CITY CRACKER

Heritage of Hua Lampong 6 จุดลับกับเรื่องราวที่ชวนให้นึกถึงสถานีรถไฟกรุงเทพฯ หัวลำโพง

จากเวลาร่วมเกือบร้อยปีที่สถานีสถานีรถไฟกรุงเทพ เปิดให้ใช้บริการ สถานีแห่งนี้มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มากมายซ่อนอยู่ผ่านอาคารและพื้นที่ตลอดหลายปีที่ใช้งาน ความสำคัญของสถานที่นี้จึงถูกเล่าผ่านอาคารและพื้นที่ที่ทั้งยังถูกใช้งานและบางส่วนที่ถูกยุติลงไปแล้ว

อาคารสถานีรถไฟกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ที่ถนนพระราม 4 ตรงหัวมุมสี่แยกหัวลำโพง หรือที่เราคุ้นเคยกันว่า ‘สถานีหัวลำโพง’ สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 5 เปิดใช้งานและเข้าสู่ยุครุ่งเรืองของการคมนาคมรถไฟในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 ก่อนได้รับการพัฒนามาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน ก่อนจะมีประกาศแผนพัฒนาโยกย้ายสถานีกลางไปยังบางซื่อแทนในปีหน้า

นอกจากตัวอาคารที่ทำหน้าที่รองรับผู้คนที่มาใช้ขนส่งสาธารณะนี้แล้ว ตัวพื้นที่ที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางของเมืองหลวงเองก็ได้ทำหน้าที่เชื่อมต่อผู้คนไปยังพื้นที่อื่นๆ ตั้งแต่จากต่างจังหวัดเข้ามาถึงกรุงเทพ ไปจนถึงการเชื่อมต่อย่านในกรุงเทพ อย่างพระราม 1 ตลาดโบ๊เบ๊ สาธร และช่องนนทรี ทำให้การเกิดชุมชนเข้ามาอาศัยในละแวกโดยรอบ แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาพื้นที่ของเมืองผ่านการคมนาคมรถไฟอย่างชัดเจน ตลอดจนผู้คนจำนวนมากที่ใช้บริการรถไฟไทยเป็นการสัญจรหลัก จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าอาคารสถานีรถไฟแห่งนี้เก็บรวมเรื่องราวและความทรงจำต่างๆ มากมายมาตลอดระยะเวลาเกือบร้อยปีที่เปิดใช้งาน

ก่อนที่สถานีรถไฟหลักของเราจะถูกปรับเปลี่ยนไป City Cracker ชวนดู 6 จุดลับและเรื่องราวประวัติความเป็นมา ตลอดจนกิมมิกเล็กๆ ของสถานี ทั้งภายในโถงส่วนกลาง ปีกอาคาร ตลอดจนอาคารหลายหลังที่รายล้อม อาคารที่เราอาจมองข้ามไป เพื่อเก็บเป็นเกร็ดความรู้และเรื่องราวที่เราอาจยังไม่เคยรู้ พร้อมพาย้อนนึกถึงความยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของสถานีกรุงเทพที่สี่แยกหัวลำโพงแห่งนี้

อนุสาวรีย์ช้างสามเศียร

ก่อนจะเข้าไปถึงพื้นที่ด้านในสถานีหลัก สถานที่แรกที่เราเห็นกันคืออนุสาวรีย์ช้างสามเศียร ตั้งอยู่ในพื้นที่สวนเล็กๆ และน้ำพุ ด้านหน้าทางเข้าประตูหลักของสถานีกรุงเทพ ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นวงเวียน อนุสาวรีย์แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เปิดให้ใช้พร้อมๆ กับสถานีรถไฟกรุงเทพเมื่อปี พ.ศ.2549 อีกหนึ่งความพิเศษของอนุสาวรีย์นี้ไม่ได้มีเพื่อสร้างความสวยงามให้กับตัวสถานีเท่านั้น แต่ครั้งหนึ่งเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อนุสาวรีย์แห่งนี้ยังทำหน้าที่เป็นหลุมหลบภัยทางอากาศอีกด้วย เนื่องจากสถานีกรุงเทพถือเป็นการขนส่งหลักในสมัยนั้น จึงมักจะเป็นเป้าหมายในการทำลายพื้นที่ในสงคราม ซึ่งหลังจบเหตุการณ์ตัวอนุสาวรีย์ถูกทิ้งไว้เป็นหลุมหลบภัยอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนปรับเปลี่ยนให้กลับมาเป็นน้ำพุตามเดิม

ประตูทางเข้า เสา และนาฬิกา

เมื่อเข้ามาถึงด้านในจากประตูหลักฝั่งทิศใต้ถึงโถงกลาง สำหรับซื้อตั๋ว พื้นที่นั่งรอรถไฟ และร้านค้าต่างๆ ซึ่งตัวประตูทางเข้าก็ได้รับการปรับเปลี่ยนมาหลายยุคหลายสมัย หากมองจากรูปภาพเก่าในสมัยก่อนนั้นจะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันอยู่เป็นช่วงๆ ทั้งบานเฟี้ยมเหนือกระจกก็เพิ่งมีการนำมาติดตั้งได้ราวๆ 50-60 ปีหลัง หรือกระจกสีเขียว ขาว และน้ำเงินนั้นก็ไม่ใช่สีดั้งเดิม แต่ได้รับการมาปรับเปลี่ยนภายหลังเช่นกัน

บริเวณประตูทางเข้านี้มีหลายอย่างที่น่าสนใจ อย่างแรกคือหัวเสาและลวดลาย รูปปูนปั้นผู้หญิงผมยาวสามคนด้านบนเหนือประตูทางเข้า แจกันดอกไม้บนยอดหัวเสาและบานประตู ทั้งหมดคืองานออกแบบจากสถาปนิกชาวอิตาลีชื่อมาริโอ ตามัญโญ ด้วยสถาปัตยกรรมแบบอิตาเลียนเรเนซองส์เพื่อแสดงถึงความโอ่อ่าและเรืองอำนาจของศิลปะในยุคสมัยที่รัชกาลที่ 6 อันเป็นรัชสมัยที่ศิลปะเฟื่องฟูที่สุด ตลอดจนนาฬิกาที่วางประดับอยู่เหนือทางเข้า ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการใช้ชีวิตของผู้คนในสมัยก่อนที่ยังไม่มีนาฬิกาข้อมือดิจิตอล มีเพียงแค่นาฬิกาพกและนาฬิกาหน้าปัด ที่การตั้งเวลาอาจเกิดการคลาดเคลื่อนและตกขบวนรถไฟได้ จึงจำเป็นต้องมีนาฬิกากลางหนึ่งเรือนเพื่อใช้บอกเวลาที่ตรงกันให้แก่ทุกคน แม้ในปัจจุบันทุกคนจะพกโทรศัพท์ที่บอกเวลาได้แม่นยำขึ้นแต่การเก็บนาฬิากลางไว้ยัคงเป็นกิมมิกที่สถานีขนส่งเก็บไว้อยู่ตามเดิม

 

โรงแรมราชธานีโฮเต็ล สถานีกรุงเทพ

รู้หรือไม่ว่าสถานีรถไฟกรุงเทพฯ เคยมีโรงแรมมาก่อน คือโรงแรมราชธานีโฮเต็ล ดำเนินกิจการโดยกรมรถไฟ เปิดให้ใช้บริการครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2470 ก่อนจะปิดกิจการลงเมื่อปี พ.ศ.2512 ตัวอาคารเดิมของโรงแรมตั้งอยู่ฝั่งขวาของปีกอาคาร ขนาบข้างยาวไปถึงชานชาลาด้านใน โดยปัจจุบันถูกปรับเปลี่ยนพื้นที่ล็อบบี้ของโรงแรมเป็นห้องน้ำชาย-หญิง ห้องพักและห้องอาคารและกลายเป็นพื้นที่สำนักงาน

โรงแรมราชธานีโฮเต็ล ถือเป็นโรงแรมที่ทันสมัยแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ในยุคนั้น มีห้องพักจำนวน 10 ห้องพร้อมระเบียง รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มากมาย มีภัคตาคารที่มีแต่คนระดับชนชั้นสูงเข้ามาใช้บริการ แสดงถึงความโอ่อ่า ยิ่งใหญ่ของตัวสถานีรถไฟ ส่วนเหตุผลที่สมัยก่อนสถานีรถไฟจำเป็นต้องมีโรงแรมอยู่ภายในตัวสถานีนั้น ก็เพราะการรถไฟสมัยก่อนยังไม่สามารถเดินทางข้ามคืนได้ จำเป็นต้องแวะนอนพักก่อนออกเดินทางไปยังสถานีปลายทางของแต่ละคน โดยอาคารสถาปัตยกรรมดั้งเดิมยังคงพอมองเห็นได้อยู่ ทั้งตัวอาคาร ผนัง ฝ้าและเพดานออกแบบผสมผสานความเป็นจีนเข้าไป ตลอดจนบานประตูและหน้าต่างที่ชวนให้นึกถึงสถาปัตยกรรมบ้านขนมปังขิงผ่านลายไม้ฉลุ ซึ่งแตกต่างจากสถาปัตยกรรมของเสาและประตูทางเข้าด้านหน้า

 

หอสัญญาณกรุงเทพฯ

ถ้าสนามบินมีหอส่งสัญญาณ แน่นอนว่าสถานีรถไฟหลักก็ต้องมีเช่นกัน หอสัญญาณกรุงเทพฯ นั้นตั้งอยู่เลยชานชาลา 9 ออกไปด้านฝั่งขวามือ ตัวอาคารสีชมพูมีจั่วกระจกอยู่ด้านบน มีหน้าที่สับรางขบวนรถไฟ และปล่อยขบวนรถเข้าและออก ด้วยตัวพื้นที่และการออกแบบอาคารทำให้สามารถมองเห็นพื้นที่ทั้งหมดของรางรถไฟ โดยหน้าที่ของพนักงานในหอสัญญาณกรุงเทพนั้นถือว่าเป็นหน้าที่สำคัญ ต้องแม่นประสาทสัมผัสหลายด้าน ทั้งหู ไว้ใช้ฟังเสียงสัญญาณจากวิทยุ ตา มองขบวนรถไฟที่จะต้องวิ่งเข้า-ออก และมือที่ต้องสับรางและจัดการขบวนรถไฟที่วิ่งเข้าออกกันทั้งวัน ทำให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่หวงห้าม เพื่อไม่ให้เข้าไปรบกวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ตึกด้านข้างสองหลังที่ทำหน้าที่เป็นที่พักพนังงานในเวลากลางวัน สำหรับพนักงานการรถไฟที่นำขบวนรถจากต่างจังหวัดเข้ามา ก่อนจะพาขบวนรถกลับในเวลาเย็น

อนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง

เมื่อเดินมาเกือบสุดทางของชานชาลาที่ 12 เราจะพบกับหลักหมุดสีขาวอันเป็นสถานที่สำคัญและที่สักการะของพนักงานรถไฟไทยทุกคน คืออนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง เป็นจุดที่รัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระบรมชินีนาถมากระทำพิธีปฐมฤกษ์รถไฟแห่งแรก คือเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพ-นครราชสีมา เมื่อปี พ.ศ.2439 จึงนับได้ว่าที่นี่เปรียบเสมือน ‘เสาเอก’ ของบ้านและเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวรถไฟทุกคน เป็นพื้นที่ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการคมนาคมทางรถไฟของประเทศไทย นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่เก่าของอาคารสถานีรถไฟหลังแรก แต่ปัจจุบันถูกรื้อถอนไป เนื่องจากต้องการขยายพื้นที่ จึงได้สร้างเป็นอาคารหลังใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมคือสถานีรถไฟกรุงเทพที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั่นเอง

 

สถานีรถไฟกับการพัฒนาพื้นที่ในย่าน

การพัฒนาพื้นที่โดยรอบของย่านหัวลำโพงนั้นเกิดขึ้นได้เพราะการเข้ามาถึงของสถานีรถไฟ เพราะเมื่อมองออกไปจากบริเวณพื้นที่ของสถานีจะเห็นตึกสำคัญๆ ของกรุงเทพฯ เป็นส่วนใหญ่ ทั้งตึกมหานคร ไอคอนสยาม อาคารกสทช. รวมถึงการเชื่อมต่อไปยังย่านสำคัญ ทั้ง ยศเส โบ๊เบ๊ ถนนพระราม สาธรและช่องนนทรี

นอกจากนี้ ตัวย่านโดยรอบของสถานีรถไฟยังได้รับการพัฒนาขึ้นจากการมีสถานีรถไฟไปตั้งอยู่อย่างเห็นได้ชัด ทั้งกิจการการขนส่งที่รายล้อมอยู่ช่วงถนนรองเมือง เพื่อขนส่งพัสดุต่อจากรถไฟเข้าสู่พื้นที่ที่รถไฟยังเข้าไม่ถึง รวมถึงธุรกิจการโรงแรม ค้าขาย ร้านอาหาร และกิจการอื่นที่เปิดขึ้นมาเพื่อรองรับจำนวนผู้ที่เข้ามากรุงเทพฯ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการคมนาคมคือการพัฒนาเมืองในอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะเมื่อการเดินทางสะดวกสบาย ผู้คนก็สามารถเข้าถึงกันได้ง่ายมากขึ้น ธุรกิจการค้าก็เติบโตตามมา สถานีรถไฟแห่งนี้จึงเรียกได้ว่าเป็นการขนส่งมวลชนที่ง่าย ราคาถูก และทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงพื้นที่ใจกลางเมืองได้อย่างสะดวกที่สุด

อ้างอิงข้อมูลจาก

readthecloud.co

readthecloud.co

becommon.co

silpa-mag.com

Photo by Nawin Deangnul
Share :