CITY CRACKER

สวนลับของลอนดอน ฉากหลังงานเชคสเปียร์ Inner Temple Garden พื้นที่สีเขียวของยุคกลางที่มีชีวิตถึงปัจจุบัน

เมืองเป็นพื้นที่ที่ดูชืดชา เป็นพื้นที่ธรรมดาในชีวิตประจําวัน​ แต่หลายครั้งเมืองเองกลับเต็มไปด้วยมิติ​ ในเมืองที่สลับซับซ้อน บางครั้งเราเองก็อาจจะรู้สึกว่า การเลี้ยวเข้าไปยังพื้นที่หนึ่ง​ อาจเป็นเหมือนการได้หลงเข้าไปยังมิติพิเศษ ท่องไปยังอดีตหรือเรื่องราวอันมหัศจรรย์ที่แทรกตัวซ่อนอยู่ในพื้นที่เมืองนั้นๆ

ลอนดอน​ เป็นอีกหนึ่งเมืองที่เราอาจจะรู้สึกแบบนั้นได้ ในวันหยุดแบบนี้ City Cracker ชวนผู้อ่านเลี้ยวลัดเข้าไปในประตูวิหารอันเก่าแก่ริมแม่น้ำเทมส์ของกรุงลอนดอน​ ชวนเดินเข้าในขอบกำแพงของวิหารโบราณที่กลายมาเป็นหนึ่งในสี่เสาหลักของสถาบันการศึกษาด้านนิติศาสตร์ของอังกฤษ สวนอันเก่าแก่ของพื้นที่ที่เรียกว่า Inner​ Temple​ มีชื่อเรียกว่า Inner Temple Garden 

Inner Temple Garden นับเป็นพื้นที่มหัศจรรย์หนึ่งของกรุงลอนดอน​ เป็นพื้นที่ที่เก็บงำเรื่องราวและประวัติศาสตร์ของเมืองไว้ นับตั้งแต่อัศวินเทมพลาร์ได้ก่อตั้งวิหารและสร้างสวนไว้ ตัวสวนแห่งนี้ก็ได้ถูกใช้งานไปครั้งแล้วครั้งเล่า จากสวนผลไม้และพืชผักในยุคกลางสู่การเป็นสวนกุหลาบที่มีชื่อเสียง จนกลายเป็นฉากสำคัญในบทละครอิงประวัติศาสตร์ของเชคสเปียร์ เรื่อยมาจนลอนดอนกลายเป็นเมืองใหญ่และได้กลายเป็นสวนสาธารณะ เป็นส่วนหนึ่งของความคลั่งไคล้เรื่องพฤกษศาสตร์​ เป็นพื้นที่จัดแสดงพันธุ์พืชจากดินแดนอันไกลโพ้น เป็นที่ที่ชาวลอนดอนจะได้ทั้งหย่อนใจและชื่นชมพันธุ์ไม้ต่างแดน เช่น พุ่มดอกเบญจมาศ​ 

จากสวนในกำแพงวิหารสู่การรอดพ้นจากมหาอัคคีภัย​ สู่สวนเก่าแก่ที่นับว่าเป็นพื้นที่สีเขียวที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองลอนดอน เป็นสวนที่ผ่านความเป็นสวนผักผลไม้ สวนกุหลาบ​ สวนตัดแต่งและสนาม ไปจนถึงสวนสาธารณะลับของเมือง

 

 

สวนสมุนไพรและผลไม้ในวิหารของอัศวินเทมพลาร์

สวน​ Inner Temple Garden​ เป็นพื้นที่สวนที่เกิดและอยู่ร่วมกับวิหาร Inner​ Temple​ ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ตัววิหารนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเทมส์โดยมีหลักฐานว่าวิหาร​ Inner Temple​ ถูกก่อตั้งขึ้นในยุคกลางในช่วงปี ค.ศ. 1195 โดยกลุ่มอัศวินผู้พิทักษ์ศาสนาที่เรารู้จักกันในนามอัศวินเทมพลาร์ (Templar Knight) เมื่อแรกสวนนี้ก็ไม่เชิงว่าเป็นสวนสวยแต่เป็นเหมือนพื้นที่ดินด้านนอกวิหาร ที่มีหลักฐานว่ามีการปลูกผัก ปลูกสมุนไพรเพื่อใช้ในการปรุงอาหารของโบสถ์​และใช้เป็นยา จนราวปี ค.ศ. 1307 มีบันทึกภาพสวนที่ชัดเจนขึ้นว่าในช่วงนั้นมีผู้อาศัยในวิหาร​ 20 คน​ หนึ่งในนั้นทำหน้าที่เป็นคนทำสวน (gardener) และในช่วงนั้นเองที่มีบันทึกว่าในสวนประกอบด้วยต้นผลไม้อยู่จำนวนหนึ่ง

 

 

สวนกุหลาบ​และฉากหลังประวัติศาสตร์ของเชคสเปียร์

ช่วงหลังจากยุคกลางต่อมาจนช่วงศตวรรษที่ 14​ สวนแห่งนี้ก็ยังได้รับชื่อว่าเป็นสวนของวิหารเก่า (Old Temple) และตัวสวนมีชื่อเสียงเรื่องกุหลาบงาม​ หนึ่งในการกล่าวถึงที่สำคัญคือฉากสำคัญหนึ่งในบทละคร​ Henry V ในเรื่องจะพูดถึงการเลือกดอกกุหลาบอันนำมาซึ่งสงครามดอกกุหลาบตามประวัติศาสตร์ที่บทละครอ้างอิง ในฉากนั้นต่อมามีการวาดภาพชื่อ Plucking the Red and White Roses in the Old Temple Gardens ซึ่ง​ Old Temple Gardens ก็หมายถึงสวนแห่งนี้แหละ รายละเอียดสวนในช่วงนั้นไม่มีรายละเอียดมากแต่คงมีลักษณะเป็นสวนที่มีดอกกุหลาบมาก จนช่วงกลางศตวรรษคือ​ ค.ศ. 1591 ตัวสวนได้รับการออกแบบให้เป็นสวนทางการมากขึ้น​ มีทางเดินมีลาน​ หนึ่งในความพิเศษคือสวนแห่งนี้นับเป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งในลอนดอนที่รอดพ้นไฟไหม้ใหญ่(ไหม้เกือบทั้งลอนดอน) ในปี ค.ศ. 1666 มาได้ แต่ก็มาเสียหายเพราะไฟไหม้อีกรอบในปี ค.ศ.​ 1678

 

 

สนามสี่เหลี่ยมและแนวต้นไม้ สวนตามความนิยมของศตวรรษที่ 18

หน้าตาของสวนเก่าแก่นี้เริ่มมีหลักฐานที่ชัดเจนขึ้นและตัวสวนเองก็เริ่มล้อไปกับความนิยมของการออกแบบสวนในฐานะการออกภูมิทัศน์ ในยุคหลังสวนกุหลาบ​มีภาพหลักฐานว่าสวนของวิหารด้านในหนาแน่นไปด้วยต้นไม้ เช่น จากแผนที่กรุงลอนดอน​ ค.ศ. 1677 มีการวาดภาพสวนที่ปกคลุมไปด้วยต้นไม้ใหญ่ จนมาถึงราวศตวรรษที่ 18​ ที่สวนได้รับการออกแบบและปรับหน้าตาของสวนไปตามสมัยนิยมเรียกว่า ‘William and Mary’ Dutch style คือจะเป็นสวนประณีตที่เน้นสนามและทางเดิน รอบๆ​ สนามและทางเดินล้อมด้วยแนวต้นไม้ใหญ่​ ลักษณะสวนของวิหารในยุคศตวรรษที่ 18 ​ปรากฏในภาพพิมพ์วิหารในปี ค.ศ. 1722 เป็นเหมือนลานกว้างๆ ที่ทอดทางเดินไปยังพื้นที่ริมแม่น้ำเทมส์อันเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ของตัววิหารเอง​ 

 

 

สวน​ แม่น้ำ การเป็นพื้นที่สาธารณะและมรดกจากนักออกแบบภูมิทัศน์

ในช่วงศตวรรษที่ 19​ เช่นในภาพวาดสวนของวิหารในปี ค.ศ. 1809 คือต้นศตวรรษเลย สวน​ Inner​ Temple Garden น่าจะมีลักษณะเป็นพื้นที่สาธารณะอยู่บ้างแล้ว ในภาพจะเป็นภาพลานขนาดใหญ่ มีชาวลอนดอนยืน เล่นเล่นและทำกิจกรรมอยู่ในภาพบริเวณสวนที่ริมแม่น้ำเทมน์ ทีนี้ที่สวนนี้เองก็เจอปัญหาคือลอนดอนก็มีโครงการพัฒนาโดยเฉพาะการสร้างสันเขื่อน​ Victoria Embankment เปิดใช้งานในปี ค.ศ. 18​70 ทำให้พื้นที่สวนขาดออกจากพื้นที่ริมน้ำของตัวเอง​ โดยในปีเดียวกันนั้นเองตัวสวนก็ได้มีการปรับปรุงสร้างสาธารณูปโภค เช่น แนวกำแพง และประตูทางเข้าสำหรับรถม้า​ 

ในสมัยนั้นสวน Inner​ Temple​ Garden​ ได้ภูมิสถาปนิกคนสำคัญ​ชื่อ โรเบิร์ต มาร์น็อค​ (Robert Marnock) เป็นหนึ่งในภูมิสถาปนิกที่กรุยทางการออกแบบสวนและพื้นที่สาธารณะมีผลงานสำคัญ เช่น สวนพฤกษศาสตร์ที่เชฟฟิลหรือ Regent’s Park​ ผังและโครงร่างของสวนในปัจจุบันก็มาจากการออกแบบของมาร์น็อค หนึ่งในมรดกสำคัญที่ยังคงอยู่คือการเสนอให้ปลูกทิวของต้นเพลน (planes) ต้นไม้ที่ทนต่อมลพิษ และวางเป็นแนวล้อมกับทางเดินของสวน เป็นเหมือนแนวป้องกันมลพิษของเมืองให้กับสวนซึ่งนับว่าก้าวหน้าพอสมควร

 

 

วงการพืชพรรณในยุควิคตอเรียน​ ส่วนหนึ่งของความคลั่งไคล้ในดินแดนอื่น

ในช่วงกลางๆ ศตวรรษที่ 19​ เป็นช่วงคาบเกี่ยวกับการออกแบบสวนของนักออกแบบภูมิทัศน์ ในยุคนั้นเราเรียกว่า ยุควิค​ตอ​เรียน​ ในยุคนี้เองที่อังกฤษมีองค์ความรู้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการล่าอาณานิคม​ การรวมรวมพืชพรรณและความรู้จากดินแดนอื่นเป็นความคลั่งไคล้สำคัญและสวนแห่งนี้ก็ดูจะทำหน้าที่เป็นพื้นที่สาธารณะ ทั้งยังเป็นพื้นที่จัดแสดงด้านพืชพรรณสำคัญของวงการพืชพรรณ (Horticulture) คือในช่วงวิคตอเรียนตัวสวน Inner Temple Garden ถูกใช้เป็นพื้นที่จัดแสดงพืชต่างถิ่น เช่น มีการจัดแสดงดอกเบญมาศในปี ค.ศ. 1856 โดยในการจัดแสดงนั้นมีตัวเลขผู้เข้าชมสูงถึง​ 7,000 คน​ หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1888 ราชสมาคมพืชสวน (Royal Horticultural Society) ก็ได้ใช้สวนแห่งนี้จัดแสดงพันธุ์พืชฤดูใบไม้ผลิ(Spring Show)

 

 

สวนลับและพื้นที่สีเขียวที่ใหญ่ที่สุดของลอนดอน

ส่งท้ายด้วยเรื่องราวปัจจุบันของสวนสีเขียวนี้ ก่อนอื่นต้องขอย้ำก่อนว่า แม้ชื่อสถานที่จะเป็นวิหารหรือ Temple แต่วิหารจากยุคกลางนี้ก็สัมพันธ์กับแขนงวิชาทางนิติศาสตร์ เช่นเป็นที่พำนักของที่ปรึกษากฎหมายของเหล่าอัศวิน เกี่ยวข้องกับการการย้ายการสอนนิติศาสตร์จากศาสนจักรสู่การเป็นแขนงวิชาโดยตัว Inner Templar นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 12-13 เป็นต้น มานับว่าเป็นพื้นที่การศึกษาและพื้นที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนกฎหมายและกลายเป็นสถาบันที่ฝึกสอนเนติบัณฑิต หนึ่งในสี่สถาบันหลักของอังกฤษในปัจจุบัน

สำหรับสวน Inner Temple Garden นับเป็นสวนสำคัญแห่งหนึ่งของลอนดอน ด้วยขนาดใหญ่ถึง 3 เอเคอร์ ที่นับได้ว่าใหญ่ที่สุดของเขตเมืองลอนดอน นอกจากนี้สวนเวอร์ชั่นล่าสุดยังคงมีกลิ่นอายและบริบททางประวัติศาสตร์อันยาวนานอยู่ทั้งการเป็นสวนแบบอังกฤษ ไม้ยืนต้น ไม้ผล หรือเถากุหลาบและไม้ดอกที่สลับกันบาน โดยในแง่ของงานออกแบบสวนแห่งนี้ประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก 3 ส่วนคือสนามหญ้า (Lawn) ทางเดินกรวด (Path) และสวนลับ (Secret Garden)

 

 

สนามหญ้าที่เป็นหัวใจของสวน

สนามหญ้าเป็นองค์ประกอบสำคัญที่เป็นมรดกและความนิยมของสวนอังกฤษ สำหรับ Inner Temple Garden นับได้ว่ามีสสนามหญ้าเป็นหัวใจของสวน ตัวสนามมีขนาดไม่ขนาดไม่ใหญ่มาก ด้านหนึ่งของสนามเป็นเนินอ่อนถ่ายระดับสู่พื้นที่โล่งด้านในโดยที่สนามไม่ได้โล่งซะทีเดียวแต่ประกอบต้นไม้ขนาดใหญ่และมีสวนลับ (secret garden) อยู่ตรงกลาง พื้นที่รอบๆ บริเวณขอบของสนามหญ้าไม้พุ่มโอบล้อมสนามเอาไว้ ความสำคัญของสนามจึงมีลักษณะเป็นเหมือนห้องนั่งเล่นกลางแจ้ง (outdoor living room) ภายในห้องนั่งเล่นกลางแจ้งสีเขียวจึงเป็นพื้นที่ให้ผู้มาเยือนได้เลือกนั่งเล่น นอนเล่นหรือปิ๊กนิกตามจุดต่างๆ ได้ โดยความพิเศษสำคัญคือด้วยสนามและร่มเงาทำให้ในพื้นที่มีแสงเงาที่ชวนมองได้อย่างน่าสนใจ

 

 

ทางเดินกรวดและแนวร่มไม้

ถัดออกมาจากสนามหญ้าอันเป็นหัวใจของสวน รอบๆ ของสนามโอบล้อมด้วยทางเดิน (Path) เป็นทางเดินโรยกรวดที่ล้อมพื้นที่เปิด (Open Space) ไว้ บรรยากาศของทางเดินแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ อยู่บ้าง คือมีลักษณะเป็นทางเดินกว้างที่ขนาบด้วยแนวต้นไม้ใหญ่ (Tree Avenue) ความกว้างของทางเดินนั้นกว้างมากเกินกว่าที่จะมีไว้เพื่อการเดินหรือผ่านไปมา (circulation) เพียงอย่างเดียว แต่สามารถเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น นั่งพักผ่อนชมสนามหญ้า หรือทำกิจกรรมเบาๆ เช่นการตีปิงปองในทางเดินนี้ก็ทำได้ บางช่วงของทางเดินมีไม้ดอกหลากหลายสายพันธุ์ได้รับการจัดวางไว้อย่างเป็นธรรมชาติและมีพื้นที่นั่งที่ทำให้ผู้มาเยือนสามารถนั่งซุกตัวเข้าสู่พืชพรรณเหล่านั้นได้ บางช่วงก็มีไม้เขตร้อน (tropical) ใช้เป็นตัวแบ่งทางเดินออกจากสนามหญ้า การออกแบบและใช้ทางเดินนี้จึงมีรายละเอียดและการใช้งานที่หลากหลายละน่าสนใจ เป็นสวนทางยาวที่ชวนให้เดินอ้อยอิ่งอย่างน่ารื่นรมย์

 

 

สวนน้อยและน้ำพุที่หลบซ่อน

พื้นที่พิเศษส่วนสุดท้ายคือสวยลับ (Secret Garden) หนึ่งในพื้นที่ที่พาเราหลบไปยังพื้นที่ส่วนตัว สวนลับเป็นสวนขนาดเล็กที่โอบล้อมและบังสายตาด้วยไม้พุ่ม ลักษณะของสวนลับเป็นพื้นที่รูปวงกลมซ่อนอยู่กลางสนามหญ้า ในสวนน้อยนี้เป็นพื้นที่พิเศษที่เปิดโอกาสให้ผู้มาเยือนได้เข้าไปนั่งพัก เข้าไปนั่งฟังเสียงน้ำพุซึ่งเสียงของน้ำพุนี้เองที่กระจายความสดชื่นออกไปทั่วบริเวณ

โดยรวมพื้นที่สวน Inner Temple Garden เป็นอีกหนึ่งสวนที่มีความน่าสนใจ เป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ที่บรรจุทั้งประวัติศาสตร์ เรื่องราวและมีการออกแบบใช้งานที่หลากหลายและมีสเน่ห์แบบสวนอังกฤษและพื้นที่สาธารณะสมัยใหม่ พื้นที่สวนทั้งหมดถูกโอบล้อมด้วยกำแพง ตัดตัวเองออกจากถนนภายนอก รอบๆ มีประตูทางเข้าเล็กๆ หลายจุดที่เปิดปิดเป็นเวลา

อ้างอิงข้อมูลจาก

innertemple.org.uk

heritagecollections.parliament.uk

openhouselondon.open-city.org.uk

landscapenotes.com

 

Graphic Design by Waranya Rujeewong

 

Share :