CITY CRACKER

จำแผนที่เวลาไปเที่ยวได้ไหม เมื่อแผนที่สำคัญและสัมพันธ์กับการเดิน

เวลาที่เราไปบางเมือง- โดยเฉพาะเมืองที่มีวัฒนธรรมการเดินเที่ยวเช่นเมืองน้อยใหญ่ในยุโรป ไปจนถึงเมืองท่องเที่ยวหรือเมืองเล็กๆ ในที่พักหรือศูนย์ท่องเที่ยวก็จะให้แผนที่ขนาดกะทัดรัดชนิดกางขนาดประมาณกระดาษรองถาดและหลังจากนั้นตลอดทริปในเมืองนั้นๆ เราก็จะพกเจ้าแผนที่แผ่นนี้เป็นเพื่อน จนกระทั่งช่วงท้ายๆ เราอาจคลี่มันออกมาอย่างเบามือ บ้างต้องก็สก็อตเทปมาแปะ หลายคนถึงขนาดพับเก็บเจ้าแผนที่ที่เต็มไปด้วยรอยปากกาและรอยพับหรือเปื้อนคราบกาแฟนั้นกลับมาเป็นความทรงจำชิ้นสำคัญหนึ่ง

แผนที่- โดยเฉพาะแผนที่เมืองหรือย่านที่วาดขึ้นมาใหม่นั้น จึงเป็นเหมือนสิ่งที่ชาวเมือง คนพื้นที่วางสถานที่สำคัญๆ และเส้นทางลงในแผนที่เพื่อส่งต่อให้กับผู้มาเยือน เป็นทั้งความคิด- ความรู้ที่คนท้องถิ่นนำลงบรรจุไว้ใส่แผ่นกระดาษและใช้มอบให้เพื่อให้ผู้มาเยือนนั้นทำความรู้จักกับเมืองนั้นๆ โดยสังเขป

สำหรับผู้เขียนในทริปแรกๆ ที่เดินไปตามเมืองเช่นในยุโรป เราเองมาจากเมืองที่เป็นวัฒนธรรมรถยนตร์เป็นหลัก และแน่นอนเป็นชาวดิจิตัล จนกระทั่งได้ลองใช้แผนที่น้อยท่องไปตามตรอกซอกซอย หยิบขึ้นสื่อสารกับผู้คนได้อย่างสะดวกซึ่งคนพื้นที่นั้นก็จะคุ้นเคยกับแผนที่สำเร็จรูปนั้นจนสื่อสารชี้ทาง รวมถึงแนะนำตัวย่านและเมืองให้กับเราได้เป็นอย่างดี ในการเดินทางด้วยแผนที่นั้นทำให้พบว่า แผนที่แบบไม่ดิจิตัลนั้นมีพื้นฐานมาจากเมืองที่มีการเดินเป็นการสัญจรหลัก และใช้เป็นเครื่องมือในการหลงทางและการหลงนั้นก็ทำให้เราเข้าสำรวจเมืองได้ไม่ใช่แค่การเดินจากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่ง

ดังนั้น ในยุคสมัยที่เราเปิดกูเกิลแมพ และเส้นทางของเราถูกกำหนดโดยการเดินทางที่แม่นยำจากจุด a ไปถึงจุด b ปัจจุบันก็มีหลายองค์กร หลายศิลปินและสตาร์ทอัพที่พยายามสร้าง หรือรื้อฟื้นแผนที่โดยหวังว่าแผนที่เหล่านั้นจะทำให้เรามองเห็นเมืองในมิติอื่นๆ และทำให้การเดินเมืองเป็นไปได้ดีขึ้น ปลอดภัยขึ้น ตลอดจนหวังว่าจะช่วยกระตุ้นให้ผู้คนสนุกกับการเดินได้มากขึ้น

footways.london

 

แผนที่: เสน่ห์ของความไม่แม่นยำและข้อมูลจากคนพื้นที่

ในปี 2021 เวลาเรานึกถึงแผนที่ เราจะนึกถึงการเปิดกูเกิลแมพ แน่นอนกูเกิลแมพนั้นสำคัญ ด้วยพลังของระบบดิจิตัล การวาดเส้นที่แม่นยำที่สุด วางหมุดจากพื้นที่จำนวนมหาศาลได้ตามใจว่าเราอยากจะไปไหน แต่ด้านหนึ่ง กูเกิลแมพค่อนข้างเป็นการให้ข้อมูลการเดินทางด้วยรถยนต์เป็นหลัก ส่วนหนึ่งคือเส้นทางของกูเกิลแมพนั้น ด้วยการคำนวนจากระยะ จากเส้นทางจากด้านบน บางครั้งก็เลยเชื่อไม่ได้ หลายครั้งเส้นทางนั้นตัดผ่านพื้นที่แปลกๆ ทางที่ปิด ดังนั้นหลายครั้งการเดินด้วยกูเกิลแมพอาจจะไม่สะดวกเท่าเส้นทางที่ระบบลากให้ด้วยข้อมูลของถนนใหญ่

สำหรับคอนเซปของแผนที่นั้น แน่นอนส่วนสำคัญแรกคือการนำทาง(navigate) กับอีกส่วนคือการที่แผนที่นั้นให้ข้อมูลเชิงจินตนาการ หรือจำลองพื้นที่ทางกายภาพ(simulate) ปัจจุบันเรามักใช้ฟังก์ชั่นของแผนที่ดิจิตัลในมิติของการนำทางเป็นหลัก คือการปักหมุดและวาดเส้นทางที่สั้นที่สุดจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง อีกด้านหนึ่งในแง่ของการจำลองพื้นที่ แผนทิ่ดิจิตัลแน่นอนว่าจำลองที่อย่าถี่ถ้วน แถมยังขยับเลื่อนซูมเข้าออกได้ แถมยังทำงานประสานกับฐานข้อมูล กับการให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ทั้งการเก็บข้อมูลระดับบิ๊กดาต้าจากการเคลื่อนไหวของมือถือเครื่องอื่นๆ ไปจนถึงการให้ข้อมูลจากผู้ใช้อื่นๆ การรีวิว ให้ดาว

แต่ความเยอะข้อมูลจากแผนที่ดิจิตัลนั้น ก็อาจเป็นข้อเสียสำหรับการสื่อสาร หรือการใช้งานในแง่การสำรวจพื้นที่พื้นที่หนึ่ง เพราะว่าข้อมูลเยอะมากเกินไป และการสุ่มเกิดจากระบบซึ่งทำให้เราอาจจะรู้สึกเลือกรับข้อมูลได้ยาก ว่าตรงไหนของจุดหลักของย่านนั้นๆ ร้านอาหารร้านไหนน่าสนใจ คือเยอะไปหมด

ตรงนี้ที่มีหลายภาคส่วนที่บอกว่า เออ แผนที่แบบดั้งเดิมหรือแผนที่รูปแบบอื่นๆ นอกจากกูเกิลแมพก็สำคัญนะ อย่างแรกคือแผนที่แบบอื่นๆ รวมถึงแผนที่ย่านแผนที่เมืองแบบดั้งเดิมนั้นมันส่งเสริมให้เราเดิน คือดีกับการเดินมากกว่า ตัวแผนที่แบบวาดขึ้นมานั้นถ้าเราพอจำได้คือ ในแผนที่จะค่อนมีลักษณะคร่าวๆ เป็นถนนสายหลักๆ มีแลนมาร์กสำคัญๆ มีจัตุรัส มีลาน มีจุดสังเกตที่คนเมืองนั้นๆ คิดว่าเป็นหมุดหมายสำคัญ

ดังนั้นในความคร่าวนั้นเลยกลายเป็นเรื่องดี คือการที่เราถือแผนที่ที่มีถนนเท่าที่จำเป็น ส่วนหนึ่งถนนและสถานที่เหล่านั้นก็เป็นที่รู้จัก ควรเยี่ยมชม และมีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง ทั้งยังเป็นการชี้เป้าจุดน่าสนใจห้ามพลาดต่างๆ จากสายคนท้องที่ด้วย

ในอีกด้านนั้นการอ่านแผนที่ก็เป็นกิจกรรมที่สนุกเช่นเดียวกัน ในความไม่แน่นอนของแผนที่ทำให้เราต้องเงยหน้าจากแผนที่และพยายามเชื่อมโยง สังเกตสิ่งต่างๆ ที่แผนที่พยายามระบุไว้ ในแง่นี้ แผนที่จึงกำลังชี้ชวนให้เรามองเห็นและชวนเราสำรวจเมืองไปโดยปริยาย

medium.com

การกลับมาของแผนที่เพื่อการเดินในยุคหลังโควิด

เราอาจจะรู้สึกว่ามีแมพดิจิตัลแล้ว ใครจะซื้อแผนที่กระดาษกันอีก หรือกระทั่งแอบคิดว่าใครจะอยากเดินในเมืองกันอีก แต่การเดินนั้นกลับมามีความสำคัญอีกครั้งในช่วงโควิด แน่นอนเราไม่สะดวกนั่งรถประจำทาง การเดินเป็นการเดินทางที่ปลอดภัยกว่าทั้งการอยู่ในที่โล่งแจ้ง การรักษาระยะห่าง ผลด้านสุขภาพทั้งกายและใจ หลายเมืองใหญ่หันมาพัฒนาทางเท้าและปรับเมืองโดยมีการเดินเป็นศูนย์กลางก็ในช่วงโควิดและกลายเป็นเป้าหมายการพัฒนาใหม่หลังโควิดด้วย

กรณีเรื่องแผนที่กระดาษรวมถึงแผนที่ว่าด้วยการเดินถือเป็นปรากฏการณ์ในยุคโควิด กรณีแผนที่กระดาษนั้นมีกรณีโปรเจคชื่อ Footways คือเป็นโปรเจคของนักกิจกรรมที่สนใจเรื่องการเดินในเมือง โดยสรุปคือนักกิจกรรมทำการเดินสำรวจลอนดอนและสร้างแผนที่ทางเดินเท้า คือเป็นแผนที่ลอนดอนที่ดีกับการเดิน ปลอดภัย ทำให้เห็นว่าลอนดอนเดินได้ มีทางเท้าเดินเชื่อมไปไหนได้บ้าง มีจุดสำคัญที่ไหนบ้าง ตัวโครงการพิมพ์เจ้า Footways ออกมาเป็นแผนที่กระดาษขายในเดือนกันยายน 2020 ซึ่งขายดีและขายหมดอย่างรวดเร็ว

โดยโปรเจกต์ Footways นั้นมีการเผยแพร่บนกูเกิลแมพด้วย ซึ่งพบว่ามีตัวเลขเข้าใช้งานราว 800,000 (รายงานโดย Bloomberg ในเดือนตุลาคม คือราวหนึ่งเดือนหลังเปิดใช้) หมายความว่าผู้คนยังทั้งรักแผนที่แบบใหม่ๆ และรักการเดิน แน่นอนว่าตัวแผนที่ก็ถือเป็นข้อมูลที่น่าสนใจที่เราจะรับรู้พื้นที่กายภาพนั้นๆ ได้ เช่นถ้าเรามีแผนที่กรุงเทพแบบที่รวมเส้นทางเท้า มีร้านอาหารน่าสนใจ มีข้อมูลพิเศษๆ ของเมืองของย่าน เราก็อยากจะซื้อมาเพื่อทำความรู้จักเมืองได้มากขึ้น เพิ่มกิจกรรมต่างๆ ในเมืองที่เราอยู่ได้ แถมแผนที่นั้นยังมีความเป็นศิลปะ มีความสวยงามแตกต่างกันออกไป

mapaplan.com

 

ประเด็นเรื่องการเดินและการสร้างแผนที่เพื่อการเดินเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอีกหลายประเทศและหลายเมือง ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้แผนที่ดิจิตัลและเสนอเส้นทางการเดินให้กับผู้คน คือเป็นแมพดิจิตัลที่ใช้แทนหรือประกอบกับกูเกิลแมพ เช่นโปรเจค Slow Way ที่เน้นสร้างแผนที่เส้นทางการเดินทั่วเกาะอังกฤษ (Great Britain) แผนที่ขนาดมหึมาที่เก็บข้อมูลจากผู้คนและอัปเดตอยู่เสมอทำให้เราเห็นโครงข่ายการเดินเท้าขนาดยักษ์จากหมู่บ้านสู่หมู่บ้าน จากเมืองสู่เมืองทั่วเกาะ ทางทีมสร้างบอกว่าแผนที่นี้ทำให้ผู้คนจินตนาการถึงประเทศในฐานะดินแดนของการเดิน คิดถึงการออกไปเดิน วางเส้นทางและออกไปเดินเท้าได้จริงและง่ายขึ้น

นอกจากนี้เส้นทางเหล่านี้ยังเน้นวางเส้นที่ทางปลอดภัยและเชื่อมต่อการเดินเข้าด้วยกัน คือตัวเส้นทางเองในแผนที่นั้นจะเป็นการรวมเส้นทางรูปแบบต่างๆ ทั้งทางเท้า ทางเดิน ทางราบ ทางขรุขระที่เป็นป่าหน่อย และเน้นการเดินต่อเนื่องกันจนตลอดไปจนถึงจุดสำคัญๆ ได้ ถ้าใครเคยเดินก็จะพบว่าหลายครั้งเราเดินไปในที่แปลกๆ แล้วไม่ไปไหนต่อ การเดินจึงค่อนข้างน่ากลัว การที่เรารู้ว่าปลายทางมีเส้นทางแบบไหน มีสถานที่อะไรก็ทำให้การเดินง่ายและปลอดภัยขึ้น

ในทำนองเดียวกัน แม้ว่าจะเป็นในระดับเมือง แต่การเดินมีรายละเอียดกว่านั้น เช่นเส้นทางเดินเป็นอย่างไร ชันมั้ย เข้าถึงได้รึเปล่า ลากกระเป๋า รถเข็นไปได้ไหม ไม้เท้าไปสะดวกรึเปล่า ที่ซีแอทเทิลก็เลยมีการทำแผนที่ออนไลน์ชื่อ accessmap คือตามชื่อเลย เน้นใส่ข้อมูลเรื่องการเข้าถึงซึ่งก็จะรวมถึงความชัน การขึ้นเนิน ไปจนถึงระบุให้หลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางต่างๆ ซึ่งถือว่าดีมากเพราะทำให้เราเห็นมิติอื่นๆ ของเส้นทางการเดินและข้อมูลของพื้นที่เมือง ในระบบของตัวแผนที่จะให้เราระบุความชันการลาดขึ้นลงและตัวแผนที่ก็จะระบุเส้นทางที่เหมาะสมให้

หรือเราอยากจะเดินแบบสบายๆ ออกไปเดินเล่นเป็นประจำ เมืองบาร์เซโลน่าก็มีแผนที่ทิศทางแดดและร่มเงา คือเป็นแมพว่าด้วยเส้นทางที่ร่มรื่น เดินสบายไม่ร้อนในชื่อ Cool Walks ซึ่งตัวแผนที่จะใส่ข้อมูลต้นไม้ใหญ่ ความสูงของตึก และมีโมเดลเพื่อบอกว่าเงาในแต่ละช่วงเวลาคือเช้า บ่าย เย็น ของเมืองนั้น เส้นทางไหนสั้น และร่มรื่น ซึ่งรายละเอียดเส้นทางน่ารักมาก คือมีเส้นทางแบบแวมไพร์คือไม่เอาแดดเลย แบบที่ร่มบ้างแดดบ้างแต่ถึงเร็วหน่อย กับโหมดรีบ คือเดินไปเส้นทางที่ไวที่สุด มีกระทั่งโหมดกระหายน้ำ เส้นทางก็จะลากผ่านพวกน้ำพุสาธารณะให้ด้วย น่ารักมาก

theaudienceagency.org

 

การมีแผนที่เมืองแผนที่ย่าน แน่นอนว่าเป็นเรื่องดี ทั้งในแง่ของการได้อัปเดต สำรวจเมืองของคนในเมืองนั้นๆ และการมีแผนที่ไว้มอบให้กับผู้มาเยือน แต่ที่แน่นอนกว่าคือเราเองก็คงไม่ปฏิเสธเทคโนโลยี แผนที่ในแพลตฟอร์มดิจิตัลมีความแม่นยำมากกว่า อัปเดตข้อมูลได้เร็วกว่า ดังนั้นในหลายพื้นที่ทั่วโลกก็เริ่มหันมาพัฒนาแผนที่ใหม่ๆ ในแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยจำนวนไม่น้อยเน้นสร้างแผนที่เพื่อการเดินภายในเมืองทั้งเพื่อความรื่นรมย์และเพื่อความปลอดภัย

ถ้าเราย้อนกลับไปดูนิยามของแผนที่ แผนที่ก็เป็นมิติทางจินตนาการอย่างหนึ่งที่เราวาด เลือกสรรพื้นที่นับพันตารางกิโลเมตร ย่อให้กลายเป็นเส้น เป็นอาคาร เป็นถนนหนทาง ในทางกลับกันเราเองก็ใช้จินตนาการและทักษะในการอ่านตีความเส้นถนนหนทางเหล่านั้นเข้ากับความจริง

ในอีกด้าน ในแง่ของการออกแบบ สำรวจ และสร้างแผนที่ขึ้นในรูปแบบต่างๆ นั้น ก็ทำให้เรามีจินตนาการต่อพื้นที่เมืองหรือพื้นที่กายภาพในลักษณะที่หลากหลายและแตกต่างออกไป แผนที่ว่าด้วยการเดิน ให้เส้นทางการเดินไปจนถึงพื้นที่สำคัญๆ ทำให้กิจกรรมของเราเปลี่ยนแปลงคือหลากหลายมากขึ้น เห็นความเป็นไปได้ของกิจกรรมและการใช้ชีวิตในเมืองในรูปแบบที่ละเอียดขึ้น เช่นเราอาจจะมองเห็นความเป็นได้ของการเดินจากย่านหนึ่งไปสู่อีกย่าน เห็นจุดนั่งพัก เห็นร้านอร่อย หรือกระทั่งที่เมืองบาเซโลนาทำคือมีกระทั่งจุดแวะพักเพื่อความสดชื่น

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-10-27/mapping-london-s-best-walking-streets

https://beta.slowways.org/Page/about

https://www.geekwire.com/2017/walk-way-new-pedestrian-oriented-access-map-fills-gap-world-apps/

https://www2.bcnregional.com/

 

Illustration by Montree Sommut
Share :