CITY CRACKER

ความรับผิดชอบและภาระหน้าที่ ‘ขนส่งสาธารณะ’ ในห้วงเวลาการประท้วง

จากการประท้วงที่เกิดจากความไม่พอใจของประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนและคนรุ่นใหม่ที่มีต่อรัฐบาล รวมถึงความคิดบางประการที่ยังปรากฏอยู่ในสังคม ในการประท้วงนั้น นอกจากภาครัฐแล้วก็ได้เกิดปรากฏการณ์ขนส่งสาธารณะหยุดให้บริการ อันเนื่องมาจากการชุมนุมประท้วง ซึ่งก็มีคำชี้แจงจากผู้ให้บริการว่าเป็นคำสั่งจากการบริหารราชการในเหตุการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ผลคือนอกจากความไม่พอใจต่อรัฐบาลแล้ว ความพอใจและความเกรี้ยวกราดของประชาชนก็ลงไปสู่การทำงาน- หยุดทำงานของขนส่งระบบรางที่เป็นความเดือนร้อน ไม่เพียงแค่การชุมนุม แต่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง

ขนส่งสาธารณะจึงเป็นอีกภาคส่วนที่มักจะได้รับผลกระทบในยามที่เกิดภาวะบางอย่างขึ้นในเมือง นอกจาการให้บริการที่ต้องสัมพันธ์กับภาวะไม่ปกติ และการตัดผ่านพื้นที่ชุมนุมประท้วงแล้ว หลายครั้ง ตัวขนส่งสาธารณะเองก็เป็นส่วนหนึ่งของการถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเป็นธรรม เป็นส่วนหนึ่งของความไม่เสมอภาค เช่นในครั้งนี้ที่ความขัดแย้งนำความไม่พอใจสู่ระบบขนส่งสาธารณะโดยตรง

คำว่า ‘สาธารณะ’ ในขนส่งสาธารณะรวมถึงความเป็นสาธารณะอื่นๆ ได้กลับมาอยู่ในสายตา และเป็นที่ตั้งคำถามของประชาชนอีกครั้งว่า ข้อคำนึงที่สำคัญที่สุดคือขนส่งสาธารณะเป็นบริการเพื่อประชาชน รถเมล์ รถไฟฟ้า รถไฟฟ้าใต้ดินล้วนทำหน้าที่สำคัญที่ไม่ใช่แค่การขนส่งผู้คน แต่เป็นหัวใจที่เป็นจังหวะ ทั้งของชีวิตและของผู้คน เป็นเหมือนเส้นเลือดที่นำส่งหล่อเลี้ยงชีวิต เชื่อมต่อผู้คนเข้าสู่โอกาสต่างๆ ไม่ใช่แค่ความสะดวกสบาย แต่คือการรับผิดชอบความเป็นความตาย และเมื่อความคาดหวังและความจำเป็นของผู้คนไม่ได้รับการตอบสนอง กระแสจึงตีไปสู่ผู้ให้บริการอย่างรุนแรง

การประท้วงและความขัดแย้ง ไปจนถึงการให้บริการสาธารณะท่ามกลางความขัดแย้ง ตัวขนส่งสาธารณะประสบกับความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ทั่วโลก แง่หนึ่งนั้น ในความขัดแย้งดังกล่าวยิ่งทำให้เราเห็นถึงความสำคัญของบริการสาธารณะ เห็นถึงความซับซ้อนของจุดยืนในการให้บริการประชาชน ไปจนถึงความเข้มแข็งขององค์กร เราสามารถเข้าใจความสำคัญและบทบาทของขนส่งสาธารณะที่ยกระดับเป็นพื้นที่ขัดแย้ง พื้นที่การมีส่วนร่วมแสดงจุดยืน หรือพื้นที่ร่วมบรรเทาความตึงเครียดของเหตุการณ์ความขัดย้งได้ ตั้งแต่รถไฟฟ้าใต้ดินของฮ่องกงที่กลายเป็นคู่ขัดแย้ง การทำงานของรถโดยสายในกรณี Black Lives Matter ที่ทางรถไฟฟ้าใต้ดินมีการหยุดให้บริการ ต้องออกขอโทษ และจ่ายค่าชดเชยให้ผู้โดยสาร ไปจนถึงองค์กรรถประจำทางปฏิเสธที่จะขนส่งผู้ประท้วงตามความต้องการของตำรวจ

 

infoquest.co.th

รถไฟใต้ดินฮ่องกง เส้นบางๆ ของความเห็นแก่ตัว และการได้รับผลตามสมควรของผู้ให้บริการ

อยู่ๆ ภาพซ้ำของฮ่องกงก็ดูจะถูกเล่นซ้ำอีกครั้งในบ้านเรา ทั้งการลุกฮือขึ้นของเยาวชน แผงร่มจำนวนมาก การสลายม็อบด้วยน้ำย้อมสารเคมีเพื่อระบุตัวผู้ชุมชน จนกระทั่งความขัดแย้งกับระบบขนส่งมวลชน โดยเฉพาะกับรถไฟฟ้า ดังที่เราอาจพอจะนึกภาพออกว่าช่วงเวลานี้ (ตุลาคม) ของปีที่แล้ว ม็อบที่ฮ่องกงเกิดการปะทะกับตำรวจขึ้น

ความขัดแย้งของกลุ่มผู้ชุมนุมกับระบบรถไฟฟ้าฮ่องกง (MTR) เริ่มปะทุขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่มีการใช้หมายศาลเพื่อคุ้มครองสถานี ผู้ชุมเริ่มก่อกวนระบบขนส่งและมีการบอยคอตระบบรถไฟฟ้า ด้วยมองเห็นว่าระบบขนส่งมวลชนของฮ่องกงนั้นเลือกเข้าฝ่ายรัฐบาล ซึ่งก็คล้ายๆ กับเหตุการณ์ในบ้านเราคือมีการปิดให้บริการการเดินรถที่ทางฝั่งผู้ให้บริการบอกว่าเพื่อปกป้องทรัพย์สินและความปลอดภัย ในทางกลับผู้ชุมนุมก็มองว่าเป็นการเลือกข้างของผู้บริการ เป็นการตัดช่องทางเดินทางสู่การชุมนุม ทั้งผู้ชุมนุมยังเห็นว่าภาพของการให้ตำรวจใช้พื้นที่สถานีนั้นยิ่งเติมความรู้สึกไม่ไว้วางใจกับบริษัทเข้าไปใหญ่ ซึ่งที่สำคัญคือการมองว่าตัวบริษัทรถไฟฟ้านั้นเป็นของรัฐคือมีรัฐถือหุ้นถึง 75%

เหตุการณ์ความรุนแรงและความขัดแย้งระหว่างผู้ชุมนุมและรถไฟฟ้าฮ่องกงดำเนินไปอย่างซับซ้อน ความขัดแย้งของผู้ชุมนุมต่อรถไฟฟ้านั้นค่อยๆ ตึงเครียดและปะทุขึ้นตามความรุนแรงระหว่างรัฐและผู้ชุมนุม ในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2019 เป็นช่วงที่ฮ่องกงกลายเป็นสนามรบ และหนึ่งในเหตุการณ์ที่รถไฟฟ้าฮ่องกงกลายเป็นจำเลย และกลายเป็นเป้าหมายของความรุนแรง คือเหตุการณ์ในวันที่ 31 สิงหาคม เป็นเหตุการณ์ที่รถไฟฟ้าสถานี Prince Edward Station กลายเป็นพื้นที่ความรุนแรง ในครั้งนั้นตำรวจไล่ล่าผู้ชุมนุมจนเข้าไปในสถานี มีภาพการใช้ไม้กระบองและสเปย์พริกไทยกับคนในสถานี โดยแยกแยะไม่ได้ว่าเป็นผู้ชุมนุมหรือไม่ กระทั่งมีข่าวลือว่ามีประชาชนถูกทุบตีเสียชีวิตในพื้นที่นั้น แต่ก็มีการปิดข่าวและทำความสะอาดพื้นที่เพื่อปิดบังอำพราง ในวันรุ่งขึ้นประชาชนชาวฮ่องกงก็รวมตัวกันที่บริเวณสถานี มีการแสดงสัญลักษณ์และความอาลัย เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ภาพของระบบขนส่งที่พวกเขารัก และภาพของกำลังตำรวจล่มสลายไปในวันนั้น

 

SPECIAL ALERT: HONG KONG PROTEST MONITOR 13 September 2019
a2globalrisk.com

 

หลังจากความรุนแรงปะทุขึ้นในวันที่ 4 ตุลาคม สถานีรถไฟฟ้าจึงกลายเป็นเป้าหมายหนึ่งของความรุนแรงจากการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจ ตลอดเดือนตุลาคมมีรายงานว่าการทำลายหรือได้รับความเสียหายกว่า 138 สถานีจาก 161 แห่ง สื่อท้องถิ่นรายงานว่าตู้จำหน่ายบัตรกว่า 800 ตู้ แผงเปิดปิดกว่า 1,800 ราว และบันไดเลื่อนกว่า 50 บันไดพังเสียหาย กระทั่งห้องทำงานของพนักงานก็ถูกทุบหรือถูกเผาทำลาย ซึ่งความเสียหายกายภาพนั้นหนักหนาพอๆ กับความเสียหายจากการหยุดเดินรถที่มีผู้โดยสายกว่า 5 ล้านคนต่อวัน

แน่นอนว่าความรุนแรงต่อขนส่งสาธารณะทำให้เสียงสนับสนุนของประชาชนต่อการชมนุมดิ่งฮวบลง ประชาชนทั่วไปบางคนให้ความเห็นว่าผู้ชุมนุมเห็นแก่ตัวและทำให้วิถีชีวิตโดยทั่วไปขัดข้องลงอย่างหนัก เห็นใจคนทำงานที่ต้องมากวาดทำความสะอาดสิ่งที่ผู้ชุมนุมทำไว้ กระนั้นเองทางนิตยสาร TIME ก็ได้กล่าวถึงเสียงสัมภาษณ์ของพนักงาน MTR ที่เห็นว่าการถูกโจมตีนั้นชอบธรรมแล้ว ผู้ให้สัมภาษณ์ที่สงวนนามกล่าวว่าในระดับบริหารก็มีการทำงานร่วมกันกับตำรวจจริง และทิ้งท้ายว่า “ถ้าเราเพียงทำหน้าที่ของเราให้ดี ขนส่งผู้คนอย่างที่ควรจะเป็น ก็คงไม่มีใครมีทุบทำลายสิ่งของของเรา” และย้ำว่า “เราสมควรกับสิ่งนี้แล้ว”

 

Pro-democracy protesters set a fire at the entrance of a subway station in Hong Kong on Oct. 4, 2019.
time.com

 

ใครอนุมัติ และใครต้องรับผิดชอบ การปิดขนส่งมวลชนกรณี Black Lives Matter

ขยับมาที่เหตุการณ์เมื่อกลางปี 2020 ที่ผ่าน บ้านเราเองก็ร่วมกระแส Black Lives Matter สังคมที่ปะทุจากกรณีการตายของจอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ที่ประท้วงในความขัดแย้งและความรับผิดชอบของรถใต้ดิน (Metro) ในลอสแอนเจลิส ตอนแรกนั้นก็ปิดแค่บริเวณย่านกลางเมืองที่มีการชุมนุม ก่อนที่จะปิดทั้งระบบในคืนนั้น จากการปิดระบบโดยไม่ทันตั้งตัวได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ จนกระทั่งทางบริษัทเดินรถต้องออกมาขอโทษ และจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ใช้บริการที่ต้องเดินทางด้วยช่องทางอื่นในขณะที่รถไฟฟ้าหยุดวิ่ง

โครงข่ายการเดินรถของเมืองลอสแอนเจลิส แคลิฟอร์เนีย เป็นโครงข่ายขนาดใหญ่ที่ดูแลเชื่อมต่อกันทั้งระบบรางและรถเมล์ (metro bus) ย้อนไปช่วงเหตุการณ์ปะทุคือช่วงค่ำของวันเสาร์ที่ 31 มีนาคม ที่การประท้วงเริ่มลุกลามในเขตกลางเมืองของลอสแอนเจลิส ด้วยเหตุการณ์ช่วงบ่าย มีรถเมล์ของทางเมโทรเสียหายจากกลุ่มผู้ชุมนุม มีภาพการพ่นกราฟิตี้ และผู้ชุมนุมขึ้นไปยืนบนรถ ประกอบกับการประกาศเคอร์ฟิว ทำให้ช่วง 18.30 ของวันนั้นทางเมโทรประกาศยุติการเดินรถ ที่ในตอนแรกยุติเพียงสถานีที่ได้รับผลกระทบ ก่อนจะประกาศว่าจะปิดทั้งระบบในตอนสองทุ่มของวันนั้น

แน่นอนว่าทางเมโทรชี้แจงความกังวลของภาพรถเมล์ที่ได้รับความเสียหายจากการประท้วง ถึงความปลอดภัยในทรัพย์สินและสวัสดิภาพของพนักงาน จึงประกาศปิดทั้งระบบ แต่ในคืนเดียวกันนั้นก็ปรากฏภาพตำรวจใช้รถเมล์ของกิจการเพื่อขนย้ายผู้ประท้วงที่จับกุม ด้วยการประกาศและปิดอย่างกระชั้น ทำให้มีประชาชนและแรงงานตกค้างจากการหยุดเดินรถเป็นจำนวนมาก ทั้งบริเวณป้ายรถเมล์ และนอกสถานีที่ไม่สามารถเดินทางได้ตามปกติ ทำให้ตกค้างอยู่ตามท้องถนน

 

wamu.org

 

จากการหยุดเดินรถในคืนนั้น ก็เกิดกระแสความไม่พอใจเป็นอย่างมาก เพราะผู้ให้บริการไม่สามารถให้บริการประชาชนได้ตามหน้าที่ นายเบรน โบเวนส์ (Brian Bowens) หนึ่งในผู้โดยสาร และประธานกรรมการที่ปรึกษาภาคประชาชนระบุถึงเหตุการณ์ความย้อนแย้ง ที่บริษัทปิดการเดินรถให้กับประชาชน แต่ใช้สาธารณูปโภคให้กับภาครัฐว่า “อะไรคือตรรกะ ใครที่สนับสนุน’”และกล่าวต่อว่า “เหตุการณ์นี้ต้องมีผลกระทบต่อไป ผู้โดยสารจะจดจำสิ่งนี้ฝังใจโดยไม่ลืมเลือน” ผลกระทบทั้งหมดก็เลยยอกย้อนวนเวียน ทั้งการบริหารจัดการที่ยุติการดำเนินก็ด้วยอคติเรื่องความรุนแรงจากคนผิวสี ในทางกลับกันคนที่เดือดร้อนตกค้างอยู่ตามท้องถนนก็ล้วนเป็นคนชายขอบ เป็นคนผิวดำและชาวละตินอเมริกา

หลังจากนั้นก็มีแถลงการร่วมจาก The Alliance for Community Transit ภาคีภาคประชาชนที่ผลักดันเรื่องเมืองที่ดีและเมืองเดินได้ รวมถึงขนส่งมวลชวนของลอสแอนเจลิสแถลงว่า “การระงับการเดินรถนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้” “บริษัทกำลังหันหลังให้กับผู้คนที่พึ่งพาขนส่งมวลชนสาธารณะทั้งรถเมล์และรถไฟฟ้าโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า” “เป็นการกระทำที่ไร้ซึ่งความรับผิดชอบ ส่งผลให้ชุมชนที่มีความอ่อนไหว และแรงงานสำคัญต้องถูกทิ้งไว้ข้างทาง” การที่สาธารณูปโภคถูกนำไปขนผู้ชุมนุมเข้าคุกเป็นสิ่งที่ “เกินจะรับได้” ซึ่งภายหลังก็มีแถลงการณ์จากบุคคลสำคัญตามมาว่า การยุติการเดินรถในครั้งนั้นไม่สมเหตุสมผล-ยอมรับไม่ได้ (unconscionable)

หลังจากนั้น ในเช้าวันอาทิตย์ทางการเครือข่ายเมโทรของลอสแอนเจลิสก็ออกแถลงขอโทษ และประกาศชดเชยให้กับผู้เดินทางที่ไม่สามารถเดินทางได้ในคืนนั้น และจำเป็นต้องใช้การเดินทางรูปแบบอื่นเช่นอูเบอร์ Lyft หรือแท็กซี่ ให้ส่งอีเมลเพื่อรับเงินชดเชยจากทางบริษัทได้ผ่านทางบริการลูกค้า

 

รูปภาพ
Twitter: LAist

 

อย่างไรก็ตาม การใช้ขนส่งมวลชนสาธารณะ หรือใช้รถเมล์เพื่อขนส่งผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมมีการ “ขอความร่วมมือ” ในเขตเมืองอื่นด้วย แต่สหภาพและคนขับรถที่เมืองอื่นๆ นั้นปฏิเสธที่จะทำตาม คนขับรถและสหภาพรถเมล์ เช่นที่นิวยอร์กและเมืองมินนีแอโพลิส (Minneapolis) เมืองmujเริ่มต้นกระแสการแสดงจุดยืน และออกแถลงการณ์ว่าพวกเขาจะไม่ทำตาม ด้วยบริการขับรถส่งตำรวจ และรับผู้ชุมนุมจากชุมชนและพื้นที่ประท้วง กระทั่งคนขับรถเองนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งด้วย บางส่วนย้ำจุดยืนว่าการขนส่งผู้ชุมนุมไปสู่ที่คุมขังไม่ใช่หน้าที่ของขนส่งมวลชนสาธารณะ

จากเหตุการณ์ความขัดแย้งที่มีการชุมนุมเรียกร้องขนส่งมวลชน รวมถึงบริการสาธารณะอื่นๆ การชุมนุมประท้วงต่อต้านเป็นกระแสที่เกิดขึ้นทั่วโลก และเป็นปกติที่ภาคส่วนต่างๆ จะเข้ามามีส่วนร่วมในความขัดแย้งนั้น สิ่งที่เราเห็นจากความขัดแย้งของขนส่งสาธารณะและการชุมนุมประท้วง คือการที่แต่ละภาคส่วนมีภาระหน้าที่ มีจุดยืน และมีการแบ่งคานอำนาจซึ่งกันและกัน โดยมีหน้าที่ มีความรับผิดชอบ และมีประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง

กระนั้น ในความขัดแย้งที่แม้ว่าเราจะร่วมหรือไม่ร่วมประท้วงก็ตาม ท่าทีและความสัมพันธ์ของขนส่งมวลชนสาธารณะที่สัมพันธ์อยู่กับการประท้วงเรียกร้องอย่างยุ่งเหยิง ก็ทำให้ทั้งเราและผู้ชุมนุมเริ่มมองเห็นสายสัมพันธ์อันซับซ้อน ทั้งราคาค่าโดยสารที่พุ่งสูงขึ้น ไปจนถึงการตัดสินใจวางนโยบายและดำเนินการต่างๆ ที่ในที่สุด  ไม่มีการตัดสินใจของสาธารณะเข้าไปมีส่วนต่อสิ่งที่พวกเขากำลังจ่ายเงินและใช้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

bloomberg.com

vox.com

time.com

cnbc.com

la.streetsblog.org

allianceforcommunitytransit.org

businessinsider.com

 

Illustrator by Montree Sommut
Share :