พาราไซต์เพิ่งได้รับรางวัลออสการ์ไป ดูเหมือนว่าหนังที่เล่นเรื่องความยากจน ความเหลื่อมล้ำ เล่นกับเส้นแบ่งความสัมพันธ์กับคนจนและคนรวยดูจะเป็นสิ่งที่สัมผัสและเข้าใจได้ ภาพหนึ่งที่สำคัญคือเราเห็นภาพของชนชั้นหนึ่งที่ถูกตราให้เป็นเหมือนปรสิตที่เกาะกินสังคม- เป็นผู้คนที่ถูกเดียดฉันท์ และหลายครั้ง เราเองก็จงใจมองไม่เห็น
จริงๆ ย้อนกลับมามองที่บ้านเรา หรือกระทั่งกรุงเทพฯ เวลาเราพูดคำว่ากรุงเทพฯ เมืองในฝัน เรานึกถึงตึกสูง วัดวาอาราม สถานที่ท่องเที่ยวงดงาม เรามีภาพริมแม่น้ำที่เกรียงไกร แต่ในขณะเดียวกัน เราก็อาจจะเห็นภาพชุมชนริมแม่น้ำ เห็นภาพแฟลตแคบๆ ที่เต็มไปด้วยราวพาดผ้า หลบซ่อนอยู่ในเงาอันยิ่งใหญ่ในฝันของเรา และแน่นอนว่า หลายครั้งลึกๆ แล้ว เราเองก็ไม่พิสมัยความยากจน และคนจน ทั้งที่จริงๆ แล้ว สังคมของเรานี่แหละที่ผลิตทั้งคนยากและความยากจน ถ่างขยายความไม่เท่าเทียมอย่างไม่รู้จบ
แน่นอนว่าในระดับเมือง เราเองก็พยายามซุกซ่อน รุกไล่คนจนออกไป มีรายงานชิ้นสำคัญเรื่องเมืองซ่อนคนจน: เมื่อความศิวิไลซ์คือการไล่คนจนออกจากเมือง ของ Way Magazine พาเราไปสำรวจพื้นที่และตัวตนของคนยากจนในแผนที่และปฏิบัติการของภาครัฐ
นอกจากในระดับเมืองที่เราอาจจะไม่อยากเห็นความยากจนแล้ว ในระดับตึก อาคาร หรือถนนหนทางทั้งหลายล้วนแต่มีแรงงานคอยดูแลทำให้สิ่งต่างๆ อยู่ในระเบียบเรียบร้อย แต่ในทางกลับกัน คนที่ทำหน้าที่รักษความสะอาด ดูแลและใช้แรงกายในการรักษาความงดงามให้กับเรานั้น กลับแทบไม่มีพื้นที่ หรือแทบไม่ปรากฏตัวให้เราเห็นเลย ช่วงหนึ่งมีโปรเจกต์ที่นำเสนอภาพแม่บ้านงีบหลับในที่แคบๆ มีคำถามว่าป้าๆ ลุงๆ กินข้าวที่ไหน พักผ่อนที่ไหน
ไม่น่าดีใจเท่าไหร่ที่เราดูจะคุ้นเคยกับความยากจนและความเหลื่อมล้ำกันจนกลายเป็นเรื่องปกติ และยิ่งน่าเศร้าเมื่อกลายเป็นว่าไทยเราติดอันดับเหลื่อมล้ำที่สุดในปี 2018 ไม่กี่ปีที่ผ่านมา Credit Suisse Global Wealth รายงานว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุด ในรายงานดังกล่าวระบุว่า 10% ของคนที่ยากจนที่สุดของไทยถือครองทรัพย์สิน 0% แถมยังเป็นหนี้ ในขณะที่คนครึ่งหนึ่งของประเทศเป็นคนจนถือครองทรัพย์สิน 1.7% ของทั้งหมด ในขณะที่ทรัพย์สินและความมั่งคั่ง 85.7% ไปกองอยู่กับคนแค่ 10% ที่อยู่ด้านบน
แปลว่าบ้านเราที่บอกว่าไม่ค่อยรักทุนนิยม แต่ผลที่ออกมาก็ดูจะเป็นไปตามครรลองทุนนิยม คือคนที่รวยก็ยิ่งรวยขึ้นไป คนที่จนก็จนลงเรื่อยๆ ส่วนแบ่งความมั่งคั่งค่อยๆ ไหลขึ้นไปสู่คนที่รวยอยู่แล้ว ให้สะสมเพิ่มทุนได้ต่อไปเรื่อยๆ
เราน่าจะเลยยุคที่บอกว่าเพราะคนจนนั้นขี้เกียจไง ก็เลยจนขึ้น แต่กระบวนการสะสมทุนในโลกทุนนิยมนั้นมีความซับซ้อน และแน่นอนว่าโลกของทุนนิยมก็เหมือนการลงทุน คือคนที่มีทุน ย่อมสามารถสะสมทุนได้ดีกว่า มีแต้มต่อมากกว่า มีโอกาสในชีวิตมากกว่า ไอ้ความฝันแบบที่ปากกัดตีนถีบนั้น ดูจะเป็นเรื่องเล่าของคนส่วนน้อยและบางครั้งก็อาจจะเล่าไม่หมด มีงานศึกษาจาก Harvard และ UC Berkeley บอกว่า 40% ของเด็กที่ยากจน จะโตขึ้นแล้วจนเหมือนเดิม
ในโครงการวิจัยชุดความเหลื่อมล้ำและคนจนเมือง ของ สกว. เมื่อปี 2560 ก็รายงานว่าการขยายตัวของเมืองนำไปสู่ปัญหาเรื่องความยากจน เกิดเป็นกลุ่มคนที่นักวิจัยเรียกว่า ‘คนจนเมือง’ งานวิจัยชุดนี้ชี้ให้เห็นมิติของ ‘คนจน’ ว่ามีความหลากหลาย มีคนจนหลายรูปแบบที่กระจุกอยู่ในเมืองนี้ด้วยเหตุผลต่างๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นคนจนเชิงรายได้ คนจนที่อยู่ดั้งเดิมในพื้นที่ แรงงานอพยพ และกลุ่มคนชายขอบ ด้วยความยากจนนี้เองทำให้คนจนเหล่านี้ขาดการเข้าถึงสิทธิ ขาดอำนาจต่อรอง เป็นกลุ่มคนล่องหนและมักถูกขับไสออกไปจากพื้นที่
เรื่องความยากจนเป็นทั้งเรื่องเป็นรูปธรรมและนามธรรมไปพร้อมๆ กัน ในแง่ของเมือง ความจนสัมพันธ์กับการมีชีวิตที่ดี การเข้าถึงทรัพยากรพื้นฐาน การมีบ้านที่ดี มีบริการสาธารณสุข ไปจนถึงบริการพื้นฐานที่คนๆ หนึ่ง ครอบครัวๆ หนึ่งพึงมีเพื่อชีวิตที่ดี
ในขณะเดียวกันความยากจนก็เป็นเรื่องของการเมือง เป็นเรื่องของการกระจายอำนาจ การมองเห็นคนในฐานะพลเมืองโดยถ้วนหน้าและเท่าเทียมกัน การเปิดโอกาสในชีวิตและการใช้ชีวิต เพื่อทำให้การเล่นเกมในโลกของการสะสมทุนที่แสนจะไม่เป็นธรรมนี้ เป็นเกมที่พอจะยุติธรรมมากขึ้น
ในที่สุดแล้ว การ ‘มองเห็น’ คนจน และเลิกผลักภาระความจนให้กลายเป็นเรื่องส่วนบุคคล ก็ดูจะเป็นกระบวนสำคัญที่เราจะช่วยให้ความเหลื่อมล้ำลดทอน บางเบาลงบ้าง แนวคิดเช่นสิทธิขั้นพื้นฐาน สาธารณูปโภคพื้นฐาน การศึกษา สวน ห้องสมุด เรื่องซ้ำๆ ที่ฟังกันจนเบื่อก็ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ชีวิตคนดีขึ้น ช่วยให้การไต่บันไดชนชั้นเป็นไปได้มากขึ้น
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Montree Sommut
- Vanat Putnark
Writer