CITY CRACKER

เมื่อการเดินส่งผลต่อความคิดสร้างสรรค์ ว่าด้วยปรัชญากับการเดิน

เวลาพูดถึงการคิด นอกจากภาพของ The Thinker ที่เป็นคนนั่งเท้าคางครุ่นคิดแล้ว ในทางปฏิบัติ เวลาเราคิดอะไรไม่ออกก็มักจะลุกขึ้นเดิน ไม่ว่าจะเดินวนไปวนมาแถวๆ นั้น หรือออกไปเดินเตร่ข้างนอก นักปรัชญาเองก็ดูจะชื่นชอบการเดิน นักปรัชญาสมัยใหม่เช่นนีท์เช่หรือเอมมานูเอล คานท์ ล้วนมีการเดินอยู่ในตารางกิจกรรมประจำวัน ที่เมืองเกียวโตเองถึงขนาดมีเส้นทางของนักปราชญ์- Philosopher Path เป็นเส้นทางริมน้ำสวยๆ ที่มีทางเดินลาดหิน พร้อมทิวทัศน์ ว่ากันว่าเส้นทางเล็กๆ ในมหานครเก่าแห่งนี้เป็นแหล่งกำเนิดความคิดและความรู้สำคัญ

 

แน่นอนว่า โดยภาพรวม การลุกขึ้นเดินก็ดูจะส่งผลกับดีทั้งกับกายภาพและจิตใจของเรา อย่างน้อยที่สุดการขยับเขยื้อนตัว ยืดเส้นยืดสาย ก็อาจทำใหเลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น หรือการได้ออกจากพื้นที่แคบๆ ได้หันไปหันมา ได้มองเห็นและรับรู้ ก็ทำให้รู้สึกปลอดโปร่งมากขึ้น นอกจากความเข้าใจว่าการเดินส่งผลกับสุขภาพและจิตใจแล้ว ล่าสุดยังมีงานศึกษาพิสูจน์ว่าการเดินส่งผลต่อพลังการสร้างสรรค์ด้วย

 

ไม่ว่าจะในป่าหรือในเมือง นักปรัชญาล้วนรักการเดิน

ในหนังสือ Philosophy of Walking ของ Frederic Gros นักปรัชญาชาวฝรั่งผู้รักและศึกษาการเดินในมิติทางความคิด บอกว่าการเดินไม่ใช่การออกกำลังนะ แต่มันมีมิติที่ซับซ้อนและส่งผลกับความรู้สึกนึกคิดของเรามากกว่านั้น แกอธิบายว่าการเดิน เช่นการเดินในชีวิตประจำวันจะเป็นช่วงที่เราปลดปล่อยตัวเอง ได้กลับไปครุ่นคิด ทบทวนอะไรบางอย่าง ได้เปลื้องภาระ ความรู้สึกที่เราแบกเอาไว้ และยิ่งในโอกาสพิเศษ การเดินในพื้นที่ธรรมชาติ ในป่า เป็นโอกาสที่เราจะได้รู้สึกถึงสันติสุข ได้ก้าวเดินอย่างช้าๆ ผิดกับจังหวะที่เร่งรีบของเมืองใหญ่

นีทเช่ เจ้าพ่อของวงการปรัชญาร่วมสมัยเป็นอีกหนึ่งนักคิดที่รักการเดิน โดยเฉพาะการเดินไปตามพื้นที่ต่างๆ ทุกวันนีทเช่จะเดินออกจากบ้าน ลัดเลาะไปตามแม่น้ำสะพาน นีทเช่กล่าวว่าไม่มีความคิดดีๆ ไหนไม่เกิดจากอากาศที่ปลอดโปร่งและการขยับร่างกายอย่างอิสระ การเดินทำให้กล้ามเนื้อสดใส ช่วยระบายอคติทั้งหลายออกจากความคิดและลำไส้ของเราไป- เก๋ดี สมองปลอดโปร่ง ลำไส้สบายก็ทำให้การคิดของเราดีขึ้น มีบันทึกว่านีทเช่จะใช้เวลาไปเดินเพียงลำพังถึงวันละ 8 ชั่วโมง

สำหรับเอ็นมานูเอล คานท์ นักปรัชญาชาวเยอรมันคนสำคัญก็เวรี่รักการเดิน คานท์เป็นคนที่มีวินัยมาก คือแกจะออกเดินในเวลาห้าโมงตรงในทุกๆ วัน เพื่อนบ้านของแกบอกว่า ทั้งชีวิตของคานท์ไม่เคยพลาดตารางออกเดินตอนห้าโมงนี้เลย มีแค่สองวันเท่านั้นที่แกไม่ได้ทำตามตาราง คือวันที่แกไปซื้อของ กับอีกวันคือแกรีบไปที่สำนักพิมพ์เพื่อรับข่าวการปฏิวัติฝรั่งเศส

 

การเดิน กับการกระตุ้น Divergent Thinking

เรามีงานวิจัยว่าการเดินส่งผลดีๆ มากมาย มีงานศึกษาที่บอกว่าการเดินช่วยลดโอกาสเกิดอัลไซเมอร์ได้ ทำให้เกิดข้อกำหนดของคนสุขภาพดีอย่างหลวมๆ ว่าต้องเดินวันละหมื่นก้าวนะ การเดินทำให้เลือดหมุนเวียน ส่งผลกับสมาธิ ทำให้เราได้อยู่กับห้วงเวลาและลมหายใจ แต่การเดินทำให้เราคิดอะไรดีขึ้นจริงแค่ไหน

ในปี 2014 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Stanford เองก็อยากจะหาคำตอบว่า เดินแล้วคิดสร้างสรรค์ได้จริงหรอ ก็เลยจัดการลงมือทำการวิจัยซะเลย สปอยล์ผลก่อนว่าทางคณะนักวิจัยสรุปว่า การเดินช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ได้ การเดินช่วยสร้างแรงบันดาลใจ และบูสต์ความคิดสร้างสรรค์เมื่อเทียบกับการนั่งมากถึง 60%

ในกระบวนการให้กลุ่มทดลองอยู่ในภาวะหลายๆ แบบ นั่งในห้อง ยืนจ้องกำแพง เดินบนลู่ ออกไปเดินข้างนอก หลังจากนั้นให้ลงมือทำแบบทดสอบ ตัวแบบทดสอบนั้นพบว่าการเดินส่งผลกับการคิดแบบ Divergent คือเป็นการคิดที่แตกยอด ผสมผสาน อันเป็นหนึ่งในแกนสำคัญของการคิดเชิงสร้างสรรค์นั่นเอง แถมประสิทธิภาพของการคิดเชิงสร้างสรรค์ของกลุ่มที่มีการเดินได้ผลดีกว่ากลุ่มที่อยู่นิ่งๆ ถึงสองเท่า

นักวิจัยพบข้อประหลาดใจในการทดลองคือ กลุ่มตัวอย่างที่เดิน ไม่ว่าจะเดินบนลู่วิ่งในร่ม หรือออกไปเดินข้างนอก ก็ดูจะได้รับประโยชน์ในเชิงสร้างสรรค์พอๆ กัน ดังนั้นเมื่อเราคิดงานไม่ออก หรือจะเริ่มคิดงานอะไร การไปเดินซักพักแล้วลงนั่งคิด ก็อาจจะได้ผลดีตามงานศึกษาชุดนี้ก็เป็นได้

 

การเดินจึงเป็นกิจกรรมที่สำคัญยิ่ง ในฝรั่งเศสถึงขนาดมีคำที่เรียกนักเดิน ที่เดินเตร่ในเมืองและทำหน้าที่สังเกตการณ์ความเป็นไปของผู้คน การเดินเป็นช่วงเวลาที่เราได้วางอัตตาและความกังวลลง ได้มองออกไปนอกตัว ไปสังเกต รับรู้ ได้เชื่อมโยงตัวเองเข้ากับเมืองหรือธรรมชาติอีกครั้ง

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

bigthink.com

health.harvard.edu

news.stanford.edu

 

 

Share :