CITY CRACKER

‘พัฒนาเมืองด้วยสาธารณูปโภคใหม่ๆ’ เมื่อ Sport City ทำให้ผู้ใหญ่เข้าใจเด็กมากขึ้น

เวลานึกถึงการพัฒนาเมือง เรามักนึกถึงถนน ทางด่วน ไฟฟ้า ประปา ไปจนถึงพื้นที่สีเขียว หรือสวนสาธารณะ แต่เมื่อเราเริ่มก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ เมืองหลายเมืองเริ่มหยิบเอาจุดขายพิเศษขึ้นมาช่วยพัฒนาและสร้างเป็นกลยุทธ์ เป็นตัวตนใหม่ๆ ให้กับเมืองนั้นๆ การกีฬาเองดูจะเป็นกลยุทธ์ที่มาพร้อมกับกระแสสุขภาพ เป็นการสร้างบรรยากาศใหม่ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อไลฟ์สไตล์ไปจนถึงทัศนคติของผู้คนในเมืองใหญ่ได้

 

ดังนั้นคำว่าสาธารณูปโภคจึงเริ่มกินความกว้างออกไป ในบางเมืองหรือบางจังหวัดเช่นบุรีรัมย์ของไทย มีการสร้างสาธารณูปโภค สร้างสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ที่ไม่เพียงแค่กลายเป็นส่วนหนึ่งของเมืองในเชิงกายภาพเท่านั้น แต่ยังหลอมรวมเข้าสู่วิถีชีวิตและความรู้สึกนึกคิดของคนเมืองเข้าไปด้วย

Sport City คือการที่เมืองเมืองหนึ่งชูการกีฬาขึ้นมาเป็นจุดเด่น ไปจนถึงเมืองที่พัฒนาโดยเน้นการนำเทคโนโลยีที่ก้าวไปตามยุคสมัย เป็นการนำเอาโลกดิจิทัลเข้าไปสู่เมือง เช่นสังคมไร้เงินสด เมืองที่ขับเคลื่อนด้วยอินเทอร์เน็ต แอพพลิเคชั่น ไปจนถึงเมืองที่กลายเป็น E-Sport City เป็นดินแดนที่คนคุ้นเคยกับเกม โลกเสมือนต่างๆ ซึ่งการพัฒนาเมืองที่ล้ำสมัยนี้มักตามมาด้วยคำถามว่า ในที่สุดแล้วเรากำลังก้าวไปข้างหน้าโดยทิ้งกลุ่มคนที่ ‘ไม่ค่อยดิจิทัล’ เช่นคนสูงอายุไว้เบื้องหลังหรือเปล่า

คำตอบอาจกลับด้านกัน คือเมื่อเมืองรายล้อมไปด้วยสาธารณูปโภคใหม่ๆ นี้อาจทำให้คนทุกรุ่นก้าวทันโลกที่หมุนเร็วขึ้นใบนี้ได้ เราอาจเห็นคุณน้า คุณป้าไปดูกีฬาวันหยุด หรือเมื่อเรามีอารีนาที่ทำให้เห็นเกมกลายเป็นเรื่องของกีฬาและกลายเป็นเรื่องจริงจัง เราอาจมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนและชวนคนรุ่นพ่อแม่ของเราให้กลายเป็นเกมเมอร์ได้

 

จากเมืองกีฬาสู่เมืองอีสปอร์ต

การใช้กีฬาเป็นจุดเด่นในการพัฒนาและสร้างตัวตนให้กับเมืองเป็นสิ่งที่หลายเมืองใหญ่ใช้มีทั้งประสบความสำเร็จ หรือล้มเหลวบ้างกันมานานแล้ว การใช้กีฬาเป็นจุดขายที่เราคุ้นเคยก็เช่นการจัดเทศกาลกีฬาระดับโลกที่มักจะนำไปสู่การลงทุนสร้างสาธารณูปโภครายรอบ เช่นประเทศเซเนกัลเมื่อได้เป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกเยาวชนในปี 2022 ทางเซเนกัลก็ได้วางการพัฒนาสาธารนูปโภคพื้นฐานของเมืองให้ไปสู่แนวทางการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนเป็นเป้าหมายระยะยาวถึงปี 2035

บ้านเราเองก็มีบุรีรัมย์ ที่แม้ว่าจะเป็นการพัฒนาจากภาคเอกชนที่เน้นสร้างพื้นที่โดยมีกีฬาเฉพาะเจาะจง เช่นสนามฟุตบอล สนามแข่งรถ จนล่าสุดมีการสร้างอารีนาสำหรับการฝึกหัดนักกีฬาและเป็นพื้นที่แข่งขันกีฬาอีสปอร์ตขึ้น ประเด็นพิเศษของบุรีรัมย์โมเดลคือไม่ได้อยู่ที่การสร้างพื้นที่ทางกายภาพขึ้นมาเท่านั้น แต่ยังเน้นสร้างกิจกรรมและวัฒนธรรมที่รวมเอาพื้นที่หรือสาธารณูปโภคนั้นๆ เข้าสู่ชุมชนอีกด้วย

เช่น การหยิบเอาฟุตบอลและผลักดันให้ทีมบุรีรัมย์กลายเป็นทีมฟุตบอลระดับโลก อาจฟังดูเป็นแค่กิจกรรมสำหรับผู้ชายหรือวัยรุ่นเท่านั้น แต่สิ่งที่บุรีรัมย์ทำคือการสร้างพื้นที่รอบๆ สนามให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะ มีลานกว้างๆ สำหรับออกกำลังกาย และมีการออกแบบให้ลานสาธารณะนั้นใกล้กับส่วนที่นักฟุตบอลซ้อมได้

ความใกล้ชิดระหว่างคนเมืองกับกิจกรรมฟุตบอล ไปจนถึงกิมมิกเล็กๆ น้อยๆ เช่นเมื่อนักฟุตบอลแข่งเสร็จแล้ว ก็พากันไปกินข้าวและใช้เวลาในตลาด ทำให้ผู้คนรู้สึกผูกพันกับทีมและกลายเป็นวัฒนธรรม กลายเป็นส่วนหนึ่งของความภาคภูมิใจของเมืองไปโดยปริยาย จากพื้นที่ทางกายภาพ จึงกลายเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรม เมืองที่ได้รับการพัฒนาไปสู่ทิศทางที่ดูเป็นเรื่องของวัยรุ่นหรือผู้ชาย จึงกลายเป็นเรื่องของครอบครัวมากขึ้น

 

อิทธิพลของเมืองสู่ทัศนคติแบบใหม่

จากสิ่งปลูกสร้างใหม่ๆ เช่นสเตเดียม ไปจนถึงตัวสเตเดียมสำหรับอีสปอร์ต ที่พอก้าวเข้าสู่กีฬาแบบใหม่นี้ เมืองก็มีความต้องการใหม่ๆ ด้วย เช่น ต้องการอุปกรณ์อิเล็คทรอนิก ต้องการคอมพิวเตอร์ ต้องการระบบเครือข่ายและอินเทอร์เน็ตที่เหมาะสม

สำหรับบุรีรัมย์โมเดลเอง ตัวตนและความภูมิใจใหม่ของคนบุรีรัมย์ดูจะโมเดิร์นและล้ำสมัย เราได้เห็นภาพของคนสูงอายุมาดูฟุตบอลในวันหยุดกันเป็นกลุ่ม และเมื่อบุรีรัมย์หันมาพัฒนาอีสปอร์ต เราก็ได้เห็นภาพของผู้หลักผู้ใหญ่ที่จากสนใจตัวกีฬา ก็ค่อยๆ ขยายความสนใจมาสู่ตัวเกม

หลังจากพูดคุยในพื้นที่พบว่า มีกลุ่มผู้ใหญ่ที่ใช้เวลาวันหยุดและมีทัศนคติที่ค่อนข้างล้ำสมัย เป็นคุณป้า คุณน้าที่ดูแข่งเกม รู้จักเกมเช่น ROV, PUGB เมื่อได้พูดคุยว่าทำไมถึงส่งเสริมวงการอีสปอร์ต คุณป้าก็บอกเราว่าอีสปอร์ตมีลักษณะเป็นกีฬา ต้องฝึกฝน ฝึกซ้อมไปจนถึงบอกเราว่าอีสปอร์ตมีความเที่ยงธรรมในการตัดสิน ไปจนถึงคนรุ่นป้าๆ ก็สามารถเล่นได้ ไม่มีข้อจำกัด ในทางกลับกันคุณป้าบอกว่าเกมไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไปถ้าเล่นอย่างเหมาะสม และเกมยังเป็นสิ่งที่ใช้เพื่อพูดคุยสานสัมพันธ์กับลูกหลานอีกด้วย

 

พื้นที่พิเศษๆ อย่างการมีสันทนาการใหม่ๆ และการพัฒนาเช่นเมืองดิจิทัล ก็อาจนำไปสู่ความคุ้นเคย ทำให้ชุมชนและผู้คนมีทัศนคติ รวมถึงไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ที่อาจทำให้ช่องว่างของช่วงวัยหดแคบลงได้

 

 

Illustration by Montree Sommut

 

Share :