CITY CRACKER

Jane Jacobs หญิงสาวผู้เปลี่ยนความหมายของเมืองที่ดีและก้าวเข้าสู่โลกพัฒนาการในยุคชายเป็นใหญ่

ช่วงทศวรรษ 1950 ในอเมริกา โดยเฉพาะเมืองใหญ่เช่นนิวยอร์ก กำลังสนุกสนานกับการเติบโตในนามของการพัฒนา โลกของการพัฒนาและการวางผังเมืองในยุคนั้นคือการลงทุนสร้างความเจริญผ่านทางด่วนและมอลล์ขนาดใหญ่ เป็นยุคที่เรียกได้ว่าการพัฒนานั้นเป็นโลกของผู้ชาย นอกจากว่าบุคลากรในการพัฒนาเมืองและที่ดินล้วนเป็นผู้ชาย ความคิดที่ครอบงำผ่านการสร้างอะไรใหญ่ๆ โตๆ ก็เป็นความคิดที่เวรี่ผู้ชายเป็นใหญ่ ในปี 1995 การพัฒนานั้นได้เงื้อมกลายไปถึงหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่ง บังเอิ๊ญหมู่บ้านนั้นมีสาวแกร่งคนหนึ่งที่ลุกขึ้นโต้แย้ง และผู้หญิงที่ไม่ได้เรียนผังเมืองหรือสถาปัตยกรรมคนนี้ ก็ได้เปลี่ยนภูมิทัศน์ความคิดเรื่องเมืองที่ดีไปโดยปริยาย

 

หญิงสาวผู้นั้นมีนามว่า Jane Jacobs เธอเป็นชาวบ้านของหมู่บ้าน Greenwich เป็นเมืองที่ Robert Moses เตรียมตัดถนนผ่าน ตัวเธอเองเป็นลูกครึ่งอเมริกัน- แคนาดา พ่อเป็นหมอ แม่เป็นพยาบาลและครู ครอบครัวของเธอเป็นชาวยิวชนชั้นกลางที่มีการศึกษา ตัวเธอเองประกอบอาชีพนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ จากการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่มาเคาะประตูบ้าน เธอจึงหันความสนใจไปสู่การพัฒนาเมือง ท้าทายแนวคิดการพัฒนาแบบบนลงล่าง จากการสร้างสิ่งต่างๆ ในฐานะความเจริญ มาสู่การให้ความสำคัญกับย่าน กับผู้คน เป็นเมืองที่องคาพยพขนาดใหญ่สอดประสานกัน และผู้หญิงจากนอกวิชาชีพคนนี้เป็นเจ้าของงานเขียนสำคัญที่กลายเป็นตำราหลักของนครศึกษาและการวางผังเมือง เช่น  The Death and Life of Great American Cities และกลายเป็นไอคอนคนสำคัญของกระแสการพัฒนาเมืองที่ดี ให้เป็นเมืองของผู้คน

จากจาคอบเราขอพูดถึง Robert Moses เล็กน้อย โมเสสเป็นนักวางผังเมืองและพัฒนาระดับตำนาน และเป็นคู่ขัดแย้งสำคัญของจาคอบ แน่นอนว่าการเป็นผู้หญิงก็เพียงพอที่เหล่ามืออาชีพจะมองข้ามเธอแล้ว เธอมักถูกกล่าวถึงในฐานะแม่บ้าน เป็นคนไม่ได้จบการศึกษาทางผังเมือง เมื่อปี 1961 ทางบรรณาธิการสำนักพิมพ์ส่งต้นฉบับ The Death and Life of Great American Cities ฉบับร่างให้กับโมเสสในฐานะตัวพ่อของวงการดู โมเสสคืนหนังสือพร้อมจดหมายบริภาษว่าหนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยอารมณ์และไม่แม่นยำ (intemperate and inaccurate) เอาขยะชิ้นนี้ไปขายให้คนอื่นเถอะ

bookdepository.com

 

คำวิจารณ์ของโมเสสนั้น เห็นว่ามีนัยเหยียดเพศแอบแฝงอยู่ คือเขามองว่างานเขียนของเธอนั้นไม่เรียบร้อย ไม่มีความสุขุม และแน่นอนว่าไม่ได้มากจากองค์ความรู้ที่มีสถาบัน- ซึ่งแน่ละว่าโลกของความรู้และสายอาชีพในยุคนั้นเป็นภาษาและดินแดนของผู้ชาย การปรากฏตัวและเสียงของเธอ ที่อยู่ๆ ก็บอกว่า การวางผัง การสร้างสารพัดอย่างที่นักผังเมืองพยายามทำมันไม่ถูกนะ ก็ถือเป็นการลุกขึ้นท้าทายที่กล้าหาญ และคงจะยอกใจสุภาพบุรุษในยุคนั้นพอสมควร

ข้อเสนอสำคัญที่เจนเน้นคือการให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนา เธอมองว่าคนในย่านไม่ใช่เหรอที่เป็นคนที่รู้เรื่องเกี่ยวพื้นที่ของตน และแน่นอนว่าเป็นผู้ใช้งาน การวางผังและการใช้งานจากเบื้องบนจะนำไปสู่อะไร เธอให้ความสำคัญกับการใช้พื้นที่ร่วมกันของชุมชนและของพื้นที่พาณิชย์ ต่อต้านการวางผังที่มีความหนาแน่นสูง ซึ่งทั้งหมดนั้นเราก็เห็นผลของพวกบ้านเรือนแววตั้งที่ไร้ชีวิต กลายเป็นพื้นที่ของอาชญกรรม และทำให้เมืองแบบบุรุษนั้นไม่น่าอยู่ กลายเป็นแดนสนธยา แถมเธอยังเชื่อในการปรับประยุกต์ตึกอาคารที่มีอยู่แล้ว แทนการพังทลายลงและสร้างขึ้นใหม่

สิ่งที่เธอพูดๆ ขนาดฟังในยุคปัจจุบันยังรู้สึกว่าล้ำสมัย แต่ถ้อยคำล้ำยุคของแม่บ้าน-นักเขียน ที่กลายมาเป็นนักต่อสู้ ผู้สามารถหยุดสารพัดโครงการทางลอยฟ้า การเข้ารุกทำลายชุมชนพื้นที่ได้นับสิบที่ คำพูดกว่าครึ่งทศวรรษของเธอก็ดูจะยังทันสมัย และเป็นสิ่งที่เราสามารถทำความเข้าใจเพื่อสร้างเมืองที่ดี มีผู้คนมากกว่าตึกที่แสดงความใหญ่โตของอัตตา

ถ้าพูดอย่างคร่าวๆ ในโลกของเมืองและการวางผังเมือง เจน จาคอบคือผู้นำเอาความเป็นผู้หญิง มุมมองของผู้คนและความนุ่มนวลเข้าสู่เรดาห์ของการพัฒนาเมือง ทำให้เมืองสีต่ำๆ ที่เคยเกรียงไกรเพียงเพราะสิ่งปลูกสร้าง เป็นดินแดนที่สร้างขึ้นโดยคิดคำนึงถึงผู้ที่หายใจอยู่ในเมืองนั้นมากขึ้น

 

เนื่องในวันสตรีสากล

แด่เจน จาค็อบ ผู้หญิงที่มอบความอ่อนนุ่มและความอบอุ่นให้กับเมืองที่เคยชืดชา

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

thoughtco.com

theguardian.com

centerforthelivingcity.org

newyorker.com

Share :