ไฟไหม้เป็นอีกอุบัติภัยที่กลายเป็นสาธารณภัย คือจากไฟไหม้ขนาดเล็กสามารถลุกลามสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว ถ้าเรามองย้อนไปในอดีต ไฟไหม้ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งของพื้นที่เมือง เมืองเป็นพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่น ไฟเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทั้งจากระดับครัวเรือนและจากสาธารณูปโภค ในประวัติศาสตร์ของเมืองสำคัญจึงมักมีปัญหาไฟไหม้ใหญ่ประกอบอยู่ด้วยเสมอ
ประเด็นของไฟไหม้ใหญ่คือพื้นที่เมืองเป็นพื้นที่เอื้อต่อการเกิดไฟไหม้และไฟไหม้เองก็เป็นโจทย์สำคัญในรักษาชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนเอาไว้ เมืองใหญ่ส่วนใหญ่จึงมักมีการพัฒนาปรับปรุงเมืองเพื่อไม่ให้เกิดไฟไหม้ในระดับพื้นที่เมืองขึ้นอีก พื้นฐานที่สุดของการเปลี่ยนแปลงหลังไฟไหม้นั้นก็มักจะเป็นการใช้โอกาสของการสร้างใหม่เพื่อสร้างเมืองที่ปลอดภัยมากขึ้น มีความยืดหยุ่นและเตรียมรับมือกับอุบัติเหตุครั้งต่อไปได้ จากพื้นที่ที่เคยแออัดไร้ระเบียบและเต็มไปด้วยความเสี่ยง มักนำไปสู่การวางผังใหม่ จัดการสาธารณูปโภค ปรับปรุงข้อกำหนดต่างๆ เกี่ยวกับอาคารและความปลอดภัยของเมือง นำไปสู่การเป็นเมืองที่ดีที่มีความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน
เวลาเราพูดถึงไฟไหม้เมือง ในระดับประวัติศาสตร์มีเหตุการณ์ไฟไหม้ลอนดอนครั้งใหญ่ที่เรียกว่า มหาอัคคีที่ลอนดอนหรือ Great Fire of London ในปี 1666 เมืองลอนดอนในยุคนั้นคือเป็นช่วงรอยต่อของการเกิดขึ้นของเมืองสมัยใหม่ ไฟไหม้ในครั้งนั้นลอนดอนยังนับว่าเป็นเมืองแบบยุคกลางอยู่ คือเป็นเมืองที่มีกำแพงล้อม อาคารส่วนใหญ่ก่อสร้างด้วยไม้ บรรยากาศของเมืองแอออัดและไร้ระเบียบ ไฟไหม้ลอนดอนใหญ่ในครั้งนำไปสู่การสร้างเมืองใหม่ การวางผังเมืองของลอนดอนที่เป็นระบบและใช้วิธิการทางวิทยาศาสตร์ มีการพัฒนาระบบแผนผังสัญลักษณ์ และมีความพยายามที่จะเสนอผังเมืองขึ้นใหม่ (ซึ่งสำหรับลอนดอน ยังไม่สำเร็จ)
กำแพงโรมัน เขตเมืองริมแม่น้ำเทมส์ ลอนดอนในยุคกลาง
เปลวไฟของเหตุการณ์ไหม้ใหญ่แห่งกรุงลอนดอน ปะทุขึ้นในวันที่ 2 กันยายน ปี 1666 ลอนดอนในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 ยังนับว่าเป็นแบบยุคกลาง โดยยังมีร่องรอยมรดกอารยธรรมของพวกโรมันอยู่ ลอนดอนในตอนนั้นตั้งอยู่โดยมีแม่น้ำเทมส์เป็นกำแพงธรรมชาติ และมีกำแพงเมืองที่เรียกว่า Roman Wall ล้อมรอบ โดยขนาดนักประวัติศาสตร์ประเมินว่าลอนดอนเป็นเมืองที่ใหญ่อันดับสามของยุโรป มีประชากรหนาแน่นราว 3-4 แสนคน
แต่ลอนดอนที่แออัดดูจะเปี่ยมไปด้วยความเจริญรุ่งเรือง คือโดยภาพรวมก็รุ่งเรืองเป็นเมืองที่ใหญ่โต แต่ลอนดอนก็ยังมีลักษณะเป็นเมืองยุคกลางอยู่ คือมีกำแพงล้อม ส่วนพื้นที่เมืองก็ไม่ได้มีการวางผังหรือสาธารณูปโภคแต่อย่างใด ลอนดอนเมื่อเทียบปารีสแล้ว ปารีสเป็นเมืองแบบบาโรก (Baroque) ที่ตระการตา ส่วนลอนดอนนั้นมีคำอธิบายว่า ‘สร้างขึ้นจากไม้’ และมีบ้านเรือนที่ ‘หนาแน่นอย่างผิดธรรมชาติ’ พื้นที่เมืองของลอนดอนมีกำแพงเมืองเป็นตัวกั้น แน่นอนว่าพื้นที่ในกำแพงโรมันเป็นหัวใจสำคัญ ในขณะที่นอกกำแพงก็จะเป็นพื้นที่ชุมชนแออัดที่ถูกขับออกนอกกำแพง
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 พื้นที่ในเขตกำแพงเมืองที่มีขนาดราว 2.8 ตารางกิโลเมตร มีผู้อยู่อาศัยสูงถึง 80,000 ราย นับเป็นหนึ่งในสี่ของลอนดอนทั้งหมด ลักษณะถนนของลอนดอนก็เป็นแบบเมืองในยุคกลางคือปูด้วยหิน แคบ เต็มไปด้วยตรอกซอกซอย ลักษณะของเมืองคือเต็มไปด้วยมลพิษ บ้านเรือนสร้างด้วยไม้และแออัด มีเพียงแค่บางส่วนของพื้นที่มั่งคั่งคฤหาสน์และที่พักเทศมนตรีที่สร้างด้วยหินและพอจะมีพื้นที่
มหาอัคคีภัย ไหม้เกือบหมดเมือง
ด้วยลักษณะของเมืองเป็นเมืองที่โอบล้อมด้วยน้ำและกำแพง และที่สำคัญบ้านเรือนและอาคารยังแออัด รวมถึงวิทยาการต่างๆ ทำให้ไฟไหม้เกิดขึ้นและลุกลามไปได้โดยง่าย ไฟไหม้ลอนดอนครั้งประวัติศาสตร์นั้น เปลวไฟลุกไหม้เมืองยาวนานถึง 5 วัน เปลวไฟกินพื้นที่เกือบทั้งหมดในเขตกำแพงเมืองและลามออกไปนอกกำแพง เป็นช่วงลอนดอนอยู่ในฤดูร้อนอันแห้งแล้งและเมืองเริ่มมีภาวะมีน้ำใช้ไม่เพียงพอ ตัวต้นเพลิงเริ่มต้นในช่วงเที่ยงคืนของวันอาทิตย์ที่ 2 กันยายนจากร้านขนมอบบนถนน Pudding Lane
ด้วยเงื่อนไขเกือบทั้งหมด ทั้งสภาพอากาศที่แห้ง ลมที่ค่อนข้างแรง เมืองที่แสนจะแออัดที่สร้างด้วยไม้และวัสดุติดไฟเช่นการปิดด้วยกระดาษทาน้ำมัน บางส่วนของการใช้งานอาคารในยุคนั้นเช่นการต่อบางส่วนของชั้นสองยื่นออกมาบนถนน ทั้งเมืองลอนดอนเองเต็มไปด้วยคลังสินค้าที่บรรจุเมล็ดพืช ผ้า รวมถึงโกดังน้ำมันและไขมันสัตว์ เมื่อแรกมีบันทึกว่าไฟเล็กๆ ดูจะเป็นเรื่องธรรมดา ในช่วงที่ไฟลุกขึ้นลอร์ดเมเยอร์ หรือนายกเทศมนตรีลอนดอน เซอร์โทมัส บลัดเวิร์ธ ได้เห็นเปลวไฟในช่วงกลางดึกในคืนวันแรกและกลับไปนอนต่อ ทั้งเทคนิกการดับไฟของยุคกลางคือการใช้ดินปืนระเบิดพื้นที่หรืออาคารเพื่อจำกัดวงของตัวไฟไหม้เอง ในช่วงแรกนายกเทศมนตรีไม่ได้ตัดสินใจลงมือควบคุมไฟ รวมถึงการระเบิดบ้านเรือนประชาชนมีแรงประท้วงต่อต้าน
เสียหาย 10 ล้านปอนด์ ในวันที่มีรายได้แค่ 12,000 ต่อปี
ไฟไหม้ใหญ่ในครั้งนั้นเรียกได้ว่ากวาดลอนดอนจนราบ ในบันทึกระบุตัวเลขความเสียหายว่าไฟทำลายบ้านเรือนไปกว่า 13,000 หลังคาเรือน โบสถ์อีกร่วม 90 แห่ง ห้างร้าน รวมถึงศูนย์กลางการค้าหลวง (Royal Exchange) ศุลกสถาน มหาวิหารเซนต์ปอล เรือนจำของเมือง ไปรษณีย์กลาง และประตูเมืองสามแห่ง โดยรวมแล้วประเมินความเสียหายที่ 10 ล้านปอนด์ ในตอนนั้นลอนดอนมีรายได้ทั้งปีแค่ 12,000 เทียบเคียงความเสียหาย เป็นมูลค่าปัจจุบันคือเกือบ 2 พันล้านปอนด์
ภาพของลอนดอนหลังเพลิงไหม้คือประชาชนจากทุกชนชั้นได้รับผลกระทบ ตัวเพลิงไหม้ทำลายที่อยู่อาศัยราว 15% ของเมืองในทันที ปัญหาต่อเนื่องคือปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย หลังจากไฟไหม้ใหญ่ สิ่งที่ลอนดอนทำคือการใช้โอกาสในการปรับปรุงและสร้างเมืองขึ้นใหม่ ในภาคธุรกิจก็เกิดกิจการใช้บริการป้องกันอัคคีภัย ตั้งบริษัทดับเพลิงและรับประกันอาคาร มีการติดตั้งตรารวมถึงจัดทีมและอุปกรณ์ในการดับและควบคุมไฟให้กับห้างร้านและบ้านเรือน
ชายผู้สร้างลอนดอนขึ้นใหม่ และความพยายามวางผังเมือง
ปลายศตวรรษที่ 17 อันเป็นช่วงที่ลอนดอนถูกไฟไหม้ เป็นช่วงรอยต่อสู่ยุคสมัยใหม่ หลังจากเหตุการณ์ไฟไหม้ก็มีท่านเซอร์คนหนึ่ง คือเซอร์คริสโตเฟอร์ วเรน (Sir Christopher Wren) โดยสังเขปวเรนก็เป็นสุภาพบุรุษที่เป็นสถาปนิก เป็นผู้ออกแบบและสร้างอาคารสำคัญหลายแห่ง หลังจากลอนดอนไฟไหม้ วเรนก็มารับหน้าที่ในการฟื้นฟูออกแบบและสร้างอาคารต่างๆ ขึ้นใหม่ มีการออกกฎหมายคือ Rebuilding Act เพื่อสร้างเมืองเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและดำเนินการสร้างเมืองขึ้นจากเถ้าถ่าน
อันที่จริงในตอนนั้น ในลอนดอนเองก็มีข้อเสนอมากมายในการสร้างเมืองขึ้นใหม่จากสถาปนิกและนักคิด ตัววเรนเองก็มีข้อเสนอในการสร้างลอนดอนด้วยการวางผังเมืองขึ้นมาใหม่โดยมีศูนย์กลางและทอดถนนออกจากศูนย์กลางนั้น พร้อมขยายถนนให้ใหญ่ขึ้น ในยุคนั้นมีแผนผังสำคัญที่นักคิดเสนอเพื่อลอนดอนขึ้นใหม่ แต่โดยรวมแล้วเราจะได้เห็นภาพ ‘ผัง’ ของเมืองลอนดอนที่เป็นภาพจากมุมสูง และมีการใช้ระบบสัญลักษณ์ที่นับว่าเป็นการพัฒนาระบบแผนที่ แผนผังและการวางผังของเมืองในยุคแรกๆ รวมถึงตัวผังเมืองที่ถูกเสนอขึ้นนั้นก็มีลักษณะเป็นกริด ตาราง มีการแบ่งโซน แต่ทว่าวิธีดังกล่าวอาจจะมาเร็วเกินไปทางชาวเมืองและเจ้าของที่ดินปฏิเสธแผนด้วยต้องการรักษาที่ดินของตนไว้ ดังนั้นถนนหนทางต่างๆ จึงถูกสร้างขึ้นด้วยรูปแบบเดิม คือมีรากฐานโครงข่ายเหมือนกับถนนในยุคกลางซึ่งยังคงปรากฏเป็นโครงข่ายถนนของลอนดอนมาจนปัจจุบัน
นักวิชาการมองว่าการปฏิรูปหรือข้อเสนอในการสร้างเมืองในครั้งนั้นจะเป็นการจัดโครงสร้างเมืองและโครงสร้างทางสังคมขนานใหญ่คล้ายกับการที่ฮาสแมนด์ทุบกรุงปารีสในปี 1853 คือสองร้อยปีถัดมา โดยถ้าเราดูผังหรือแผนลอนดอนหลังไฟไหม้ เราจะเห็นผังที่สวยงามและน่าสนใจรวมถึงการเกิดขึ้นของผังเมืองในยุคแรกที่ทั้งสวยงามและละเอียดละออ
1667 Rebuilding Act กฎหมายอาคาร และลอนดอนในยุคหลังไฟไหม้
1667 Rebuilding Act คือกฎหมายที่เมืองออกหลังไฟไหม้ในปี 1667 นอกจากจะว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและจัดการสร้างลอนดอนขึ้นใหม่ ตัวกฎหมายนี้ยังนับว่าเป็นกฎหมายควบคุมอาคารรูปแบบหนึ่งด้วย ตัวกฎหมายจะมีการระบุลักษณะอาคารหรือวัสดุที่หลังจากนี้จะสร้างขึ้นในพื้นที่เมืองได้ หนึ่งในนั้นคือข้อกำหนดโดยระบุว่า บ้านเรือนหรืออาคารจะสร้างขึ้นไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ต้องสร้างด้วย ‘อิฐและหินเท่านั้น’ ทั้งยังห้ามการต่อเติมอาคารชั้นบนที่ยื่นออกมานอกโครงสร้างของชั้นหนึ่ง นอกจากนี้กฎหมายใหม่ยังเน้นไปที่สาธารณูปโภคสำคัญคือน้ำสะอาด โดยกำหนดให้เมืองกระจายจุดรับน้ำที่ทั่วถึงและเป็นสาธารณูปโภคที่ผู้คนจะต้องมองเห็นได้
แม้ว่าผังเมืองใหม่จะไม่ได้รับการลงมือสร้าง แต่เมืองลอนดอนที่สร้างขึ้นใหม่นั้นก็ถือว่าสร้างขึ้นด้วยวิธีคิดและเงื่อนไขใหม่ๆ เน้นเรื่องสาธารณสุข มีการขยายถนน เปิดพื้นที่ที่กว้างขึ้น โล่งขึ้น และมีการควบคุมจัดการความแออัดโดยเฉพาะบริเวณริมแม่น้ำเทมส์ มีการห้ามการก่อสร้างหรือการวางอาคารที่กีดขวางการเข้าถึงพื้นที่ริมน้ำ ในระดับเมืองนักโบราณคดีระบุว่า หลังไฟไหม้กรุงลอนดอนก็มีความเคลื่อนไหวของเมือง พื้นในเขตกำแพงเมืองหนาแน่นน้อยลง ผู้มีอันจะกินและชนชั้นนำย้ายออกไปพื้นที่ทางทิศตะวันตกนอกกำแพงเมืองเดิมเช่น Covent Garden และ Bloomsbury ในขณะที่ผู้เช่าที่ยากจนกว่าก็ย้ายออกไปทางฝั่งตะวันออกของเมือง แต่ทว่าลอนดอนนั้นว่างอยู่พักหนึ่ง ราวปี 1676 ที่ดินในลอนดอนก็ถูกจับจองและมีผู้คนย้ายกลับเข้ามาอีกครั้ง
ไฟไหม้เมือง และเมืองที่ดีเป็นของคู่กัน
ปัญหาของไฟไหม้ใหญ่ในเมืองมีผลจากรากฐานการเป็นเมืองที่ไม่ดี ซึ่งเมืองที่เราบอกว่าไม่ดีนั้นมักจะเป็นเมืองใหญ่ในยุคแรกๆ ที่ก่อตัวและหนาแน่นขึ้นอย่างไร้ทิศทาง ยังไม่มีความเข้าใจเรื่องสาธารณสุขและสาธารณภัย ไฟไหม้ใหญ่ในลอนดอนเป็นตัวอย่างสำคัญของเมืองที่แออัด ไร้การควบคุมที่เป็นเชื้อไฟสำคัญของความเสียหายใหญ่หลวง ในประวัติศาสตร์เมืองใหญ่ทั่วโลกล้วนมีไฟไหม้ใหญ่และความพยายามในการปรังปรุงเมืองเพื่อป้องกันภัยอันร้ายแรงนั้น
นอกจากลอนดอนแล้วเมืองสำคัญเช่นนิวยอร์กก็เกิดไฟไหม้ในครั้งประวัติศาสตร์ในปี 1835 ขณะที่อหิวาระบาด หลังจากนั้นอเมริกาจึงปฏิวัติระบบสาธารณะสุขโดยเฉพาะระบบน้ำประปา มีการฝึกฝนวิศวกรเพื่อวางระบบการจัดการและขนส่งน้ำอันเป็นรากฐานของยุคสมัยและคนรุ่นต่อไป ที่ชิคาโกก็เกิดไฟไหม้ใหญ่ในปี 1871 มีการร่วมกันของชุมชนเพื่อระดมเงินและสร้างเมืองขึ้นใหม่จนชิคาโกกลายเป็นเมืองสำคัญ กลายเป็นพื้นที่รอยต่อของโลกสมัยใหม่และพื้นที่ธรรมชาติทางฝั่งตะวันตกของประเทศ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Graphic Design by Warunya Rujeewong
- Vanat Putnark
Writer