CITY CRACKER

ศุลกสถาน อนาคตของของอาคารงามสง่าริมน้ำสมัยรัชกาลที่ 5

นึกภาพการเดินทางค้าขายในยุคต้นรัตนโกสินทร์ สมัยที่แม่น้ำเจ้าพระยายังคงคราคร่ำไปด้วยเรือสำเภาใหญ่น้อย หนึ่งในพิธีการเข้าพระมหานครของเหล่าพ่อค้าวาณิชคือการจ่ายภาษีให้กับเมือง ในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงมีการโปรดเกล้าให้สร้าง ‘ศุลกสถาน’ ซึ่งก็คือโรงเก็บภาษี พ่อค้าที่เอาสินค้ามาค้าขายในกรุงเทพต้องจ่ายภาษีในอัตราร้อยละสาม โรงเก็บภาษีแห่งนี้จึงถูกเรียกอีกชื่อว่า โรงภาษีร้อยชักสาม

 

ภาพของศุลกสถานจึงเป็นคล้ายๆ สนามบินในยุคปัจจุบัน เป็นเสมือนด่านแรก เป็นตึกอาคารแห่งแรกที่เป็นตัวแทนของรัฐที่ต้อนรับเหล่าอาคันตุกะที่มาเยี่ยมเยือนพระนคร ดังนั้นด้วยพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 5 อาคารแห่งนี้จึงได้รับการก่อสร้างขึ้นอย่างสวยงามใหญ่โต มีสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่และความศิวิไลซ์ของกรุงสยาม

ในบันทึกของพระอนุมานราชธนบันทึกถึงตัวอาคารไว้ในสมัยนั้น ถ้าล่องมาแม่น้ำก็เห็นจะมีเพียงตึกศุลกสถานแห่งนี้ กับกระทรงกลาโหมเท่านั้นที่เป็นอาคารที่มีความใหญ่โตและสง่างาม

ตึกศุลกสถานจึงเป็นเสมือนตัวแทนหนึ่งจากอดีต เป็นห้วงสมัยที่สยามยังคงมีแม่น้ำและเรือเป็นเส้นเลือดและหัวใจของเมือง ตัวสถาปัตยกรรมเองก็แสดงให้ถึงจุดตัดที่สยามเชื่อมโยงเข้ากับโลกตะวันตก การเปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจแบบผูกขาดไปสู่การค้าเสรี

 

rama9art.org

 

เมื่อกาลเวลาผ่านไป พื้นที่แถบริมน้ำปากทางเจ้าพระยาเริ่มลดความสำคัญลง การเดินทางและการค้าขายถูกทดแทนด้วยถนนไปจนถึงการสัญจรเข้าประเทศที่ไม่ได้ใช้การสัญจรทางน้ำเป็นหลักอีกต่อไป รวมถึงระบบการเก็บภาษีและควบคุมการเข้า-ออกเมืองมีความซับซ้อนมากขึ้น อาคารศุลกสถานจึงไม่ได้รับการใช้งาน แม้ว่าตัวอาคารจะถูกทิ้งร้างจนเกิดความทรุดโทรม แต่ก็คงมีกลิ่นอายและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และความโอ่อ่าฉายออกมาภายใต้ความผุพังนั้น

ทั้งตัวอาคารที่ทรงความหมาย การเป็นตัวแทนความสัมพันธ์ของกรุงเทพกับสายน้ำ ไปจนถึงทำเลริมน้ำย่านบางรักที่ทั้งสวยงามและเป็นทำเลสำคัญ ตัวศุลกสถานแห่งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งอาคารและการใช้ที่ดินสำคัญของกรุงเทพที่มีความสนใจ และการถกเถียงถึงอนาคตของอาคารและที่ 5 ไร่สำคัญนี่

ล่าสุด มีการลงนาม โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงที่ตั้งโรงภาษีร้อยชักสาม โครงการมูลค่า 4,600 ล้านบาท ในความตกลงของบริษัท ยูซิตี้ และกระทรวงการคลัง ถือเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามอง ด้วยแนวทางการพัฒนาพื้นที่นี้ ทางโครงการ ในความร่วมมือกับกรมศิลปากร จะมีการค้นคว้า ขุดค้น เก็บบันทึกความรู้และหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ก่อนที่จะดำเนินการชุบชีวิตตึกเก่าจากรัชกาลที่ 5 แห่งนี้ต่อไป

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

bangkokriver.com

bangkokbiznews.com

marketeeronline.co

 

Share :