CITY CRACKER

แดดร้อนจนจะละลาย! เมืองต่างๆ ทั่วโลกทำอย่างไรเพื่อคลายร้อนให้ผู้คน

สำหรับบ้านเราความร้อนและการทนความร้อนดูจะเป็นเรื่องธรรมดาที่อยู่คู่กับเมืองร้อนเสมอมา

แต่ทว่าด้วยเงื่อนไขทางสิ่งแวดล้อมและทิศทางการพัฒนาเมืองของทุกวันนี้ ทำให้พื้นที่ธรรมชาติค่อยๆ หายไป สิ่งปลูกสร้างและวัสดุส่วนใหญ่ยิ่งทำให้เมืองกักความร้อนมากขึ้น เกิดเป็นภาวะเกาะความร้อน ประกอบกับความกังวลเรื่องโลกร้อนที่อุณหภูมิเฉลี่ยและสภาวะอากาศแปรปรวนรุนแรงขึ้น

ดังนั้น ทุกวันนี้เราเริ่มพบว่าหน้าร้อนไม่เหมือนเดิม ความร้อนที่เคยทนได้เริ่มทนได้ยากขึ้น เราเริ่มใช้เครื่องปรับอากาศถี่ขึ้น คนเมืองร้อนเริ่มมีรายงานความเจ็บป่วยจากคลื่นความร้อนหรือสภาวะอากาศที่ร้อนจัดมากขึ้น อีกด้าน พื้นที่สีเขียว ร่มเงาของต้นไม้ แม่น้ำ ลำธาร และพื้นที่หลบร้อนทั้งหลายเริ่มหายไป

อันที่จริง ความร้อนของเมืองเป็นอีกหนึ่งความรับผิดชอบ ในการที่พื้นที่เมืองนั้นๆ ร้อนขึ้นจากผังเมือง จากปัญหาสิ่งแวดล้อม ในหลายเมืองใหญ่ที่ไม่คุ้นเคยกับความร้อนเริ่มเผชิญกับปัญหาคลื่นความร้อนจนเกิดความสูญเสีย เกิดการบาดเจ็บไปจนถึงเสียชีวิต ในอีกด้าน การเผชิญความร้อนมีนัยยะของความเหลื่อมล้ำด้วย ไม่ใช่ทุกคนที่เข้าถึงเครื่องปรับอากาศหรือพื้นที่เย็นสบาย เมืองจึงมีหน้าที่เปิดพื้นที่เย็นสบายเหล่านั้นเพื่อให้ผู้คนอยู่รอดและมีสุขภาวะที่ดีในห้วงเวลาแห่งความร้อนระอุ

ปัญหาเรื่องเมืองร้อน หน้าร้อนและสภาพความร้อนรุนแรงเป็นสิ่งที่แทบทุกเมืองทั่วโลกกำลังเผชิญและรับเป็นพันธกิจหลักในการทั้งลดความร้อนให้เมืองและช่วยคลายร้อนให้กับประชาชนของตน เมื่อความร้อนไม่ใช่แค่เรื่องของเราแต่เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและเรื่องส่วนรวม City Cracker ชวนไปดู 10 วิธีสร้างสรรค์และการใช้นวัตกรรมของเมืองต่างๆ มาช่วยคลายร้อนและทำให้ผู้คนปลอดภัยจากความร้อนที่ร้อนเกินไป

 

เปิดจัตุรัส-สวนสาธารณะน้ำ, Taiwan

พื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่สำคัญ นอกจากเราจะมีพื้นที่สาธารณะแล้ว ความหลากหลายและการตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนก็เป็นอีกประเด็นสำคัญของการพัฒนา สำหรับบ้านเรา ‘น้ำ’ เป็นองค์ประกอบที่ยังไม่ค่อยมีความสำคัญในพื้นที่สาธารณะนัก ถ้ามีมักจะไม่ได้ออกแบบให้ลงไปเล่น ซึ่งในหลายประเทศน้ำถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการช่วยลดอุณหภูมิ เพิ่มกิจกรรมในการใช้งานพื้นที่ สร้างบรรยากาศและสีสันให้กับเมือง ในหลายประเทศเริ่มมีการสร้างพื้นที่สาธารณะที่มีน้ำเป็นหัวใจ เช่น จัตุรัสน้ำ (water square) ที่ไต้หวันเองมี Tainan Spring ที่ปรับโครงสร้างท่าเรือเก่าและเชื่อมโยงผู้คนเข้ากับธรรมชาติและบริบทของเมืองผ่านสายน้ำ เป็นพื้นที่ชุ่มฉ่ำและสันทนาการใหม่ใจกลางเมืองไถ่หนาน นอกจากไต้หวันแล้ว พื้นที่สาธารณะที่อื่นๆ ก็มีความหลากหลายขึ้น มีสีสันขึ้นและช่วยรับมือความร้อน ซึ่งการให้ความชุ่มฉ่ำก็ยังเป็นสิ่งที่หลายเมืองทำ เช่น สระว่ายน้ำกลางแจ้งของประเทศแถบแสกนดิเนเวีย หรือหลายเมืองที่เปิดน้ำพุหรือสระน้ำของเมืองให้กับผู้คนในช่วงที่เกิดคลื่นความร้อน

 

ออกแบบถนนโดยคำนึงถึงร่มเงา, Spain

การลดอุณหภูมิเมืองเป็นภารกิจหลักที่แทบทุกเมืองใหญ่กำลังพยายามทำ หนึ่งในวิธีการที่เรียบง่ายที่สุดคือการเพิ่มต้นไม้ให้กับเมือง แทบทุกเมืองใหญ่มีแผนเพิ่มต้นไม้ ปลูกต้นไม้ล้านต้น แต่นอกจากต้นไม้แล้วการที่เมืองคำนึงถึงร่มเงา โดยดูว่าโครงข่ายของเมืองคือถนนหนทางนั้น ‘ร่ม’ แค่ไหนนับเป็นอีกหนึ่งข้อคำนึงที่สำคัญ โดยที่เมืองเซวิญ่า (Seville) ประเทศสเปนก็ประสบปัญหาเรื่องความร้อน นายกเทศมนตรีได้มีนโยบายที่ชื่อว่า ‘นโยบายของร่มเงา (policy of shade)’ คือการคำนึงว่าถนนนั้นมีสภาวะเหมาะกับการใช้ชีวิต วิ่งเล่น เดินเล่น พบปะ หรือเดินทางแล้วหรือยัง นโยบายของร่มเงานี้ใช้วิธีที่เรียบง่ายคือติดตั้งผ้าใบไว้ตามถนนสายหลักหรือพื้นที่ของเมือง การติดตั้งผ้าใบนี้ฟังดูง่ายแต่ก็มีประสิทธิภาพคือเมืองเคยทดลองติดตั้งแนวผ้าใบในช่วงงานเอ็กซ์โปปี 1992 และพบว่ามีผู้เยี่ยมชมเพิ่มสูงขึ้น นอกจากผ้าใบแล้วเมืองยังลดอุณหภูมิด้วยวิธีอื่น เช่น แผนการปลูกต้นไม้ให้ร่มเงาบริเวณถนนสายต่างๆ ทั่วเมือง รวมถึงเพิ่มน้ำพุสาธารณะ

 

เปิดสวนเที่ยงคืน, France

ฝรั่งเศส โดยเฉพาะปารีสเป็นอีกเมืองที่กำลังมุ่งสร้างความเป็นอยู่ที่ดีและเมืองสีเขียว โดยปารีสเป็นอีกเมืองของยุโรปที่เผชิญปัญหาคลื่นความร้อนในทุกๆ ปี โดยในปี 2019 มีรายงานผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนราว 1,500 รายทั่วฝรั่งเศส หนึ่งในวิธีการน่าสนใจของปารีสคือการปรับการใช้พื้นที่สาธารณะ ปารีสเลือกปรับเวลาการใช้งานสวนสาธารณะและพื้่นที่สาธารณะ เช่น ลานสำคัญของเมือง และเลื่อนเวลาเปิดให้บริการไปจนถึงช่วงเที่ยงคืนของทุกวันในช่วงหน้าร้อน และในปี 2022 ปารีสได้ประกาศเปิดสวนกลางคืนทั้งหมด 20 สวน ให้ผู้คนได้มาหลบร้อน มาใช้งานสวนในช่วงกลางคืนแทนช่วงเวลากลางวันทีไม่สามารถใช้งานได้ เราก็จะเห็นภาพชาวปารีสออกมานั่งเล่นชมดาว ปิกนิก ซึ่งนโยบายเรียบง่ายนี้นับเป็นอีกวิธีการใช้สาธารณูปโภคของเมืองที่ปรับเปลี่ยนไปตามเงื่อนไข ทั้งยังทำให้ผู้คนได้เกิดจินตนาการและปฏิสัมพันธ์ใหม่ๆ บนพื้นที่เมือง

 

บอกเส้นทางเดินที่ร่มรื่นผ่านแอพพลิเคชั่น, Spain

นึกภาพการเดินออกไปนอกบ้านในวันที่แดดจ้า ที่บาร์เซโลนา ประเทศสเปน มีการออกแอพพลิเคชั่นที่ทั้งช่วยให้ผู้คนเดินในเมืองมากขึ้น และรับมือกับวันร้อนๆ ได้ คือบาร์เซโลน่าออกแอพที่ชื่อว่า Cool Walks เป็นแอพบอกเส้นทางเดินในเมืองโดยมีความร่มรื่นของเส้นทางเป็นตัวเลือกให้กับผู้ใช้งาน คือเราจะเดินไปไหน แอพจะเสนอเส้นทางการตามเงื่อนไขสามรูปแบบ คือเดินไปถึงเร็วที่สุด เส้นทางที่ร่มกว่าหน่อย ไปจนถึงโหมดที่เรียกว่าเส้นทางแวมไพร์ คือเป็นเส้นทางเดินที่แทบจะไม่โดนแดดเลย มีร่มตลอด นอกจากนี้ในแอพยังแสดงจุดพัก จุดน้ำพุสำหรับการแวะดื่มน้ำ ซึ่งการมีแอพแบบ Cool Walk ทำให้เราเห็นภาพของเมืองที่เดินได้มากขึ้น ในทางกลับกัน เมืองเองก็อาจมองเห็นจุดบอดของเส้นทางและความร่มรื่นของโครงข่ายถนนและการเดินของตัวเอง จริงๆ แอพนี้มีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยในการจำลองร่มเงาทั้งจากต้นไม้และจากอาคารในช่วงเวลาต่างๆ ที่ทำให้เราเข้าใจเมืองมากขึ้น

 

เปิด ‘เกาะความเย็น’ และพาผู้คนไปยังจุดเย็นของเมือง, France

กลับมาที่ปารีส ปารีสเริ่มเจอคลื่นความร้อนและลงมือลดอุณหภูมิจากการเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิอากาศมาตั้งแต่ช่วงปี 2019 เมื่อเมืองมีเกาะความร้อน ปารีสแก้ทางด้วยการมุ่งสร้าง ‘เกาะความเย็น’ คือปารีสเน้นการสร้างพื้นที่เย็น เช่น สวนสาธารณะ สระว่ายน้ำ ไปจนถึงการเปิดพื้นที่สาธารณะอื่น เช่น พิพิธภัณฑ์ และเน้นการเชื่อมต่อพื้นที่เย็นเหล่านั้นเข้าหากัน โดยหลักการปารีสต้องการสร้างและระบุโครงข่ายของพื้นที่เย็นของเมือง ในเบื้องต้นปารีสเพิ่มพื้นที่เย็นให้เมืองราว 800 จุด ในวันที่อากาศร้อน ปารีสมีการออกแอพพลิเคชั่นที่ผู้คนสามารถมองเห็นพื้นที่เย็น (cooling space) ที่อยู่รอบๆ พื้นที่ของตัวเองและสามารถไปหลบร้อนได้ในวันที่อากาศร้อนจัด

 

เปิดศูนย์หลบร้อน, USA

ศูนย์หลบร้อนหรือ Cooling Center จริงๆ คือการเปิดพื้นที่ที่ปรับอากาศเพื่อเป็นที่หลบร้อนของเมือง โดยทั่วไปไม่ใช่ทุกคนที่จะมีหรือสามารถเข้าถึงการใช้งานในพื้นที่ปรับอากาศได้ พื้นที่หลบร้อนนี้คือการที่เมืองเปลี่ยนพื้นที่ปรับอากาศและเปิดให้สาธารณชนเข้ามาหลบร้อนได้ ในเมืองสำคัญ เช่น นิวยอร์กเองในช่วงที่เสี่ยงเกิดคลื่นความร้อน ทางนิวยอร์กก็เปิดพื้นที่ เช่น ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ศูนย์ชุมชน ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุให้เป็นพื้นที่หลบร้อน มีการระบุแผนที่ เส้นทาง จุดหลบร้อนใกล้บ้านผ่านเว็บไซต์ ที่เอเธนส์ ประเทศกรีซเองก็มีการเปิดพื้นที่หลบร้อนหกแห่งขึ้นในย่านกลางเมือง ร่วมกับการแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การมีแอพระบุเส้นทางร่มรื่น แอพแจ้งเตือนและแนวทางปฏิบัติเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น

 

สร้างวงแหวนสีเขียวล้อมเมือง, Columbia

ต้นไม้เป็นแนวทางลดอุณหภูมิ เพิ่มร่มเงา และเพิ่มพื้นที่หลบร้อนให้เมือง แต่การปลูกต้นไม้อย่างเดียวอาจยังไม่ใช่คำตอบทั้งหมด เพราะการเลือกต้นไม้และวิธีการปลูกในพื้นที่เมืองก็เป็นอีกข้อคำนึงสำคัญ กระบวนการหนึ่งของแผนลดอุณหภูมิ คือการปลูกแนวต้นไม้เป็นเสมือนแนวกำแพง (Green Corridor) หรือสร้างเป็นวงแหวนสีเขียว (Ring) เพื่อช่วยกรองและรับความร้อนให้เมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเพิ่มระเบียงสีเขียวหรือวงแหวนให้เมืองเป็นแนวทางที่หลายเมืองทำ นอกจากการสร้างแนวปะทะเพื่อสิ่งแวดล้อมแล้ว เส้นทางหรือวงแหวนเหล่านี้ยังทำหน้าที่เชื่อมต่อกิจกรรมของผู้คน คือพื้นที่สีเขียวไม่ได้อยู่กระจายอย่างโดดเดี่ยว ผู้คนสามารถใช้งานในชีวิตประจำวันได้ ที่เมือง Medellín เมืองใหญ่ลำดับที่สองของโคลัมเบียมีการสร้างแนวระเบียงสีเขียวขึ้น โดยในปี 2017 ทางเมืองมีระเบียงสีเขียว 30 จุด เชื่อมต่อเส้นทาง 20 กิโลเมตร รวมถึงหลายเมืองก็มีการทำเส้นทางสีเขียว เช่น สิงคโปร์ หรือการเสนอทำวงแหวนที่เคยเป็นทางรถไฟวิ่งรอบเมืองไปสู่สวนแนวยาว

 

เพิ่มการเปิดใช้น้ำพุและน้ำดื่มสาธารณะ, Germany

จุดดื่มน้ำสาธารณะเคยเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานของเมือง น้ำพุ น้ำดื่มเหล่านี้มีประวัติเก่าแต่ตั้งแต่การเป็นจุดบริการน้ำสะอาดตั้งแต่ครั้งโบราณเช่นที่เราอาจจะเห็นท่อและน้ำพุน้ำสะอาดในเมืองประวัติศาสตร์ต่างๆ เช่น โรม หรือในยุคหลังเมืองก็มักมีจุดบริการน้ำดื่มให้ กรุงเทพฯ เองก็เหมือนกับหลายเมืองใหญ่ที่ลงมือรื้อถอนจุดดื่มน้ำออกไปเนื่องจากปัญหาเรื่องความสะอาดและไม่มีผู้คนใช้งาน ทว่า จุดให้บริการน้ำสะอาดหรือน้ำดื่มนี้อาจเป็นอีกหนึ่งสาธารณูปโภคสำคัญทั้งกับผู้ที่ต้องการ รวมถึงการดื่มน้ำเองก็เป็นอีกหนึ่งการป้องกันอาการฮีทสโตรกจากความร้อน แน่นอนว่าประเด็นเรื่องความสะอาดทั้งของตัวน้ำพุและคุณภาพน้ำเป็นประเด็นที่ต้องจัดการ ในมิติของการรับมือช่วงหน้าร้อน เมืองเบอร์ลิน เลือกที่จะเพิ่มและเปิดให้บริการน้ำสะอาดในพื้นที่สำคัญ เช่น ย่านการค้าและย่านกลางเมือง เป็นจุดที่ผู้คนจะสามารถนำขวดน้ำมาเติมและรักษาน้ำในร่างกายได้โดยไม่ต้องเสียเงิน ทั้งยังช่วยลดการใช้ขวดพลาสติกได้ด้วย แผนการเพิ่มให้บริการน้ำสะอาดเป็นแผนระดับชาติ คือเยอรมันจะเพิ่มจุดบริการน้ำดื่มน้ำในเบอร์ลินและพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ

 

ใช้ดาต้าเข้าใจเมือง เพื่อปรับอาคารและลดความร้อน, Singapore

นอกจากการปลูกต้นไม้ แนวนโยบายต่างๆ แล้ว ในระดับผังเมืองเองก็ยังเป็นหัวใจสำคัญในการรับมือและลดอุณหภูมิให้กับเมืองและผู้คน สิงคโปร์เป็นตัวอย่างสำคัญที่แม้ว่าทุกวันนี้สิงคโปร์จะเป็นเมืองในสวน มีพื้นที่สีเขียว แนวระเบียงสีเขียว สารพัดอาคารที่คลุมด้วยต้นไม้และพื้นที่สาธารณะรวมถึงนวัตกรรมเพื่อเมืองเย็นอีกมากมาย แต่สิงคโปร์เองก็ยังเจอปัญหาความร้อน เช่น ปลูกต้นไม้แล้วยังร้อนชื้นเพราะอับลม มีอัตราการใช้เครื่องปรับอากาศสูงและยิ่งทำให้เมืองร้อนอยู่ สิ่งที่สิงคโปร์ทำคือการใช้ดาต้าเพื่อทำความเข้าใจลักษณะทางกายภาพของเมืองที่เฉพาะเจาะจง และเมื่อเข้าใจพื้นที่เฉพาะแล้ว สิงคโปร์เองก็จะใช้ข้อมูลเหล่านั้นเพื่อทำงานในระดับผังเมืองต่อไป เช่น การออกแบบและจัดการอาคารเพื่อเอื้อให้เกิดลมหรือการระบายอากาศ รวมถึงการวางนโยบายการใช้ที่ดิน การบริหารพื้นที่สีเขียว พืชพรรณและอื่นๆ จากข้อมูลและผังเมืองที่ซับซ้อนขึ้นต่อไป

 

หอคอยยักษ์รับแดดและสร้างลม, United Arab Emirates

สุดท้าย เราชวนเรียนวิชารับมือความร้อนจากภูมิปัญญาและสถาปัตยกรรมจากดินแดนทะเลทรายคือตะวันออกกลาง โดยพื้นฐานแล้วสถาปัตยกรรมของตะวันออกกลาง เช่น เปอร์เซียจะมีการใช้ภูมิปัญญาเพื่ออุณหภูมิให้ผู้คนอย่างเช่นการสร้างหอคอยเพื่อดึงลมเข้าสู่อาคาร ในช่วงหลังด้วยนวัตกรรมและการลงทุน การรับมือความร้อนจึงเป็นอีกโจทย์สำคัญของเมืองทะเลทรายซึ่งดูจะสืบทอดภูมิปัญญาของตัวเอง เช่นที่เมือง Masdar เมืองนวัตกรรมและเทคโนโลยีมีการใช้ผังเมืองและสร้างหอคอยลง (wind tower) ซึ่งจะดึงลมเข้าสู่จัตุรัสเพื่อลดความร้อนให้บริเวณกลางเมือง นอกจากนี้ที่เมืองอาบู ดาบี ยังมีการสร้างหอคอย Al Bahar Towers คือเป็นอาคารสูงระฟ้า ที่ตัวอาคารถูกออกแบบให้ตอบสนองกับแสงแดด คือผิวอาคารสามารถกางออกเสมือนร่มเมื่อแสงแดดส่องมาถึง เป็นการออกแบบที่ตอบสนองกับภูมิอากาศและช่วงเวลา ซึ่งมีการควบคุมอุณหภูมิเป็นหัวใจของสถาปัตยกรรม ระบบผิวอาคารและการออกแบบที่ตอบสนองกับอุณหภูมิและแสงแดดจึงดูเป็นอีกแนวทางของงานออกแบบพื้นที่เพื่อช่วยรับมือและบรรเทาความร้อนให้กับผู้คนได้

 

อ้างอิงข้อมูลจาก
mvrdv.nl
themayor.eu
sortiraparis.com
fastcompany.com
nytimes.com
ekathimerini.com
news.trust.org
dw.com
bloomberg.com
fidic.org
earthbound.report

 

Share :