CITY CRACKER

ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของการเล่นว่าว ตัวตนและความสำคัญของพื้นที่สาธารณะในเมือง

หลายคนเริ่มบอกว่าลมหนาวพัดมาแล้ว ฤดูหนาวสำหรับเขตร้อนอย่างเราเป็นเหมือนห้วงเวลาอันแสนมหัศจรรย์ เป็นช่วงหมดฝน ดอกไม้ใบไม้เริ่มผลิบาน กลิ่นของฤดูหนาว สายลมแห้งๆ แดดแรงๆ ทำให้เราอยากออกไปใช้เวลาอยู่กลางแจ้ง จากที่ช่วงฤดูก่อนหน้าที่ทำไม่ค่อยได้

ในโอกาสที่ลมหนาวมาถึง และสนามหลวงเปิด วัฒนธรรมการเล่นว่าวจึงเป็นกิจกรรมที่อาจกลับมามีชีวิตอีกครั้ง พร้อมๆ กับการกลับมาของสนามหลวง ถ้าเรามองว่าวในฐานะกิจกรรมและภูมิปัญญา ว่าวถือเป็นนวัตกรรมที่สัมพันธ์กับความเป็นเอเชีย สัมพันธ์กับความเป็นเมืองและความเป็นชุมชน ซึ่งตัวพื้นที่สาธารณะเอง ถ้าเคยดูหนังเรื่อง The Kite Runner ตัวเรื่องได้ใช้การเล่นว่าวแสดงถึงความรุ่งเรืองและล่มสลายของกรุงคาบูล เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมชาวอัฟกัน ในทำนองเดียวกันสนามหลวงของเราก็มีว่าวเป็นเครื่องประดับที่ล่องลอยอยู่บนฟ้า อย่างน้อยที่สุดก็ราวรัชกาลที่ 4-5 ที่มีบันทึกการเล่นว่าวของชาวบ้านเอาไว้

วัฒนธรรมการเล่นว่าวจึงเกี่ยวข้องกับเมือง และพื้นที่สาธารณะอย่างใกล้ชิด อย่างแรกคือว่าวเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ สำหรับในเมืองย่อมหมายถึงการมีสนามหรือลานขนาดกว้าง ในอีกด้านการเล่นว่าวก็เป็นการทำให้ผู้คนออกมาใช้ชีวิตสาธารณะ นำไปสู่กิจกรรมที่ดึงคนแปลกหน้าให้เข้ามาเชื่อมต่อซึ่งกันและกัน ว่าวในฐานะวัฒนธรรมของเอเชียที่สืบสาวไปได้ถึงยุคจีนโบราณ เลยเป็นรากเหง้าที่หยั่งลงลึกและล่องลอยขึ้นสู่ขอบฟ้า และเป็นเครื่องประดับเมืองของประชาชน

silpa-mag.com

 

จุดเริ่มของว่าว: กองทัพ นักปรัชญา และช่างไม้ในตำนาน

ทุกวันนี้วัฒนธรมว่าวดูจะเลือนๆ จากความรู้สึก และเป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยพบเห็น ถ้าบอกว่าจะไปเล่นว่าว สำหรับปี 2020 เราเองก็คงจะงง ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ไปซื้อหรือทำว่าวที่ไหน สมัยก่อนตอนเด็กๆ เราอาจพอจำได้ว่าพ่อเรานั้นกระทั่งทำว่าว ขึ้นโครง ลงแป้งเปียกด้วยตัวเอง หลายครั้งมีการพูดถึงการทำด้ายสายป่านให้คมด้วยเทคนิคเช่นใช้เศษแก้วมาบดผสม- ซึ่งก็จริงจังและโลดโผนตามประสาผู้ชาย เป็นการเล่นว่าวที่มีการต่อสู้เป็นสงครามย่อยบนท้องฟ้า ตัดว่าวของคู่แข่งให้หลุดลอยไป

ถ้ามองอย่างคร่าวๆ เราอาจรู้สึกว่าว่าวเป็นกิจกรรมของชาวเอเชีย อาจด้วยภูมิอากาศ ลักษณะของลม ซึ่งก็จริงบางส่วนเพราะวัฒนธรรมเอเชียนั้น มีหลักฐานการประดิษฐ์และใช้ว่าวมานับพันปีแล้ว แต่อย่าลืมว่าในเรื่องเล่าร่วมสมัย โดยเฉพาะในกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ การค้นพบเรื่องไฟฟ้าก็มีว่าวเป็นส่วนประกอบสำคัญ ซึ่งในปัจจุบันว่าวเองคือเครื่องมือสำคัญในการเก็บค่าข้อมูลต่างๆ และวัดทิศทางลม

การประดิษฐ์และใช้ว่าวในยุคแรกๆ ดูจะเป็นเรื่องของการใช้งานก่อนจะนำมาสู่การสันทนาการ ตรงนี้นักประวัติศาสตร์บอกว่า แต่ละชนชาติวัฒนธรรมต่างพัฒนาว่าวและวัฒนธรรมการเล่นว่าวของตนเองขึ้น ที่เก่าแก่ที่สุดเป็นวัฒนธรรมจีน นักประวัติศาสตร์บางรายระบุว่าวัฒนธรรม และการประดิษฐ์ว่าวในจีนมีมาตั้งแต่ 1000 ปีก่อนคริสตกาล บ้างก็ชี้ไปที่ยุคเลียดก๊ก (400 ปีก่อนคริสตกาล) อันเป็นยุคสุดท้ายของจีนยุคสงครามจีนโบราณ

ตามหลักฐานระบุว่าม่อจื๊อ นักปรัชญาสำคัญยุคต่อจากขงจื้อร่วมกับหลู่ปัน (Lu Ban) ปรมาจารย์ด้านการช่างไม้ ร่วมกันประดิษฐ์ว่าวขึ้น (นอกจากว่าวแล้ว ลูแบนได้รับการยกย่องว่าประดิษฐ์ร่มคันแรกจากที่ต้องใช้ใบบัวบังฝน แถมยังออกแบบเก้าอี้ ล็อคและเครื่องมืออื่นๆ อีกมากมายไว้ให้สานุชนชาวจีนและโลก) โดยการออกแบบว่าวในยุคแรกใช้ผ้าและไม้ขนาดเบา และเน้นการลอกเลียนวิธีการบินร่อนของนก

ด้วยความที่ยุคจีนโบราณเป็นยุคสงครามระหว่างแคว้น จุดประสงค์ของการคิดค้นว่าวในยุคจึงเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการด้านการทหาร และใช้ในการรบเป็นหลัก ว่าวถูกใช้เพื่อบอกระยะของค่ายของพลเดินเท้า (เมื่อมองจากพื้นดินก็เห็นว่ากองทัพ หรือพลทหารอยู่จุดไหน เป็นหน่วยอะไร) ใช้ในการบ่งบอกลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เป็นประโยชน์กับการรบอื่นๆ ทั้งระยะทาง ความเร็ว และทิศทางลม ซึ่งแต่เดิมว่าวเป็นสิ่งที่ใช้ในจีนอยู่พักใหญ่ จนกระทั่งการมาถึงของมาร์โคโปโล ทำให้วัฒนธรรมและเทคนิคการประดิษฐ์ว่าวเริ่มเป็นที่รู้จักและแพร่กระจายไปทั่วโลก

 

it.freepik.com

จากกองทัพสู่กิจกรรมในเมืองใหญ่

เมื่อบอกว่ามาจากจีน ประกอบกับสภาพภูมิอากาศแบบเอเชียที่คล้ายกัน (ประกอบกับนักประวัติศาสตร์บอกว่าหลายๆ ที่ประดิษฐ์ว่าว ดังนั้นแถบตะวันออกใกล้กันก็น่าจะมีว่าว) ด้วยความที่ภูมิปัญญาจีนหยั่งรากลึกแถบบ้านเรา เราเองจึงมีวัฒนธรรมว่าวไม่ต่างกัน กรุงเทพฯ มีวัฒนธรรมว่าวคู่สนามหลวง มาเลเซีย สิงคโปร์เองก็มีการเล่นว่าว และมีหน้าตาของว่าวที่โดดเด่นต่างกันออกไป

ในระยะแรกของบ้านเรานั้น เท่าที่มีบันทึกไว้ ว่าวดูจะเป็นเรื่องของพระมหากษัตริย์ เป็นเรื่องของชนชั้นปกครอง และไม่น้อยเป็นเรื่องของพิธีกรรม ย้อนไปเก่าที่สุดในสมัยสุโขทัย (ซึ่งหลักฐานไม่ชัดเจน) มีการพูดถึงสมัยพระร่วงในฐานะพญา หรือผู้ปกครองที่โปรดการเล่นเบี้ยและเล่นว่าว มีเรื่องเล่าถึงขนาดว่าทรงโลดโผนจนว่าวไปตกฝั่งตองอู ในยุคนั้นเองชาวบ้านมีการพูดถึง ‘ว่าวหง่าว’ เป็นว่าวที่ใช้ขึ้นในพิธีแคลง ในสมัยนั้นเชื่อกันว่าจะช่วยเรียกลมและความโชคดีให้กับเมือง

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเริ่มมีบันทึกชัดเจนขึ้น เช่นมีกฎมณเฑียรบาลห้ามขึ้นว่าวข้ามพระราชวัง ในจดหมายเหตุลาลูแบร์กล่าวถึงการเล่นว่าวในหมู่เจ้านายและขุนนาง ในยุคกรุงศรีเองที่ปรากฏคำว่า ‘ว่าวจุฬา’ ขึ้นเป็นครั้งแรก มีการใช้ในการสงครามคือผู้หม้อดินดำแล้วนำว่าวลอยไปตกใส่ในกำแพงฝั่งศัตรู เกิดเพลิงไหม้จนฝั่งอยุธยาสามารถนำกำลังบุกเข้าได้ ในชั้นหลังนี้ตามบันทึกต่างๆ จะอธิบายวัฒนธรรมว่าวของไทยว่าเป็นการละเล่นในทางโลกมากกว่าใช้ในพิธีกรรม

ตั้งแต่สมัยกรุงเก่า การละเล่นว่าวนั้นก็ดูนจะแพร่หลายและมีนวัตกรรมหลายอย่าง ตามหลักฐานพบว่ามีการวางหลักเกณฑ์การเล่นและแข่งขันว่าว มีนายสนาม มีกติกาและแบบแผนการเล่น เช่นการแข่งว่าวจะแบ่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งใช้ว่าวปักเป้าอีกฝ่ายใช้ว่าวจุฬา ฝ่ายว่าวจุฬาจะเป็นฝ่ายวิ่งเพื่อให้สายว่าวของปักเป้าติด ‘จำปา’ อาวุธของว่าวจุฬาจนขาดหลุดไปที่สุด ในความจริงจังของการแข่งว่าวนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการพนันว่าว ซึ่งยุคนั้นถือกันว่าการพนันว่าวเป็นเรื่องปกติ ทำให้การแข่งขันสนุกสนาน ออกรสออกชาติกว่าการแข่งเล่นกันเฉยๆ มาก

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเรื่องลมว่าวและฤดูว่าวในสมัยโบราณนิยมเล่นกันในหน้าหนาว ในคำให้การชาวกรุงเก่าพูดถึงเดือนอ้าย (เดือนธันวาคม) ที่มีพิธีแครง ยกว่าวหง่าวเพื่อเรียกลม ในหนังสือปฐม ก กา ก็พูดถึงลมว่าวว่าเป็นลมที่ “หนาวกล้า ต้องห่มผ้าผวย” ทั้งคำว่าลมว่าวในภาษามอญยังหมายถึงลมหลาวอีกด้วย ส่วนหนึ่งด้วยในเมืองในตอนนั้นค่อนไปทางเหนือ การเล่นว่าวต้องอาศัยลมหนาว ด้วยลมหนาวนั้นว่ากันว่าสามารถปล่อยว่าวเช่นว่าวแครงนั้นไว้ได้ทั้งคืนโดยไม่ตกเลย แต่ช่วงหลังนั้นพอเกิดเป็นเมืองบางกอกขึ้น โดยภูมิศาสตร์ต้องอาศัยลมตะเภาซึ่งพัดจากทางใต้ขึ้นไปทางเหนือ ในขณะที่ทางเหนืออีสานจะอาศัยลมหนาวที่พัดจากทางเหนือลงใต้เป็นสำคัญ

 

patrys.nu

 

สำหรับกรุงเทพฯ เอง สมัยรัตนโกสินทร์มีบันทึกชัดเจนอย่างน้อยก็ในสมัยรัชกาลที่ 4 ในสมัยพระจอมเกล้านั้นมีการออกประกาศมากมายซึ่งส่วนใหญ่ก็ว่าด้วยชีวิตในพระนคร หนึ่งในประกาศนั้นก็มีประกาศเรื่องการเล่นว่าว เนื้อความประกาศก็พูดว่าให้นักเลงว่าวเล่นว่าวได้ แต่ขอให้เล่นในที่คือสนามหลวงทรงประกาศว่า‘ให้เล่นแต่ตามท้องสนามหลวงที่ว่างเปล่า ไม่ห้ามปรามดอก ให้เล่นเถิด แต่อย่าให้สายป่านว่าวไปถูกเกี่ยวข้องพระมหาปราสาท พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ช่อฟ้าใบระกา พระมหามณเฑียร พระที่นั่งในพระบรมมหาราชวัง’ กล่าวคือคงมีการเล่นว่าวและทำให้เครื่องบน ช่อฟ้าใบระกาอันวิจิตรหักพังไป ซึ่งก็ทรงคาดโทษไว้เสร็จสรรพ์ ที่น่าพิจารณาคือด้วยคนคงชอบเล่นว่าวกันมาก ก็เลยทรงระบุและจัดให้สนามหลวงเป็นพื้นที่เล่นของสาธารณชนเพื่อแก้ปัญหา

ในสมัยรัชกาลที่ 5 การเล่นว่าว โดยเฉพาะที่สนามหลวงก็ยิ่งเฟื่องฟูและเป็นกิจลักษณะขึ้น ทั้งรัชกาลที่ 5 เองก็เสด็จทอดพระเนตรเห็นการเล่นว่าวที่สนามหลวง ทั้งยังโปรดการเล่นว่าว มีการจัดให้แข่ง คือแข่งว่าวปักเป้าจุฬา และเสด็จเป็นองค์ประธานแข่งขันทุกๆ ปี กระทั่งทรงร่วมแข่งขันด้วยพระองค์เองเป็นที่สนุกสนานแก่พระนครและนักเลงว่าว ในสมัยนั้นมีการพระราชสวมพวงมาลัยให้ผู้ชนะด้วยพระองค์เอง ทั้งยังมีแพรเกียรติยศปักพระปรมาภิไทยย่อ ภปร. พระราชทานให้ตัวว่าวที่ชนะการแข่งขัน โดยแพรนี้ประกอบด้วยสามสี ทอง ชมพู และทับทิม ในการแข่งขันมีการจัดปี่พาทย์บรรเลงประกอบการต่อสู้ของว่าวเป็นที่เร้าใจ

ด้วยความนิยมและกลายเป็นพระราชนิยมนี้ จากยุคนั้นเป็นต้นมา การแข่งและพนันว่าวก็กลายเป็นหนึ่งในกีฬาประจำของไทย การเฟื่องฟู (และหายไปของการเล่นว่าว) นั้นจึงสัมพันธ์ทั้งกับระวัติศาสตร์อันยาวนาน การเกิดขึ้นของเมืองใหญ่ที่ทำให้การเล่นว่าวต้องการพื้นที่สาธารณะ ไปจนถึงการนำวัฒนธรรมพื้นถิ่นเล่นสนุกจนกลายเป็นเกมกีฬา มีระเบียบ แบบแผน  เป็นความสนุกสนานและภูมิปัญญาชาวบ้านที่ได้รับการอุปถัมภ์โดยราชสำนัก

ในโอกาสนี้ ทั้งการมาถึงของลมหนาว และการกลับมาของสนามกลางพระนคร ก็หวังว่าหน้าหนาวนี้จะได้เห็นว่าวขึ้นประดับท้องฟ้า ได้ทิ้งตัวลงบนผืนหญ้า ฟังหวีดหวือของสายว่าวที่โบยบินอย่างอิสระกลางท้องฟ้ากระจ่างของฤดูหนาวกันอีกครั้ง

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

chinahighlights.com

windowstoworldhistory.weebly.com

kite.org

saranukromthai.or.th

9ddn.com

sites.google.com

Illustration by Montree Sommut
Share :