CITY CRACKER

Night Time Park แนวคิดสวนสาธารณะกลางคืน และเมือง 24 ชั่วโมง

เราเคยพูดกันว่ากรุงเทพฯ เป็นมหานครที่ไม่เคยหลับ แต่ในแง่ของพื้นที่และพื้นที่สาธารณะ เป็นเรื่องธรรมดาที่พื้นที่ทั้งหลาย เช่น สวน หรือพื้นที่สาธารณะอื่นๆ จะปิดทำการในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งการปิดสวนในตอนกลางคืนก็ดูจะเป็นสิ่งที่เมืองส่วนใหญ่ทำกัน

โดยทั่วไปแล้วเรามักมองเมืองโดยเทียบเข้าไปการใช้ชีวิตประจำวันโดยทั่วไป เมืองเป็นพื้นที่ที่สัมพันธ์กับการใช้งานในเวลากลางวัน ในขณะที่เวลากลางคืนเรามักให้ความสำคัญกับบ้าน เป็นช่วงเวลาของการพักผ่อน ยิ่งไปกว่านั้นเมืองยังถูกมองว่ามีชีวิตแค่เพียงกลางวัน ด้วยเงื่อนไขและการออกแบบเมืองจึงทำให้หลายครั้งเมืองยามย่ำคืนถูกเชื่อมโยงเข้ากับการเป็นพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย เป็นที่ที่อาจเกิดอันตรายได้ง่าย เป็นพื้นที่ที่เราควรหลบเลี่ยงและกลับเข้าสู่บ้านอันเป็นที่สงบปลอดภัย

แต่เมื่อไม่นานมานี้นอกจากผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ จะประกาศยืดเวลาสวนให้ปิดดึกขึ้น การทบทวนความคิดเรื่องเมืองที่หลับใหลในตอนกลางคืนสู่การเปิดพื้นที่สวนและพื้นที่สาธารณะในช่วงกลางคืน รวมถึงความคิดที่ว่าเมืองควรมีชีวิตครบ 24 ชั่วโมง ก็เป็นอีกหนึ่งกระแสของการพัฒนาและการจัดการเมืองที่อาจจะครอบคลุมมากขึ้น

 

sandiegouniontribune.com

ช่วงเวลากลางคืนของเมืองกับการทบทวนความคิดใหม่

ประเด็นเรื่องการเปิดหรือปิด ไปจนถึงความคิดที่ว่าสวนควรจะถูกใช้เวลาไหนบ้างดูจะเป็นสิ่งที่ส่งผลสืบเนื่องแบบงูกินหาง เช่น เราอาจจะคิดว่าสวนหรือพื้นที่เมืองเป็นพื้นที่ตอนกลางวันเท่านั้น การออกแบบสวนจึงเน้นปิดในเวลากลางคืน เมื่อสวนไม่ถูกใช้หรืองานออกแบบไม่ครอบคลุมทุกช่วงเวลา ยุคหนึ่งพื้นที่สาธารณะ เช่น สวนหรือลานจึงกลายเป็นจุดบอดและจุดเสี่ยงในตอนกลางคืนได้

การทบทวนเรื่องการใช้งานสวนมีงานศึกษาที่พยายามทบทวนและเสนอแนวทางอยู่บ้าง เช่นในปี 2012 มีงานศึกษาจากมาเลเซียว่าด้วยกิจกรรมและการใช้งานพื้นที่สาธารณะในตอนกลางคืน ในงานศึกษาดังกล่าวนอกจากจะทำการสำรวจความหมายของพื้นที่สาธารณะและพื้นที่เมืองในปรัชญาและกรอบความคิด- คือมองว่าเมืองถูกกำหนดโดยการใช้งานช่วงเวลากลางวัน โดยในเวลากลางคืนเมืองได้กลายเป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับความหมายหรือกิจกรรมเชิงลบ เช่นการดื่มและการเมาเหล้า ตลอดจนความรุนแรง

งานศึกษาดังกล่าวจากมาเลเซียพูดถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มองว่าเมืองที่ตื่นในยามค่ำคืนนั้นสัมพันธ์กับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจได้ โดยการออกแบบหรือการวางนโยบายที่เกี่ยวข้องเป็นสิ่งที่จะช่วยกำหนดความหมายและการใช้งานเมืองในทุกช่วงเวลา เช่น การเปิดสวน การมีกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะ เช่น พิพิธภัณฑ์ หรือหอศิลป์ที่มีกิจกรรมช่วงกลางคืน การออกแบบและการจัดการแสงสว่าง รวมถึงการสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้เมืองให้ครบ 24 ชั่วโมง นอกจากนี้งานวิจัยยังเสนอว่าพื้นที่ต่างๆ ที่ปิดในช่วงกลางคืนเป็นพื้นที่ที่อาจใช้ประโยชน์หรือมีชีวิตในเวลากลางคืนได้ 

 

tatlerasia.com

 

มิติทางวัฒนธรรมของพื้นที่สาธารณะกลางคืน

การปิดสวนกลางคืนฟังดูเป็นเรื่องธรรมดา เนื่องด้วยการใช้งานสวนกลางคืนอาจนำมาซึ่งปัญหาหลายด้าน เช่น กินพลังงานไฟฟ้าเพื่อให้แสงสว่างที่อาจดูไม่จำเป็น ประเด็นเรื่องความปลอดภัย ความเสี่ยงเรื่องการบริหารจัดการเจ้าหน้าที่ หรือของไทยเองก็อาจจะมีเรื่องยุงหรือแมลง แต่ในอีกด้าน การปิดสวนตอนกลางคืนก็สัมพันธ์กับประเด็นทางสังคมด้วย เบื้องต้นที่สุดคือมุมมองที่เรามีต่อบ้านและพื้นที่เมืองในฐานะพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย

ในบทความ The Livability of Open Public Spaces during Nighttime จาก Scholarly Community Encyclopedia ชุมชนวิชาการออนไลน์ พูดถึงมิติของการใช้พื้นที่เมืองแค่ในตอนกลางวัน โดยบางส่วนใช้ข้อเสนอของ Jane Jacobs (เจน จาคอบ) ว่าคำว่า Livability สัมพันธ์กับงานออกแบบ เช่น การออกแบบแสงสว่างและการใช้งานที่ทำให้พื้นที่นั้นๆ มีความเคลื่อนไหว และเป็นเงื่อนไขของเมืองที่เมืองจะสามารถความรู้สึกปลอดภัย (safety) ซึ่งในบทความจะเน้นไปที่การออกแบบแสงสว่างที่เพียงพอและส่งเสริมความรู้สึกปลอดภัยในการใช้งานช่วงกลางคืนได้

ในทำนองเดียวกัน Bloomberg เองก็มีข้อเขียนที่ชวนคิดเรื่องการใช้งานสวนในเวลากลางคืน และชี้ให้เห็นมิติทางวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อการใช้งานพื้นที่สาธารณะ รวมถึงมิติที่กลับกัน คำถามสำคัญของบทความคือการตั้งคำถามและทบทวนวัฒนธรรมอเมริกันที่ให้ความสำคัญกับบ้าน การอยู่อาศัยในเขตชานเมืองที่ทำให้ขาดออกจากสวนและพื้นที่สาธารณะ อเมริกันชนในยุคหนึ่งมองบ้านเป็นที่ปลอดภัยและเมืองเป็นพื้นที่อันตราย แต่ในทางกลับกันก็ชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่ภาคปฏิบัติ หรือภาคนโยบายทำให้ความคิดและวัฒนธรรมของผู้คนเปลี่ยนไป รวมถึงสัมพันธ์กับเงื่อนไขใหม่ๆ เช่นโลกที่ร้อนขึ้นด้วย

 

Nong Prajak Public Park

 

กลางคืนเย็นกว่า และกิจกรรมที่อาจหลากหลายขึ้น

ประเด็นเรื่องการเปิดสวนในเวลากลางคืนสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงหลายมิติ นอกจากความคิดเรื่องเมือง เรื่องไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่อาจจะใช้ชีวิตนอกบ้านในเวลากลางคืนมากขึ้น เมืองที่ปลอดภัยขึ้น ขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุมเวลามากขึ้น หรือการคิดเผื่อผู้คนที่อาจใช้เมืองหรือมีวิถีชีวิตในช่วงเวลาที่ต่างกัน การเลื่อนหรือเปิดสวนและพื้นที่สาธารณะในเวลากลางคืนยังเป็นความคิดต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิอากาศที่คาดการว่าโลกจะร้อนขึ้น หรือผลของการเปลี่ยนแปลงที่ยุโรปเองเริ่มเจอกับคลื่นความร้อนและอุณหภูมิเมืองที่สูงขึ้น

ตัวอย่างการปรับวิธีคิด เช่นข้อเสนอของว่าน-รัชชุ สุระจรัส และป่าน- ระภา สุระจรัส ในฐานะภูมิสถาปนิกและชนะรางวัลจาก Non Architecture องค์กรวิชาชีพนานาชาติจากยุโรปที่เสนอแนวคิดการออกแบบพื้นที่สาธารณะที่เลื่อนเวลาชีวิตและเวลาของพื้นที่เมืองออกไป 3 ชั่วโมง เช่นจากเก้าโมงเป็นเริ่มตอนเที่ยง และไปสิ้นสุดตอนสามทุ่ม และมองว่าพื้นที่สาธารณะอาจให้บริการในช่วงเวลา 4 ทุ่มถึงตี 2

แนวคิดดังกล่าวอาจจะเป็นข้อเสนอที่มองไปในอนาคต (ที่อาจจะไม่ไกลนัก) แต่ความคิดเรื่องเมืองร้อน ความร้อนและนำไปสู่การปรับเวลาและความคิดต่อพื้นที่สาธารณะเป็นสิ่งที่บางเมืองรับรู้และลงมือทำกันบ้างแล้ว เช่นที่ปารีสก็มีโครงการ ‘cooling initiative’ จากที่ปารีสเคยเป็นเมืองที่เข้มงวดเรื่องเวลาและการใช้พื้นที่สาธารณะ โครงการดังกล่าวกลับเปิดโอกาสให้ชาวปารีสได้ใช้สวนได้ตลอด 24 ชั่วโมงในช่วงหน้าร้อน ซึ่งเป็นช่วงที่ปารีสและยุโรปกำลังเผชิญกับปัญหาคลื่นความร้อน

ผลหนึ่งของการปรับสวนเป็น 24 ชั่วโมงของปารีส ในด้านหนึ่งก็ส่งผลกับพฤติกรรมและวัฒนธรรมการใช้สวนของชาวปารีสเองด้วย บทความของบ Bloomberg ระบุว่าชาวปารีสสามารถและมีการออกมาใช้เวลาในสวนในยามค่ำคืน มีการออกปิกนิกกลางดึก ออกมาเดินเล่นใต้แสงดาว โดยปารีสได้เปิดสวน 24 ชั่วโมงสวนเกิน 1 ใน 4 จาก 500 สวนของเมือง โดยที่เมืองเองก็ได้จัดทีมดูแลรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติม เพื่อดูแลรักษาทั้งความปลอดภัยและควบคุมเรื่องเสียงดังที่อาจเกิดขึ้นจากการเปิดสวนทั้งคืนด้วย

 

gfoutdoorfitness.com

 

ประเด็นเรื่องสวนยามค่ำคืนจึงเป็นอีกประเด็นที่ซับซ้อน ทั้งในตัวเองคือสัมพันธ์กับพื้นที่กายภาพ การวางนโยบาย การบริหารจัดการ รวมถึงสัมพันธ์กับมิติทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คนโดยเกี่ยวข้องทั้งกับความรู้สึกต่อเมือง ต่อการใช้งานเมืองที่รู้สึกปลอดภัยแค่บางช่วงเวลา ในขณะเดียวกันการใช้หรือไม่ใช้ มีหรือไม่มีก็เป็นผลที่เกิดเกี่ยวเนื่องซึ่งกันและกัน เมืองไม่ปลอดภัยและเราอาจจะนึกภาพไม่ออกว่าจะไปใช้งานอะไรได้ก็อาจทำให้เราไม่คุ้นเคยกับพื้นที่เมืองและพื้นที่สาธารณะนัก

ทั้งนี้การเปิดหรือปิดสวนและพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ก็อาจจะสัมพันธ์และส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การมองเห็นเมืองนอกเวลาราชการอาจนำไปสู่ความเคลื่อนไหวและการบริหารจัดการที่รอบด้านครบเวลามากขึ้น บางพื้นที่ที่เคยมีปัญหาเช่นกรุงเทพฯ เองก็มีปัญหาในย่านเมืองเก่าที่มีชีวิตแค่ตอนกลางวัน แต่ในช่วงกลางคืนไม่มีพื้นที่ชุมชนและการอยู่อาศัย การขาดความเคลื่อนไหวรวมถึงการขาดชุมชนเองก็ทำให้กลายเป็นพื้นที่เสื่อมโทรมและเสี่ยงภัยในเวลากลางคืน การกระตุ้นให้เมืองมีชีวิตยาวนานในเวลากลางคืนขึ้นไปจนถึงเป็นเมืองที่ไม่เคยหลับ อาจเป็นอีกวิธีที่เกิดจากการปรับมุมมองและการปรับการบริหารจัดการได้

ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนดังกล่าวจึงอาจสัมพันธ์กับประเด็นทางสิ่งแวดล้อม โลกที่ร้อนขึ้น ปัญหาเกาะความร้อน หรือวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนเวลาไป ในขณะเดียวกันการควบคุมป้องกันปัญหาทั้งเสียงและกิจกรรมที่อาจจะเกิดปัญหาจากการปลุกเมืองตลอดคืนก็อาจเป็นอีกประเด็นที่นโยบายและการออกแบบคิดคำนึงต่อไป

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

sciencedirect.com

encyclopedia.pub

bloomberg.com

citycracker.co

 

Illustration by Montree Sommut
Share :