CITY CRACKER

ถ้าห้องน้ำไม่แบ่งชายหญิง ประวัติศาสตร์ย่อและคำชวนสถาปนิกร่วมใช้งานออกแบบแก้ไข

ต้อนรับเดือน Pride เดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ ประเด็นหนึ่งของนักวิชาการด้านเพศสถานะศึกษา (gender studies) คือการพยายามรื้อทำลายอคติทางเพศที่มีความแน่นิ่ง ตายตัว และแบ่งแยกออกเป็นสองคือแบ่งเป็นแค่ชายและหญิง โดยความเป็นชายและหญิงนั้นก็มีตัวตน หรือความคาดหวังจากสังคมที่แน่นอนตายตัว เช่นผู้หญิงอ่อนโยน มีความเป็นแม่ อยู่กับบ้าน ส่วนผู้ชายก็ตรงข้ามกัน

อคติทางเพศนั้นทำงานอยู่ในสังคมอย่างซับซ้อน และหลายครั้งมีกระบวนการรับรอง และมีพื้นที่ทางกายภาพ ห้องน้ำสาธารณะเป็นหนึ่งในพื้นที่กายภาพที่ทำให้เรารู้สึกว่า ‘ความเป็นเพศ’ นั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ และการแบ่งแยกเพศของห้องน้ำก็ช่วยยืนยันเพศสถานะชายหญิงของเรา ทั้งยังมากำกับการออกแบบ สร้างตึกอาคารและวิถีชีวิตของเราด้วย

อันที่จริงแล้วการแบ่งแยกเพศของห้องน้ำนั้นเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่เราเริ่มเกิดเมืองใหญ่ เกิดพื้นที่ทำงานที่มีผู้หญิงเข้าสู่พื้นที่สาธารณะมากขึ้น ห้องน้ำแยกเพศเกิดขึ้นราวทศวรรษ 1700 ที่ปารีส และกลายเป็นแนวปฏิบัติอย่างจริงจังโดยเริ่มที่สหรัฐฯ ในมลรัฐแมสซาชูเซตส์ที่มีการออกกฎหมายที่อาคารต้องบริการห้องน้ำอย่างเพียงพอ โดยระบุไว้ว่าต้องเพียงพอต่อทั้งสองเพศ

ห้องน้ำแยกเพศนั้นในแง่หนึ่งจึงสัมพันธ์กับความไม่เท่าเทียมทางเพศนับตั้งแต่ต้นกำเนิดของมัน ล่าสุดหลังจากที่กฏหมายใหม่โดยเฉพาะที่สหรัฐ ที่เมซซาจูเซตจุดเริ่มต้นของห้องน้ำแยกเพศเอง ในที่สุดห้องน้ำที่แบ่งเพียงชายหญิงนั้นก็กลับมาเป็นประเด็นเพ่งเล็งว่าในที่สุดพื้นที่บริการที่ยังคงแบ่งเพศแยกเพศเป็นสองนั้นนำไปสู่ความรู้สึกแปลกแยกของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หลายคนเจอกับปัญหาและความรุนแรงเช่นกลุ่มคนข้ามเพศหรือผู้ที่อัตลักษณ์ทางเพศไม่ตรงกับที่สังคมวางไว้ การเข้าน้ำสาธารณะกลายเป็นยากลำบากทั้งในเชิงกายภาพและในทางความรู้สึก ประเด็นห้องน้ำแบบนับรวมและไร้เพศนั้นจึงเป็นโจยท์ยากที่พยายามผลักดันกันต่อไป

express.co.uk

 

อคติเรื่องเพศกับห้องน้ำชายหญิง

ในระดับเบื้องต้นเราจะรู้สึกว่าถ้าจะเปลี่ยนเรื่องห้องน้ำที่แบ่งแยกเพศฟังดูเป็นเรื่องใหญ่ในหลายระดับ เราคิดถึงการใช้งานที่ต่างกัน การจัดการที่สัมพันธ์กับระบบท่อและพวกข้อกำหนดอาคาร คิดเรื่องความปลอดภัย แต่ในแง่หนึ่งคือห้องน้ำแบ่งแยกเพศถือว่ามีประวัติศาสตร์ที่ไม่ยาวนัก และในตัวมันเองก็มีปัญหาโดยเฉพาะอคติเรื่องเพศ

การเกิดขึ้นของห้องน้ำหญิงสัมพันธ์กับการที่ผู้หญิงค่อยๆ เข้ามามีบทบาทในปริมณฑลสาธารณะ (public sphere) เป็นยุคที่เริ่มเกิดโรงงานอุตสาหกรรม เกิดพื้นที่ทำงาน ในปี 1887 ที่มลรัฐแมสซาชูเซตส์ออกกฎหมายว่า ในทุกๆ กิจการและพื้นที่ธุรกิจต้องมีการสร้างห้องน้ำสำหรับทั้งสองเพศไว้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าพื้นที่นั้นจะมีคนทำงานแบบไหนก็ตาม

ฟังดูก็น่าจะเป็นเรื่องดี คือผู้หญิงมีพื้นที่และมีการจัดพื้นที่สุขาไว้ให้ทั้งสองเพศ แต่เทอร์รี่ โคแกน (Terry Kogan) นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ผู้สนใจการแบ่งแยกเพศและนโยบายสาธารณะจากมหาวิทยาลัยยูทาห์ (University of Utah) บอกว่าการแยกเพศจากลักษณะทางชีวิทยานี้นั้นมีความ ‘ไม่เป็นธรรมชาติ’  อยู่ คือมีนัยของการมองความผิดที่ผิดทางของผู้หญิงที่จะต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่สาธารณะที่ ‘อันตราย’ ต่อพวกเธอ ในยุคนั้นจึงมีการสร้างพื้นที่สำหรับผู้หญิงขึ้นทั้งห้องอ่านหนังสือ ตู้โดยสารเฉพาะ และแน่นอนมีห้องน้ำสำหรับผู้หญิง

พื้นที่เหล่านี้กำลังทำเสมือนว่าพวกมันเป็นพื้นที่ปลอดภัยของเหล่าผู้หญิงที่อ่อนแอ แต่เดิมสังคมมีอคติว่าพื้นที่บ้านเป็นพื้นที่ของผู้หญิง การสร้างพื้นที่ ‘ของผู้หญิง’ ในเบื้องต้นนั้นจึงตอกย้ำอคติเรื่องการโยงผู้หญิงไว้กับพื้นที่บ้าน ห้องน้ำหญิง และพื้นที่ของผู้หญิงยุคแรกจึงเน้นออกแบบพื้นที่ให้มีความรู้สึกเหมือนบ้าน

 

medium.com

 

ความปลอดภัยที่ควรเป็นของทุกคน

ไม่ใช่แค่ผู้หญิงเท่านั้นที่การใช้ห้องน้ำสัมพันธ์กับอคติ และความคาดหวังเกี่ยวกับความเป็นเพศจากสังคม ห้องน้ำชายเอง การออกแบบโถปัสสาวะนั้นบางครั้งนำความรู้สึกไม่สะดวกใจในการเปิดเผยร่างกายของผู้ชายบางคน เมื่ออ่านถึงตรงนั้นเราก็จะเริ่มตะหงิดว่าอะไรนักหนา และนั่นแหละก็เป็นอีกหนึ่งอคติที่สังคมคาดหวังจากผู้ชาย คือการเปิดเผย ไม่สนใจเรื่องเล็กๆ น้อยโดยเฉพาะการเปิดเผยเรือนร่าง ซึ่งก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะสะดวกใจ

ในแง่ของพื้นที่สำหรับความหลากหลายทางเพศนั้น มีรายงานว่าห้องน้ำแบบแยกเพศในที่สุดทำให้คนที่ไม่ได้เป็นไปตามเพศ เช่นคนข้ามเพศ เขาหรือเธอก็ไม่สะดวกที่จะเข้าใช้ห้องน้ำที่ระบุเพศไว้ นึกภาพผู้หญิงแปลงเพศ หรือกระทั่งกลุ่มเพศหลากหลาย ถ้าเข้าไปใช้ห้องน้ำผู้หญิงก็อาจมีความขัดแย้ง รังเกียจ และกีดกัน มีรายงานว่า 70% ของคนข้ามเพศเจอการด่าทอ ได้รับความอับอาย ถูกกีดกันไปจนถึงความรุนแรงในพื้นที่ห้องน้ำสาธารณะ

เราพูดถึงการแบ่งแยกเพศและมองว่าผู้หญิงควรจะมีพื้นที่เฉพาะเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของพวกเธอ แต่ด้านหนึ่งนั้นความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะไม่น่าจะต้องเน้นไปที่เพศหรือคนช่วงวัยใดช่วงวัยหนึ่งเป็นพิเศษ

 

wallpaperflare.com

 

130 ปี วนกลับมาที่แมสซาชูเซตส์อีกครั้ง

เป็นที่น่าประหลาดใจเพราะ 130 ปีผ่านไปจากความจำนงที่ดีที่แมสซาชูเซตส์ออกกฎเรื่องการสร้างห้องน้ำสำหรับชายและหญิง แน่นอนว่าทั่วโลกมีกระแสเรื่องความหลากหลายทางเพศ โดยเมื่อปี 2016 ครบรอบ 130 ปี ที่แมสซาชูเซตส์เองก็ออกกฎหมายใหม่ที่ปกป้องคนข้ามเพศ (transgender) โดยเน้นปกป้องกลุ่มเพศหลากหลายจากการเหยียดและเลือกปฏิบัติในพื้นที่สาธารณะ

แน่นอนว่าห้องน้ำสาธารณะเป็นพื้นยากลำบากที่กลุ่มคนข้ามเพศต้องเจอ แต่ไม่ใช่แค่กลุ่มคนเพศหลากหลายเท่านั้น ในการผลักดันเรื่องความหลากหลายทางเพศเองก็เจอกับ ‘โจทย์ยาก’ ในการจัดการกับห้องน้ำแบ่งแยกเพศที่สถิตสถาวรมากว่าร้อยปีนี้

ในระดับนโยบาย รวมถึงแนวคิดการบริหารจัดการพื้นที่และข้อกำหนดของอาคาร การปรับประเด็นเรื่องห้องน้ำไปสู่ห้องน้ำนับรวมนั้น แน่นอนว่าเป็นการแตะไปที่โครงสร้างและหลักการทำงานที่ค่อนข้างแข็งแรง การวางผัง แนวคิดเรื่องการใช้งาน ความเพียงพอ ความสะอาด การรอคิวจะมากขึ้นไหม จะจัดการในมิติอื่นๆ อย่างไร

ในแง่ของการแก้ไข หลายพื้นที่มีความพยายามในการเพิ่มพื้นที่ เช่นมีการเพิ่มห้องน้ำแบบนับรวม (inclusive toilet) คือเป็นห้องน้ำส่วนกลางที่ใครก็ได้เข้ามาใช้ อาจจะเป็นห้องที่มีทางลาดสำหรับผู้พิการ มีพื้นที่เปลี่ยนผ้าอ้อม แต่เอาเข้าจริงการมีห้องน้ำพิเศษเพิ่มขึ้นมาเช่นนี้ก็ดูจะไม่เพิ่ความสะดวกใจหรือตอบโจทย์เรื่องห้องน้ำที่ถูกกำกับโดยเพศสภาพชายและหญิงเท่านั้น

ในหลายประเทศก็มองไปถึงปัญหา เช่นพื้นที่ห้องน้ำในโรงเรียนนำไปสู่ความรุนแรง แทนที่จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยกลับใช้พื้นที่ลับตาเพื่อกลั่นแกล้งและทำร้ายกัน งานออกแบบพื้นที่แบบใหม่จึงเน้นทลายเส้นแบ่งไปเลย นำไปสู่การออกแบบห้องน้ำที่ไม่มีเพศอีกต่อไป ใครก็ใช้ได้ เช่นการออกแบบห้องสุขาขนาดเล็กไว้แล้วมีพื้นที่ล้างมือเป็นพื้นที่ส่วนกลาง ตัวพื้นที่ตรงกลางนี้ค่อนข้างเปิดโล่งเพื่อลดการเป็นที่ลับตาลง และเปลี่ยนความคิดเรื่องความปลอดภัยโดยให้ความปลอดภัยมาจากการมองเห็นได้

 

nippon.com

 

ประเด็นเรื่องความหลากหลายเพศเป็นสิ่งที่มีการต่อสู้มาอย่างยาวนาน ในระยะหลังหมายถึงการทบทวนแนวทางและความคิดบางอย่างที่มีความเป็นเพศกำกับอยู่ แนวคิดเรื่อง gender neutral จึงเป็นสิ่งที่ค่อยๆ ถูกนำกลับมาทบทวนและประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงและความเป็นธรรม โดยนับรวมคนทุกคนเข้าไว้ในสังคมอย่างเสมอเหมือน

ในแง่ของห้องน้ำที่ไร้เพศเป็นกระแสที่หลายๆ พื้นที่ที่ค่อนข้างก้าวหน้าเริ่มทำ คือเลิกแบ่งแยกห้องน้ำตามเพศและออกแบบห้องน้ำที่ดีและปลอดภัยกับทุกคนโดยรักษาไว้ซึ่งประสิทธิภาพ ความเพียงพอและการักษาความสะอาด แต่ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ในความเปลี่ยนแปลงนี้ กลุ่มคนที่สำคัญที่สุดคือสถาปนิกและนักออกแบบที่แน่นอนว่าย่อมสามารถแก้วิธีคิดแบบเดิม เช่นการออกแบบห้องน้ำไร้เพศไปสู่ภาคปฏิบัติได้จริง

 

gender neutral restaurant layout
ตัวอย่าง Moss Design ทดลองปรับผังห้องน้ำแบบเดิมที่เคยแบ่งชายหญิงเป็นห้องน้ำที่ไม่แบ่งเพศโดยใช้ผังอาคารแบบเดิม ที่มา moss-design.com

 

สื่อเช่น Fastcompany หลังจากที่สัมภาษณ์และสำรวจความเคลื่อนไหวเรื่องการเปลี่ยนแปลงและการลดอคติทางเพศผ่านห้องน้ำ สื่อรวมถึงเสียงของผู้เชี่ยวชาญก็บอกว่า สิ่งที่หายไปมากๆ ก็คือความสามารถและการเข้ามีส่วนร่วมของสถาปนิกนักออกแบบนี่แหละ ซึ่งสถาปนิกนี่เองเป็นคนที่ทำงานกับพื้นที่กายภาพ และเราเชื่อว่ายังไงงานออกแบบน่าจะสามารถแก้และแนวทางปฏิบัติอายุแค่ 130 ปีนี้ และสร้างความเป็นธรรม คิดเผื่อทุกคนในสังคมได้มากขึ้นอย่างแน่นอน

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

fastcompany.com

time.com

interfixgroup.com

cambridge.org

livescience.com

 

Illustration by Montree Sommut
Share :