CITY CRACKER

Sick Building Syndrome รู้จักอาการป่วยไข้ไม่สบายเพราะตึกอาคาร

คุณมีอาการเหล่านี้อยู่หรือไม่ อาการแสนจะทั่วไป แต่ใครที่มีอาการตึงๆ หน่วงๆ ไม่สบายตัว ไม่ปลอดโปร่งโล่งสบาย ผิวแห้งครีมก็ทา คิดไปคิดมาก็ว่า พักผ่อนนอนหลับดีแล้ว ไม่มีโรคภัยอื่นใด อาจจะลองมองไปรอบๆ ตัวว่าห้องหับ ตึกอาคารที่เราอาศัยอยู่มันโปร่งโล่งดีมั้ยนะ แสงไม่พอรึเปล่า อึดอัดมั้ย หรือบางทีอาการประหลาดเหล่านี้อาจปรากฏเฉพาะเวลาที่อยู่ในตึกใดตึกหนึ่งโดยเฉพาะ

กระนั้นแล้วไม่ต้องตกใจ ไม่ได้แปลว่าตึกหรือห้องที่คุณอยู่มีวิญญาณมารังควานขี่คอแต่อย่างใด แต่คุณอาจกำลังเจอเข้ากับกลุ่มอาการป่วยเพราะตึก- Sick Building Syndrome เข้าซะแล้ว

ก่อนอื่นอย่าเพิ่งตกอกตกใจ อาการป่วยเพราะอาคารค่อนข้างเป็นอาการป่วยในยุคแรกของอาคารสูงและบ้านเรือนสมัยใหม่ที่ทำให้เกิดความป่วยไข้โดยไม่รู้สาเหตุในยุคนั้นตึกอาคารไม่ค่อยคำนึงเรื่องสุขภาพที่มองไม่เห็น เช่น คุณภาพและการถ่ายเทของอากาศ แต่ตึกอาคารในยุคใหม่ค่อนข้างเข้าใจและออกแบบเพื่อความปลอดภัยและสวัสดิภาพของผู้อยู่อาศัย ความเข้าใจสำคัญคือสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่นั้น ย่อมส่งผลกับสุขภาพของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

Work from home
uk.finance.yahoo.com

 

รู้จักอาการ ตึกป่วยคนป่วยตาม อาการจากอาคารในยุคใหม่

จริงๆ เป็นเรื่องธรรมดามากเลยว่าเราอยู่ในสภาวะแบบไหน ย่อมส่งผลกับสุขภาพของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในนั้นโดยตรง ทีนี้ Sick Building Syndrome ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มอาการที่ยืนยันอย่างเป็นทางการ และได้รับการยอมรับทางการแพทย์กันอย่างจริงจังว่า ตึกอาคารที่ออกแบบไม่ดีนั้นส่งผลกระทบและก่อให้เกิดผลเสียกับสุขภาพ

คำว่า ‘การอาการป่วยจากตึก’ จริงๆ เริ่มๆ พอๆ กับช่วงที่เราเริ่มเกิดเมือง เกิดตึกสูง เกิดตึกออฟฟิศ หรือพื้นที่ที่คนเข้าไปใช้ชีวิต ไปทำงานกันเป็นจำนวนมาก ในช่วงราวทศวรรษ 1970 เริ่มมีอาการความป่วยไข้แปลกๆ ที่ฟังเผินๆ เหมือนอาการป่วยการเมือง คือไปนั่งทำงาน ไปใช้ชีวิตในตึกอาคารสมัยใหม่แล้วรู้สึกป่วย สื่อในช่วงนั้นเรียกว่าเป็นการป่วยไข้ในออฟฟิศ หรือ office illness

ในตอนนั้น ด้วยความที่ตึกอาคารสมัยใหม่ทั้งหลายสร้างขึ้นโดยเน้นฟังก์ชั่น ยังไม่มีการคำนึงถึงเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องสุขภาวะและลักษณะบรรยากาศภายในอาคาร ผู้คนมีการป่วยกระเสาะกระแสะกันเป็นจำนวนมาก ในที่สุดความป่วยไข้นี้ได้ทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกประกาศและเรียกกลุ่มอาการในโลกและวิถีสมัยใหม่นี้ว่า ‘Sick Building Syndrome’ อย่างเป็นทางการในปี 1986 หลังจากนั้นก็เริ่มเป็นที่รู้จัก และเป็นที่ยอมรับในฐานะโรคและอาการทางคลินิกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นจากตึกอาคารและบ้านเรือนสมัยใหม่

ฟังดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ในตอนนั้นนึกภาพว่าตึกอาคารใหม่ๆ และวิถีใหม่ๆ กำลังเฟื่องฟู เมืองเต็มไปด้วยผู้คน และคนก็ทยอยป่วยกันอย่างแปลกประหลาด เมืองใหญ่จำนวนมากเกิดตื่นตัว และเริ่มกังวลกับกลุ่มอาการบางอย่างที่อาจตามมา เช่นโรคภูมิแพ้ที่อาจกลายเป็นโรคหลักที่มาทำลายสุขภาวะของผู้คนในทศวรรษนั้นมีงานศึกษาเกี่ยวกับสุขภาพของคน และผลกระทบของอาคารกันอย่างจริงจังทั้งในอังกฤษ เนเธอแลนด์ และสวีเดน

ผลการศึกษาส่วนใหญ่ชี้ไปที่อากาศ และระบบหมุนเวียนระบายอากาศที่ทำได้ไม่ดี ทำให้อากาศเกิดการปนเปื้อน จากทั้งอากาศที่ถ่ายเทไม่สะดวกจนทำให้เกิดความอึดอัด เกิดสภาวะที่เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี บางอาคารด้วยการออกแบบหรือวัสดุต่างๆ ทำให้มีการปนเปื้อนจากของเสียในอาคารและสารเคมีที่ใช้

www.adweek.com

Sick Building Syndrome กลุ่มอาการ ที่อาจจะเกี่ยวและอาจจะไม่เกี่ยว

อาการที่ตึกเจ็บป่วยคนเจ็บป่วยถือเป็นอาการที่ค่อนข้างแพร่หลาย และนับว่าเป็นโรคทางแพทย์- มีการวินิจฉัยและแก้ไขกันอย่างจริงจังในช่วงทศวรรษ 1980 เรื่อยมาจนถึงราวๆ ปี 2000 ดังกล่าวว่าพอองค์การอนามัยโลกนิยามยืนยันก็แปลว่าในตอนนั้นถือว่าเรามีความป่วยไข้จากตึกอาคารอย่างเป็นทางการ สามารถวินิจฉัยและรักษากันอย่างจริงจัง

ในปี 1991 ทาง WHO มีรายงานอัพเดตและชี้ว่าโรคนี้ถือเป็นโรคจริงๆ และสามารถระบุอาการป่วยได้ ซึ่งอาการตามที่ WHO ชี้ก็อาจเป็นได้ก็ทั้งไอ แน่นหน้าอก เป็นไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ซึ่งแน่นอน กลุ่มอาการค่อนข้างคลุมเครือ แต่ในตอนนั้นก็ถือว่ามีการตรวจเจอ และถือเป็นอาการอย่างหนึ่งที่มาหาหมอแล้ว หมอไม่ได้เป็นคนรักษา คือถ้าเป็นจริง ตัดโรคอื่นๆ ออกหมดแล้ว คนที่ป่วยก็ต้องกลับไป ถ้าป่วยจากบ้านก็ต้องปรับปรุงพื้นที่พักอาศัย ถ้าป่วยกันเยอะๆ จากตึกออฟฟิศเดียวกันก็ต้องคุยกับผู้จัดการอาคาร ตอนนี้ WHO เน้นเรื่องว่า 30% ของอาคารและอาคารที่มีการปรับปรุง ภายในอาคารนั้นอากาศถ่ายเทได้ไม่ดี ทำให้ส่งผลให้เกิดกลุ่มอาคารที่เรียกว่าอาคารป่วยจากอาคารที่ป่วยดังว่า

ช่วงทศวรรษ 1990 ด้วยความด้วยโรคตึกป่วยและป่วยเพราะตึกนี้เป็นประเด็นร้อนอย่างยิ่ง ในตอนนั้นก็เลยเกิดกระแสตึกอาคารสุขภาพดี คือเน้นโปรโมทการสร้างและโปรโมทตัวอาคารรวมถึงวัสดุและสารเคมีต่างๆ ที่ใช้ในอาคาร ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งสีเอย ความถ่ายเทของอากาศ หรือมีการเน้นเรื่องวัสดุธรรมชาติเป็นต้น

ในช่วงหลังปี 2000 เป็นต้นมา อาจด้วยอาคารที่เริ่มมีมาตรการควบคุมในการก่อสร้างที่ถี่ถ้วนมากขึ้น ประกอบกับความก้าวหน้าทางการแพทย์ ทำให้ในทางการแพทย์เริ่มมองว่า Sick Building Syndrome อาจจะไม่ใช่โรค หรือการวินิจฉัยที่สำคัญและสมควรอีกต่อไป คืออาการพวกนี้อาจสัมพันธ์คาบเกี่ยวกับโรคอื่นๆ มากกว่าจะเป็นอาการป่วยที่ผูกโยงกับตึกเป็นหลัก

ในปี 2006 ทางคณะกรรมาธิการสุขภาพและสุขภาวะสวีเดน (Swedish National Board of Health and Welfare) หนึ่งในประเทศที่บุกเบิกและทำการศึกษาเรื่อง Sick Building Syndrome ได้ออกแนวทางที่ระบุว่าหลังจากนี้ไม่ควรถือว่ากลุ่มอาการดังกล่าวเป็นคำวินิจฉัยทางการแพทย์อีกต่อไป นึกภาพว่าถ้าเป็นผื่น หายใจไม่ออก หรือใดใดจริงก็อาจสัมพันธ์กับโรคอื่นๆ การปรับสิ่งแวดล้อมหรือตัวตึกอาคารเป็นเพียงบริบท หรือการร่วมปรับปรุงเพื่อทำให้อาการดีขึ้น

 

13 proven natural ways to lower cortisol
medicalnewstoday.com

 

จริงอยู่ว่าทุกวันนี้อาจแทบไม่ได้ยินว่าเราสามารถป่วยเป็นโรคจากตึกอาคารที่ออกแบบไม่ดี แต่ในช่วงเวลาที่เราต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในบ้าน ในห้อง นอกจากความเครียดโดยทั่วไปแล้ว ผลกระทบของสิ่งแวดล้อมย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ใครที่กำลังรู้สึกป่วยๆ แง่หนึ่งก็อาจเป็นจังหวะที่เราจะได้มองรอบๆ ตัวแล้วรู้สึกว่า หรือบรรยากาศรอบตัวเราอาจยังไม่ดีต่อตัวเราเท่าไหร่

ในระดับที่กว้างออกไป ตึกอาคาร ออฟฟิศ ห้างร้าน ไปจนถึงเมืองนั้น ประเด็นเรื่องการออกแบบ การสร้างในฐานะพื้นที่ของผู้คน เป็นพื้นที่ที่ส่งผลกระทบทางกายและใจกับผู้คนอย่างจริงจัง กระแสและความเข้าใจเรื่อง sick building syndrome ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราได้กลับมาทบทวนสภาวะแวดล้อมของเรา

ที่ในที่สุดแล้วผู้อาศัย ผู้คน พนักงาน ถ้าได้เติบโตและใช้ชีวิตอยู่ในบรรยากาศที่ดี ที่ส่งเสริมให้มีสุขภาพแข็งแรง ความแข็งแรงของผู้คนก็ย่อมส่งผลสะท้อนกลับมาสู่ตัวพื้นที่และภาพรวมอย่างแน่นอน

ส่วนใครที่รู้สึกว่าป่วยๆ อ่านบทความนี้แล้วก็อย่าเพิ่มรู้สึกป่วยหนักขึ้นไปกว่าเดิมล่ะ พักผ่อนเยอะๆ เปิดหน้าต่าง ทำความสะอาด และอย่าไปเครียด แต่ถ้าป่วยจริงก็ไปหาหมอเนอะ

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

epa.gov

nhs.uk

healthline.com

britannica.com

researchgate.net

 

Graphic Design by Montree Sommut

 

 

Share :