CITY CRACKER

ฮาวานาที่มาทานซาส์ เมืองที่ได้ชื่อจากรอยแผล และใช้เบียนนาเล่ชุบชีวิต

ฮาวานา (Havana) เป็นชื่อเราคุ้นหู อย่างน้อยก็จากเพลงป็อบ เวลาได้ยินชื่อนี้เราอาจจะได้ภาพของแสงแดดจ้าๆ เมืองที่เต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่องแบบโคโลเนียล เป็นศูนย์กลางศิลปะวัฒนธรรมของคิวบาและวัฒนธรรมแบบละตินอเมริกา แต่มาทานซ่าส์ (Matanzas) หมายถึงอะไร อันที่จริงมาทานซาส์เป็นเมืองใหญ่อีกเมืองที่ค่อนข้างโรยราลง แต่ในที่สุดเมืองมาทานซาส์ก็ได้ฟื้นฟูตัวเองขึ้นและกลับมาเป็นตัวแทนของนครแห่งศิลปะและกวี กลายเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมอีกแห่งของคิวบาได้

คำว่า ‘ฮาวานา’ ในแง่หนึ่งหมายถึงเมืองที่ใครๆ ก็รู้จักและเฟื่องฟูไปด้วยความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม และคำว่าฮาวานาที่มาทานซาส์นี้ผู้เขียนหมายถึง ‘ฮาวานาเบียนนาเล่ที่มาทานซาส์ (Havana Biennial at Matanzas)’ อธิบายอย่างรวบรัดคือฮาวานาเป็นเมืองที่จัดเบียนนาเล่ที่พอนับได้ว่าเก่าแก่แห่งหนึ่ง- และมีความพิเศษงานหนึ่ง คือถ้าเราดูการจัดเบียนนาเล่นับจากเวนิสในปี 1895 เซาเปาโล (São Paulo) นับเป็นเบียนนาเล่ที่เก่าแก่ลำดับที่ 2 จัดขึ้นในปี 1951 โดยฮาวานาเป็นเมืองที่รับเอาเบียนนาเล่มาจัดในปี 1984 ก่อนที่จะขยายงานเบียนนาเล่ไปจัดที่เมืองอื่นๆ รวมถึงมาทานซาร์ด้วยในเบียนนาเล่ครั้งที่ 13 จัดขึ้นเมื่อปลายปี 2018

ตัวเมืองมาทานซาร์เอง จริงๆ ถือเป็นเมืองใหญ่ที่ค่อยๆ ซบเซาลง ทั้งที่ในเมืองถือว่าค่อนข้างมีภูมิหลังและมีความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม จนกระทั่งทศวรรษที่ผ่านมา ศิลปินและคนรุ่นใหม่ต่างเข้าไปสร้างความเคลื่อนไหวภายในเมืองโดยในความเคลื่อนไหวสำคัญหนึ่งนั้นคือการที่เมืองจัดงานเบียนนาเล่จนทำให้เมืองที่มีชื่อจากประวัติศาสตร์บาดแผลค่อยๆ กลายเป็นอีกหนึ่งจุดหมายและศูนย์กลางด้านวัฒนธรรมของคิวบา จนได้ฉายาว่าเวนิสแห่งคิวบาและกรุงเอเธนส์แห่งคิวบาในปัจจุบัน

 

dgillart.files.wordpress.com

จากฮาวานาเบียนนาเล่และนัยสำคัญของเทศกาลศิลปะ

คำว่า ‘เทศกาลศิลปะ’ โดยเฉพาะงานเบียนนาเล่ งานรวมตัวด้านศิลปะและความเคลื่อนไหวของศิลปะที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดของโลกนั้น ถ้าเรามองย้อนไป บริบทของงานเบียนนาเล่มีความสัมพันธ์กับบริบททางประวัติศาสตร์อย่างยิ่งยวด งานเวนิสเบียนนาเล่ส่วนหนึ่งสัมพันธ์กับการสร้างศูนย์กลางและความร่วมมือของศิลปินสมัยใหม่ อีกด้านงานเบียนนาเล่เองหลายช่วงเกิดขึ้นในความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นสงครามภายในยุโรปเองหรือสงครามโลกไม่ว่าจะเป็นครั้งที่ 1 หรือ 2 บางเมืองจัดเทศกาลเบียนนาเล่หลังการเกิดการปฏิวัติได้สำเร็จ การเปิดพื้นที่เฉลิมฉลองให้กับศิลปินนั้นจึงสัมพันธ์กับการเมืองภายในและระหว่างประเทศอย่างยิ่ง

ทีนี้ เทศกาลศิลปะเบียนนาเล่ แค่ในบริบทประวัติศาสตร์คิวบาและเมืองฮาวานาเองก็ซับซ้อนและมีความยากลำบากมาก แต่พร้อมกันนั้นงานเบียนนาเล่ถือเป็นหมุดหมายที่ดีในมิติทางวัฒนธรรมของเมืองฮาวานาและมาทานซาส์ในเวลาต่อมา กล่าวคือฮาวานาเบียนนาเล่ครั้งแรกและครั้งที่ 2 นั้นจัดขึ้นภายใต้บริบทของสหภาพโซเวียต (ปี 1984 และ 1986) แต่ในการจัดงานครั้งที่ 3 คือปี 1989 ถือเป็นปีสำคัญคือในช่วงต้นปีของเบียนนาเล่ครั้งที่ 3 เริ่มปีด้วยการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ทำให้การจัดเบียนนาเล่ครั้งที่สามถูกมองว่าฮาวาน่าได้กลายเป็นหลักไมล์ของการเป็นศูนย์กลางเบียนนาเล่ของกลุ่มประเทศอเมริกาใต้ (ซึ่งต่อมาฮาวาน่าเบียนนาเล่จากที่เป็นพื้นที่ศิลปินกลุ่มละตินอเมริกาและแคริบเบียนก็ได้ขยายไปสู่เอเชียและแอฟริกาด้วย)

Havana Biennial 1989 (afterall.org)

 

ในบริบทของเบียนนาเล่ยุคหลังโซเวียตตัวคิวบายังมีความยากลำบาก โดยเฉพาะการสาธารณูปโภค สินค้าสำคัญอันเกิดจากการคว่ำบาตรของอเมริกาที่เพิ่งจะคลายลงในสมัยโอบาม่า ในแง่หนึ่งฮาวานาเองก็ได้กลายเป็นเมืองสำคัญทางวัฒนธรรมที่ผู้คนจากทั่วโลกรับรู้และเดินทางไป ในทำนองเดียวกันหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเมืองมาทานซาร์ที่เคยรุ่งเรืองด้วยประวัติศาสตร์ การเป็นบ้านเกิดของนักเขียน กวี และการเต้นรำ มาทานซาส์ในทศวรรษ 1990 ถูกทิ้งร้าง และว่างเปล่า จนกระทั่งในปี 2018 ที่ฮาวาน่าเบียนนาเล่ตัดสินใจจัดงานในพื้นที่ภูมิภาคร่วมไปกับงานที่เมืองฮาวานาอันโด่งดัง

 

Havana Biennial 2019 (frieze.com)

 

เมืองมาทานซาส์ จากเมืองของการฆาตกรรมหมู่สู่เอเธนส์แห่งคิวบา

เมืองมาทานซาส์เป็นเมืองทางตะวันออกของฮาวานา อยู่ห่างจากเมืองหลวงเพียง 90 กิโลเมตร ตัวเมืองเป็นตั้งอยู่บนอ่าว และก่อขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 17 ภายใต้บัญชาของกษัตริย์สเปน คำว่ามาทานซาร์หมายถึงการสังหารหมู่ (Matanzas-Massacre) จากประวัติศาสตร์ที่ทหารสเปน 30 นายถูกชนพื้นเมืองสังหาร แม้ว่าชื่อจะฟังดูสัมพันธ์กับความขัดแย้งของคนผิวขาวและชาวพื้นเมือง แต่ด้วยความเป็นเมืองท่าและกิจการค้าน้ำตาลรวมถึงการค้าทาส เมืองแห่งนี้จึงเจริญรุ่งเรืองกลายเป็นเมืองที่มั่งคั่งแห่งหนึ่งใต้อาณัติของสเปน

Matanzas-Massacre (i0.wp.com)

 

ในช่วงศตวรรษที่ 19 เมืองมาทานซาส์ได้ค่อยๆ กลายเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่แห่งศิลปะวัฒนธรรม ในยุคนั้นเมืองท่าแห่งนี้ได้กลายเป็นบ้านของนักเขียนคนสำคัญ José Jacinto Milanés และเมืองค่อยๆ กลายไปเป็นศูนย์กลางสำคัญ เช่น การจัดนิทรรศการระดับโลกในปี 1881 ที่สร้างความสนใจให้ทั้งสหรัฐอเมริกาและสเปน ตัวเมืองท่าแห่งนี้เต็มไปด้วยความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม จากทั้งระดับการปกครองที่ได้รับอิทธิพลจากสเปนและชาวละตินอเมริกา (อาคารส่วนใหญ่ของเมืองจึงมีลักษณะเป็นอาคารโคโนเนียลขนาดใหญ่) แต่ทว่าวัฒนธรรมของคนผิวดำที่แม้จะอยู่ในสถานะทาสนั้น ตัวเมืองแห่งนี้ก็กลายเป็นศูนย์กลางของความคิด ความเชื่อและศิลปะที่ผสมผสานเข้าสู่ชนชาติอันหลากหลาย เช่นการเป็นบ้านเกิดของการเต้นรุมบ้า

ทว่าความสำคัญของการเป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมของเมืองที่ทั้งมั่งคั่งและรุ่มรวยแห่งนี้ก็ค่อยๆ ร่วงหล่นลง ทั้งจากการปฏิวัติที่ทำให้คิวบาตกอยู่ใต้ความคิดแบบสังคมนิยม และที่สำคัญคือการล่มสลายของโซเวียต ทำให้สินค้า การค้า และระบบเศรษฐกิจของคิวบาเข้าสู่ภาวะฝืดเคือง รวมถึงอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ถดถอยลงไปพร้อมๆ กัน ในทศวรรษ 1990 เมืองแห่งนี้จึงค่อยๆ ว่างเปล่าลง

ต่อมาในปี 2018 นั้น ด้วยบรรยากาศการเมืองโลกในยุคโอบาม่าทำให้ความตึงเครียดของชายแดนบางเบาลง ในปีนั้นเองหลังจากฮาวานาได้รับการฟื้นฟูขึ้นเป็นเมืองหลวงด้านวัฒนธรรมแล้ว เมืองมาทานซาร์ก็ถึงคิวจะฉลองด้วยครบรอบ 325 ปี ด้วยการฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่อีกครั้ง แผนการพัฒนาในปีนั้นเริ่มต้นจากการปรับปรุงอาคารมรดกเก่าแก่ การเปิดโรงแรมแห่งใหม่สามแห่งบริเวณจัตุรัสสำคัญ และแน่นอนว่าในปีนั้นเป็นครั้งแรกที่เบียนนาเล่ของฮาวานาได้ไปจัดที่เมืองอื่นๆ และมีพื้นที่งานสำคัญคือที่เมืองมาทานซาร์ด้วย

 

อาคารที่ได้รับการบูรณะในมาทานซาส์ (Credit: Brendan Sainsbury)

 

ข้อสำคัญของความเคลื่อนไหว และความซบเซาของเมือง รวมถึงกลุ่มศิลปินและกิจกรรมสร้างสรรค์ของคิวบาทั้งระบบนี้สัมพันธ์กับการซบเซาลงของเศรษฐกิจและมิติทางการเมืองโดยทั่วไป แต่ทว่าศิลปินเองมีความสามารถในการปรับตัว และพยายามผลักดันเพื่อให้เหล่าผู้คนในวงการสร้างสรรค์มีพื้นที่อีกครั้ง งานเบียนนาเล่ในปี 2018 นั้นจึงเป็นหมุดหมายและการผลักดันที่สำคัญในการดิ้นรนของศิลปินและพื้นที่ศิลปะเอง

แน่นอนว่าการจัดงานที่มาทานซาส์นั้นยาก เมืองเล็ก แถมไม่มีสาธารณูปโภคพื้นฐาน ในข้อเขียนทางวิชาการของ Iftikhar Dadi ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะโดยเฉพาะเอเชียใต้จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล ระบุว่าในการจัดเบียนนาเล่ในครั้งนั้นถือว่าฮาวานาเบียนนาเล่โชคดีที่ได้มือถือสามคนมาร่วมกันจัดงาน ทำให้มาทานซาส์กลายเป็นที่สนใจของเหล่าศิลปินสำคัญจากทั่วโลก และข้อสำคัญอีกด้านคือมาทันซาเองก็พร้อมที่ลงทุนและสนับสนุนให้พื้นที่เมืองสามารถจัดงานระดับโลกขึ้นมาได้

ความพิเศษของเมืองมาทานซาส์คือความเฉพาะตัว และการปรากฏตัวของศิลปินและชุมชนเล็กๆ ถ้าเรานึกภาพฮาวานา บางครั้งการตกอยู่ใต้อำนาจเบ็ดเสร็จแม้ว่าจะมีการเปิดไปสู่การเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวและการลงทุน หลายครั้งที่การปรับตัวนั้นสัมพันธ์กับแค่ทุนใหญ่ของเมืองนั้นๆ และเสียงของชุมชนสร้างสรรค์เล็กๆ เงียบหายไป แต่ที่มาทานซาส์ด้วยลักษณะที่มีความหลากหลาย หลายส่วนของมาทานซาส์ เช่นบ้านเรือนเองที่แม้ว่าจะเป็นตึกอาคารโคโลเนียล แต่การพักอาศัยจริงอาจเต็มไปด้วยชุมชนขนาดเล็กที่ไม่เป็นทางการ และเสียงของชุมชนเล็กๆ การสร้างระบบเศรษฐกิจจากล่างขึ้นบนโดยเฉพาะเศรษฐกิจสร้างสรรค์จึงเกิดขึ้นอย่างน่าสนใจที่เมืองมาทานซาส์

 

Matanzas (locallysourcedcuba.com)

 

หลังจากความเคลื่อนไหวสำคัญของเทศกาลศิลปะ ภาพของการเป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมจึงฉายชัด หลัง-และระหว่างงานเบียนนาเล่นั้นพื้นที่เมืองจึงให้ความสำคัญกับพื้นที่กายภาพของเมืองในทุกๆ ด้าน โรงละครสำคัญกลับมาแสดงงานคลาสสิกที่เคยเฉิดฉายเมื่อหลายร้อยปีก่อน ถนนหนทาง ลาน จัตุรัส คาเฟ่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของภาพวาดและงานออกแบบ มาทานซาส์กลายเป็นดินแดนของคนรุ่นใหม่ที่หลงใหลในศิลปะทั้งจากในคิวบาเองและจากทั่วโลก

ปัจจุบันมาทานซาส์จึงนับได้ว่าเป็น ‘เมืองชิกๆ’ ที่เต็มไปด้วยกิจการและกิจกรรมของคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าร้านอาหาร คาเฟ่ แกลเลอรี่และอื่นๆ อีกมากมาย แน่นอนว่าโดยภูมิศาสตร์ การเป็นแห่งสายน้ำและสะพานน้อยใหญ่ ตัวอาคารและสถาปัตยกรรมที่ตกทอดมาจากยุคโคโลเนียล และประวัติศาสตร์ของผู้คนหลากชาติพันธุ์ มาทานซาส์เป็นอีกเมืองที่แทบจะไม่ฮาวานา เป็นเมืองท่าเก่าที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ศิลปินสวมกอดและเปลี่ยนเป็นพลังสร้างสรรค์และส่วนหนึ่งของตัวตน

กรณีของมาทานซาส์จึงถือเป็นอีกหนึ่งเมืองที่แม้ว่าจะผ่านอะไรมามาก แต่ด้วยพลังของชุมชนศิลปินและกลุ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงที่มีงานเทศกาลศิลปะ เมือง และผู้คนเป็นหัวใจสำคัญ

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

bbc.com

static1.squarespace.com

news.artnet.com

biennialfoundation.org

dadiart.net

Graphic Design by Supatsorn Boontumma
Share :