CITY CRACKER

Therapeutic Garden 7 สวนเพื่อการบำบัดรักษา เยียวยาทั้งร่างกายและหัวใจ

เราเข้าใจดีว่าธรรมชาติช่วยฟื้นฟูเยียวยาความเจ็บป่วยได้ และในแง่ของงานออกแบบรวมไปถึงในด้านการสาธารณสุข แนวคิดเรื่องสวน ที่ไม่ได้เป็นเครื่องประดับ แต่เป็นการคิดออกแบบและถี่ถ้วน และใช้เป็นพื้นที่สำหรับร่วมเยียวยารักษานั้นเป็นแนวคิดที่เป็นที่เข้าใจมาตั้งแต่ครั้งโบราณ และเริ่มใช้เป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่ของการเยียวยารักษา เช่นโรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์มาตั้งแต่ทศวรรษ 1950

หลังจากนั้นการใช้พืชพรรณ หรือการออกแบบสวนที่มีพื้นที่ธรรมชาติ โดยคำนึงถึงการสร้างเงื่อนไข และบรรยากาศเพื่อส่งเสริมและเยียวยารักษาสุขภาพ ก็กลายเป็นกระแสสำคัญในการออกแบบพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ มีการออกแบบโดยคำนึงถึงมิติที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่นการออกแบบพืชพรรณและภูมิทัศน์ให้มีการกระตุ้นผัสสะอันจะส่งผลในแง่ของการเยียวยารักษา ไปจนถึงการออกแบบพื้นที่เพื่อรักษาเฉพาะเจาะจง เช่นสวนเพื่อผู้ป่วยที่มีความต้องการเฉพาะ การออกไปใช้งานสวนนั้นถือเป็นการส่งเสริมสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ สวนบางแห่งเช่นพื้นที่ที่สัมพันธ์กับการดูผู้ป่วยทางสุขภาพจิตก็มีการใช้การเพาะปลูก และการผลิตอาหารเพื่อส่งเสริมทั้งปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วย และสร้างความรู้สึกดีต่อตนเองผ่านอาหารที่ตนปลูก

ในปัจจุบันเรากำลังเผชิญกับภาวะโรคระบาดทำให้ประเด็นของสุขภาพ และการสาธารณสุขเป็นปัญหาส่วนรวม เราทุกคนเผชิญกับประเด็นทางสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ดังนั้นพื้นที่สวนจึงกลับมาเป็นพื้นที่สำคัญของผู้คนในการรับมือ ทั้งมิติทางร่างกายและจิตใจในการต่อสู้โรคระบาดอีกครั้ง ดังนั้นในแง่ของการออกแบบเราจึงมองสวนในฐานะพื้นที่บำบัดรักษามากขึ้น อย่างน้อยที่สุดคือการออกแบบให้สวนนั้นร่วมปัดเป่าความเครียดที่ผู้คนกำลังเผชิญ คือใช้วิธีการต่างๆ ในการสร้างความผ่อนคลาย

ในวันที่เราเผชิญกับความตึงเครียด City Cracker จึงชวนไปรู้จักกับสวนของการเยียวยารักษา จากสวนแนวคิดใหม่ในพื้นที่โรงพยาบาล สู่สวนพิเศษสำหรับการเยียวยาที่เฉพาะเจาะจง สวนในอิรักที่ออกแบบเพื่อเยียวยาชนกลุ่มน้อยผู้ถูกกดขี่ให้ยืนหยัดขึ้นใหม่อีกครั้ง ล่าสุดที่อังกฤษจากหน่วยงานด้านพืชพรรณเก่าแก่ก็ได้ออกแบบสวนที่เต็มไปด้วยวัชพืช มีเตาอบ มีพืชที่รับประทานได้ โดยมีเป้าหมายเป็นสวนเพื่อปัดเป่าความเครียดของผู้คน หรือสวนเล็กๆ ในสตูดิโอออกแบบย่านเอกมัยในงาน Bangkok Design Week 2021 ที่สร้างเป็นสวน pop-up ที่เน้นการเยียวยาผู้คนผ่านผัสสะทั้งห้า

 

RHS Bridgewater

Royal Horticultural Society (RSH) หรือราชสมาคมพฤษชาติแห่งอังกฤษถือเป็นสมาคมพฤษชาติที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ล่าสุดสมาคมได้เปิดสวนแห่งใหม่ในชื่อว่า RHS Garden Bridgewater ที่เมืองซอลฟอร์ด (Salford) ตัวสวนถือเป็นสวนในเมืองแห่งแรกของ RSH ทั้งลักษณะสวนยังถือเป็นนวัตกรรม คือเป็นสวนลักษณะใหม่จากสวนแบบเดิมที่เรารู้จัก โดยแกนตัวสวนแห่งนี้ใช้แนวคิดสวนเพื่อการบำบัดรักษา แต่ว่ามาในคอนเซปต์และวิธีการรักษาแบบใหม่ ตัวสวนไม่ได้เน้นการเป็นพื้นที่หย่อนใจ แต่ออกแบบเป็นเหมือนสวนของชุมชน- ที่ตัวสวนเปิดเป็นพื้นที่ที่ให้ผู้คน- ส่วนใหญ่คือเป็นผู้ป่วยที่แพทย์แนะนำให้เข้ามาใช้การทำสวนเพื่อเป็นการเยียวยาอาการป่วย ดังนั้นสวนแห่งนี้จึงเต็มไปด้วยวัชพืชและหลุมดิน การขุดพรวนและการเก็บเกี่ยวกลายเป็นใบสั่งยาใหม่ ตัวสวนแห่งนี้เน้นการลงมือทำสวนและออกแบบเพื่อให้คนที่พบปะในฐานะชุมชน ได้ลงมือออกกำลัง เจอแดด เจอลม อาหารที่ปลูกได้ในสวนสามารถรับประทานได้ แถมในสวนยังมีเตาพิซซ่าไว้บริการด้วย ถือเป็นก้าวที่น่าสนใจของราชสมาคม และถือเป็นสวนแบบมีส่วนร่วมที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป

 

Maggie’s Southampton

Maggie’s Southampton เป็นศูนย์- พื้นที่เล็กๆ ภายในบริเวณโรงพยาบาล Southampton General Hospital ที่อังกฤษ ตัวพื้นที่ถูกสร้างเป็นศูนย์สนับสนุนในการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง โครงการสร้างขึ้นบนที่ดินที่รายล้อมด้วยลานจอดรถ หลักๆ แล้วตัวศูนย์เป็นที่หย่อนใจและใช้เวลา ประกอบสวน พื้นที่ครัวขนาดย่อม พื้นที่พักผ่อนอื่นๆ หลักการสวนแห่งนี้คือการผสานพื้นที่ภายในกับภายนอกโดยให้ธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมเยียวยารักษาผู้ป่วยมะเร็ง ด้วยเงื่อนไขของพื้นที่ ตัวสวนจึงถูกออกแบบโดยมีกำแพงล้อม ในขณะเดียวพื้นที่ด้านในก็จะเน้นการเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ในอาคารสู่สวนด้านนอก ความพิเศษของสวนนี้คือใช้กระจกโดยเฉพาะผนังเงาที่มีคุณสมบัติเหมือนโลหะสะท้อน ตัวพื้นที่จึงเป็นการใช้ประติมากรรมเพื่อทั้งขยายพื้นที่ในกำแพงและสร้างความรู้สึกใหม่ให้กับพื้นที่ธรรมชาติ

 

Enid A. Haupt Glass Garden

พูดถึงสวนเพื่อการเยียวยา ในแง่ของการนำเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาต้องพูดถึง Enid A. Haupt Glass Garden ในนิวยอร์ก สวนแห่งนี้ถือเป็นสวนแห่งแรกๆ ที่สถาบันทางการแพทย์สร้างขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาร่วม ตัวสวนเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันฟื้นฟู  Rusk Institute of Rehabilitation Medicine ในศูนย์บริการสุขภาพของมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก เมื่อแรกสร้างในปี 1958 สร้างเป็นพื้นที่หย่อนใจ จนในปี 1970 ที่สวนแห่งนี้ได้ถูกนำเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ร่วมรักษา ผู้ป่วยจะเข้าทำกิจกรรมร่วมกับนักบำบัดในสวน ภายในสวนประกอบด้วยสวน สระน้ำ และเรือนกระจก

 

Khoo Teck Puat Hospital

Khoo Teck Puat Hospital (KTPH) เป็นโรงพยาบาลของสิงคโปร์ ที่ก็ถือว่าสมฐานะโรงพยาบาลในประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองสวน และผลักดันความรักธรรมชาติให้ผู้คน โรงพยาบาลเปิดใหม่ในปี 2010 ที่เขตอีชุน (Yishun) สร้างความฮือฮาทั้งวงการสถาปัตยกรรมและวงการการแพทย์ ตัวโรงพยาบาลเน้นการออกแบบโดยนำสวนและพืชพรรณเพื่อสร้างบรรยากาศของการเยียวยารักษา แทบทุกส่วนของโรงพยาบาลจะปรากฏต้นไม้ ห้องพักเน้นสุขภาวะ เน้นการเปิดโล่ง และเชื่อมต่อกับธรรมชาติภายนอก นอกจากนี้โรงพยาบาลยังเปิดสวนหลังคาเป็นสวนสมุนไพรและสวนผักเพื่อใช้ปรุงอาหารภายในโรงพยาบาล มีสวนพิเศษที่ออกแบบเฉพาะเพื่อให้ผู้ป่วยความจำเสื่อมเข้าฟื้นฟูด้วย

Dementia-Friendly Sensory Garden

ออสเตรเลียมีสถาบันผู้ป่วยสมองเสื่อมแห่งชาติ เป็นหน่วยงานระดับชาติที่ให้ความรู้ในการดูแลและส่งเสริมความช่วยเหลือผู้ป่วยสมองเสื่อมของประเทศ ที่ศูนย์ผู้ป่วยชุมชน The Dementia and Memory Community Centre เขตไรด์ (Ryde) มีการจัดสร้างสวนนอกอาคารขนาดย่อมไว้ ตัวสวนแห่งนี้ทำหน้าที่รองรับผู้ป่วยและญาติ ที่อยากใช้เวลาในธรรมชาติและในพื้นที่ภายนอก ตัวสวนมีความพิเศษคือการออกแบบโดยเน้นสัมผัสซึ่งเป็นผลดีกับผู้ป่วย มีการใช้ผิวสัมผัสหลายรูปแบบเพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัส เน้นการเรียนรู้และการจดจำของผู้ป่วย และกระตุ้นการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน

 

Jiyan Healing Garden

สวน-ในฐานะพื้นที่ผลิตอาหารและพื้นที่ชุมชน ถือเป็นพื้นที่สำคัญในการตั้งหลัก เติบโต และสานสัมพันธ์ ในอิรัก กลุ่มชาวเคิร์ดเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกคุมคามและกดขี่โดยรัฐบาลไอซิส และรัฐบาลของซัดดัม ฮุสเซนในยุคก่อนหน้า มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนจีหยาง (Jiyan) ในฐานะหน่วยงานปฏิบัติภารกิจด้านมนุษยธรรมได้สร้างสวนแห่งการเยียวยารักษาขึ้นในเขต Chamchamal เป้าหมายของสวนนี้คือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับสัตว์ที่ได้รับบาดเจ็บ และได้รับผลกระทบจากภัยสงคราม ภายในสวนออกแบบโดยสถาปัตยกรรมจากหมู่บ้านชาวเคิร์ด เป็นพื้นที่เพาะปลูก ผลิตอาหาร เป็นที่ๆ ผู้คนมาพบปะกัน และเป็นพื้นที่ที่คนและสัตว์เชื่อมต่อกัน

 

Come on, Calm on, Shma

บริษัทฉมาเป็นบริษัทภูมิสถาปัตยกรรม ที่อยู่เบื้องหลังงานภูมิสถาปัตยกรรมชิ้นสำคัญทั้งไทยและต่างประเทศมากมาย ด้วยความที่ฉมามีความเชี่ยวชาญเรื่องการออกแบบสวน และมีผู้เชี่ยวชาญด้านพืชพรรณ ในงาน Bangkok Design Week ปีนี้ ตามแผนเดิมฉมาจะเปิดบ้าน โดยปรับพื้นที่แปลงผักของบริษัท ในพื้นที่ขนาดย่อมๆ ในซอยเอกมัยให้กลายเป็นสวนแห่งการบำบัดรักษา เป็นประตูให้คนเมือง ให้ย่านเอกมัยเหมือนได้หลุดจากดินแดนแสนวุ่นวาย ออกจากพื้นที่เมืองสู่พื้นที่ของธรรมชาติ

สวนชั่วคราวขนาดกะทัดรัดแห่งนี้ถูกออกแบบด้วยหลักการการเยียวยารักษา มีการเลือกพืชพรรณและลักษณะการจัดพื้นที่โดยเน้นผัสสะทั้ง 5 พืชพรรณทั้งหลายจะมีพื้นผิวและให้ความรู้สึกที่หลากหลาย ทั้งในตอนกลางคืนก็จะจัดเทคโนโลยีเข้าประกอบ มีการใช้เครื่องฉายและออกแบบไฟเพื่อสร้างบรรยากาศเฉพาะ เน้นความรู้สึกสงบ ช่วยบำบัดความตึงเครียดของวิถีเมือง ทั้งตัวสวนยังเน้นออกแบบเพื่อสนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นประโยชน์ต่อสัตว์น้อยใหญ่และผึ้งแมลง

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

theguardian.com

bbc.com

dezeen.com

greenroofs.com

symstudio.com

archdaily.com

 

Graphic Design by  Supatsorn Boontumma
Share :