CITY CRACKER

พื้นที่ ความทรงจำ ความสัมพันธ์ของเมืองกับโรงหนังสแตนด์อโลน

หนึ่งในฉากสำคัญของรักแห่งสยาม คือฉากของโต้งและมิวในโรงหนังสกาล่า วัยรุ่นหลายคนดูไป ก็อาจจะมีความทรงจำบางอย่างที่คุ้นเคยผุดขึ้นมา เราแทบจะจำความรู้สึกเมื่อเราเดินขึ้นบันไดไปดูป้ายเก่าๆ จำความรู้สึกของกระดาษสากๆ จำหน้าตาและชุดของคุณลุงเก็บตั๋ว ไปจนถึงกลิ่นเก่าๆ ในโรงหนังได้

โรงหนังสแตนด์อโลนดูจะเป็นพื้นที่ของอดีต เวลาเรานึกถึงโรงหนังเก่า เรามักนึกถึงโรงหนังสแตนด์อโลนที่เป็นตึกจากยุคสมัยหนึ่ง เป็นสถาปัตยกรรมแบบอาร์ตเดโค มีหลอดไฟนีออน โปสเตอร์โปรแกรมหนัง และโรงหนังเก่ามักเป็นโรงหนังร้างที่ผันตัวเองไปเป็นอย่างอื่น ไปเป็นที่จอดรถบ้าง พื้นที่ตลาดบ้าง แต่ในด้านหนึ่ง โรงหนังเก่าก็ดูจะเป็นตึกอาคารที่เป็นส่วนหนึ่งของเมือง เป็นพื้นที่สำคัญที่บอกว่าความทันสมัย ไลฟ์สไตล์และการเสพความบันเทิงได้เข้ามาในพื้นที่นั้นเรียบร้อยแล้ว

ในความเปลี่ยนแปลง โรงหนังสแตนด์อโลนระดับตำนานในกรุงเทพฯ อย่างลิโด้และสกาล่าก็เริ่มปิดตำนานเก่าในฐานะโรงหนังไปสู่ธุรกิจและการใช้พื้นที่ในรูปแบบอื่นๆ จากเมื่อก่อนการดูหนังคือไปดูหนังอย่างเดียว แต่โรงสมัยใหม่เป็นโรงหนังแบบมัลติเพล็กซ์ เป็นพื้นที่ห้างขนาดยักษ์ พร้อมโรงหนังและโปรแกรมหนังจำนวนมาก เป็นดินแดนแห่งความสะดวกสบาย ไปครบ จบในที่เดียว

 

shorturl.at/fhlmW

 

จากโรงหนังสู่ศูนย์การค้า

แน่นอนว่าโรงหนังเป็นเรื่องของโลกสมัยใหม่และเป็นส่วนหนึ่งของเมือง การก่อตัวขึ้นของเมืองนอกจากจะเป็นที่รวมตัวของผู้คน การทำงาน และธุรกิจต่างๆ แล้ว ในโลกสมัยใหม่ที่ผู้คนเริ่มมั่งคั่งขึ้น เราเริ่มมีการแบ่งเวลางานและเวลาว่างออกจากกัน โรงหนังเองก็ดูจะเป็นความบันเทิงของโลกสมัยใหม่ยุคแรกๆ ที่คนเมืองไปใช้เงินและใช้เวลายามว่าง เรามีโรงหนังมาก่อนห้าง หลังจากนั้นค่อยมีโรงหนังในห้าง จนกลายป็นโรงหนังยักษ์ใหญ่ที่เป็นทั้งห้างทั้งโรงหนังไปในตัว

ประวัติศาสตร์ขนาดย่นย่อพูดถึงโรงหนังไทยในยุคต่างๆ ไว้ว่าโรงหนังยุคแรกสุดช่วงก่อนปี 2530 เป็นยุคโรงหนัง Stand Alone คือมีการสร้างโรงหนังขนาดใหญ่ที่ส่วนใหญ่เป็นโรงเดี่ยวขึ้นมาใจกลางเมือง มีขนาด 800-1,000 ที่นั่ง ในยุคนั้นมีโรงหนังดังๆ เช่น เฉลิมไทย สยาม ซึ่งก็อาจจะสอดคล้องกับการไปดูมหรสพในยุคก่อนหน้าที่มีโรงละคร การแสดงดนตรี คราวนี้ก็ไปดูหนัง

จนกระทั่งในปี 2532 เริ่มมีธุรกิจศูนย์การค้าขึ้น ทีนี้คนเมืองก็เริ่มมีกิจกรรมยามว่างใหม่- ที่ดูจะกลายเป็นกิจกรรมหลักอย่างที่เราคุ้นเคยในเวลาต่อมาคือการไปเดินห้าง การไปดูหนังจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เราไปเพื่อดูหนังเป็นหลัก ทีนี้โรงหนังเริ่มกลายเป็นส่วนประกอบหนึ่งของห้าง ในยุคนั้นห้างจะจัดพื้นที่ให้โรงหนังเป็นส่วนเล็กๆ เช่น โรงหนังมาบุญครอง โรงหนังในเซ็นทรัลลาดพร้าว ก่อนที่ธุรกิจโรงหนังจะเริ่มขยายตัวออกมาเป็นโรงหนังขนาดใหญ่เช่นเมเจอร์ ซินิเพล็กซ์

staytalk.com

 

อาคารกับความเป็นเมือง

ในทางปฏิบัติ แม้ว่าเราเองจะยังคงชื่นชอบและอยากให้มีโรงหนังเก่า มีสถาปัตยกรรมสวยๆ เช่นลิโด้ สกาล่า หรือโรงหนังรามาต่างๆ ทั้งหลายเอาไว้ แต่ในชีวิตจริง ไลฟ์สไตล์วันหยุดของเราก็ต้องการความสะดวกสบาย โรงหนังโรงเดี่ยวจึงไม่ค่อยตอบโจทย์เท่าไหร่อีกต่อไป เราเองก็อาจจะเลือกไปห้างใหญ่ๆ แถมท้ายด้วยการดูหนัง ยิ่งในยุคปัจจุบัน สื่อบันเทิงมีให้เราเลือกมากกว่าแต่ก่อน ทั้งเน็ตฟลิกซ์ ยูทูบ โรงหนังโรงเดี่ยวก็เลยดูจะหมดความสำคัญลงไป

ประเด็นเรื่องโรงหนังเก่าตอนนี้จึงเป็นเรื่องของการอนุรักษ์เป็นหลัก Philip Jablon ชายหนุ่มชาวฟิลาเดเฟียผู้มาศึกษาที่ไทย บังเอิญได้เจอกับโรงหนังสแตนด์อโลนและหลงใหลมันจนทำเป็นวิทยานิพนธ์ โรงหนังสแตนด์อโลนในแถบเซาธ์อีสต์เอเชียจนทำเป็นวิทยานิพนธ์ และกลายเป็นบล็อกที่ Jablon เดินทางไปเก็บภาพและเรื่องราวของโรงหนังสแตนด์อโลนทั้งในไทย พม่า และประเทศใกล้เคียงเอาไว้

นอกจากตัวอาคารที่เป็นสถาปัตยกรรมจากยุคสมัยหนึ่งที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์แล้ว Jablon ยังให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับความสำคัญของโรงหนังสแตนด์อโลนในฐานะตึกอาคารที่มีความสัมพันธ์กับเมืองที่ต่างไปจากโรงหนังยักษ์ใหญ่ว่า โรงหนังสแตนด์อโลนมักจะตั้งอยู่ใจกลางเมืองหรือในย่านพักอาศัย ตัวโรงหนังแบบเก่ามักจะออกแบบให้มีความเชื่อมโยงกับท้องถนน ตัวอาคารมีปฏิสัมพันธ์และเป็นส่วนหนี่งของเท้าและผู้คนที่เดินไปเดินมา

พอฟังคุณ Jablon ว่าแล้วก็รู้สึกน่าสนใจว่าสถาปัตยกรรมแบบใหม่ที่อาคารมีความใหญ่โตขึ้น มีความเป็นเอกเทศมากขึ้น ก็ดูจะมีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่และผู้คนน้อยลงจริงๆ เรานึกภาพบันไดและลานโล่งๆ ที่สกาล่า กับห้างทึบๆ หรือกระทั่งความรู้สึกเมื่อเราอยู่ในตัวห้างตัวอาคาร เราในตึกสกาล่าจะรู้สึกเชื่อมโยงกับท้องถนนและผู้คน ในขณะที่ถ้าเราอยู่ในห้างใหญ่ๆ เราอาจจะเชื่อมโยงกับเมืองในภาพกว้างๆ เป็นเรื่องของท้องถนน รถยนต์ และตึกระฟ้า มากกว่าจะเป็นเรื่องย่าน ของชุมชน ของผู้คน

rojkindarquitectos.com

แง่หนึ่งที่โรงหนังสแตนด์อโลนเริ่มตายไปคือการเปลี่ยนจากฟิล์มมาเป็นดิจิทัล โรงหนังเก่าหลายที่พบว่าไม่คุ้มที่จะลงทุนใหม่ ทีนี้เราเริ่มเข้าสู่ยุคที่ดิจิทัลเริ่มมีราคาถูกลง และโรงหนังเล็กๆ ที่ฉายหนังเฉพาะเริ่มก่อตัวขึ้นตาม เช่นบางกอกสกรีนนิ่ง หรือโรงหนังอินดี้ต่างๆ ดูเหมือนว่าคำว่าสแตนด์อโลนอาจจะยังไม่ตายซะทีเดียว และอาจเป็นไปได้ที่กิจกรรมการไปดูหนังนั้นเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ในฐานะประสบการณ์ที่ต่างไปจากการดูหนังที่บ้านหรือดูในห้างอาจจะเป็นภาคต่อของโรงหนังสแตนด์อโลน

ในบทความ A Worthy Sequel: The Resurgence of the Stand-Alone Cinema ใน เว็บไซต์ architizer.com เองก็มีการไปสำรวจและพบกระแสการสร้างโรงหนังสแตนด์อโลนขึ้นใหม่ในหลายประเทศ ที่คราวนี้โฉมหน้าของโรงหนังโรงเดี่ยวก้าวไปสู่โรงหนังที่เฉพาะเจาะจง มีความเป็นศิลปะและเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรม ด้านหนึ่งอาจสอดคล้องกับการที่เราเริ่มมองภาพยนตร์พ้นไปจากความบันเทิง ไปสู่การเป็นผลงานทางศิลปะ เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม กระทั่งเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนของชาติ เช่น หนังฮ่องกง หนังฝรั่งเศส ดังนั้นโรงหนังที่ฉายหนังเหล่านี้ก็ต้องได้รับการออกแบบขึ้นเป็นพื้นที่พิเศษที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

staytalk.com

eliteplusmagazine.com

vogue.co.th

architizer.com

 

 Ilusstration by Thitaporn Waiudomwut
Share :