CITY CRACKER

การจากไปโดยไม่ได้ร่ำลา ผู้คนอาจโศกเศร้ายาวนานขึ้นจากการหายไปของงานศพของ COVID-19

ประเด็นเรื่องการระบาดของ COVID-19 ที่ระบาดหนักขึ้นเรื่อยๆ จนนำไปสู่การสูญเสียชีวิต ซึ่งบ้านเราเองหลังจากการระบาดของเชื้อสายพันธุ์อังกฤษก็เริ่มเข้าสู่สถานการณ์ที่ค่อยลง ปัจจุบันมีรายงานผู้เสียชีวิตที่ 20-30 รายต่อวัน ซึ่งการระบาดนี้นอกจากจะส่งผลเสียอย่างมากมายต่อเศรษฐกิจและสังคมแล้ว ในสัปดาห์ที่แล้วการจากไปของน้าค่อม ชวนชื่น การสูญเสียชีวิตด้วยตัวเองนั้นเป็นการสูญเสียที่รุนแรง แต่การสูญเสียจากโควิดนั้นเราได้ภาพที่น่าสะเทีอนใจกว่านั้น คือการที่ต้องจัดการเผาร่างภายใน 24 ชั่วโมง เป็นการจากไปที่น่าใจหายแล้ว ยังต้องลาจากอย่างเหินห่างและรวดเร็วจนไม่มีเวลาได้ทำใจ

ดังนั้นเอง ผลกระทบของโควิดจึงส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้ง ในการสูญเสียชีวิตจากโรคระบาดนั้น เป็นการสูญเสียที่ส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างรุนแรง การไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์ในช่วงท้ายของชีวิต และจัดงานศพที่ต้องเป็นอย่างรวดเร็วถือเป็นการขาดหายไปที่ส่งผลกับความรู้สึกอย่างลึกซึ้ง

กระบวนการทั้งการร่ำลาในวาระสุดท้าย และการจัดงานศพเป็นขั้นตอนทางสังคมที่สมาชิกในครอบครัวและสมาชิกของสังคมจะได้ใช้เวลาเพื่อเยียวยาและรับมือการสูญเสีย ในแง่หนึ่งนั้นเป็นการขาดหายไปที่สำคัญมาก และส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อบรรยากาศและผู้คน มีงานศึกษาพบว่า ผู้ที่สูญเสียคนที่รักไปจาก COVID-19 อาจเกิดความรู้สึกผิดติดตัว มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะโศกเศร้าในระยะยาว การจัดการทั้งในแง่ของการจัดการศพทั้งในเศรษฐกิจ และในเชิงความรู้สึกของผู้คนจึงเป็นสิ่งที่หลายที่ให้ความสนใจและพยายามร่วมเยียวยาแก้ไขเท่าที่เป็นไปได้

 

a face mask on a tombstone
aarp.org

 

ตัวตนสุดท้ายของการบอกลา ความหมายทางสังคมวิทยาของพิธีศพ

ภาพการนำร่างขึ้นเมรุอย่างเงียบงัน การจัดการร่างภายใน 24 ชั่วโมง และการที่ญาติพี่น้องทำได้เพียงยืนส่งอยู่เบื้องล่างเพียงแค่ไกลๆ นั้น เป็นความรู้ที่เรายากจะจินตนาการในการบอกลาคนที่เรารัก แน่นอนว่าพิธีศพเป็นพิธีพื้นฐานที่ปรากฏทุกวัฒนธรรม ในทางสังคมวิทยาและในทางปฏิบัติงานศพเป็นเหมือนช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่ผู้ที่สูญเสียคนที่รักได้ค่อยๆ ทำการซึมซับและรับมือการสูญเสียนั้น

เบื้องต้นการจัดพิธีศพคือการรวมของผู้คนเข้ามาร่วมกับสมาชิกที่ยังมีชีวิตอยู่ การจัดงานนำไปสู่การต้องบริหารจัดการกิจการต่างๆ มีคำกล่าวทำนองว่าเป็นการจัดงานที่ทำให้ไม่ทันได้มีเวลาจดจ่อกับการสูญเสีย ที่สำคัญที่สุดในทางสังคมวิทยาอธิบายว่าพิธีศพนอกจากจะเป็นการบอกลาแล้ว ยังเป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อให้คนยังมีชีวิตได้ทำให้ผู้ที่จากไปที่พวกเขารักนั้นกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ซึ่งเป็นการสร้างตัวตนของผู้ที่จากไปอย่างสมบูรณ์ที่สุด บ้างก็ว่าสมบูรณ์กว่าครั้งยังมีชีวิตผ่านเรื่องเล่า

ในพิธีศพนั้น กระบวนที่สำคัญที่สุดคือการโศกเศร้าร่วมกัน แต่ในงานศพนั้นสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นการเล่าเรื่องราวของผู้ที่จากไป เราจะได้ยินทั้งเรื่องราวที่บางครั้งไม่เคยได้รับรู้ของคนๆ นั้น หลายครั้งในพิธีศพเราจึงได้ยินทั้งเสียงหัวเราะที่ดังขึ้นพร้อมรองน้ำตา เราได้รู้จักกับคนที่เรารักมากขึ้นผ่านชิ้นส่วนที่กระจัดกระจายอยู่ในความทรงจำของคนอื่น ตัวตนของคนที่เราจึงชัดเจนยิ่งกว่าครั้งที่มีลมหายใจ เป็นการจดจำครั้งสุดท้ายที่จะสวยงามที่สุด

ทั้งเวลา เรื่องเล่า และกิจการไม่ว่าจะ 3 วัน 7 วัน ไปจนถึง 100 วันนั้นล้วนเป็นขั้นตอนที่สังคมออกแบบให้สมาชิกได้ค่อยๆ รับรู้ ซึมซับและรับมือการจากไปได้ในท้ายที่สุด เป็นการบอกลาอย่างแข็งแรง

 

Rescue volunteers from the Siam Nonthaburi foundation carry the coffin of a woman, who died after contracting Covid-19, to the crematorium at Wat Rat Prakhong Tham Buddhist temple in Nonthaburi on May 5, 2021
france24.com

 

ความอาดูรที่ไม่จางหายและความรู้สึกผิดที่ไม่จำเป็น

แน่นอนว่าด้วยปัญหาของโรคระบาด และการเสียชีวิตจากโรคระบาดเองทำให้วงจรสุดท้ายของชีวิตถูกตัดไป การจากสุดท้ายตั้งแต่ในห้องไอซียูที่ต้องมีการแยกตัวออกจากคนที่รักตั้งแต่พบเชื้อไปจนถึงการบอกลาครั้งสุดท้ายที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว การจากไปเช่นนี้จึงเป็นไปอย่างเดียวดาย การไม่สามารถสวมกอด ร่ำไห้ทั้งต่อผู้จากไปและผู้ที่ยังมีชีวิตจึงทำให้ความโศกเศร้าทบทวีและอาจยาวนานกว่าที่ควรจะเป็น

ในแง่ของความรู้สึก มีงานศึกษาพบว่าการสูญเสียสมาชิกจากโรคระบาดนี้อาจทำให้เกิดบาดแผลขึ้นในความรู้สึกของญาติ ลูกหลานและคนที่รักของผู้สูญเสีย หนึ่งในนั้นคือการเกิดความรู้สึกผิดขึ้นภายในใจในหลายระดับ ทั้งการนึกรับผิดชอบกับวาระสุดท้ายที่เดียวดาย การเกิดร่องรอยในใจที่ไม่สามารถดูแลและบอกลาอย่างเหมาะสมได้ ในงานศึกษาระบุว่าการสูญเสียเช่นนี้ ผู้ที่สูญเสียครอบครัวราว 10% มีโอกาสเกิดอาการโศกเศร้าในระยะยาวขึ้นได้ ส่งผลกับสุขภาพจิตใจโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญ

ดังกล่าวว่าทั้งความรู้สึกผิดและการหายไปของกระบวนการในการร่ำลาและรับมือ ในหลายประเทศจึงเริ่มมองเห็นว่าในห้วงเวลาสุดท้าย ที่สุดปลายของผลกระทบจากโรคระบาดอันหมายถึงเหล่าผู้สูญเสียที่มีชีวิตอยู่นั้นเป็นภาคส่วนที่เราต้องใส่ใจและร่วมจัดการต่อไป หากประมาณด้วยตัวเลขเช่นที่สหรัฐ จากรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตกว่า 350,000 ราย ทำให้มีผู้คนที่อยู่ในภาวะโศกเศร้าจากความสูญเสียกว่า 3 ล้านคน

 

thestar.com

 

การรับมืออย่างเป็นขั้นตอน และความรู้สึกของผู้คนที่สังคมต้องใส่ใจ

ในหลายประเทศจึงให้ความสำคัญกับทั้งกระบวนการจัดการกับการจากไปด้วยโรคโควิด ซึ่งตรงนี้ก็สำคัญในหลายระดับทั้งสำคัญกับการจัดการเพื่อควบคุมโรค ทั้งยังสัมพันธ์กับการจัดการที่ส่งผลกับมิติทางเศรษฐกิจ รวมถึงการจัดการเพื่อเยียวยาความรู้สึกและสร้างขวัญกำลังใจให้กับสังคมโดยรวมต่อไป

ซึ่งบ้านเราเองก็มีความพยายามที่น่าสนใจ บางส่วนก็ยังสะท้อนการจัดการที่ไม่ครบกระบวนการ เช่นวัดเองก็ไม่แน่ใจเรื่องการรับและจัดการศพเผาศพต่อไป บางวัดที่มีความเข้าใจก็พยายาม เช่นจัดสวดและถ่ายทอดทางออนไลน์เพื่อให้ญาติได้ร่วมส่ง และตอบสนองกับความเชื่อของผู้คน

ในต่างประเทศก็พยายามช่วยจัดการในหลายด้านทั้งการจัดหาบริการการจัดการศพที่เหมาะสมให้ มีกองทุนช่วยเหลือ มีการออกแนวทางเพื่อให้ประชาชนจัดการกับความรู้สึก ฟื้นฟูสุขภาพกายและใจไปพร้อมๆ กัน มีแนะนำแนวทางเช่น การรับรู้สึกความสูญเสีย การเชื่อมต่อที่แม้จะต้องรักษาระยะห่างแต่เราก็ยังสามารถแลกเปลี่ยนความรู้สึกและความสูญเสียกับคนอื่นๆ ได้ การจดบันทึกความรู้สึก การให้บริการด้านสุขภาพจิต การพูดคุยกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อร่วมรับมือการสูญเสีย เป็นต้น

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือการที่ผู้สูญเสียสามารถรับรู้และพยายามมองเห็นความโศกเศร้า รวมไปถึงจัดการกับความรู้สึกผิด- ที่จริงๆ การสูญเสียจากดรคระบาดนั้นไม่ใช่ความผิดของใคร ก็เป็นอีกหนึ่งกระบวนที่จะช่วยเยียวยาความรู้สึกและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากับสุขภาพใจในระยะยาวต่อไปด้วย

 

สุดท้ายความสำคัญของโรคระบาดส่งผลต่อเนื่องเป็นทอดๆ ตั้งแต่ด้านสุขภาพ สาธารณสุข การชะงักงันทางเศรษฐกิจ และในห่วงโซสุดท้ายคือความสูญเสียที่อาจรุนแรงกว่าการสูญเสียในภาวะโดยทั่วไป การเข้าอกเข้าใจและมีมาตรการร่วมรับมือเยียวยาในทุกมิติทั้งกระบวนการจัดการอย่างถูกต้อง การร่วมเยียวยารักษา และการฟื้นความรู้สึกโดยรวมของผู้คนจึงเป็นสิ่งที่ต้องมองเห็นและรับมือกันต่อไป

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

scielo.br

newscientist.com

psychologytoday.com

purdue.edu

apa.org

ondon.gov.uk

 

Illustration by Montree Sommut
Share :