำให้เมืองกลายเป็นฟองน้ำ เป็นพื้นที่ที่ใช้ธรรมชาติและการออกแบบในศาสตร์ต่างๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ร่วมกัน เป็นแนวนโยบายระดับใหญ่ที่ปรับเมืองทั้งเมืองอย่างเข้าใจบริบททางสิ่งแวดล้อม และใช้น้ำที่เคยสร้างปัญหาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไข ตรงนี้จึงดูเหมือนว่าจีนได้กลับไปสู่ปรัชญาของตน คือแนวคิดการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ความยืดหยุ่นพริ้วไหวดุจกิ่งไผ่ต้องลม เป็นการหาสมดุลของสรรพสิ่ง และเคลื่อนไหวไปตามจังหวะวงจรอย่างเข้าใจ

ถ้าเราบอกว่าไทยโชคดีในเชิงภูมิอากาศ ด้านหนึ่งก็อาจใช่ เพราะผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะผลจาก Climate Change ที่บ้านเราไม่ได้หนักหน่วงเท่ากับที่อื่นๆ แต่บ้านเราก็เริ่มมีสัญญาณความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมอันเป็นปัญหาสำคัญแบบเดียวกับที่จีนเผชิญและพยายามลงมือแก้ไข ซึ่งแนวโยบายเมืองฟองน้ำก็เป็นหนึ่งในภาคปฏิบัติและการลงทุนที่จีนลงมือเปลี่ยนเมืองอย่างจริงจัง นอกจากในแถบเอเชียของเราแล้ว ฝั่งตะวันตกอย่างนิวยอร์กก็ได้ปรับเมืองให้กลายเป็นสีเขียว เพื่อรักษาเมืองและอารยธรรมที่พวกเขารักให้ยืนหยัดอยู่บนโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้เช่นกัน

ปัญหาเรื่องน้ำที่มาก่อนฝุ่น

ระยะหลัง ในมิติของสิ่งแวดล้อม เราจะมองจีนในแง่ของชาติที่เจอกับฝุ่น ใช้ต้นไม้และเปลี่ยนแนวคิดทิศทางของประเทศไปสู่เมืองสีเขียวและพลังงานสะอาดเพื่อรับมือจนได้ท้องฟ้าสีฟ้ากลับคืนมา แต่ก่อนที่จะมีฝุ่น ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ที่จีนเริ่มมีความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ การเติบโตของเมืองแบบสมัยใหม่เริ่มขยายตัวและทดแทนการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างก้าวกระโดด ระบบระบายน้ำและพื้นที่ทั่วไปเริ่มถูกถมด้วยคอนกรีต การเติบโตของเมืองนำปัญหาแบบเมืองๆ มาสู่จีนไม่ต่างกัน แต่เมื่อความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (Climate Change) สมดุลของธรรมชาติต่างๆ เริ่มรวน จีนต้องเผชิญวงจรธรรมชาติที่แปลกออกไป โดยเฉพาะภัยจากน้ำท่วมและภัยแล้งที่เริ่มแปลกประหลาด รุนแรง และบ่อยครั้งขึ้นเค้าลางของภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกับจีนเริ่มปรากฏตัวตั้งแต่ปี 2008 มีรายงานสถิติว่าตัวเลขเมืองใหญ่ของจีนเผชิญกับน้ำท่วมเพิ่มสูงขึ้นถึงสองเท่า

ในช่วงปี 2010 พื้นที่ชนบทเริ่มเจอกับน้ำท่วมใหญ่ เกิดดินโคลนถล่ม มีพื้นที่นอกเมืองสามในสี่ส่วนของจีนจมไปกับน้ำ กระทั่งในปี 2012 เมืองใหญ่เริ่มได้รับผลกระทบ ครั้งนี้เป็นคิวของเมืองหลวงคือมหานครปักกิ่ง ในปีนั้นน้ำท่วมปักกิ่งหนักขนาดทำให้ระบบขนส่งสาธารณะที่อยู่ใต้ดินจมเสียหายไปกับน้ำโดยสมบูรณ์ และในปี 2016 เมืองเศรษฐกิจ เช่น อู่ฮั่น หนานจิง และเทียนจิน ต้องเผชิญกับน้ำท่วมใหญ่จนทำให้ระบบระบายน้ำทั้งหมดพังพินาศ ความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่ส่งผลกับวงจรน้ำนี้ นักวิทยาศาสตร์บางรายเสนอว่าเป็นเพราะอุณหภูมิที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนจากมรสุมทวีความรุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่าในอดีต

ในทำนองเดียวกัน วิกฤติภัยธรรมชาติของประเทศไทยแม้ว่าจะยังไม่เด่นชัดขนาดท่วมขนส่งสาธารณะให้จมช่นจีน หรือเผชิญเฮอร์ริเคนเช่นพายุแซนดี้ แต่ข้อมูลจากนักวิชาการด้านการจัดการน้ำก็ระบุว่าไทยกำลังเผชิญกับพฤติกรรมฝนและพายุที่เปลี่ยนแปลงไป ฝนที่เคยตกในบางจุดกลับย้ายจุด ที่ไม่เคยตกแช่เป็นเวลาก็กลับตกนานขึ้น เขื่อนหรือสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ที่เคยสร้างไว้จึงรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เพิ่งเกิดนี้ไม่ได้

‘เมืองฟองน้ำ’ มุมมองการพัฒนาเมืองที่เปลี่ยนไปของจีน

ภัยพิบัติที่ถาโถมเข้าสู่จีนถือเป็นภัยที่หนักหน่วง และจีนต้องปรับตัวเพื่อรับมือ จากปัญหาเรื่องน้ำทำให้ในปี 2015 จีนได้ออกโครงการ Sponge City อันเป็นแผนการพัฒนาที่มีความยืดหยุ่น โดยตัวโครงการเป็นการพัฒนาขนาดมหึมาที่จะเปลี่ยนเมืองของจีนทั้งหมดให้กลายเป็นเมืองซับน้ำ ที่สามารถบริหารจัดการและอยู่ร่วมกับน้ำได้อย่างชาญฉลาดในจุดเริ่มของโครงการ จีนวางไว้ว่าจะปรับเมืองต้นแบบ 30 เมือง ให้เป็นเมืองฟองน้ำ หนึ่งในนั้นประกอบด้วยเมืองเศรษฐกิจสำคัญ เช่น เซี่ยงไฮ้ อู่ฮั่น และเซี่ยเหมิน ในตอนนั้นจีนได้วางแผนไว้ว่าภายในปี 2020 พื้นที่อย่างน้อย 80% ของพื้นที่เมืองจะเป็นพื้นที่ที่เป็นฟองน้ำที่สามารถดูดซับน้ำได้ และหวังว่าน้ำฝนอย่างน้อย 70% จะถูกบริหารและนำกลับมาใช้ประโยชน์ ไม่ล่องลอยอยู่ตามบ้านเรือนและท้องถนน เพื่อให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกับน้ำได้ต่อไป

หลักการบริหารจัดการน้ำแง่หนึ่งจึงทั้งเรียบง่ายเท่าๆ กับความยาก คือเราเข้าใจวงจรของน้ำ ของมรสุม ของคาบฤดูกาล ปัญหาน้ำท่วมของกรุงเทพฯ เองก็เกิดจากฝนที่มีปริมาณมากจนระบบระบายน้ำและพื้นที่รับน้ำอันเก่าแก่ของเรารับไม่ได้ ดังนั้นแล้ว ปัญหาสำคัญจึงอยู่ที่การหาพื้นที่สำหรับกักเก็บน้ำ ที่ไม่ใช่การแก้ไขด้วยระบบระบายน้ำที่เป็นท่อและอุโม
ค์ แต่คือการใช้พื้นที่ทุกส่วนของเมือง ทั้งพื้นที่ของรัฐและของเอกชน

ฟองน้ำ: จำลองวงจรธรรมชาติของน้ำไว้ในเมือง

หลักการของเมืองฟองน้ำคือการออกแบบให้พื้นที่เมืองเป็นพื้นที่ที่สามารถดูดซับน้ำปริมาณมากได้ มีการหน่วงและชะลอน้ำก่อนจะที่ปล่อยกลับไปสู่พื้นที่รอบๆ ดังนั้น พื้นที่ของเมืองจากที่เป็นพื้นที่แข็งๆ จึงถูกปรับด้วยการใช้คุณลักษณะของธรรมชาติเข้าช่วยดูดซับ และกักเก็บน้ำไว้ก่อน พื้นที่ถนน ทางเท้า สวน พื้นที่ชุ่มน้ำ ไปจนถึงหลังคาจะได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงการซับน้ำ ลำเลียง กักเก็บน้ำ ไปจนถึงช่วยทำความสะอาดน้ำเพื่อรักษาวงจรของน้ำสะอาดเอาไว้หลักการของเมืองฟองน้ำด้านหนึ่งคือจำลองธรรมชาติ ออกแบบและสร้างเมืองที่เข้าใจวงจรของน้ำและอยู่ร่วมกับน้ำได้ จุดเริ่มสำคัญหนึ่งของการออกแบบอย่างยืดหยุ่นคือการเข้าใจบริบทและเข้าใจวงจรของน้ำ ซึ่งจีนก็เข้าใจบริบทพื้นที่ของตน เข้าใจว่าปัญหาเกิดจากพายุ เกิดจากมรสุม การออกแบบเมืองจึงเน้นการบริหารจัดการน้ำฝนตั้งแต่การรับมือน้ำฝนจำนวนมาก ไปจนถึงหาทางนำน้ำกลับไปใช้เพื่อคืนกลับสู่วงจรของน้ำเอง

ไม่ใช่แค่ออกแบบสวน แต่คือการเปลี่ยนทั้งระบบ

แน่นอนว่าเวลาเราพูดถึงเมืองฟองน้ำ เรามักให้ความสนใจไปที่นวัตกรรมและการออกแบบต่างๆ สวนขนาดใหญ่ที่เน้นฟื้นฟูระบบนิเวศ สามารถซับและฟอกน้ำให้กับพื้นที่เมืองได้ ไปจนถึงระบบแนวต้นไม้ริมทางที่ได้รับการออกแบบให้ช่วยซึมซับ ทำความสะอาด และลำเลียงน้ำไปสู่ระบบกักเก็บ แต่กระนั้นแล้วจุดสำคัญของเมืองฟองน้ำของจีนนี้ก็คล้ายๆ กับเมืองในสวนของสิงคโปร์ คือเป็นการเปลี่ยนความคิดและนำไปสู่ภาคปฏิบัติขนานใหญ่โดยมีการวางเรื่องการจัดการน้ำและความยืดหยุ่นยั่งยืนเป็นหัวใจของการพัฒนาดังนั้นคำว่า ‘เมืองฟองน้ำ’ จึงไม่ได้หมายถึงเพียงสาธารณูปโภคสีเขียว แต่คือการที่เมืองๆ หนึ่งนำเอาการจัดการน้ำเข้าเป็นหัวใจหลักทั้งของการวางผังเมืองและการออกแบบสิ่งต่างๆ หลายส่วนของการผลักดันโครงการจึงอยู่ที่การออกแนวนโยบาย แนวทางปฏิบัติ และเครื่องมือต่างๆ ของรัฐ เช่น กฎหมาย สิทธิพิเศษ หรือแรงจูงใจต่างๆ ที่จะส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนนำเอาเรื่องการจัดการน้ำท่วมเข้าเป็นวาระของตน ของการสร้างตึกอาคาร เพื่อปรับปรุงสาธารณูปโภคให้สอดรับกับการกักเก็บ การจัดการ และเป็นฟองน้ำให้กับเมืองต่อไป

ผศ.ดร. สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับ City Cracker ยกตัวอย่างปัญหาน้ำท่วมขังเช่นบริเวณรามคำแห่ง วิธีการร่วมรับน้ำที่สำคัญไม่ใช่แค่การจัดสร้างและจัดการระบบระบายของรัฐ แต่หมายถึงขอความร่วมมือเปิดพื้นที่ขนาดใหญ่ให้ภาคเอกชนเช่นมหาวิทยาลัยร่วมปรับตัวพื้นที่เป็นสวนรับน้ำ มีการออกแบบสระน้ำ บ่อพัก รวมไปถึงการใช้งานออกแบบภูมิทัศน์เพื่อให้พืชพรรณช่วยชลอและฟอกทำความน้ำให้กับเมือง หรือกระทั่งตึกอาคารต่างๆ ก็สามารถเปลี่ยนหลังคาเป็นหลังคาสีเขียว มีสวนดาดฟ้าหรือสร้างระบบร่วมเก็บกักน้ำ ซึ่งทั้งหมดนี้นั้นอาจมีมาตรการของรัฐร่วมสร้างแรงจูงใจ เช่นอาจออกข้อกำหนดในการสร้างอาคาร หรือมีการให้สิทธิพิเศษบางประการกับเจ้าของพื้นที่

หลิงกั่ง เมืองใหม่ที่ช่วยซับน้ำให้เซี่ยงไฮ้

เมืองหลินกั่ง (Lingang) เป็นเมืองใหม่ในพื้นที่ของเซี่ยงไฮ้ ตัวเมืองใหม่เริ่มสร้างตั้งแต่ราวปี 2002 และในปี 2016 ทางเมืองประกาศว่าจะดำเนินการสร้างและพัฒนาเมืองไปเป็นเมืองฟองน้ำ ทำหน้าที่ซับน้ำให้กับเซี่ยงไฮ้ พร้อมกับเป็นเมืองเศรษฐกิจใหม่ เมืองหลิงกั่งถือเป็นหนึ่งในโครงการเมืองฟองน้ำที่ใหญ่ที่สุดและถูกวางให้เป็นเมืองนำร่องและเป็นต้นแบบต่อไป

ในการพัฒนา 3 ปี เมืองหลิงกั่งได้สร้างถนนจำนวนมากที่เน้นการซึมซับน้ำ และเน้นการวางระบบระบายน้ำ ซึ่งมีรายงานว่าทางการใช้เงินกว่า 119 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อปลูกหลังคาของตึกอาคารให้กลายเป็นหลังคาสีเขียวและแทงค์ที่ช่วยเก็บกักน้ำ สร้างพื้นที่ชุ่มน้ำ ระบบกักเก็บน้ำฝน และถนนซับน้ำไว้ ต่อมาในปี 2016 เซี่ยงไฮ้ประกาศว่าเมืองหลิงกั่งมีพื้นที่หลังคาสีเขียว 4 ล้านตารางเมตรทั่วเมือง นอกจากนี้เมืองยังมีทะเลสาปเทียมตีซุย (Dishui) เป็นพื้นที่สำคัญในการกำกับการไหลเวียนของน้ำทั้งหมด

ผลของการออกแบบและทำงานนร่วมกันอย่างเป็นระบบ เมืองหลิงกั่งได้ผ่านบททดสอบแรกคือพายุใต้ฝุ่นเลกิมา (Lekima) ในปี 2019 ซึ่งเป็นหนึ่งในพายุที่สร้างความเสียหายมากที่สุดและรุนแรงที่สุดลูกหนึ่ง

 

อู่ฮั่น เมืองแห่งแม่น้ำร้อยสายสู่เมืองซับน้ำชั้นนำ

อู่ฮั่นในครั้งโบราณเคยได้รับฉายาว่าเป็นเมืองแห่งแม่น้ำร้อยสาย ก่อนที่จะถูกพัฒนาไปสู่เมืองสมัยใหม่ อู่ฮั่นเต็มไปด้วยคูคลองน้อยใหญ่กว่า 137 เส้น ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของอู่ฮั่นในฐานะเมืองแห่งสายน้ำจึงเสี่ยงกับน้ำท่วม พื้นที่ของอู่ฮั่นเลยสัมพันธ์ไปตามการขึ้นลงของน้ำและการมาถึงของมรสุมตามฤดูกาล ซึ่งแน่นอว่าหลังจากการพัฒนาเมือง อู่ฮั่นได้กลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ เป็นเมืองที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการถมคูคลอง สร้างถนนแทนพื้นที่ธรรมชาติ ลำคลองที่มีมากกว่าร้อยสายจึงลดเหลือเพียง 30 เท่านั้น คลองสำคัญน้อยใหญ่บางสายจึงเหลือร่องรอยไว้เพียงชื่อของท้องถนนการปรับคูคลองให้กลับมาเป็นเรื่องยาก อู่ฮั่นได้เน้นพัฒนาถนนหนทางและพื้นที่เกือบทั้งหมดให้ร่วมระบาย ลำเลียง และกักเก็บน้ำได้ นอกจากความพยายามทำให้ถนนหนทางกลับมาร่วมซึมซับและระบายน้ำแล้ว ที่กลางเมืองอู่อั่นยังมีพื้นที่ธรรมชาติสำคัญคือสวน Nanganqu Park กลยุทธ์สำคัญคือการเปลี่ยนพื้นที่สีเขียวใจกลางเมืองอู่ฮั่นให้กลายมีฟังก์ชั่นซับน้ำ และทำงานร่วมกับลักษณะทางธรรมชาติเดิมของอู่ฮั่นคือเน้นรับน้ำและระบายกลับสู่คูคลองตามธรรมชาติ

ความสำคัญของการปรับสวนให้ร่วมซับน้ำได้อย่างจริงจังคือการพัฒนาระบบดินให้ทำหน้าที่ทั้งกรองและกักเก็บ มีการสร้างอุโมงค์และถังเก็บน้ำใต้ดิน ซึ่งตัวสวนจะระบายน้ำออกจากระบบก็ต่อเมื่อน้ำในแม่น้ำอยู่ในระดับปกติ (ไม่ได้สูงจากพายุหรือมรสุม) เท่านั้น และการปรับให้สวนมีระบบชะลอน้ำนี้ถือเป็นโครงการยักษ์ใหญ่เพราะกินพื้นที่เกือบ 4 ตารางกิโลเมตร

กรณีของอู่ฮั่นจึงชวนให้กลับมาสะท้อนถึงกรุงเทพฯ เมืองที่เคยเฟื่องฟูและมีลำคลองหล่อเลี้ยง จนโลกสมัยใหม่นำเอาถนนหนทางและตึกอาคารเข้ามาถมแทนวิถีดั้งเดิม และนำไปสู่การตัดขวางทางน้ำ ซึ่งสำหรับอู่ฮั่นนั้นเป็นการจัดการกับพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่กลางเมือง มีการออกแบบและลงทุนโดยเน้นให้ตัวสวนนั้นร่วมรับน้ำแทนคูคลองที่หายไป ทั้งยังเน้นเชื่อมต่อเข้ากับแม่น้ำอันเป็นบริบทเดิม

สวนสาธารณะรับน้ำ สวนต้นแบบแห่งเมืองจินหัว

เมืองจินหัวก็เจอกับปัญหาจากการพัฒนาในทำนองเดียวกันที่พื้นที่ธรรมชาติถูกทำลาย การพัฒนาที่ไม่เข้าใจระบบนิเวศเดิม ทำลายสมดุลของธรรมชาติ ไปจนถึงพื้นที่เมือง คอนกรีต และกำแพงก็ได้ตัดผู้คนให้ขาดออกจากกัน ตัวสวนสาธารณะ Yanweizhou เองก็เช่นกัน ส่วนแห่งนี้เป็นสวนที่มีลักษณะทางกายภาพโดดเด่น คือตัวพื้นที่เป็นดินตะกอนที่เกิดจากการทับถมของแม่น้ำ 2 สาย ตัวพื้นที่จึงมีหน้าตาเหมือนแหลมที่ขนาบโดยแม่น้ำ และเหมือนเดิมคือตัวพื้นที่นั้นก็ได้ถูกการพัฒนาทำให้พื้นที่เสียและมีการขุดทรายออกไป ทั้งยังได้รับผลกระทบจากการปลูกบ้านอาคารน้อยใหญ่รอบๆ

ในฐานะพื้นที่ริมน้ำ เมื่อเกิดมรสุมและพายุน้ำก็จะท่วม ซึ่งแต่เดิมทางการของเมืองจินหัวได้วางแผนว่าจะสร้างกำแพงกั้นน้ำ แต่ด้วยแนวคิดการออกแบบใหม่ และฝีมือการออกแบบของ Turenscape สตูดิโอภูมิสถาปนิกที่เน้นสมดุลและการอยู่ร่วมกันของมนุษย์และธรรมชาติ จึงได้สร้างเป็นสวนชุ่มน้ำที่เน้นฟื้นฟูระบบนิเวศเดิม เน้นการออกแบบพื้นที่เพื่อร่วมรับน้ำแทนการสร้างกำแพง ด้วยการออกแบบพื้นที่ธรรมชาติที่มีความยืดหยุ่น และรับกับวงจรน้ำได้เมื่อน้ำขึ้นและลง

และที่สำคัญคือการออกแบบสวนโดยเน้นบริบท ที่นอกจากจะให้ความสำคัญกับระบบนิเวศและการหน่วงชะลอน้ำแล้ว ก็ยังเน้นไปที่การผสานการใช้งานของผู้คนผ่านการวางสาธารณูปโภค ที่ทำให้กิจกรรมของคนเมืองดำเนินควบคู่ไปกับธรรมชาติรอบๆ ได้ นอกจากนี้ยังได้สร้างพาวิลเลียน ทางจักรยาน และเชื่อมพื้นที่ที่ถูกแบ่งโดยแม่น้ำทั้งสองสายด้วยสะพาน ที่เป็นการเชื่อมเนื้อเมือง ผู้คน และธรรมชาติเข้าหากัน

Illustration by Montree Sommut
Share :