CITY CRACKER

การเติบโตและการเปลี่ยนผ่าน มองความหมายของแม่น้ำในมิติทางวัฒนธรรม

‘เย็นวันนั้น วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 น้ำในคลองบางหลวงลงแห้งเกือบขอดคลอง หัวใจพลอยที่อ่อนแอลงด้วยโรคและความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงก็หลุดลอยตามน้ำไป’- สีแผ่นดิน

 

 

แม่น้ำเป็นพื้นที่ที่แปลก ในทางกายภาพทุกวันนี้คนกรุงอย่างเราๆ คุ้นเคยกับถนนมากกว่าแม่น้ำ เราอยู่บนรถมากกว่าบนเรือ แต่ในระดับความรู้สึกคนไทยก็ดูจะเข้าใจและมีความผูกพันกับแม่น้ำลำคลอง เป็นความพิเศษที่สามารถสัมผัสหัวใจเราได้เสมอ เช่นในฉากจบของสี่แผ่นดิน เมื่อคลองบางหลวงช่วงปลายแผ่นดินเริ่มขอดลง ชีวิตของแม่พลอยที่อยู่กับคลองสายนี้มาทั้งชีวิตก็หลุดลอยลงตามวงจรของห้วงน้ำไป

 

เราอาจไม่เคยไปคลองบางหลวงด้วยซ้ำ เราไม่รู้ว่าหน้าตาคลองที่แห้งจนขอดเป็นอย่างไร แต่ดูเหมือนว่าเราจะเห็นภาพของน้ำที่ค่อยๆ ไหลไป เห็นภาพคลองที่หล่อเลี้ยงชีวิตของแม่พลอยตั้งแต่เกิดจนถึงวันสุดท้าย แม่น้ำไม่ได้มีความหมายแค่ในเชิงกายภาพเท่านั้น แต่แม่น้ำยังโอบอุ้มความหมายของชีวิตและการข้ามผ่าน ไปจนถึงพลังอำนาจของธรรมชาติและกาลเวลา

ไม่ใช่แค่บ้านเรา แต่แทบจะทุกวัฒนธรรมต่างให้ความสำคัญกับแม่น้ำ แน่นอนว่าแม่น้ำเป็นต้นกำเนิดของชีวิต หนึ่งในจุดเริ่มต้นของอารยธรรมคือการกสิกรรม เมืองและชุมชนจึงมักเริ่มขึ้นที่แถบลุ่มน้ำและริมแม่น้ำ ความอุดมสมบูรณ์เป็นตัวชี้วัดความอยู่รอดของอาณาจักร แม่น้ำจึงเป็นเสมือนเส้นเลือดของผืนแผ่นดิน บางครั้งแม่น้ำก็พัดพาเอาความอุดมสมบูรณ์มาให้ แต่หลายครั้งแม่น้ำก็ทรงพลังจนสามารถกวาดสรรพสิ่งให้หายไปในพริบตา แทบทุกอารยธรรมจึงให้ความเคารพและมีตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับแม่น้ำเสมอ

 

แม่น้ำแห่งการเปลี่ยนผ่าน

Heraclitus นักปรัชญากรีกโบราณกล่าวไว้ว่า ไม่มีใครที่ก้าวลงแม่น้ำสายเดิมได้เป็นครั้งที่ 2 เหตุเพราะแม่น้ำนั้นไม่ใช่สายเดิม คนๆ นั้น ก็ไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไป- คำอธิบายเรียบง่ายคือไม่ว่าแม่น้ำหรือบุคคลก็เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

ด้วยความที่แม่น้ำไหลอยู่เสมอ และฟังก์ชั่นสำคัญของแม่น้ำคือการเดินทางและขนส่งสิ่งของ ในระดับเรื่องเล่าและตำนาน แม่น้ำจึงมักเป็นพื้นที่ที่เชื่อมระหว่างโลกใบนี้และใบอื่นโดยเฉพาะโลกหลังความตาย ในตำนานกรีกมีน้ำสติกซ์ (Styx) และเรือของชารอน (Charon) เรือพายลำน้อยที่พาผู้ตายข้ามไปสู่โลกหน้า ในทำนองเดียวกันความเชื่อแบบจีนก็เล่าถึงแม่น้ำแห่งการลืมเลือน มีความเชื่อว่าดวงวิญญาณจะผ่านแม่น้ำและต้องดื่มน้ำเพื่อให้ลืมอดีตของตัวเองก่อนจะไปเวียนว่ายในภพภูมิต่อไป ในระดับความหมาย แม่น้ำจึงมีหน้าที่พาเรา ‘ข้าม’ (crossing) ไม่เพียงจากพื้นที่หนึ่งไปสู่อีกพื้นที่หนึ่ง แต่ยังพาเราข้ามจากภาวะหนึ่งไปสู่อีกภาวะหนึ่งด้วย

การก้าวผ่าน (crossing) จากภาวะหนึ่งไปสู่อีกภาวะถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของชีวิตและการเติบโต ในทำนองเดียวกัน เรื่องเล่าจากการเดินทางของเหล่าวีรบุรุษ แม่น้ำเป็นสัญลักษณ์ของการเติบโตเปลี่ยนผ่าน ฟังก์ชั่นของแม่น้ำที่เรามักเจอในเรื่องเล่าการผจญภัยหรือมหากาพย์มักมีสองรูปแบบ แบบแรกคือเรามักเห็นภาพเด็กน้อยที่ล่องเรือไปตามแม่น้ำ ออกจากบ้านเกิดเมืองนอนที่คุ้นเคยไปสู่การเรียนรู้เติบโตเพื่อเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว  และอีกรูปแบบหนึ่งคือสารพัดเรื่องผจญภัยในป่าดง หรือนิทานแฟนตาซีทั้งหลาย ตัวละครเอกของเรามักต้องเจอกับแม่น้ำในฐานะอุปสรรคที่ต้องก้าวผ่านไป การไหลของแม่น้ำจึงดูจะสัมพันธ์กับจินตนาการว่าด้วยชีวิตของเราที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนสถานะและการเผชิญหน้ากับอุปสรรคอยู่เสมอ

 

อำนาจของแม่น้ำและเมือง

ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติไม่เชิงว่าจะราบเรียบซะทีเดียว และด้วยความสำคัญและความจำเป็นของแม่น้ำที่เมืองเองก็ต้องการน้ำใสและความอุดมสมบูรณ์ แต่ในขณะเดียวกันแม่น้ำก็เป็นตัวแทนของธรรมชาติที่ทรงพลัง แม่น้ำจึงเป็นเหมือนครู ที่สอนมนุษย์ให้เคารพพร้อมกับการเรียนรู้การใช้อำนาจของธรรมชาติให้เหมาะสม เราเรียนรู้ที่จะสร้างเขื่อน ขุดและจัดการทางน้ำเพื่อควบคุมความเร็วและความแรงให้เหมาะให้ควรกับความงอกงามของเมือง

ประเทศจีนเป็นตัวอย่างสำคัญของการรับมือระหว่างวัฒนธรรม (culture) และธรรมชาติ (nature) แม่น้ำเหลืองเป็นแม่น้ำสำคัญของอาณาจักรจีนอันไพศาล ในประวัติศาสตร์จีนโบราณมีคำกล่าวว่า การเป็นจักรพรรดิปกครองจีนนั้น คือการที่คนผู้นันสามารถจัดการสายน้ำและควบคุมความเสียหายจากน้ำท่วมได้ นั่นคือหัวใจของการปกครองดินแดนอันเกรียงไกรนี้

ถ้าเรามองว่าเมืองและโลกสมัยใหม่คือความเป็นระบบระเบียบ (order) ต้องการความแม่นยำแน่นอน แม่น้ำที่ไหลผ่านเมืองก็ดูจะเป็นตัวแทนธรรมชาติที่ประกอบขึ้นด้วยความเป็นอิสระ แน่ล่ะว่าเราเองพยายามออกแบบและควบคุมทิศทางของสายน้ำให้เป็นไปตามที่เราต้องการ แต่ในที่สุดแล้ว การประนีประนอมระหว่างมนุษย์กับแม่น้ำนี้ดูจะเป็นเส้นทางที่ไม่สิ้นสุด ด้วยสุดท้ายแล้วแม่น้ำก็ซอนเซาะและหาทางไปได้ในท้ายที่สุด

ในระดับทั่วไปไม่ต้องคิดอะไรมาก คนเราดูจะชอบแม่น้ำ ชอบบรรยากาศ และการนั่งมองสายน้ำที่ไหลไปอย่างไม่สิ้นสุด ในระดับคิดมาก การเห็นแม่น้ำบางครั้งทำให้ฟุ้งและนึกทวนถึงชีวิตที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนผ่าน ภาพการไหลอย่างไม่มีวันย้อนกลับของสายน้ำก็เป็นเสมือนภาพของชีวิตที่ไหลไปตามห้วงกาลเวลา

 

ในอังกฤษมีกลุ่มนักวิจัยทำการศึกษาประโยชน์ของพื้นที่สีฟ้า (blue space) มีการทดลองให้กลุ่มตัวอย่างดูรูปภาพและวัดความเครียดและความผ่อนคลายจากการดูรูปนั้น พบว่า ในภาพถ่ายที่ยิ่งมีพื้นที่สีฟ้าๆ อ่าว แม่น้ำ ทะเล มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งส่งผลดีต่อความเครียดมากขึ้นเท่านั้น ในปี 2012 ถึงขนาดออกเป็นแคมเปญ Blue Gym เป็นกระแสศึกษาว่าสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับสายน้ำส่งผลกับสุขภาพและชีวิตที่ดีได้ด้วยนะ คณะนักวิจัยเองก็พยายามบอกว่า ในเมื่อเราอยู่ในเมือง เราก็น่าจะต้องคิดถึงการออกแบบพื้นที่สีฟ้าให้กับเมืองด้วย

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

uipress.uiowa.edu

theinvisiblementor.com

theguardian.com

 

Illustration by Thitaporn Waiudomwut

 

 

Share :