CITY CRACKER

จากการบริจาคสู่การแลกเปลี่ยน เมื่อรูปแบบของการให้เปลี่ยนไปและไม่ทำร้ายความรู้สึก

การบริจาค—การให้ทาน อาจจะไม่ใช่ทางออก

 

อย่าเพิ่งเข้าใจผิด จริงอยู่ว่าในภาวะวิกฤติ หรือภาวะผิดปกติทั้งหลาย การบริจาคหรือการให้เปล่าเป็นการช่วยเหลือเยียวยาแบบที่ทำได้ง่าย รวดเร็ว และเป็นการช่วยเหลือจากคนที่ได้รับความเดือดร้อนน้อยกว่าไปสู่ผู้ที่กำลังต้องการความช่วยเหลือมากกว่า

แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อเราเจอภาวะวิกฤติที่ยาวนานขึ้น หรือกระทั่งปัญหาเรื้อรังเช่นความยากจน การบริจาคหรือการรับบริจาคนั้น ก็อาจกลายเป็นสิ่งที่บั่นทอนความรู้สึกและจิตใจของผู้รับได้  แน่นอนว่าลึกๆ แล้ว การให้มีความสัมพันธ์ที่ไม่เสมอภาคกันอยู่ ในปัญหาโรคระบาดที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ เราก็เริ่มได้ยินเสียงของผู้ที่ได้รับผลกระทบ ที่ยิ่งรับของเพื่อเจือจานและต่อลมหายใจมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเหมือนเอาชีวิตจิตใจไปแลกอาหารและน้ำมากขึ้นเท่านั้น

จริงอยู่ว่า ประเด็นเรื่องการกระจายทรัพยากร การสร้างความเป็นธรรมและการถ่างขยายการเข้าถึงโอกาสอย่างเสมอภาคเป็นภาระหน้าที่ของรัฐที่ต้องกระทำผ่านแนวนโยบายและกลไกอันซับซ้อน ในอีกด้านภาคเอกชน ชุมชนหรือกระทั่งเรากันเองนั้น นอกจากการบริจาคอันเป็นสิ่งที่เรากระทำกันในระยะสั้นแล้ว ยังมีการแลกเปลี่ยนแบ่งปันผ่านการสร้างแพลตฟอร์มด้วย

 

asiatimes.com

 

กฏของการแลกเปลี่ยน เมื่อโลกทุนนิยมทำให้ของฟรีไม่มีจริง

จริงๆ เป็นคำอธิบายที่ง่ายมาก คือไม่ว่ายังไงก็ตาม ไม่ว่าจะให้ของเรามาฟรีๆ ไม่ว่าจะของชิมฟรี หรือของบริจาค เราต่างรับรู้กันอยู่ลึกๆ ว่า ในโลกใบนี้ ทุกอย่างมีการแลกเปลี่ยนเสมอ เราอาจอยู่ในโลกที่การแลกเปลี่ยนมีเงิน อันจับต้องคิดคำนวนได้เป็นศูนย์กลาง จนลืมไปว่า จริงๆ แล้วไม่ได้มีแค่เงินหรือสินทรัพย์ วัตถุสิ่งของเท่านั้นที่เราใช้แลกเปลี่ยนหรือทำธุรกรรมต่อกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

เราอยู่ในโลกของทุนนิยม นักทฤษฎีสารมาร์กซิสมองว่าระบบทุนนิยมไม่ได้เป็นแค่ระบบเศรษฐกิจ แต่เป็นระบบของวัฒนธรรมด้วย ทุนนิยมหล่อหลอมแนวคิดและการมองโลกให้กับเรา ในทุกๆ วัน แม้เราเองจะไม่ได้ทำการค้าขาย แต่เรานั้นก็ต่างครุ่นคิดถึงเรื่องความคุ้มค่า กำไร และการสะสมทุน คิดถึงความก้าวหน้า การบริหารเวลา และการเจริญเติบโตอันผูงโยงอยู่กับสถานะทางสังคมและระบบเศรษฐกิจ

นักคิดเช่นปิแอร์ บูร์ดิเยอ นักวัฒนธรรมศึกษาและนักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส ชี้ให้เราเห็นว่า คำว่าทุน- capital ไม่ได้มีเพียงทุนทางเศรษฐกิจ (economic capital) เท่านั้น แต่ยังมีทุนที่มีลักษณะเป็นนามธรรมที่เรียกว่าทุนทางวัฒนธรรม (cultural capital) ไปจนถึงทุนทางสังคม (social capital) ซึ่งทั้งหมดนั้นสามารถแลกเปลี่ยน เพื่อนำไปสู่การสะสมระหว่างกันได้

ความสามารถบางอย่าง นำไปสู่การหารายได้ ความสัมพันธ์นำไปสู่ตำแหน่งแห่งที่ รสนิยม การแต่งกายและการปฏิบัติตัว เอื้อให้คนๆ หนึ่งก้าวเข้าสู่สังคมและสถานะที่เฉพาะเจาะจงได้ หรือกระทั่งเราเองที่ต่างนำเอาเวลาและความสามารถไปแลกเป็นเงินเดือนมากินใช้และสะสมทุนกันต่อไป

ดังนั้น ของฟรีในโลกแห่งทุนนิยมจึงไม่มีอยู่จริง เมื่อเราหยิบขนมในไม้จิ้มขนาดเล็กขึ้นชิม ลึกๆ แล้วเราจึงแสนลำบากใจที่จะปฏิเสธไม่ซื้อสินค้าหรืออะไรบางอย่างจากการหยิบยื่นนั้น เราเอาความรู้สึกเป็นหนี้บางอย่าง เข้าแลกกับสิ่งของและของฟรีเหล่านั้น ในทางกลับกัน ผู้คนที่รับของอย่างได้เปล่านั้น มีคนไม่น้อยที่เคยชินและเข้าใจการได้มา (earning) จึงต้องการแลกอะไรบางอย่าง มากกว่าจะแลกความรู้สึก หรือการติดค้างหนี้สินกันต่อไป

 

photo by Lobkovs

 

Sharing Community? เมื่อการให้ กลายเป็นการแลกเปลี่ยน

ในการแก้ปัญหาการขาดทรัพยากรบางอย่าง การให้เปล่าหรือการให้ทานจึงอาจไม่ใช่ทางออกในระยะยาว ทั้งในเชิงจิตใจและสังคม การให้เป็นเหมือนปฏิสัมพันธ์ทางเดียว มากกว่าการมีปฏิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนต่อกัน ดังนั้นเอง จึงได้มีโครงการที่พยายามสร้างพื้นที่ส่วนกลาง เป็นที่ๆ ผู้คนจะนำพาเอาทรัพยากรบางอย่างเข้าแลกเปลี่ยน และใช้งานร่วมกันอันจะนำไปสู่การสะสม เพิ่มพูน และตั้งตัวได้ในท้ายที่สุด

จริงๆ แนวคิดดังกล่าว เป็นไปในทำนองความคิดแบบสหกรณ์ (communion) ใช้การรวมตัวกันเพื่อสร้างความมั่นคงและเข้มแข็งซึ่งกันและกัน โดยในระยะหลังนอกจากเงินหรือการออม ไปจนถึงวัตถุดิบผลผลิตแล้ว ยังมีการแชร์ทรัพยากรอื่นๆ ที่ใช้อินเทอร์เน็ต และการออกแบบระบบเข้ามาช่วยจับคู่เพื่อแชร์ อะไรบางอย่างร่วมกัน เช่น การแชร์เวลาของ AirBnb แชร์รถยนต์และการเดินทาง

ในแง่ของอาหารการครัว ด้วยความที่สังคมเราต่างเข้าใจทั้งความสำคัญของอาหารและชุมชน ไปจนถึงความคุ้มค่าของการปรุงอาหารปริมาณมากในฐานะการจัดการทรัพยากรนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แนวคิดเรื่องครัวกลาง คือการที่ชุมชน หรือพื้นที่หนึ่งๆ มีการสร้างครัว และรวบรวมเอาทรัพยากรทั้งแรงงาน วัตถุดิบ และพื้นที่รวมเข้าไปสู่การปรุงอาหารและแจกจ่ายแบ่งสันปันส่วนกลับคือนสู่ชุมชนหรือสมาชิกเป็นสิ่งที่ทำกันมาอย่างหลวมๆ เนิ่นนานแล้ว

ในระยะหลังประเทศ เช่นญี่ปุ่น ที่เริ่มให้ความสำคัญกับการออกแบบเมืองเพื่อผู้สูงอายุ ทางการเองมองไปถึงจุดเล็กๆ เช่นการปรุงอาหารและการกินข้าวที่ผู้สูงอายุต้องกินโดยลำพังนั้น ยิ่งบั่นทอนความรู้สึก ในการออกแบบเมืองหรืออาคารเพื่อรองรับ จึงมีการออกแบบครัวและพื้นที่ทานอาหารส่วนกลาง เพื่อแบ่งปันอาหารปรุงสุกใหม่ และการใช้เวลากับคนอื่นให้กับผู้สูงอายุด้วย

 

แนวคิดสำคัญของการให้ในระยะยาวจึงอยู่ที่การวางระบบและการสร้างความเป็นชุมชนของการแลกเปลี่ยนขึ้น มีการออกแบบทั้งในเชิงพื้นที่ และในระบบการบริหารจัดการ ไปจนถึงภาพลักษณ์ที่เอื้อให้เกิดรูปแบบความสัมพันธ์ใหม่ๆ ทำให้คนเข้าใจและก้าวเข้ามามีส่วนร่วม นำสิ่งที่ตนเองมี ไม่ว่าจะเป็นความรู้ เวลา ข้าวของ ผลิตผล เข้ามาแลกเปลี่ยนซึ่งและกัน ปลายทางอาจจะเป็นไปได้ทั้งมื้ออาหารที่มีคุณภาพ และความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในพื้นที่นั้นๆ

 

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

ukdiss.com

researchgate.net

ukdiss.com

 

Illustration by Montree Sommut
Share :