CITY CRACKER

กลับบ้านผ่านเน็ต สงกรานต์นี้กินข้าวพร้อมหน้าผ่านโลกเสมือน

ลืมไปหรือยังว่าวันนี้เป็นวันสงกรานต์?

จริงอยู่ว่าด้วยภาวะโรคระบาดและการเก็บตัว ทำให้กิจกรรมปกติของเราต้องเป็นอันงดไป ปีนี้สงกรานต์เลื่อน หลายคนต้องทำงานอยู่ที่บ้าน งดเดินทาง งดออกไปไหน บ้างก็เริ่มฝืดเคือง แต่แน่ล่ะว่า ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป สงกรานต์หรือวันหยุดยาวทั้งหลายนั้นก็ไม่ใช่แค่การได้หยุดทำงาน แต่ถือว่าเป็นวันหยุดประจำปี เป็นช่วงเวลาที่เราจะได้หยุดพักจากจังหวะชีวิตอันไม่รู้จบ ได้กลับไปอยู่ร่วมกับครอบครัว ไปใช้เวลาพิเศษร่วมกันอีกครั้ง

ก็ถือเป็นโชคร้ายหน่อยที่ภาวะโรคระบาดนี้เล่นกินเวลาล่วงเข้าสู่ช่วงเวลาสำคัญของบ้านเราไปเป็นที่เรียบร้อย เป็นสงกรานต์ปีแรกๆ ที่เราแทบไม่ได้เตรียมตัวอะไรสำหรับสงกรานต์ แต่กำลังปรับตัวดิ้นรนกันขนานใหญ่เพื่อเอาตัวรอดจากการระบาด และทำงานในภาวะปกติให้ราบรื่นเป็นปกติมากที่สุด กระนั้นเองในความโชคร้าย โรคระบาดอาจกำลังผลักเราเข้าสู่พื้นที่แบบใหม่ๆ มีปฏิสัมพันธ์ และกิจกรรมระหว่างผู้คนแบบใหม่ๆ

และในคราวนี้ ก็คือการผ่านช่วงเทศกาล และยังคงดำรงหัวใจบางประการที่เป็นมนต์เสน่ห์ของวันหยุดยาว หนึ่งในนั้นก็คือ การกลับไปรวมตัวกับของครอบครัว วันสงกรานต์ก็เหมือนวันหยุดยาวใหญ่ของทั่วโลก ตะวันตกมีคริสมาสต์ จีนก็มีช่วงตรุษจีน กิจกรรมส่วนใหญ่คือการเดินทางกลับบ้าน กลับไปอยู่ร่วมกัน ซื้อหาของฝาก

 

และที่สำคัญคือการกลับไปทำอาหาร และกินข้าวกันอย่างพร้อมหน้า อันเป็นสุดยอดการชาร์จพลัง ให้สมาชิกทุกคนพร้อมกลับไปฟันฝ่าโลกอันขลุกขลักกันอีกรอบ

 

ดังนั้นแม้ว่าเราจะไม่ได้หยุดงาน สงกรานต์เลื่อนออกไป ใช้เวลาอยู่กับบ้าน และส่วนใหญ่ก็ติดต่อกันผ่านโลกออนไลน์ อย่ากระนั้นเลย แม้จะไม่ได้เล่นน้ำ แต่เราเองก็ยังสามารถรักษาจิตวิญญาณของสงกรานต์ได้ อย่างน้อยก็ด้วยการกลับมาใช้เวลาพร้อมหน้ากันอีกครั้ง สงกรานต์ปีนี้เราสามารถกินข้าวกันอย่างพร้อมหน้าผ่านโปรแกรมต่างๆ เป็นการรับประทานอาหารร่วมกันผ่านโปรแกรมประชุม

แน่นอนว่าการกินอาหารร่วมกันในครอบครัวเป็นประสบการณ์ที่งดงาม มีงานศึกษาที่บอกว่าเด็กวัยรุ่นและครอบครัวที่กินข้าวพร้อมหน้าบ่อยๆ มีผลทางบวกกับจิตใจ ไปจนถึงส่งผลกับพัฒนาการในชีวิต เช่นมีโอกาสติดเหล้าน้อยกว่า เกรดสูงกว่า ซึ่งงานศึกษาตรงนี้ก็ยังไม่เป็นที่สิ้นสุด แต่อย่างน้อยที่เรารับรู้ได้คือการกินอาหารร่วมกันเป็นช่วงเวลาของความอบอุ่น เป็นเวลาที่ครอบครัวจะได้แลกเปลี่ยนเรื่องเล่ากัน และนักจิตวิทยาเองก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ที่ Massachusetts General Hospital’s Psychiatry Academy ในบอสตัน เองก็มีโครงการ The Family Dinner Project เป็นโครงการสนับสนุนให้กินข้าวพร้อมหน้า มีเครื่องมือต่างๆ ให้เราเอาไปใช้เพื่อที่จะดำเนินการรวมญาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทันการณ์ทางโครงการก็ได้ออกคู่มือการรวมญาติผ่านจอ ว่าทำอย่างไรเราถึงจะกินข้าวทางไกลได้อย่างชิดใกล้เหมือนเดิม

 

พลังของการกินข้าวพร้อมหน้า ประโยชน์ที่ยังไม่ยุติ

เป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่มีกิจกรรมหรือวิธีอะไรมาแก้ปัญหาใดใดได้อย่างอัศจรรย์ ปัญหาครอบครัว วัยรุ่นเป็นเรื่องซับซ้อน แต่ว่า ถ้าเป็นไปได้ กิจกรรมการกินข้าวพร้อมหน้าด้วยตัวมันเองก็ถือว่าเป็นกิจกรรมเชิงบวก ที่อย่างน้อยๆ เราได้ใช้เวลาร่วมกัน เรามักมีภาพความทรงจำของการทำอาหารร่วมกัน กินอาหารพร้อมกัน ได้พูดคุยอัพเดตเรื่องราว เป็นมื้อพิเศษสำคัญมื้อหนึ่งอย่างแน่นอน

ทีนี้ ในทางจิตวิทยาเอง ก็มีการศึกษาและมองว่าการกินข้าวร่วมกันในครอบครัว(family dinner) เป็นเรื่องดี มีงานศึกษาออกมาเป็นตัวเลขจากศูนย์เกี่ยวกับการเสพติดและยาเสพติดของสหรัฐพบว่าวัยรุ่นที่กินมื้อเย็นกับครอบครัวน้อยกว่าสามวันต่อสัปดาห์เทียบกับที่กินกับครอบครัวที่ 5-7 วันต่อสัปดาห์ กลุ่มวัยรุ่นกลุ่มแรกมีโอกาสยุ่งเกี่ยวกับเหล้า บุหรี่และกัญชามากกว่ากลุ่มหลังถึง 2 เท่า แถมยังมีงานศึกษาที่สะท้อนไปถึงระดับผลการเรียนและโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตต่อไปด้วย

ฟังดูแล้วการกินมื้อเย็นกับครอบครัวจะส่งผลยิ่ง จริงอยู่ว่าการกินข้าวพร้อมหน้ากันบ่อยๆ ส่งผลเชิงบวก แต่อาจไม่ขนาดนั้น หลังจากวิจัยปล่อยออกมา สื่อเช่น New York Time ก็ออกแบบสอบถามและชวนคนมาดีเบตว่าการกินข้าวเย็นกับครอบครัวสำคัญขนาดนั้นไหม และมีข้อแย้งว่า ครอบครัวที่มีเวลากินข้าวพร้อมกันบ่อยๆ ส่วนหนึ่งก็สะท้อนว่าครอบครัวนั้นมีสถานะทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมสูงกว่า จึงนำไปสู่การมีความตึงเครียดน้อยกว่า มีเวลาให้กันมากกว่าอยู่ก่อนแล้ว เด็กๆ จากครอบครัวที่สถานะสูงกว่าก็เลยมีโอกาสดีกว่าอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าการกินข้าวร่วมกันจะห่วยแตกแต่อย่างใด การรับประทานอาหารพร้อมหน้าในครอบครัวถือเป็นการใช้เวลาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นระดับประจำวัน สัปดาห์ หรือประจำปี ก็ถือเป็นการได้กำหนดช่วงเวลาให้กลับมาพร้อมหน้า และในที่สุดแล้ว เราในฐานะมนุษย์เราต่างเข้าใจดีว่า มนุษย์เรานั้นเชื่อมโยงต่อกันผ่านอาหารและการกิน

 

กินข้าว รวมญาติอย่างไรในยุคแห่งความห่างไกล และในโลกดิจิตัล

จริงๆ ไม่ถือเป็นเรื่องใหม่ คือทางผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายก็ออกมาส่งเสริมการกินข้าวพร้อมหน้ากันมานานนม โครงการจากบอสตันเริ่มต้นในปี 2010 และเมื่อเราเริ่มมีโปรแกรมสื่อสารแบบเห็นหน้าทางไกลเช่นสไกป์ ก็เริ่มมีแนวคิดส่งเสริมให้กินข้าวพร้อมกันผ่านระบบวิดิโอคอนเฟอเรนซ์ จนล่าสุดเมื่อไวรัสมาเยือน โครงการเช่น The Family Dinner Project ก็เลยไม่รอช้า จัดการออกเคมเปญพร้อมแนวทางว่า เราถือโอกาสนี้ กินข้าวพร้อมหน้าผ่านวิดิโอคอลกันซะเลย

ทางโครงการเองก็ถือว่ารวดเร็วทันใจ เพราะถึงขนาดออกคู่มือเป็นเรื่องเป็นราวชื่อ Pandemic 2020: Family Dinner Party Guide เผยแพร่แจกเป็นรูปธรรมอยู่ในเว็บไซต์ thefamilydinnerproject.org ของทางโครงการ ตัวคู่มือนี้ออกจะเวรี่ทันสมัย แสนเก๋ ดูทรงแล้วเตรียมวางไว้เผื่อกิจกรรมกินข้าวร่วมกันวันรวมญาติแบบยาวๆ แบบวางเผื่อสำหรับคริสมาสต์วันขอบคุณพระเจ้า ซึ่งบ้านเราที่ปีใหม่มาเร็วกว่าชาวบ้านก็สามารถลอกการบ้านได้อย่างแน่นอน

ความเก๋ของคู่มือนี้ คือการพยายามเปลี่ยนเปลี่ยนกิจกรรมและประสบการณ์ต่างๆ ของการกินข้าวพร้อมหน้าที่เคยอยู่ในพื้นที่กายภาพเดียวกัน ให้กลายเป็นสิ่งที่ทำร่วมกันได้ พร้อมกันได้ โดยที่แต่ละสมาชิกนั้นไม่จำเป็นอยู่ในสถานที่เดียวกัน เพียงแค่อยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน และมีคอนเซ็ปต์การปาร์ตี้ กินข้าว มีประสบการณ์ร่วมกัน พร้อมกันก็พอ

ตัวแนวทางก็เลยเริ่มด้วยการเสนอถึงความจริงจังในกิจกรรมกินข้าวผ่านโลกเสมือน เริ่มจากจุดเล็กๆ เช่นการเลือกโปรแกรมเพื่อคอลหรือประชุมสายถ่ายทอดสด มีลำดับขั้นตอนการเซ็ตการกินข้าวพร้อมหน้าแบบซีเรียส- คือนึกภาพว่าเฮ้ย ถึงไม่เจอหน้ากัน แต่การกินข้าวร่วมกันครั้งนี้ไม่ต่างอะไรกับพิธีการไปกินข้าวรวมญาติตรุษจีนสงกรานต์นะเฟ่ย เรามาทำมันอย่างจริงจัง มีการเชิญ เซ็ตธีม เตรียมการอย่างแข็งขันเป็นขั้นตอน

หนึ่งในข้อแนะนำที่น่าฟังก็เช่นว่า การกินข้าวร่วมกันนี้เลยต้องรวมตั้งแต่ขั้นการเตรียมอาหารเลยทีเดียว เป็นการสร้างประสบการณ์ร่วมกันไว้ก่อน ไม่ใช่แค่มาเปิดกล้องแล้วต่างคนต่างกิน ซึ่งก็ฟังดูเข้าท่าและเป็นการแชร์อาหารกันจริงจังขึ้น แม้จะไม่ได้ร่วมจานร่วมโต๊ะกัน ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าเราก็เลยต้องเปิดเผยเลยนะว่าจะกินอะไร มีการแชร์ข้อมูล ไอเดียในการประกอบ เลือกสรร ทุกคนจะต้องโชว์อาหารของตัวเองให้เห็น หรือจะให้ดี มีการให้เลือกเมนูและกินร่วมกันเป็นมื้อๆ เหมือนคุณนั่งสั่งอาหารในร้านนั่นแหละ หรือจะเลือกวางตีมอาหาร เป็นคืนพิซซ่า อาหารไทย ปิ้งย่าง ชาบู ก็ทำให้เรามีความรู้เชื่อมโยงต่อกันมากขึ้น

นอกจากนี้ทางเว็บไซต์ก็แนะนำเพิ่ม คือไหนๆ เราก็ virtual แล้ว ดิจิทัลแล้วก็ไปให้สุด ก็ใช้เครื่องมือออนไลน์ เครื่องมือดิจิตัลทั้งหลายเข้ามาช่วยให้การกินข้าว คุยกัน มีสีสันแบบที่พื้นที่ทางกายภาพ หรือการเจอหน้ากันอาจทำไม่ได้ด้วยซ้ำ เช่นมีเกมหรือกิจกรรมที่สามารถเล่นได้ผ่านกล้องและจอ หรือกระทั่งมีพวกแอพพลิเคชั่น มีตัวช่วยให้เล่นสนุกกันมากขึ้น เช่น มีโปรแกรมสุ่มบทสนทนา ทำให้การคุยอาจจะสร้างสรรค์กว่า จากที่เคยมีการบลัฟกัน มีคำถามร้าวๆ เช่นมีแฟนรึยังหรือเงินเดือนเท่าไหร่ ไปสู่การคุยในประเด็นที่ต่างออกไป

 

ในที่สุดแล้วต้องย้ำกันอีกทีว่า ไหนๆ เราก็เข้าสู่ยุคโควิด-19 เราถูกริบสงกรานต์ ชีวิตนอกบ้าน การพบปะในพื้นที่ทางกายภาพไป ก็ใช่ว่าเราจะรักษาปฏิสัมพันธ์และความสัมพันธ์ต่อไปไม่ได้ ช่วงนี้ก็ถือเป็นช่วงเวลาทดลอง ที่ลองทั้งกาย ทั้งใจ ทั้งวิถีชีวิต ลองหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อรักษาสัมปชัญญะของเราให้อยู่รอดปลอดภัยต่อไป และแน่นอน อาหารกับครอบครัวนั้น ดูจะเป็นหัวสำคัญทีชโลมให้เรายิ้มออกมาได้ แม้ว่าโลกจะไม่ค่อยยอมให้เรายิ้มเท่าไหร่

 

ขอให้กินข้าวอิ่ม หัวเราะให้อร่อยกับครอบครัว

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

psychologytoday.com/the-stories-our-lives

psychologytoday.com/the-intelligent-divorce/201306/the-family-dinner

nymetroparents.com

thefamilydinnerproject.org/FDP_virtual_dinner_party_guide_final.pdf

 

Illustration by Montree Sommut
Share :