CITY CRACKER

Gender Sensitive เมื่อการออกแบบเมืองต้องคำนึงถึงผู้หญิง

แง่หนึ่ง ความปลอดภัยก็ควรเป็นเรื่องของทุกคนเนอะ เมืองโดยทั่วไปก็ควรจะมีความปลอดภัยขั้นพื้นฐานให้กับคนทุกเพศ ทุกวัย มีการเข้าถึงที่เหมาะสม มีแสงไฟ การมองเห็นที่ดีแต่ว่า คนเมืองก็มีหลายกลุ่ม และคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กสาวเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความไม่ปลอดภัยได้มากกว่าผู้ชาย ประกอบกับกระแสเรื่องเฟมินิสต์ที่เริ่มหัดมาทบทวนสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยคำนึงถึงประเด็นเรื่องเพศ (gender) ให้ละเอียดถี่ถ้วนมากขึ้น เหล่าผู้หญิงเองก็เริ่มเริ่มหันมามองและตั้งคำถามกับความยากลำบากของผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่แห่งนี้

 

ในระดับพื้นฐานที่สุดคือ ส่วนใหญ่เมืองก็ไม่ค่อยปลอดภัยกับสาวๆ เท่าไหร่ ถ้าเรามองว่าเมืองคืองานออกแบบหนึ่งๆ และผู้หญิงคือหนึ่งในผู้ใช้งานงานออกแบบนั้นๆ ในหลายเมืองใหญ่ผู้หญิงมักตกเป็นเหยื่อ และรู้สึกไม่ปลอดภัย การแก้ปัญหาคือการให้ความสนใจว่า เอ้อ ผู้หญิงกำลังเจอปัญหานะ ต้องรับฟังพวกเธอหน่อยว่าพวกเธอถูกล่วงละเมิดตรงไหน และเพราะอะไรพื้นที่แถบนั้นจึงเอื้อให้เกิดปัญหาได้ ส่วนอีกด้านคือระดับความคิด ที่มองความเท่าเทียมทางเพศในภาพกว้าง คือมีกระแสความคิดว่าในโลกของงานออกแบบและการตัดสินใจ เช่นการวางผังเมืองหรือวางนโยบายทั้งหลายส่วนใหญ่เป็นเรื่องของผู้ชาย ควรจะปรับเปลี่ยนไปสู่การวางผังเมืองที่มี คำนึงถึงประเด็นเรื่องทางเพศด้วย เพราะผู้หญิงอาจจะรับรู้และใช้งานเมืองต่างกัน

 

เมืองของผู้ชาย? เมื่อเรื่องเล่าคือพลัง

อ่านแล้วก็อย่าเพิ่งโมโห แนวคิดเฟมินิสต์นิดๆ นี้ลามมาถึงงานออกแบบและการวางผังเมืองด้วยเหรอ ในหลายประเทศ เช่น กลุ่ม Women in Urbanism Aotearoa ที่นิวซีแลนด์ ออกมาเคลื่อนไหวว่า ผู้หญิงควรจะมีเสียงและเข้าไปคำนึงถึงเรื่องงานออกแบบเมืองมากขึ้น ตรงนี้อาจไม่จำเป็นว่าอยู่ที่สัดส่วนของผู้หญิงต่อผู้ชายในเนื้องานหรือการตัดสินอย่างเดียว แต่คือการคำนึงในประเด็นเรื่องเพศ-gender sensitive ในงานออกแบบในระดับเมืองด้วย

มีบางประเด็นที่กลุ่มผู้หญิงนี้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า พื้นที่เมืองและงานออกแบบบางครั้งกลายเป็นเรื่องของผู้ช๊ายผู้ชาย กลายเป็นพื้นที่แข่งขันว่าเมืองจะสร้างทางหลวงที่ยาวที่สุด ตึกที่สูงที่สุด เมืองควรจะเติบโตขึ้นจากความหลากหลาย และสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับทุกๆ คน

ในหลายประเทศจึงเริ่มกลับมารวบรวมเสียงและประสบการณ์ของผู้หญิงเพื่อนำไปหาจุด และรวบรวมความต้องการนำไปสู่แนวทางการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม เช่นโครงการ Free to Be ในซิดนีย์ โครงการที่ให้ผู้หญิงมาปักหมุดจุดที่ตัวเองรู้สึกว่าอันตราย และนำไปสู่การพัฒนาแนวทางงานออกแบบที่เน้นความปลอดภัยสำหรับทุกคน ในทำนองเดียวกันบ้านเราก็มีเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงที่เริ่มรณรงค์สร้างทีมเผือกขึ้นเพื่อจัดการการล่วงละเมิดทางเพศในรถสาธารณะ และในปีนี้ก็เริ่มหันมาปักหมุดรวบรวมจุดอันตรายจากคุณผู้หญิงด้วยเหมือนกัน

เรื่องเล่าของผู้หญิงจากประสบการณ์ในเมืองใหญ่จึงเป็นเรื่องเล่าสำคัญสำหรับนักออกแบบที่จะใช้เป็นวัตถุดิบในการแก้ปัญหาต่อไป เช่น ความรู้สึกเมื่อผู้หญิงเดินลอดใต้สะพานขนาดใหญ่ริมน้ำ พวกเธอเล่าว่าในพื้นที่นั้นอยู่ๆ พวกเธอก็รับรู้ถึงเงามืดที่ปกคลุมอย่างกะทันหัน และเกิดความรู้สึกถูกตัดขาดออกจากเมืองไปโดยปริยายแม้จะเป็นตอนกลางวันก็ตาม หลายเหตุการณ์ชี้ให้เห็นว่าการล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นในตอนกลางวันแสกๆ

ผลคือเราก็เห็นแนวทางการออกแบบพื้นฐานที่ไม่ได้ดีแค่กับผู้หญิง แต่เป็นการออกแบบเมืองที่เน้นความปลอดภัยมากขึ้น เช่น เมืองมอนทรีออลในแคนาดา หนึ่งในเมืองแนวหน้าที่เน้นเรื่องเมืองปลอดภัยจึงมีการออกแนวทางการออกแบบเมืองและพื้นที่สาธารณะเพื่อความปลอดภัยมากขึ้น เช่น เน้นการระบุพื้นที่ มีป้ายบอกว่าผู้ใช้งานกำลังอยู่ที่ไหนและกำลังไปไหน เป็นพื้นที่ที่มองเห็นได้และถูกมองเห็นได้ (visibility) ไม่เปลี่ยว เน้นให้ผู้คนรอบๆ เข้ามามีส่วนร่วมและเข้าช่วยเหลือได้

 

มากไปกว่าความปลอดภัย กรณีศึกษาจากสวนในเวียนนา

ความปลอดภัยก็เป็นเรื่องสำคัญ นอกจากความปลอดภัยสำหรับทุกคนแล้ว ยังมีบางประเด็นที่อ่อนไหวกับเรื่องเพศบ้าง ข้อสังเกตเล็กๆ น้อยๆ เช่นพฤติกรรมของผู้หญิงที่ใช้งานเมืองต่างกับผู้ชาย ผลสำรวจเรื่องผู้หญิงกับการใช้เมืองของกลุ่ม Women in Urbanism Aotearoa พบว่าผู้หญิงเดินทางในเมืองต่างกับผู้ชาย เช่น ผู้หญิงมักเดินทางผ่านขนส่งสาธารณะเป็นช่วงสั้นๆ มากกว่า(มีการแวะ หรือเปลี่ยนระบบขนส่ง) ในขณะที่ผู้ชายจะชอบใช้ขนส่งยาวๆ ผู้หญิงเดินมากกว่า ในขณะที่ผู้ชายมักจะเลือกขับรถ หรือผู้หญิงมักไม่ค่อยใช้จักรยาน ไม่ใช่ว่าไม่ชอบ แต่เมืองยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยที่เพียงพอให้กับพวกเธอ จุดเล็กๆ เหล่านี้นำไปสู่ความใส่ใจในการออกแบบเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเล่นการวางช่องทางและการกำหนดเวลาของระบบขนส่งมวลชน ไปจนถึงงานออกแบบต่างๆ เช่น จุดจอดจักรยานที่เป็นมิตรกับผู้หญิงมากขึ้น

นอกจากเรื่องความปลอดภัย กรณีสวนสาธารณะที่เมืองเวียนนาก็เป็นอีกตัวอย่างเรื่องความอ่อนไหวเรื่องเพศ คือเวียนนาเป็นเมืองที่ดี นอกจากจะมีแนวทางการออกแบบเพื่อความปลอดภัยของทุกคนแล้ว ยังหันไปใส่ใจว่า เราหลงลืมผู้หญิงและเด็กสาวไปหรือเปล่า นักวางผังเมืองสนใจไปดูว่า สวนที่เราสร้างที่มันดีแล้ว มีทางเดิน แสงไฟ ห้องน้ำ ความปลอดภัยพร้อมมีปัญหาอะไรไหม จึงมีการใช้ทีมนักออกแบบและนักสังคมศาสตร์ผู้หญิงเข้ามาใช้สายตาที่ถี่ถ้วนขึ้นช่วยออกแบบงานกันใหม่

สรุปคือ เจอปัญหาว่า ตัวสวนที่ถูกออกแบบไว้ ดันกลายเป็นพื้นที่แฮงก์เอาท์ และเป็นแหล่งรวมกิจกรรมของผู้ชายและวัยรุ่นหนุ่มๆ เป็นหลัก ผลคือสวนที่ดีนี้ก็เลยกีดกันเด็กผู้หญิงอายุแถวๆ 10-13 ปีออกจากสวนไปโดยปริยาย ว่าไปแล้วเราก็พอนึกภาพออกว่าสวนหลายที่ดูจะเป็นโลกของหนุ่มๆ เล่นเสกตบอร์ด ในทางกลับกัน สาวน้อยก็เลยรู้สึกว่าสวนนี้ดูไม่ค่อยเป็นโลกของเราเท่าไหร่

หลังจากนั้นนักออกแบบก็เลยเริ่มวางพื้นที่เฉพาะสำหรับเด็กผู้หญิงลงไป มีโซนกีฬาที่เหมาะกับสาวๆ มีโซนเงียบๆ ให้สาวๆ ได้พบปะเกิร์ลทอล์คกัน ผลคือจากความใส่ใจนี้ งานออกแบบที่ใส่ใจเรื่องเพศจึงส่งแรงกระเพื่อมไปสู่แนวนโยบายการออกแบบสวนของเวียนนา ที่เริ่มมี gender-sensitive ในการออกแบบพื้นที่สันทนาการมากขึ้น

 

ประเด็นเรื่องการคำนึงถึงความต้องการที่ต่างกัน และบางครั้งงานออกแบบก็คิดไม่ถึง เป็นอีกกระแสที่ทำให้งานออกแบบและเมืองมีความซับซ้อนมากขึ้น เช่นมีข้อสังเกตว่าอีกหน่อยเราจะเข้าสู่สังคมสูงวัย แต่ตามสถิติผู้หญิงเองก็มักจะอายุยืนกว่าผู้ชาย ดังนั้นเมืองก็อาจจะต้องคำนึงถึงจุดนี้ด้วยไหม เพราะเมืองน่าจะสะท้อนและสนองต่อผู้อยู่อาศัยเป็นหลัก

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

forbes.com

theconversation.com

urbanet.info

apolitical.co

smartcitiesdive.com

 

Illustration by Montree Sommut

 

 

Share :