CITY CRACKER

สวนสาธารณะ พื้นที่พักผ่อนแสนสำคัญในภาวะ COVID-19

สวนควรเปิดต่อไป? ในช่วงเวลาของ COVID-19 คำตอบคือ ใช่ สวนควรเปิดต่อไป

 

และถือเป็นโชคดีที่วันนี้เราก็มีข่าว่า แม้รัฐบาลจะมีมติต่อเคอร์ฟิวออกไป ด้วยทิศทางการติดเชื้อและบรรยากาศที่เริ่มคลายตัวลงบ้าง ภาครัฐจึงเริ่มผ่อนปรนเคอร์ฟิวต่างๆ ลง เริ่มให้ร้านค้าร้านอาหารเปิดได้ กิจกรรมกิจการต่างๆ กลับมาทำการได้ตามความจำเป็น

หนึ่งในกิจกรรมนั้นก็คือสวนสาธารณะ ส่วนหนึ่งของสถานออกกำลังกายที่ทางภาครัฐเล็งผ่อนปรนให้กลับมาเปิดใช้งานได้อีกครั้ง โดยสวนสาธารณะเอง ทางกทม. ก็มติเตรียมเปิดสวนสาธารณะให้เรากลับไปเดินไปวิ่ง ไปสูดอากาศได้อีกครั้งในวันที่ 1 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ ก็ถือเป็นข่าวดีและทำให้เริ่มรู้สึกว่าการกักกันตัว และความเข้มงวด ตึงเครียดต่างๆ นั้นเริ่มบางเบาลง วิถีชีวิตเริ่มค่อยๆ ฟื้นคืนมา

ในภาวะกักกันตัว กิจการต่างหยุดให้บริการ ระยะแรกนั้นเราเห็นว่าเมื่อห้างปิด สวนก็เริ่มเต็มมากขึ้น ในหมอกควันของโรคระบาด แน่นอนว่าเราต้องการทั้งสุขภาพใจและสุขภายใจ สวน- อันมีน้อยนิดในกรุงเทพจึงกลายเป็นที่สำคัญที่ผู้คนได้กลับไปใช้ออกกำลัง ไปเดิน ไปวิ่ง ไปเล่นโยคะ นั่งดูต้นไม้และผืนน้ำ อันเป็นกิจกรรมที่ช่วยเยียวยาและบำรุงหัวใจ (พร้อมหลอดเลือด) ได้เป็นอย่างดี เมื่อเรามีการปิดสวนเกิดขึ้น คนเมืองก็ยังโหยหาพื้นที่ โหยที่ ‘ที่ไป’ นอกเหนือจากบ้าน ไปหากิจกรรมบางอย่างทำเพื่อไม่ให้จิตใจของเราพังจนเกินไป จากสวน คนก็ออกมาวิ่งบนท้องถนนแทน

ภาวะช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา รวมไปถึงสภาวะรับมือกับโรคระบาดในระยะต่อๆ ไปที่อาจกินเวลาหลายเดือนนั้น สวนจึงเป็นพื้นที่ที่กลับมามีบทบาท และควรเป็นพื้นที่ที่เราคิดคำนึงและลงทุนกับสวนให้ดี เพื่อบริการสุขภาพให้กับคนเมืองต่อไป

 

 

ไม่มีที่ให้ไป เป็นเรื่องใหญ่

ไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่รับมือกับโรคระบาดด้วยการมาตรการขั้นสูงสุด ด้วยการปิดทุกกิจการ ปิดทุกพื้นที่สาธารณะ ด้วยความที่เราเองก็ไม่แน่ใจเรื่องการระบาด เรื่องความสามารถในการติดต่อของเจ้าไวรัสใหม่นี้มากนัก การป้องกันแบบเผื่อไว้จึงเป็นวิธีการหนึ่ง ในหลายประเทศก็มีการปิดสวนสาธารณะ บางที่เช่นที่อังกฤษถึงขนาดปิดสุสานเพื่อป้องกันการรวมกันไม่ว่าจะมากน้อยแค่ไหนก็ตาม

เมื่อมีการปิดสวนสาธารณะ ก็เริ่มมีท่าทีตอบรับกับมาตราการดังกล่าว พูดง่ายๆ คือมีกระแสจำนวนหนึ่งที่บอกว่า การปิดสวน- ปิดพื้นที่สาธารณะอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก จริงอยู่การปิดพื้นที่สวนเป็นการลดพื้นที่ที่คนจะไปรวมตัวกัน แต่ว่าสวนไม่ได้มีหน้าที่แค่นั้น สวนเป็นองค์ประกอบสำคัญของเมือง เป็นพื้นที่ของชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี มีงานศึกษามากมายที่พูดถึงผลกระทบของสวนที่มีต่อชุมชน ต่อผู้คนแทบจะในทุกภาคส่วนของชีวิต จากผลดีต่อสุขภาพจากการเป็นพื้นที่ของกิจกรรมทางกายภาพ ธรรมชาติในสวนเองก็ส่งผลกับสภาพจิตใจและสุขภาพจิตโดยตรง ไปจนถึงสวนส่งผลกับฐานะทางสังคม กับทัศนคติบางอย่างที่ส่งผลกับการเติบโตต่อไปในอนาคต

ในสื่อหลายสำนัก โดยเฉพาะสื่อต่างประเทศและบุคลสาธารณะต่างออกมาแสดงความเห็นว่า อย่างน้อยสวนก็ควรเปิดนะ สวนควรจะเป็นพื้นที่ที่มีบทบาทสำคัญในการเยียวยาหัวใจผู้คน ช่วยลดทอนความเครียด การเปิดสวนไว้น่าจะเป็นผลดีกับช่วงล็อกดาวน์มากกว่าผลเสีย แน่นอนว่าไวรัสอ่อนแอในพื้นที่เปิดโล่ง อ่อนแอกับรังสี UV และแน่นอนว่าอ่อนแอกับภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็ง ซึ่งทั้งหมดนั้น ทำโดยที่ทุกคนยังรักษากฏของการเว้นระยะห่างอยู่ เป็นสิ่งที่สวนดูจะเสริมสร้างพลังให้กับผู้คนในการสู้ไวรัสมากกว่า

 

ไม่ใช่ทุกคนที่มีบ้านที่ดี

นอกจากเรื่องสุขภาพแล้ว เมื่อห้างปิด เราก็ไม่มีที่ไป สำหรับคนที่อาจจะพอมีฐานะ พอมีบ้านที่ดี การไม่มีที่ไปก็อาจจะอึดอัดในระดับหนึ่ง แต่สำหรับบางคน- ซึ่งเป็นคนกลุ่มไม่น้อยสังคมที่บ้านอาจจะไม่ได้งดงาม และน่าอยู่ไม่ว่าจะด้วยความหมายไหนก็ตาม การไม่มีที่จะไปถือเป็นเรื่องใหญ่ ส่งผลกระทบกับชีวิตอย่างรุนแรง

หนึ่งในนั้นคือรายงานเรื่องความรุนแรงในครอบครัว(domestic violence) อันเป็นหนึ่งในความกังวลและผลกระทบที่สำคัญยิ่ง นึกภาพไม่ว่าจะเป็นเด็กๆ หรือผู้หญิงที่ปกติแล้ว การอยู่บ้านคือการเผชิญหน้ากับความรุนแรง เมื่อภาวะโรคระบาดขังคนเหล่านั้นอยู่ในบ้าน จะออกไปข้างนอก ไปเดินเตร่อยู่ริมถนนก็ยิ่งเสี่ยงกับสุขภาพและคนอื่น การไม่มีที่ไปแค่ไม่กี่ชั่วโมง สำหรับคนที่เจอกับบ้านที่ไม่อบอุ่นนั้นก็นับว่าร้ายแรงยิ่ง

นอกจากนี้ ยิ่งในเมืองใหญ่ คนเมืองส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่แคบๆ การอยู่ในห้องแคบๆ ที่ไม่มีอากาศหมุนเวียน ไม่มีพื้นที่เปิดโล่งนั้นยิ่งส่งผลเสียกับสุขภาพ- และแน่นอนว่าอาจนำไปสู่การระบาดของทั้งโคโรน่าเองหรือโรคอื่นๆ ทีเกี่ยวข้องกับสุขภาวะ เรามีคนทำงาน มีนักศึกษาที่เช่าหออยู่ และใช้ชีวิตโดยที่แม้กระทั่งค่าแอร์ก็อาจต้องคิดคำนึงอย่างถี่ถ้วน

 

สวนที่หายไป-แสงที่หายไป

เราอาจจะรู้สึกว่าเฮ้ย สวนเป็นแค่สวน แต่จริงๆ สวนเป็นพื้นที่ที่สำคัญกับสุขภาพและการเจ็บป่วยโดยตรง สวนส่งผลกับภาวะซึมเศร้า การปิดสวนและถูกขังอยู่ในห้องผลเสียกับผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า การได้ออกมาที่สวน การสัมผัสแสงส่งผลเชิงบวกกับสุขภาพจิต พร้อมการได้ออกกำลังกายไม่ว่าจะเบาหรือหนักก็ให้ผลเชิงบวก

หนึ่งในสิ่งที่หายไปคือแสง-UV นั่นแหละ และในทางสุขภาพ ร่างกายมนุษย์ต้องการแสงแดดเพื่อสังเคราะห์เป็นวิตามินดี วิตามินที่ส่งผลกับแทบทุกระบบในร่างกายจากผิวหนัง เล็บ เส้นผม ไปจนถึงสุขภาพใจ บ้านเราอาจรู้ว่าร้อนแสนร้อนและมีแดดเหลือเฟือ แต่ในทางกลับกัน งานสำรวจศึกษาพบว่า คนไทยนี่แหละที่มีภาวะวิตามินดีต่ำกันมาก มีรายงานว่าคนกรุงเทพกว่า 60% และเกือบครึ่งของคนในเขตเมืองของจังหวัดต่างๆ มีภาวะวิตามินดีต่ำ

จากคำแนะนำของแพทย์ มนุษย์เราสามารถสร้างวิตามินดีได้จากการถูกแดด ซึ่งแพทย์แนะนำว่าให้ออกไปเจอแดดช่วงที่ไม่แรงนัก เช่นช่วง 8-9 โมงหรือบ่าย 3-4 โมงเย็น ใช้เวลาเจอแดดเพียง 10-15 นาที อย่างน้อย 2-4 ครั้งต่อสัปดาห์ ฟังดูน้อย แต่ขนาดภาวะปกติไม่ล็อกดาวน์ เราเองก็เจอกับรังสี UV ขนาดพอเหมาะน้อยมาก ในภาวะเก็บตัวการเจอแดดจึงยิ่งน้อยลงหนักเข้าไปใหญ่ การได้ไปเดินในสวนตอนเช้าๆ หรือเย็นๆ 3-4 วัน ก็ถือว่าเพียงพอทั้งในการผลิตวิตามินดี และช่วยคลายใจจากความตึงเครียดลงได้มาก

 

 

อีกครั้งคือถึงทางกทม. จะมีมติให้เปิดสวนให้ใช้งานกันอีกครั้งแล้ว แต่ภาวะล็อกดาวน์ ห้างปิด กิจกรรมเดิมๆ ที่เคยทำปิด และสวนกลับมาเป็นพื้นที่สำคัญ- อย่างที่มันควรเป็นอีกครั้ง หวังว่าหลังจากนี้ สวนย่อมเป็นหัวใจของเมืองที่ช่วยบำรุงสุขภาพกายใจของเราต่อไป ไม่ว่าเราจะกำลังเผชิญกับไวรัสหรือไม่ก็ตาม

 

สุดท้ายคือ ยังไงเราก็ยังอยู่ในภาวะเสี่ยง การใช้สวนเราก็ต้องใช้อย่างเคร่งครัด ระวังการสัมผัส รักษาระยะ รักษาความสะอาด ล้างมือ จับสัมผัสให้น้อยที่สุด งดสัมผัสใบหน้า เพราะสวนก็ไม่ควรทั้งปิด และไม่ควรเป็นแหล่งแพร่เชื้อต่อไป

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

bangkokbiznews.com

theatlantic.com

brixtonbuzz.com

thaihealth.or.th

bumrungrad.com

 

Illustration by Montree Sommut
Photos by Napon Jaturapuchapornpong
Share :