CITY CRACKER

ศิลปะภาพถ่ายอาคารกับการถ่ายทอดความทรงจำและความงามทางสถาปัตยกรรมเชิงอนุรักษ์

ทางสกาล่าเองออกมายืนยันแล้วว่ากิจการโรงภาพยนตร์ที่เรารักกำลังจะหยุดให้บริการลง โฉมหน้าของสากล่าในฐานะพื้นที่ของการดูหนัง ดินแดนของการออกเดทที่เราคุ้นเคยมาหลายสิบปีกำลังเปลี่ยนโฉมหน้าไป แน่นอนว่าสกาล่าอยู่ในความทรงจำในฐานะโรงหนัง

แต่ในขณะเดียวกันสกาล่าก็ยังทรงมนต์ขลังด้วยสถาปัตยกรรมที่เหมือนหลุดมาจจากยุคก่อนหน้า ห้วงเวลาเดียวกันกับที่พ่อแม่ของเราต่างจูงมือกันมาดูหนังรักใต้โดมและราวบันไดอันโอ่า แอบจับมือกัน หรือกระทั่งลิ้มรสจูบอันหวานฉ่ำท่ามกลางกลิ่นของเก้าอี้ผ้าและบรรยากาศแสนเฉพาะในโรงหนังรุ่นเก่านี้

ไม่แน่ใจว่าอนาคตของสกาล่าจะเป็นอย่างไร และดูเหมือนว่าปัจจุบันเราจะเริ่มมีกระแสความสนใจเรื่องตึกเก่า อันหมายถึงพวกอาคารจากยุคโมเดิร์นที่ส่วนใหญ่มักเป็นตึกขนาดใหญ่ เป็นอาคารปูนที่มีสถาปัตยกรรมแบบบรูทัลลิสต์ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าตึกเหล่านี้ยืนหยัดจนเกือบจะหมดเวลาพวกมันแล้ว ทั้งสกาลา ลิโด้ ตึกร้างสมัยปี 40 กระทั่งนิวเวิลด์ต่างก็ถูกพานพัดทั้งจากกระแสกาลเวลา และกระแสการประกอบธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

flowthefilm.com

 

เรื่องตัวอาคารก็ย่อมมีความซับซ้อน และ ‘เป็นไปตามกาล’ บางที่อาจต้องรื้อทิ่ง บางที่อาจมีการปรับปรุงและดึงเอาอดีตมาเป็นจุดขายจนกลายเป็นพื้นที่และกิจการที่เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น แต่นอกจากตัวอาคารแล้ว ‘ภาพถ่าย’ โดยเฉพาะภาพถ่ายทางสถาปัตยกรรมยังเป็นอีกหนึ่งศาสตร์ เราเริ่มเห็นภาพอาคารเก่าในมุมมองและมิติที่สวยงามชวนตะลึงปรากฏขึ้นในโลกออนไลน์

ในแง่หนึ่งศิลปะภาพถ่ายสถาปัตยกรรมถือเป็นอีกศิลปะที่เติบโตขึ้นมาร่วมกับงานออกแบบทางสถาปัตยกรรม เราได้เห็นตึกสวยๆ ส่วนหนึ่งก็จากภาพถ่าย สถาปนิกชั้นแนวหน้าไม่ว่าจะเป็แฟรงก์ ลอยด์ ไรท์หรือเวนทูรี่ ก็ต่างมีช่างภาพคู่ใจกันทั้งนั้น กระทั่งประเด็นเรื่องเมืองเองก็เกิดประแสปฏิวัติที่สัมพันธ์กับนิทรรศการภาพถ่าย เช่นการปฏิวัติอาคารและเมืองที่สหรัฐสัมพันธ์กับภาพถ่ายบรรยากาศในเมืองที่ทำให้เห็นว่าเมืองแย่แค่ไหน หรือการปรับปรุงเมืองให้รวมผู้หญิงเข้าไปของออสเตรียในช่วงปี 1990 ก็มีนิทรรศการภาพถ่ายผู้หญิงในเมืองที่ทำให้คนเห็นว่าเมืองไม่ได้ออกแบบไว้ให้ผู้หญิงเลยนี่นา

ถ้าเรายืนดูศิลปะการถ่ายภาพอาคาร นอกจากตัวภาพถ่ายจะมีบทบาทในการถ่ายทอดความงามทางสถาปัตยกรรมแล้ว ภาพถ่ายยังมีบทบาทในเชิงอนุรักษ์อาคารอย่างสำคัญยิ่งด้วย ทั้งในแง่ของการบันทึเก็บภาพตัวอาคารหนึ่งๆ ไว้ ที่มีการถ่ายเก็บกันตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 คือตั้งแต่ราวปี 1989 นู่นที่มีคุณ Frederick H. Evans ช่างภาพที่ถือว่าเป็นช่างภาพอาคารคนแรกๆ ในตอนนั้นอีวานส์อุทิศชีวิตไปกับการถ่ายภาพโบสถ์โบราณจากยุคกลาง อาคารเก่าที่ค่อยๆ เสื่อมอำนาจลงจากการเข้าสู่ยุคสมัยใหม่

Frederick H. Evans /artgallery.nsw.gov.au

 

Excursions daguerriennes นครโบราณกับงานภาพถ่ายกลางศตวรรษที่ 19

การถ่ายภาพ กับงานสถาปัตยกรรมถือเป็นสองศาสตร์ที่ก้าวไปด้วยกัน แง่หนึ่งเราจะเห็นอาคารจริงๆ รับรู้ความงามของอาคารทั้งหมดด้วยตาก็ถือเป็นเรื่องยาก นึกย้อนไปเราเองค่อนข้าง ‘เห็น’ งานสถาปัตยกรรมทั้งหลายก็ด้วยภาพเป็นหลัก

ในแง่ของการถ่ายภาพและเทคโนโลยีเรื่องกล้องเองที่ค่อยๆ เกิดขึ้นช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เฟื่องฟูในช่วงศตวรรษที่ 20 ช่วงนั้นการถ่ายภาพถือเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมดาวรุ่ง มีการค้นคว้า ทดลอง ออกแบบกล้อง มีสมาคม มีบริการถ่ายภาพ และเริ่มมีการถ่ายภาพที่หลากหลายขึ้นด้วยกล้องที่เริ่มถ่ายได้ในเงื่อนไขอื่นๆ นอกจากห้องมืดได้ ดังนั้น การถ่ายตึกอาคาร กระทั่งการถ่ายเมืองก็มาเริ่มๆ ตั้งแต่ทศวรรษ 1850 ที่ฝรั่งมีรวมภาพถ่ายชุด Excursions daguerriennes ตีพิมพ์ในปี 1842 เป็นงานภาพถ่ายเมืองที่ใช้เทคโนโลยีของศตวรรษที่ 19 และพิมพ์ด้วยแท่นพิมพ์หิน

special-collections.wp.st-andrews.ac.uk

 

คอลเล็กชั่นภาพถ่ายเป็นผลงานของช่างภาพ และเจ้าของธุรกิจถ่ายภาพชาวฝรั่งเศส ตัวงานภาพถ่ายเก่านี้เก็บภาพเมืองที่ค่อนข้างเป็นภาพเมืองโบราณที่สวยงาม เราได้เห็นขั้นบันไดสูง ป้อมปราการมหึมาและมัสยิดที่อัลจีเรีย เห็นสะพานและเรือสำเภาที่เวนิส เห็นแนวเสาปรักหักพังของกรุงเอเธน บางภาพดูเหนือจินตนาการ และทั้งหมดดูจะเป็นทั้งการเก็บภาพ และเป็นจินตนาการของยุโรปที่มีต่อเมืองและพื้นที่ต่างๆ ของโลกใบนี้

special-collections.wp.st-andrews.ac.uk

 

ทะเลแห่งขั้นบันได ภาพถ่ายสถาปัตยกรรมยุคแรกที่พาโลกสมัยใหม่กลับสู่ยุคกลาง

ในทำนองเดียวกัน ถ้าเรามองย้อนไปที่ศตวรรษที่ 20 คือปี 1900 เป็นต้นมา เมื่อภาพถ่ายเฟื่องฟูขึ้นส่วนหนึ่งก็เพราะว่าเราเข้าสู่โลก ‘สมัยใหม่’ เป็นโลกแห่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แน่นอนว่ากล้องในตอนนั้นถูกพัฒนาให้ถ่ายพื้นที่ภายนอกได้ ในปี 1989 มีสุภาพบุรุษชาวอังกฤษคนหนึ่งชื่อ Frederick H. Evans เป็นชายผู้เกษียณตัวเองออกจากธุรกิจขายหนังสือสิ่งพิมพ์ ซื้อกล้องขนาด quarter-plate camera (เป็นกล้องที่มีขนาดแผ่นฟิล์มประมาณ 3×4 นิ้ว) คือเป็นกล้องที่เหมาะจะถ่ายภูมิทัศน์และเริ่มอุทิศตัวถ่ายภาพโบสถ์โบราณ- พื้นที่ที่เริ่มกลายเป็นอดีตในห้วงมิติยุคใหม่ จนกลายเป็นช่างภาพชั้นแนวหน้า และเป็นหนึ่งในช่างภาพสถาปัตยกรรมที่มีฝีมือระดับโลกคนแรกๆ

ประวัติก่อนหน้าการเป็นช่างภาพของคุณอีวานไม่ค่อยชัดเจนนัก เข้าใจว่าเป็นคนขายหนังสือ น่าจะเป็นระดับนักธุรกิจสิ่งพิมพ์ ไม่เชิงเป็นโนบอดี้ซะทีเดียวเพราะตัวแกเองเป็นเพื่อนกับนักคิดนักเขียนดังๆ เช่น George Bernard Shaw ตัวอีวานเองจบประวัติศาสตร์ศิลปะ เริ่มหันมาใช้ภาพถ่ายเพื่อบันทึกภาพอาคารเก่า ผลงานสำคัญคือการถ่ายภาพอาสนวิหารโบราณทั้งในอังกฤษและฝรั่งเศส

christies.com

 

ถามว่างานอีวานทรงพลังตรงไหน สิ่งที่อีวานทำคือการเข้าไปศึกษาแสง มุมการถ่ายในทุกช่วงเวลาของวิหารนั้นอย่างถี่ถ้วน แล้วค่อยๆ รอจนกระทั่งได้เวลาที่แสงนั้นเหมาะสมจนสามารถถ่ายทอดบรรยากาศของโบสถ์อันทรงพลังออกมาได้ตามที่ต้องการ ผลงานถ่ายอาสนวิหารของแกนั้นจึงนำเสนออำนาจอันลุ่มลึกของพื้นที่ และลักษณะของแสงที่ไม่มีความสิ้นสุด อีวานเชื่อในความบริสุทธิ์ งานภาพถ่ายของแกเน้นความสัมพันธ์ของแสงเงาที่สัมพัทธ์ไปกับตัวอาคารที่สถิตสถาวร แกเชื่อในภาพถ่าย หลังจากลั่นชัตเตอร์แล้ว จึงไม่มีการตกแต่งภาพใดๆ เป็นเรื่องศิลปะ เรื่องของการจับแสงในช่วงหนึ่งๆ โดยเฉพาะ

ผลงานสำคัญของแกจึงอยู่ที่การเล่นกับแสง และตัวอาคาร ภาพถ่ายหลายชิ้นสะท้อนในชื่อผลงานรวมภาพถ่ายเช่น A Sea of Steps, Wells Cathedral (1903) ทำให้ได้กลับมาเห็นความตระหง่านและความยิ่งใหญ่ของเหล่าวิหารที่มีขั้นบันไดหินไม่รู้จบ งานของอีวานจึงเต็มไปด้วยความทุ่มเทและกลายเป็นผลงานภาพถ่ายสถาปัตยกรรมชั้นแนวหน้า ตัวอีวานเองได้เข้าเป็นสมาชิกของ Linked Ring society society of photographers และเข้าเป็นสมาชิกกิติมาศักดิ์ของ Royal Photographic Society ในปี 1928 ตัวแกเองยังเป็นช่างภาพอังกฤษคนแรกที่ได้เผยแพร่งานในวารสาร Camera Work ของ Alfred Stieglitz

getty.edu

 

งานไล่จับแสงและสถาปัตยกรรมของอีวานส่วนหนึ่งทำให้โลกสมัยใหม่ได้กลับสู่ห้วงเวลาโบราณจากยุคกลางอีกครั้ง งานของแกถี่ถ้วนและลงแรงมากจนจอร์จ เบอร์นาถ ชวอส์บอกว่าเพื่อนคนนี้ได้วางมาตรฐานให้ศิลปะภาพถ่าย เป็นงานแห่งความอดทนที่ศิลปินหลายคนไม่สามารถอดทนได้เท่านี้แน่นอน งานของอีวานทำให้คนเห็นว่าภาพถ่ายไม่ใช่แค่เรื่องเลนส์ในกล่องหรือเป็นเรื่องกลไกแต่อย่างเดียว แต่ยังเป็นสิ่งที่สัมพันธ์สิ่งที่อยู่หัวของคนๆ นั้นด้วย

getty.edu

 

งานภาพถ่ายจึงเต็มไปด้วยพลังและความซับซ้อนในตัวเอง แน่นอนว่าภาพถ่ายคือการจับภาพสิ่งหนึ่ง ในเงื่อนไขแสงแบบหนึ่งๆ แต่การถ่ายภาพเช่นภาพทางสถาปัตยกรรมก็มีคัดเลือก มีการใช้เทคนิกพิเศษต่างๆ เพื่อสร้างความหมายที่เฉพาะเจาะจงให้กับพื้นที่นั้นๆ งานภาพถ่ายสถาปัตยกรรม เช่นในการอนุรักษ์จึงประกอบไปด้วยเงื่อนไข และเป้าหมายหลายประกาศ ทั้งการถ่ายเก็บรายละเอียดต่างๆ มีการถ่ายเพื่อนสเกลที่ถูกต้อง ถ่ายให้เห็นมุมอย่างครบถ้วน เห็นระยะ เห็นการใช้งาน ช่องแสง หรืออะไรอีกสารพัด เพื่อเป็นบันทึกประวัติศาสตร์และรายละเอียดต่างๆ ไว้ให้ครบถ้วน

getty.edu

 

กระทั่งการถ่ายเพื่อเก็บอารมณ์ความรู้สึกบางอย่าง ให้เห็นมิติทางอารมณ์และความหมายของอาคารนั้นๆ เพื่อเน้นย้ำว่าพื้นที่หนึ่งๆ ไม่ได้เป็นเพียงอาคารเปล่าๆ แต่พื้นที่เหล่านั้นยังเก็บงำเรื่องราวและประวัติศาสตร์บางอย่างเอาไว้ ภาพถ่ายมหานครเก่ากลางศตวรรษที่ 19 บันทึกจินตนาการของผู้ถ่ายที่มีต่อโลก ภาพมหาวิหารเก็บงำอดีต แสงเงาและพลังอำนาจของพื้นที่ที่ส่งผลกับความศักดิ์สิทธิ์ ความศักดิ์สิทธิ์ที่เคยเรืองรองและเย็นยะเยียบจากยุคกลางอันส่งผลกับผู้ศรัทธาที่ยืนประจันหน้ากับขั้นบันไดนับร้อยก่อนก้าวขึ้นไปสู่พระผู้เป็นเจ้า

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

architectural-review.com

archdaily.com

sws.cept.ac.in

special-collections.wp.st-andrews.ac.uk

britannica.com

getty.edu

northlight-images.co.uk

 

Illustration by Montree Sommut
Share :