CITY CRACKER

ประวัติศาสตร์และความเป็นประชาธิปไตยในการประกวดแบบ

เวลาที่เราจะสร้างตึก หรือสร้างอาคารขนาดใหญ่ ถ้าเป็นบ้านเราถึงเวลาก็มักจะลงมือสร้างกันไปเลย แน่นอนว่าการลงทุนสร้างตึกสักตึกเป็นเรื่องใหญ่ด้วยตัวมันเอง และหลายครั้งที่ตึกอาคารนั้นๆ เข้ามามีผลกระทบทั้งกับบริบทเดิม ผู้คน จนถึงภูมิทัศน์ตัวตนของเมืองโดยรอบ ในหลายประเทศการจะสร้างสิ่งลูกสร้างขึ้นมาสักหนึ่งสิ่งจึงเป็นเรื่องที่ต้องพิถีพิถัน ดังนั้นการ ‘ประกวดแบบ’ – อันหมายถึงการประกวดแบบทางสถาปัตยกรรมจึงเกิดขึ้น โดยการประกวดแบบคือการแข่งขันที่จะเปิดโอกาสให้นักออกแบบเสนอความคิด เสนอแบบแปลนที่สัมพันธ์กับโจทย์ที่เจ้าของโครงการตั้งไว้ และมีกระบวนการคัดเลือกที่หลายครั้งมีการโหวตของสาธารณชนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ความคิดพื้นฐานที่ว่าอาคาร สถานที่ และสิ่งปลูกสร้าง ที่จะกลายเป็นพื้นที่ที่สัมพันธ์กับสาธารณชนและมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในมิติด้านการมีส่วนร่วม การเปิดประกวดแบบจึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ผู้ประกวดจะได้ ‘งาน’ หรือไอเดียที่หลากหลายจากแข่งขันนี้ ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการ นักออกแบบ และสตูดิโอต่างๆ ก็ได้รับโอกาสที่จะเข้าร่วม- อย่างน้อยก็โดยเสมอกันในระดับหนึ่ง คือโอกาสที่คณะกรรมการหรือสาธารณชนได้เห็นความคิดและฝีมือของตัวเอง

ในแง่นี้การออกแบบ วางแผน และก่อสร้าง การจัดประกวดแบบดูจะเป็นกิจกรรมหนึ่งที่เป็นเหมือนการ ‘รับฟังความเห็น’ โดยรวมในรอบแรก ประกอบกับการแข่งขันที่เปิดโอกาสมากกว่าการจ้างงานแบบปิด การจัดประกวดแบบทางสถาปัตยกรรมจึงดูเป็นกิจกรรมส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งถ้ามองที่บ้านเราอาจจะด้วยความที่เราไม่ชอบการแข่งขันเท่าไหร่ แต่ถ้าเราพิจารณาแนวคิดและวิธีปฏิบัติของการประกวดแบบ ทั้งเป้าหมายเพื่อการได้งานที่ดีที่สุด และการมองเห็นว่าสิ่งปลูกสร้างมีความสัมพันธ์สาธารณชน การประกวดแบบก็ดูจะเป็นกระบวนการที่น่าสนใจ นอกจากเพิ่มโอกาสให้ได้งานที่ยอดเยี่ยมแล้ว การประกวดแบบยังเหมือนกับการแข่งขันอื่นๆ ที่หลายครั้งนำไปสู่ความเคลื่อนไหวของวงการสร้างสรรค์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

แน่นอนว่าสตูดิโอใหญ่ระดับโลก ผลงานล้ำสมัย ไปจนถึงงานที่ท้าทาย การสร้างตัวตนใหม่ๆ ของแต่ละพื้นที่ในสถาปัตยกรรมจำนวนมากต่างเกิดขึ้นจากการประกวดแบบ กิจกรรมการประกวดแบบอาจฟังดูเป็นเทรนด์ของโลกสมัยใหม่ แต่อันที่จริงแล้ว การประกวดแบบเป็นสิ่งที่เราทำกันมานานกว่าสองพันห้าร้อยปี อย่างการประกวดแบบครั้งแรกที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ และในการสร้างตึกอาคารสำคัญ ผลงานหลายๆ ชิ้นได้กลายเป็นหมุดหมายทางศิลปะและแลนด์มาร์กของเมืองเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นมหาวิหารแห่งดูโอโมที่ฟลอเรนซ์ ทำเนียบขาว โรงละครโอเปร่า สถานีรถไฟกลางของอิตาลี สนามบินคันไซ จนถึงหอสมุดอเล็กซานเดรียใหม่ ล้วนผ่านการประกวดแบบกันมาทั้งสิ้น

 

A' Design Award & Competition | Como Italy
visitcomo.eu

ฟื้นฟูหลังเปอร์เซียรุกราน การประกวดแบบครั้งแรกในสมัยเอเธนโบราณ

หลายครั้งที่ต้องย้อนอดีต อะไรต่างๆ จะต้องเริ่มที่ยุคกรีกโบราณ การประกวดแบบเองก็เกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ 2500 ปีที่แล้ว ราว 500 ปีก่อนคริสตกาล แถมการประกวดแบบครั้งแรกยังสัมพันธ์กับการฟื้นฟูจากไฟสงครามของราชาเปอร์เซียนามเซิร์กซีส (Xerxes) กษัตริย์รสนิยมประหลาดที่เรามักเห็นได้จากเรื่อง 300 rise of an empire หรือ 300 มหาศึกกําเนิดอาณาจักร

การประกวดแบบในยุคกรีกโบราณอย่างที่เราเห็นในเรื่อง 300 มหาศึกกําเนิดอาณาจักรนั้น มีช่วงหนึ่งที่ชาวกรีกถูกรุกรานโดยเปอร์เซีย ในตอนนั้นพอถูกกษัตริย์เซิรืกซีสพิชิตกรุงเอเธนได้ และปกครองได้ไม่นานก็ถูกขับไล่ออกจากกรีก หลังจากเป็นเอกราชได้แล้วชาวเอเธนจึงพบว่า สิ่งปลูกสร้างและเมืองได้รับความเสียหายไปหลายส่วน ดังนั้นพอสภากรีกและตัวรัฐเริ่มเข้มแข็ง กรุงเอเธนเลยต้องการซ่อมแซมเพื่อฟื้นฟูสิ่งปลูกสร้างและพื้นที่เมืองขึ้น ซึ่งวิธีการในตอนนั้นได้ใช้การจัดประกวดระดมความเห็น และงานออกแบบจากประชาชนและภาคส่วนต่างๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการซ่อมแซม

ในตอนนั้นทางสภากรีกโบราณได้จัดการประกวดให้สถาปนิกและวิศวกรเสนอโครงสร้างงานออกแบบขนาดใหญ่เพื่อแสดงถึงชัยชนะ และนำพาความมั่งคั่งเข้าสู่กรุงเอเธน โดยโจทย์คือการซ่อมแซมและฟื้นฟูตัววิหารใหม่นี้ขึ้นจากวิหารของเทพีอาธีน่าเดิมที่พังเสียหาย ซึ่งในการประกวดแบบครั้งแรกนั้น เป็นการฟื้นฟูวิหารอันเป็นส่วนสำคัญของอะโครโพลิส (Acropolis) หลังจากนั้นในสังคมกรีกโบราณก็ได้มีการจัดประกวดแบบและรับฟังความคิดจากประชาชนเสมอมา อาจกล่าวได้ว่าความยิ่งใหญ่ของอะโครโพลิสอันเป็นหัวใจของมหานคร มีรากฐาน มีการประกวดแบบ มีเสียง และความสามารถของผู้คนร่วมในความเฟื่องฟูของศูนย์กลางอำนาจเสียดฟ้านั้น

ความนิยมในการประกวดแบบที่หลายส่วนสัมพันธ์กับสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่และสัมพันธ์กับเมือง ตัวตนและผู้คนอย่างลึกซึ้งในที่สุดการประกวดแบบที่เคยเฟื่องฟูในยุคคลาสสิกก็คลายความนิยมลงพร้อมๆ กับอำนาจของอารยธรรมกรีกโบราณที่เริ่มเสื่อมถอยลง แต่หลังจากนั้นเช่นยุคกลางจนถึงยุคเรอเนซองส์ ก็ยังมีการประกวดแบบในการสร้างอาคารสำคัญกันเรื่อยมา

 

How the Ancient Greeks Designed the Parthenon to Impress—And Last - HISTORY
history.com

 

มหาวิหารดูโอโม ตำนานวัตกรรมโดมยักษ์ที่ได้คำตอบจากการแข่งขันของผู้คน

หลังกรีกล่มสลาย อารยธรรมและความเฟื่องฟูของทางตะวันตกก็ค่อนข้างซบเซาลงจากการเมือง จนกระทั่งเมื่อการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ การก่อสร้าง และศิลปะ โดยเฉพาะศิลปะคลาสสิก ประกอบกับรัฐต่างๆ ทางตะวันตกกลับมาเข้มแข็งด้วยอิทธิพลของศิลปะกรีกโรมัน ความก้าวหน้าและวิทยาการที่เริ่มเฟื่องฟูของยุคแสงสว่าง รัฐหรือเมืองที่เริ่มแข็งแรงก็เริ่มสร้างงานสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่ขึ้นเพื่อแสดงแสนยานุภาพของตน ในยุคแห่งการสรรค์สร้างนั้น การประกวดแบบทางสถาปัตยกรรมได้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง ซึ่งในหลายครั้งนั้นความฝันของผู้สร้างก็ยิ่งใหญ่ไปถึงข้อจำกัดของความรู้และวิทยาการในขณะนั้น การประกวดแบบนี่แหละที่ช่วยแก้ปัญหาสำคัญ และกลายเป็นงานออกแบบประดับโลกใบนี้ต่อมา

มหาวิหารดูโอโมแห่งฟลอเรนซ์ งานสถาปัตยกรรมระดับไอคอน มหาวิหารสีขาวอันเกรียงไกรจนกลายเป็นฉากหลังที่เรารู้จักทั้งจากแอสซาซินครีต หรือกลายเป็นตัวแทนความรุ่งเรืองอิตาลีเอง ตัวมหาวิหารจึงสัมพันธ์และคาบเกี่ยวกับการฟื้นฟูศิลปะวิทยา ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม และการเติบโตขึ้นของกิลด์หรือกลุ่มวิชาชีพ โดยตัววิหารเป็นเมกะโปรเจกต์ที่ใช้เวลาสร้างในหลักร้อยปี และในความทะเยอทะยานเป็นผลให้มนุษย์เจอกับข้อจำกัด ในที่สุดก็เอาชนะปัญหาได้ด้วยการเปิดการแข่งขันประกวดแบบ

มหาวิหารดูโอโม สิริรวมแล้วเป็นสถาปัตยกรรมที่ใช้เวลาก่อสร้างไป 142 ปี ตัววิหารเริ่มสร้างตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 13 เป็นสถาปัตยกรรมแบบโกธิกที่มีโดมขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง จุดติดสำคัญหนึ่งของการปลูกสร้าง คือในแปลนที่วางให้มีโดมยักษ์ตรงกลางที่มีฐานกำแพงค่อนข้างกว้าง ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีเทคโนโลยีที่จะออกแบบและสร้างให้โดมใหญ่ตามผังที่วางไว้ได้

 

beebreeders.com

 

 

การประกวดแบบของมหาวิหารนี้ด้วยความที่รายละเอียดเยอะ ทำให้การก่อสร้างวิหารมีเส้นทางยาวนาน เพราะสัมพันธ์กับบริบทช่วงปลายยุคกลางต่อเนื่องจนถึงยุคสมัยใหม่ ที่การชะงักงัน การเปลี่ยนผู้อุปถัมภ์ และการเข้ามาร่วมของสถาปนิกนักออกแบบจำนวนมาก การประกวดแบบก็เลยค่อนข้างมีหลายส่วน แต่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 15 (ราวปี 1400-1420) ถือเป็นช่วงสำคัญที่มีการใช้การประกวดแบบเข้ามาช่วยแก้ปัญหา แน่นอนว่าการประกวดแบบที่สำคัญคือการประกวดเพื่อแก้เรื่องโดม ซึ่งฟีลิปโป บรูเนลเลสกี (Filippo Brunelleschi) สถาปนิกผู้ซึ่งภายหลังได้สมญาว่าเป็นบิดาของสถาปัตยกรรมเรอเนซองส์ก็เสนอความคิดที่ปฏิวัติวงการ คือการสร้างโดมซ้อนกันสองชั้นพร้อมโครงสร้างลดแรงแบบพิเศษ และได้รับโครงการสร้างโดมไป

ตามตำนานเล่าว่าในการประชุมของเหล่าช่าง สถาปนิก และผู้เกี่ยวข้องของการแข่งขัน ทางบรูเนลเลสกีไม่ได้เอาผังหรือแบบแปลนอะไรเข้ามาประกวด แต่กลับนำไข่เข้ามาหนึ่งใบและท้าทายให้คนในที่ประชุมทำไข่ใบนี้ตั้งตรงขึ้นได้ แน่นอนว่าไม่มีใครทำได้ ในที่สุดเฮียแกก็ทุบไข่ลงกับโต๊ะ และนำเปลือกไข่สองใบซ้อนกัน ในตอนนั้นที่ปรึกษาและนายช่างทั้งหลายต่างทักท้วงว่าจะทำกับมหาวิหารแบบเดียวกับไข่นี้ไม่ได้ แต่งบรูเนลเลสกีตอบอย่างมั่นใจว่าทำได้

ความสนุกของตอนนั้น คำว่า ‘การแข่งขัน’ ได้เป็นส่วนหนี่งของการแข่งขันที่รวมทั้งการออกแบบ เช่นรูปแบบหรือแปลน ไปจนถึงการแข่งขันเชิงเทคนิคของช่างฝีมือ ซึ่งในการแข่งขันสำคัญ การสร้างมหาวิหารนี้มีการประกวดสองครั้ง และจริงๆ มีผู้เข้าแข่งขัน อารมณ์เป็นสถาปนิก- สำนักช่างใหญ่ๆ สองคนที่เข้าฟาดฟันกันคือโลเรนโซ กีแบร์ตี (Lorenzo Ghiberti) ปรมาจารย์และช่างทองคำคนสำคัญ และฟีลิปโป บรูเนลเลสกี (Filippo Brunelleschi) นี่แหละ

ในการแข่งขันรอบแรก กีแบร์ตีชนะการประกวดและได้งานประตูสำริดไป ทีนี้ในการก่อสร้าง ด้วยความที่ทางผู้ว่าจ้างและเหล่าผู้เกี่ยวข้องกับการสร้างมหาวิหารไม่ค่อยไว้ใจบรูเนลเลสกี จึงจัดคู่แข่งเข้ามาร่วมทำงานสร้างโดมซะเลย ผลคือคู่แข่งตลอดกาลกลับได้เรียนรู้ฝีมือและยอมรับบรูเนลเลสกีจากการทำงานร่วมกันในครั้งนั้น

 

 

 

ถ้าเรามองความเกรียงไกรของรัฐ ของสถาปัตยกรรม และของอารยธรรม ภาพมหาวิหารดูโอโมที่ทอดตัวขึ้นตัดกับสีฟ้างดงามนั้น แง่หนึ่งการปฏิวัติทางความคิด กระทั่งการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ หลายส่วนคือการระดมความสามารถ ความคิดจากคนธรรมดา จากพลเมือง จากช่างทักษะที่ต่างก็มีมุมมอง มีความสามารถหลากหลายที่เข้ามาร่วมใช้การเปิดประกวดแข่งขัน- ในฐานะสนามเพื่อแสดงฝีมือและร่วมแก้ปัญหาที่ใหญ่ระดับรัฐได้ ทั้งโดม ทั้งประตูสำริดก็ล้วนมีความคิด มีสติปัญญา และมีร่องรอยลายมือของผู้คนที่ร่วมออกแบบพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์นี้

ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของการประกวดแบบจึงดูเป็นสิ่งที่ทางตะวันตกค่อนข้างเป็นที่นิยม ทั้งในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ซึ่งโมเดลนี้ก็อาจซบเซาไปบ้าง โดยเฉพาะสมัยสงครามโลกกระทั่งยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลายประเทศโดยเฉพาะฝรั่งเศสมองเห็นว่าการจัดแข่งขันประกวดแบบเป็นช่องทางสำคัญในการผลักดันไปสู่นวัตกรรมของวงการสถาปัตยกรรม และที่สำคัญคือความคิดที่เปลี่ยนแปลงไป อันมองว่าส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมรวมถึงกฏหมายต่างมีผลประโยชน์ของสาธารณะเป็นที่ตั้ง ดังนั้นด้วยแรงหนุนทั้งหมดทำให้การประกวดแบบทางสถาปัตยกรรมกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมยุโรป

ทีนี้มีข้อสังเกตว่าการประกวดแบบไม่ค่อยเป็นที่นิยมในเอเชียเท่าไหร่ ถ้าจะมีก็มีประเทศญี่ปุ่นที่ใช้การประกวดแบบเพื่อผลักดันวงการ นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ที่เริ่มใช้การประกวดแบบ ซึ่งญี่ปุ่นเองเริ่มจัดประกวดแบบอย่างแพร่หลายตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 ที่ได้ใช้การประกวดแบบ ใช้การก่อสร้าง และการออกแบบเพื่อแสดงถึงการเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่นเดียวกัน

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

beebreeders.com

99designs.com

bluprint.onemega.com

competition.adesignaward.com

ciaoflorence.it

 

Share :