ฤดูหนาวกำลังย่างกรายเข้ามา เราเริ่มสัมผัสลมเย็นๆ ยามเช้า ท้องฟ้าเริ่มสดใสมากขึ้น ไหนจะกลิ่นของดอกตีนเป็ดที่เริ่มโชยมาเตะจมูก เป็นอีกหนึ่งกลิ่นของฤดูหนาว เป็นกลิ่นอันแปลกประหลาดลี้ลับที่ชวนงุนงงสงสัย จะหอมก็ไม่ เหม็นก็ไม่เชิง
ต้นตีนเป็ด- ต้นพญาสัตบรรณ เป็นอีกหนึ่งต้นไม้สำคัญในเมืองใหญ่ เรามักเริ่มได้กลิ่นตั้งแต่ราวๆ เดือนตุลา หรือเวลาไปลอยกระทงเดือนพฤศจิกายน เป็นกลิ่นที่นำมาซึ่งการถกเถียง บางคนก็ชอบบางคนก็แสนจะเกลียด พญาสัตบรรณเป็นต้นไม้เมืองร้อน โตง่าย ทนทาน ใบหนาให้ร่มเงาได้ดี จึงไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ เท่านั้นที่ปลูก (และมีปัญหากับกลิ่นประหลาดนี้) ที่กรุงเดลีของอินเดียเองก็มีประเด็นกับเจ้ากลิ่นอวลในเมืองใหญ่นี้เช่นกัน
พญาสัตบรรณเป็นต้นไม้เก่าแก่ ตัวมันเองมีเรื่องเล่าตำนานเคียงคู่กับการเป็นต้นไม้ใหญ่ริมทาง ด้วยกลิ่นอันล้ำลึกทำให้มีฉายาว่าต้นไม้ของปีศาจ (devil tree) ในขณะที่ชื่อในภาษาสันสกฤตที่อินเดีย เรียกว่า Saptaparni ซึ่งก็เป็นรากศัพท์ความหมายเดียวกันกับคำว่า ‘สัตบรรณ’ อันหมายถึงใบไม้เจ็ดใบของไทยเป๊ะๆ ที่อินเดียส่วนใหญ่มองว่าต้นตีนเป็ดนั้นหอม ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Alstonia scholaris เหมือนกับคำว่า Scholar เป็นต้นไม้ที่เกี่ยวข้องภูมิรู้และสติปัญญา บางคนถึงกับบอกว่ากลิ่นของมันทำให้นักปราชญ์มีสมาธิและความแตกฉาน แต่สำหรับเมืองใหญ่ทั้งอินเดียและไต้หวันเองก็เกิดประเด็นปัญหาจากกลิ่นที่ฟุ้งเกินไปของพวกมันเหมือนกัน
สัปตะ- บรรณ /สัต- บรรณ รากลึกจากภาษาโบราณของต้นตีนเป็ด
เจ้าต้นตีนเป็ดฉุนๆ ที่เราดมกันจนชินนั้น มีรากและเรื่องราวที่ลึกซึ้งและยาวนานจากภาษาโบราณ ที่ทำให้เราฉุกใจว่าเอ้อ สัตบรรณ มันมีที่มีที่มาอย่างนี้นี่เอง ต้นพญาสัตบรรณนี้มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Alstonia scholaris เป็นไม้พื้นถิ่นของอินเดียและแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บ้านเรา เป็นไม้ที่ลึกลับและมีประวัติเท่อย่างประหลาด คือตัวมันมีฉายาที่ทั้งเรียกว่าเป็นต้นไม้ปีศาจ(Indian devil tree) ในขณะเดียวกันก็เรียกกันว่าเป็นต้นไม้แห่งโลกความรู้จากชื่อ scholaris ที่มีการใช้งานไม้เนื้อแข็งไปทำกระดานดำ
ความเท่และความเชื่อมโยงของเราทั้งทางพฤษศาสตร์และทางภาษากลับไปยังอินเดียคือ ที่อินเดียเองเรียกต้นพญาสัตบรรณว่า Saptaparni อ่านเผินๆ อาจจะรู้สึกว่าอินเดี๊ยอินเดีย แต่จริงๆ คือเป็นภาษาสันสกฤต คำเดียวกันกับคำว่าสัตบรรณเป๊ะ
คำว่า Saptaparni มีรากจากภาษาสันสกฤตสองคำคือ sapta- สัปป,สัตต ที่มีความหมายว่า 7 มีรากเดียวกันกับคำว่าสัปดาห์และเทือกเขาสัตบริภัณฑ์ ภูเขา 7 ชั้นในตำนานทางพุทธศาสตร์ หรือกระทั่ง sept ในภาษาละติน เช่นเดือน 7 ในปฏิทินโรมันดั้งเดิมคือ September ในขณะที่คำว่า parni ก็คือ ปรฺณ คำเดียวกันกับคำว่า บรรณ-พรรณ ที่แปลว่าใบ-ใบไม้ ความหมายโดยรวมของพรรณไม้นี้ก็แปลว่าใบไม้ 7 ใบ อันมีที่มาจากสันฐานของต้นไม้ ที่ช่อหนึ่งๆ มักมีใบทั้งหมด 7 ใบ ดังนั้นคำว่า สัตบรรณจึงมีความหมายเดียวกันกับที่อินเดียเรียก
กลิ่นอบอวลของยามสนธยา และต้นไม้แห่งภูมิรู้
ทีนี้ การที่ต้นพญาสัตบรรณที่อินเดีย หรือที่มีฉายาว่าเป็นต้นไม้แห่งภูติผี หรือไม้หอมของปีศาจ คือถ้าเราจำกลิ่นของตีนเป็ดได้ เราก็คงจะพอนึกภาพของกลิ่นอันแปลกประหลาดที่ดึงเราไปสู่สัมผัสพิเศษของหน้าหนาว คือสำหรับอินเดีย ที่ชอบกลิ่นแรงๆ ค่อนข้างมองว่าดอกตีนเป็ดนั้นหอมประหลาด และการส่งกลิ่นยามโพล้เพล้ของมันที่ทำให้ต้นไม้นี้ถูกโยงเข้ากับเรื่องลี้ลับเหนือธรรมชาติ
บางตำนานเล่าว่ากลิ่นหอมอวลของไม้นี้จะดึงดูดทั้งคนและสัตว์ให้เข้าไปสู่ร่มเงาของมัน และหลังจากนั้นสิ่งมีชีวิตใต้ร่มเงานั้นก็จะเข้าสู่การหลับไหลไปตลอดกาล ในขณะเดียวกันความหอมช่วงโพล้เพล้ไปจนถึงย่ำค่ำ ก็ถือเป็นช่วงเวลาของภูติพราย เลยทำให้ได้ฉายาผีๆ สางๆ ไปโดยปริยาย
จากเรื่องมูเตลูกลับมาสู่เรื่องวิทยาศาสตร์ – ชื่อทางวิทยาศาสตร์ของตีนเป็ดคือ Alstonia scholaris คำแรกตั้งตามคุณ Charles Alston นักพฤกษศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Edinburgh ของสก๊อตแลนด์ ความเก๋ก็เลยอยู่ที่ชื่อหลัง ที่ว่า scholaris คำนี้ก็มาจากละติน รากเดียวกับคำว่า scholar ที่แปลว่าอะไรที่เกี่ยวกับการศึกษา เป็นเรื่องการเรียน นักปราชญ์ ด้านหนึ่งอธิบาย ด้วยความที่ไม้นี้เป็นไม้เนื้อแข็ง หาง่าย จึงเป็นไม้ที่ถูกนำไปทำเป็นกระดานดำในโรงเรียน รวมไปถึงทำดินสอ เรื่อยไปจนถึงฝ้า เพดาน หรือแม้กระทั่งโลงศพ ตรงนี้เองที่อาจทำให้ไม้นี้คร่อมความหมายทั้งโลกแห่งความรู้และโลกวิญญาณ
Shiv Kumar Sharma ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพืช- Horticulturalist จากอินเดีย อธิบายอย่างเท่ๆ ว่าความวิชาการอีกด้านของเจ้าต้นนี้ คือเชื่อว่าไม้นี้เป็นไม้ของนักปราชญ์ เป็นต้นไม้สำหรับการครุ่นคิด กลิ่นของมันทำให้นักคิดที่ไปนั่งคิดนั้นเกิดสมาธิและภูมิรู้ที่แตกฉานในสรรพวิชาขึ้น ที่มหาวิทยาลัย Visva-Bharati จึงมีธรรมเนียมในการจบการศึกษาให้บัณฑิตรับช่อพญาสัตบรรณในฐานะตัวแทนของความเรียบง่ายและการเชื่อมโยงกลับสู่ธรรมชาติ พิธีดังกล่าวริเริ่มโดยรพินทรนาถ ฐากุร นักเขียนระดับตำนานของอินเดียและของโลก
ความหอมประจำเมืองที่แสนจะวุ่นวาย
จากกรุงเทพฯ ที่เราพูดถึงตีนเป็ดในเมืองใหญ่ ต้นพญาสัตบรรณกลายเป็นไม้พื้นถิ่นที่ถูกเลือกไปปลูกในเมือง ที่อินเดียโดยเฉพาะในกรุงเดลีเองมีการปลูกต้นพญาสัตบรรณจนได้รับฉายาว่าเป็นต้นไม้แห่งกรุงเดลี มีบันทึกว่ากรุงเดลีเริ่มปลูกตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1940s หลังจากนั้นต้นตีนเป็ดก็เลยกลายเป็นต้นไม้ประจำถนนหนทางในเมืองไปโดยปริยาย- และก็คล้ายบ้านเราคือคนจะงงๆ ว่ามันหอมไหม ชอบกลิ่นหรือเปล่า
แต่ดูเหมือนว่ากรุงเดลีจะค่อนข้างชอบความฉุน เพราะนอกจากจะวางฉายาว่าเป็นไม้ประจำเมืองแล้ว ยังถือเป็นความภูมิใจของเมือง (pride of Delhi) ด้วย ภูมิใจในความฉุนกันแบบภารตะอยู่ดีๆ ในปี 2006 ก็เกิดความขัดแย้งซะอย่างนั้น คือเริ่มมีการถกเถียงว่า เราควรจะปลูกหรือจัดการต้นพญาสัตบรรณในเมืองดีไหม เพราะมีรายงานว่ากลิ่นที่ฉุนเกินของมันอาจส่งผลเสียกับคนที่มีปัญหาเรื่องภูมิแพ้ เลยมีการทบทวนและระงับการปลูกตีนเป็ดเพิ่มเติมและหันไปพิจารณาไม้อื่นแทน
สำหรับอินเดียอาจจะก้ำกึ่ง และเป็นเรื่องสุขภาพ แต่ในบางประเทศเช่นที่ไต้หวัน ดูเหมือนว่าชาวไต้หวันจะไม่โปรดเจ้ากลิ่นหอมฉุนนี้อย่างรุนแรง ถึงขนาดมีสกู๊ปข่าวร้องเรียนลงหนังสือพิมพ์ รายงานร้องเรียนจากชาวเมือง Pingtung ว่า ทนกลิ่นของต้นไม้นี้ไม่ไหวแล้ว ผู้คนร้องเรียนถึงขนาดว่ากลิ่นของมันทำให้เวียนหัว คลื่นไส้ ตรงไหนมีต้นไม้ใกล้ห้องเรียนก็ถึงขนาดเรียนไม่รู้เรื่อง นอนไม่หลับ ทำชีวิตทุกข์ทรมาน ร้องเรียนให้ทางการช่วยตัดทิ้งออกไปหน่อยจ้า ซึ่งทางการบอกว่าจัดการลำบากเพราะต้นไม้แพร่พันธุ์ค่อนข้างเร็ว โตแตกหน่อไปตามที่ส่วนบุคคลบ้าง ริมทางบ้าง จะกำจัดก็ลำบาก
ต้นพญาสัตบรรณจึงไม่ได้เป็นประเด็นชอบหรือไม่ชอบ แต่บางครั้งกลิ่นของมันทำให้เมืองหันกลับมาเห็น มาสัมผัสรับรู้ต้นไม้ใบหญ้าภายเมืองสีเทาๆ นี้ พอเราได้กลิ่นตุ่ยๆ เราก็เริ่มสงสัยถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่รายล้อมอยู่ และเมื่อเราเห็นต้นไม้ที่ยืนต้นอย่างเงียบงันรอบๆ ตัว เราก็อาจพบเรื่องราวที่ไปไกลแสนไกล เห็นสิ่งมีชีวิตอื่น และเรื่องราวประวัติศาสตร์จากรากลึกอันยาวนาน เหมือนกับที่เราเห็นใบไม้ 7 ใบ เห็นการเติบโตและความขัดแย้งของเมือง ภายใต้กลิ่นอบอวลอันแปลกประหลาดที่มาเยี่ยมเราในทุกฤดูหนาวนี้
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Thitaporn Waiudomwut
- Vanat Putnark
Writer