CITY CRACKER

Resilient Landscape: แก้ไขปัญหาเรื่องน้ำด้วยแนวคิดเมืองยืดหยุ่น

เมื่อเม็ดฝนเริ่มโปรยลงมา ชาวกรุงหลายคนคงรู้สึกกังวลกับปริมาณน้ำที่อาจจะเอ่อท่วม และใช้เวลานานในการระบายออก หรือเมื่อมีพายุพาดผ่านประเทศไทย บ้านเรือนบริเวณริมน้ำต่างก็เริ่มเก็บข้าวของเพื่อเตรียมรับน้ำ ที่อาจท่วมหลากมาโดยไม่ทันตั้งตัว ปัญหาเหล่านี้ไม่เพียงสร้างความวิตกและเหนื่อยหน่ายใจ แต่ยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจในทุกระดับ ในเมื่อเราไม่อาจหลีกเลี่ยงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นได้ มนุษย์เราจึงต้องหาแนวทางรับมือ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่กับน้ำและอนาคตที่ไม่แน่นอน

การรับมือกับปัญหาน้ำท่วมหลังฝนตก หรือปัญหาอื่น ๆ ที่มีน้ำเป็นปัจจัย สามารถทำได้ด้วยการคาดการณ์และออกแบบเมืองให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งความยืดหยุ่น หรือ Resilience ที่ว่านี้ คือความสามารถในการฟื้นหลังประสบกับการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง

เดิมที ‘Resilience’ ใช้อธิบายเกี่ยวกับระบบนิเวศที่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและฟื้นฟูตัวเองได้ ต่อมาได้นำมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นเมืองเข้ามาผนวก ความหมายของความยืดหยุ่น หรือ Resilience จึงกว้างขึ้น และมักถูกนำมาใช้เป็นแนวคิดสำหรับการพัฒนาอนาคต

ในการออกแบบเพื่อสร้างความยืดหยุ่น สามารถเริ่มได้ด้วยการบ่งชี้องค์ประกอบและระบบภูมิทัศน์ว่ามีระบบนิเวศอะไร ประกอบด้วยโครงสร้างภูมิทัศน์ใดบ้าง และสัมพันธ์กันอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่เป็นนิเวศในพื้นที่ราบลุ่ม อันประกอบไปด้วย พื้นที่ดินตะกอนและลานตะพักแม่น้ำ มีแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำสายรอง และหนองบึงกระจายอยู่ มีกลุ่มชุมชนอยู่อาศัยอยู่ตามเส้นแม่น้ำ ทำอาชีพเกษตรกรรมและประมงน้ำจืด ซึ่งองค์ประกอบทั้งหมดนี้มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกัน แม่น้ำจะนำพาน้ำและดินตะกอนจากทางเหนือมาสู่พื้นที่ราบลุ่ม เกิดการเอ่อท่วมของน้ำตามฤดูกาลในพื้นที่ลุ่ม

 

 

วัฏจักรของธรรมชาติทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและชุมชนรอบๆ จึงได้มีการปรับตัวเพื่อรับมือกับความเป็นไปของธรรมชาติ โดยการออกแบบเพื่อสร้างความยืดหยุ่นในภูมิทัศน์ (Resilient Landscape) เช่น ยกพื้นบ้านเรือนให้สูงขึ้น ทำนาน้ำหลาก ทำประมงน้ำจืด กระทั่งการปรับตัวก่อให้เกิดการละเล่นเกี่ยวกับน้ำและการพายเรือ เหล่านี้เป็นตัวอย่างของกลุ่มข้อมูลเบื้องต้นเพื่อทำความเข้าใจในภูมิทัศน์อย่างเป็นเหตุเป็นผล

กรอบความคิดเกี่ยวกับเมืองยืดหยุ่น สามารถนำมาใช้ในงานออกแบบที่เกี่ยวกับงานเชิงภูมิทัศน์ได้ เช่น การจัดการน้ำของเมืองรอตเตอร์ดาม (Rotterdam) ที่นำเอาแนวคิด Water sensitive Urban Design มาใช้

รอตเตอร์ดัมเป็นเมืองที่อยู่บริเวณลุ่มปากแม่น้ำ ติดกับพื้นที่ชายฝั่ง และได้รับผลกระทบแม่น้ำ น้ำฝน และน้ำทะเล ทำให้การระบายน้ำเมื่อเกิดฝนตกเป็นไปได้ยาก แนวทางการจัดการน้ำของเมืองจึงเป็นการชะลอน้ำก่อนเข้าสู่ระบบจัดการน้ำสาธารณะให้ได้มากที่สุด โดยเริ่มตั้งแต่ระบบย่อยภายในบ้าน พื้นที่อาคารของเอกชนและรัฐ ที่ได้รับการส่งเสริมให้พัฒนาสวนหลังคาและการกักเก็บน้ำใต้ดิน และระบบโครงสร้างใหญ่ที่เกาะไปตามโครงข่ายสาธารณูปโภค เช่น ถนนและรถไฟ เกิดการประยุกต์พื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของเมืองในรูปแบบที่หลากหลายและสร้างสรรค์

 

urbangreenbluegrids.com

 

เมือง Hafen City ประเทศเยอรมัน ได้พัฒนาย่านใหม่จากพื้นที่ท่าเรือเก่าที่ไม่ได้ใช้งานเป็นพื้นที่มิกซ์ยูส ผสมผสานการใช้งานอาคารสำนักงาน ที่พักอาศัย และพื้นที่พักผ่อน พื้นที่อยู่ในเขตที่ไม่มีระบบการป้องกันน้ำท่วม และมีค่าระดับดินต่ำกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุด ดังนั้นพื้นที่เมืองใหม่จึงต้องออกแบบการรับมือกับระดับน้ำที่สูงขึ้นด้วยตนเอง โดยการออกแบบให้อาคารชั้นล่างมีระบบป้องกันน้ำ สะพานและทางเท้าออกแบบให้น้ำสามารถท่วมเป็นบางส่วนได้ ชั้นใต้ดินอาคารเป็นพื้นที่จอดรถ เป็นการลดการใช้พื้นที่ผิวดิน เพื่อส่งเสริมพื้นที่สาธารณะ และสนับสนุนให้ใช้รถจักรยานและการเดินเท้ามากขึ้น

 

kcap.eu

 

นอกจากนี้ ยังมีประเทศจีนที่พัฒนาเมืองชายฝั่งให้เป็นเมือง Sponge City เพื่อรองรับน้ำจากมรสุมที่พัดเข้าสู่ชายฝั่งทุกปี จึงเกิดการออกแบบพื้นที่สาธารณะที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ด้วยการคำนึงถึงวัฏจักรตามธรรมชาติ เพื่อลดผลกระทบของน้ำที่มีต่อพื้นที่ ทั้งยังเป็นการสร้างความยั่งยืนในระยะยาวอีกด้วย เช่น สวนสาธารณะ Yanweizhou ในเมืองจินหัว (Jinhua) ที่มีพื้นที่ลุ่มอันเกิดจากการตกตะกอนทับถมระหว่างแม่น้ำสองสาย ในอดีตพื้นที่ลุ่มส่วนนี้ได้ถูกขุดทรายและมีผลกระทบจากอาคารริมน้ำข้างเคียงจนสูญเสียระบบนิเวศเดิมไป จึงได้ออกแบบเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ระบบนิเวศเดิมให้กลายเป็นถิ่นอาศัย แม้ว่าแผนเดิมของเมืองจินหัวคือการสร้างกำแพงกันน้ำโดยรอบพื้นที่ งานออกแบบนี้ใช้เทคนิคการขุดและถมดินเพื่อสร้างพื้นที่ตลิ่งแบบธรรมชาติที่สามารถรองรับปริมาณน้ำได้ จากนั้นเชื่อมพื้นที่การใช้งานจากสองฝั่งแม่น้ำเข้าด้วยสะพาน

 

oppla.eu

 

มิติของการสร้างความยืดหยุ่น ไม่ใช่เพียงเพื่อรองรับปัญหาที่เป็นการวางแผนภูมิทัศน์และงานออกแบบแล้ว แต่ยังสามารถนำไปใช้กับระบบเศรษฐกิจ และการจัดการทรัพยากรได้ด้วย เช่น แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) หรือในทางสังคมเป็นการสร้างความเท่าเทียมของคนทุกรูปแบบรวมถึงสิทธิเสรีภาพส่วนตน เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจและสังคมมีความยั่งยืนอย่างสมดุลกัน

ท้ายที่สุดแล้วหากเรายังมองระบบของธรรมชาติว่าเป็นสิ่งที่ต้องควบคุมและจำกัดให้เป็นไปภายใต้ความต้องการของเรา คงเป็นไปได้ยากที่เราจะอยู่ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติในอนาคต แต่หากเรามองและรับมือด้วยความรู้ ความเข้าใจ เมื่อนั้นคงเป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และนำมาซึ่งการพัฒนาที่ใช้กรอบแนวคิดความยืดหยุ่นอย่างแท้จริง

Illustration by Yossapon Boonsom
Share :