CITY CRACKER

the Flâneuse นักเดินหญิงในเมืองใหญ่ ผู้รับรู้ความแปลกประหลาดของเมือง

คุณเคยเดินเรื่อยเปื่อยในเมืองไหม?

โอเค กรุงเทพ อาจจะเดินยากหน่อย แต่ย่านในเมือง บางพื้นที่ก็เป็นที่ๆ เราสามารถเดินเตร่ สำรวจเมืองไป ยิ่งเวลาเราไปต่างประเทศ ถ้าไม่ได้มีแผนอะไรรัดกุมหรือรีบร้อนมาก การ ‘เดินเล่น’ ก็ดูจะเป็นกิจกรรมอันน่ารื่นรมย์ และนำไปสู่ประสบการณ์พิเศษบางอย่าง ในการเดินสำรวจไปตามตรอกซอกซอย

การเดินเป็นกิจกรรมสำคัญในเมือง นักปราชญ์บางคนพูดถึงชีวิตในเมืองว่าเป็นเหมือนการเดินละเมอ เมืองเหมือนเป็นโลกแห่งความฝัน และการเดิน โดยเฉพาะการเดินอย่างไร้จุดหมายนั้นก็ทำให้เราสัมผัสจิตวิญญาณพิเศษของเมืองได้

ทุกวันนี้ชีวิตเราอาจยุ่งขิงไปหน่อย การเดินในเมืองจึงมักเป็นการเดินทางจากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่งมากกว่าการเดินเล่น แต่เมืองอันเป็นสิ่งที่ก่อตัวขึ้นในช่วงแถวๆ ศตวรรษที่ 19 พร้อมๆ กับเหล่าปัญญาชนและศิลปิน ไปจนถึงผู้มีอันจะกินต่างก็มีชีวิตและใช้เมืองเป็นดินแดนของแรงบันดาลใจ ในช่วงนั้นก็มีคำนิยามที่เรียกว่า flaneur อันเป็นแนวคิดจากทางฝรั่งเศส ใช้นิยามกลุ่มคนที่มีอันจะกิน มีการศึกษา และแน่นอนว่ามีเวลาว่าง เป็นกลุ่มคนที่ใช้เวลาไปกับการเดินเตร่ในเมือง นักปรัชญามองว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นตัวแทนและเป็นนักสังเกตการณ์คนสำคัญ ที่ชวนเราไปสำรวจความเป็นเมืองและชีวิตในโลกสมัยใหม่ โดยเฉพาะเหล่านักเขียนหญิง ที่ทำให้ความรู้สึกบนถนนหนทางในเมืองแจ่มชัดขึ้น

 

the Flâneur นักเดินเล่นและนักฆ่าเวลาของมหานคร

พอพูดคำว่าลอยชายและการฆ่าเวลา มนุษย์ในโลกแห่งความคุ้มค่าและการผลิตอย่างเราๆ ก็เริ่มสงสัยว่า เอ๊ะ ไอ้การเดินลอยชายนี่มันพิเศษอย่างไร จริงๆ ไอ้การไม่ทำอะไร และภาวะไร้จุดหมาย ในมุมของนักปรัชญาก็ถือว่าเป็นการกระทำที่ดีอยู่เหมือนกัน- ทำไมต้องมีประโยชน์หรือมีจุดหมายอะไรกันตลอดเวลา

คำว่า flaneur โดยตัวคำมีความหมายว่าการเดินเล่น ลอยชาย ไร้จุดหมาย หรือหมายถึงการเสียเวลา แต่ในช่วงศตวรรษที่ 19 คำๆ นี้กลับมีความหมายที่รุ่มรวยขึ้น โดยในเฉพาะในปารีส หมายถึงกลุ่มคนที่มีความรุ่มรวย- และแน่นอนต้องร่ำรวยในระดับหนึ่งด้วย เป็นเหล่านักคิดที่ใช้เวลาไปท่ามกลางเมืองที่พลุกพล่าน ถอยตัวเองออกจากเมืองนั้น และทำหน้าที่สังเกต รับรู้เมืองในอีกมิติหนึ่ง

The Flâneur เป็นแนวคิด- ที่ถูกนิยามขึ้นในวัฒนธรรมสมัยใหม่ของฝรั่งเศส นักเดินเตร่เหล่านี้ถูกพูดถึงในผลงานศิลปะต่างๆ โดยเฉพาะในบทกวีของ Charles Baudelaire ในบทกวีพูดถึงความสนใจและบทบาทของเหล่าปัญญาชนในศตวรรษที่ 20 ซึ่งก็เป็นคนเมืองที่สังเกตุสังกาตัวตนและความเป็นไปของเมืองนั่นแหละ หลังจาก Walter Benjamin นักปรัชญาและนักทฤษฎีวรรณกรรมคนสำคัญ ก็เอาแนวคิดดังกล่าวมาพัฒนาจนกลายเป็นคอนเซปต์สำคัญ ทำให้ลักษณะการเป็นปัญญาชนที่ใช้เวลาเดินในเมืองกลายเป็นที่รู้จัก และเป็นที่เข้าใจในยุโรป

เบนจามินมองว่า เหล่านักเดินเล่น ที่มีนัยของความขี้เกียจฆ่าเวลานี้ เป็นกลุ่มคนที่ทำให้เราเข้าใจเมืองและโลกทุนนิยมสมัยใหม่ แน่นอนว่า แกพลิกความคิดเรื่องคนขี้เกียจ การฆ่าเวลา ไปสู่การสังเกตการณ์และรับรู้เมือง คือแกบอกว่า คนกลุ่มนี้นอกจากเป็นคนต้านความเป็นทุนนิยม (ด้วยการไม่ทำอะไรและฆ่าเวลาแล้ว) ยังเป็นกลุ่มคนที่ทำให้เราเห็นของเมือง โดยเฉพาะอาการของความแปลกแยก ของความแปลกหน้าไปจนถึงภาวะแปลกประหลาดของเมืองที่เราจะสัมผัสก็ต่อเมื่อเราเริ่มเดินหลงไปตามตรอกซอกซอย

 

Flâneuse เมื่อผู้หญิงก็เดินเมืองด้วย และสัมผัสเมืองในมุมที่ต่างออกไป

แต่เดิมคำว่า flaneur มักจะหมายถึงเหล่าชายหนุ่มผู้มีอันจะกิน เป็นกวี ศิลปิน นักเขียน ที่เดินเตร่ ผลิตงาน ที่นักปรัชญารุ่นหลังเอามาศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคนกับเมือง แต่ระยะหลังนี้ก็มีงานเขียนชื่อ Flâneuse: Women Walk the City (คือ flaneur ในคำนามแบบเพศหญิงในภาษาฝรั่งเศส) เป็นหนังสือที่กลับไปสำรวจ และกล่าวถึงเหล่าผู้หญิงในเมือง ไปดูว่าพวกเธอมีกิจกรรม มีปฏิสัมพันธ์ และฉายภาพชีวิตคนเมืองและตัวเมืองออกมาอย่างไร

แน่นอนว่าเหล่าผู้หญิงในเมืองก็ล้วนเดินถนน และพวกเธอเองก็ใช้การเดินในเมืองและรับเอาประสบการณ์ของเมืองเข้ามาสู่ตัวตนของพวกเธอด้วย ในบทกวีของ Baudelaire เองก็มีบทที่พูดถึงสตรีที่เดินสวนในเมืองใหญ่ ในบทกวีนั้นกล่าวถึงผู้หญิงในเมืองเรื่องความสง่างาม หญิงร่างโปร่งที่เดินอย่างฉวัดเฉวียน แต่ก็หนักแน่นมั่นคง เป็นความงดงามที่ทรงพลังอย่างประหลาด

จากฝรั่งเศส มาสู่นักเขียนหญิงในอังกฤษ ถ้าพูดถึงการเดินในเมือง ใครๆ ก็ต้องนึกถึงมิซซิสดอโลเวย์ ผลงานของวูล์ฟ แน่นอนว่างานของวูล์ฟ พูดถึงความยุ่งเหยิงของความคิด ที่เล่าโดยมีการเดินเตร่ในเมืองที่ยุ่งเหยิงพอๆ กัน ในมิซซิสโดเลอเวย์ก็พูดถึงแค่ฉากหนึ่งของการเดินในมหานครลอนดอน และจิตใจของคุณนายที่ลอยไปจนกลายเป็นนวนิยายทั้งเรื่อง สำหรับวูล์ฟเอง เธอเองก็ได้รับแรงบันดาลใจจากเมืองและการเดินในเมือง มีความในจดหมายตอนหนึ่งพูดถึงการลงมือเขียน To the Lighthouse ว่าเกิดขึ้นตอนที่เธอเดินอยู่ในจัตุรัสแห่งหนึ่ง

แถมวูล์ฟยังมีความเรียงชื่อ Street Haunting: A London Adventure เขียนขึ้นในช่วงปี 1927 เป็นความเรียงที่พูดถึงการผจญภัยไปในมหานครลอนดอนจากเช้าถึงเย็น การเตร่ไปพบปะผู้คนตั้งแต่ระดับรัฐมนตรีไปจนถึงคนไร้บ้าน ตัวงานเขียนพูดถึงการเตร่ในฐานะการพักผ่อน

 

แน่นอนว่าการเดินเตร่ในเมือง การพูดถึงผู้หญิง นักคิดที่ต่างใช้การเดินและรวมหล่อหลอมตัวตนและบอกเล่าเรื่องราวความรู้สึกของเมืองใหญ่ ทำให้เราเห็นและร่วมรับรู้ความรู้สึกบางอย่างของเมือง แน่นอนว่า การรับรู้เมืองในสายตา ในความรู้สึกของผู้หญิงนั้น ย่อมต่างออกไปจากความรู้สึกของผู้ชาย พวกเธอรู้สึกอย่างไรเมื่อเดินอยู่ท่ามกลางคนแปลกหน้านับร้อย รู้สึกอย่างไรเมื่อหักเลี้ยวบนถนนโดยมีเพียงแสงไฟสลัวนำทาง

 

ไม่แปลกที่งานเขียนของวูล์ฟจะตั้งชื่อการเดินในเมือง ที่แม้ว่าเธอจะบอกว่าคือการพักผ่อนอย่างยิ่งใหญ่ แต่การเดินหลงในเมืองใหญ่นั้น ก็ดูจะมีภาวะพิเศษบางอย่าง ที่เราทั้งจมความรู้สึกลงไป แต่ในขณะเดียวกันก็มีความน่าหวาดวิตกบางอย่าง ปนเปอยู่ด้วยเสมอ

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

tate.org.uk

theparisreview.org

theguardian.com

bl.uk

 

Illustration by Napadon Wongcharoensawad
Share :