CITY CRACKER

เหลื่อมล้ำและหลงลืม? เมื่อการพัฒนาไม่เอื้อต่อธรรมชาติและผู้คน

หลายครั้ง เราเริ่มไม่แน่ใจว่า สิ่งที่เราทำในฐานะนักออกแบบ หรือในฐานะมนุษย์ที่อยู่บนโลกใบนี้ เรามีส่วนในการทำลายธรรมชาติ มากน้อยแค่ไหน ความสะดวกสบาย ความงาม วิถีที่ของเราล้วนแลกมาด้วยบางสิ่งของธรรมชาติที่ต้องสูญเสียไปเสมอ

 

ไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชุมชนบ้านหนองเสม็ด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมชนประมงพื้นบ้านนำร่องแผนพัฒนาภาคประชาชนในพื้นที่  ‘อ่าว ก ไก่’ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินที่ไม่มั่นคงเนื่องจากอยู่ในพื้นที่ป่าชายเลน

 

“ที่ดินริมทะเลแถวนี้เมื่อก่อนเป็นป่า มีทั้งชะนี ลิง เสือ”

คุณลุงเล่าให้ผมฟังว่าสมัยก่อนป่าชายเลนนั้นใหญ่กว่านี้มาก  ซึ่งหากเทียบกับอายุคุณลุงก็น่าจะ 80-90 ปีมาแล้ว แต่ปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้กลายเป็นที่อยู่ ของคนต่างถิ่น ต่างชาติ เพราะมีนายทุนเข้ามาซื้อที่ดินริมหาด รอบๆ หมู่บ้านก็มีทั้งบ้านจัดสรร โรงแรม คอนโด ร้านอาหาร ที่ผุดขึ้นมารับการมาเยือนของนักท่องเที่ยว แถมอีกหน่อยจะมีถนนคนเดินเลียบชายหาดอีกด้วย จากเหตุผลหลายอย่างจึงทำให้ชุมชนที่อิงอาศัยกับทำประมงกับป่าชายเลนมาหลายสิบปี ก็เหลือน้อยลงพอๆ กับขนาดและความสมบูรณ์ของป่าชายเลน เมื่อความสมบูรณ์น้อยลง คนก็ไม่ทำประมงพื้นถิ่นกัน เพราะรายได้น้อยไม่คุ้มค่าแรง ค่าเหนื่อยที่ต้องเสียไป

 

“เหมือนการพัฒนามันบีบเราทั้งหน้าและหลัง “

‘ความเจริญ’ ในคำกล่างอ้างของคำว่าพัฒนานั้นฟังดูดี แต่เมื่อมันเป็นความเจริญที่มีคนได้ฝ่ายเดียว เช่น นายทุน หรือคนที่มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรได้มากกว่าอีกกลุ่ม ถือเป็น ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ที่มีอยู่มากในสังคมไทย ซึ่งเรามักมองไม่เห็น เพราะข้อมูลที่เราได้รับมักเป็นมุมของประโยชน์ มากกว่าผลกระทบ และไม่รู้ทางเลือกอื่นของการพัฒนา จนบางครั้งอาจลืมนึกไปว่าการพัฒนานี้อาจทิ้งใครบางคนไว้ข้างหลัง ซึ่งความเหลื่อมล้ำของระบบ หรือโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรนี้ ไม่ได้เอาเปรียบเฉพาะคนบางกลุ่มในสังคมเท่านั้น แต่เป็นการเอาเปรียบ ‘ธรรมชาติ’

 

“เดี๋ยวจะมีแลนด์มาร์ค มีถนนคนเดิน ดึงดูดนักท่องเที่ยว จะมีคนมาซื้อของ เศรษฐกิจจะดี…. “

ข้อเสนอนี้ราวกับเป็น ‘ทุ่น’ ก้อนใหม่ในทะเลแห่งความแปรปรวน ให้ชุมชนและสังคมที่ถูกบีบนี้ได้เกาะอย่างมีความหวัง แต่มันกำลังจะแลกมาด้วยกับการทำลายความสมดุลของระบบนิเวศที่คนรุ่นเราหรือรุ่นลูก รุ่นหลานเราต้องจ่ายในอนาคต

บ้านที่สร้างติดทะเลกำลังประสบภัยจากการกัดเซาะชายฝั่ง เจอมรสุมเพราะเอาแนวป่าที่รับแรงปะทะออกไป เขื่อนคอนกรีตและหินทิ้งที่สร้างกันการกัดเซาะได้ผล (ระยะสั้น) และช่วยเติมทรายให้ แต่มันก็ไปกัดทำลายชายหาดที่อยู่ถัดออกไป จำนวนปลาที่ลดลงเป็นผลจากการลดลงของป่าชายเลน และน้ำเสียที่มาจากเมือง นากุ้งและโรงงานอุตสาหกรรม

 

“อยากให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่วิถีชีวิตคงเดิม”

นั่นคือคำตอบที่ได้ เมื่อผมถามพี่ๆ แถวนั้นว่าอยากเห็นที่นี่เป็นอย่างไรในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ความฝันของชุมชนที่แสนธรรมดา แต่กลับมีความท้าทายมากมายรออยู่ ท่ามกลางกระแสคลื่นลมของการพัฒนาที่เหลื่อมล้ำ ทุกครั้งที่ลงมือพัฒนา เรามักลืมนึกถึงอีกฝ่ายเสมอ ไม่ว่าจะคนหรือธรรมชาติ ลืมนึกไปว่าเรามีโลกเดียวกัน ไม่ควรมีใครตักตวง หรือได้ประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว เมื่อการพัฒนาที่เหลื่อมล้ำคือ ‘ต้นทาง’ ของปัญหา การพัฒนาที่เอื้อเฟื้อต่อทั้งคนและธรรมชาติ จึงเป็นทางรอดที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน เช่น ชุมชนที่อยู่ร่วมกับป่าชายเลน ช่วยดูแล ฟื้นฟู เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา หอย ปู ฟื้นฟูแนวป่าชายเลนเชื่อมระบบนิเวศและทางน้ำให้เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำและทางระบายน้ำช่วงอุทกภัย มีการสร้างแนวกันชนป่าชายหาดป้องกันมรสุมและการกัดเซาะชายฝั่ง ไม่สร้างโครงสร้างเขื่อนแข็งทำลายกระแสในธรรมชาติ หรือสร้างความร่วมมือในพื้นที่ มีนโยบายและการกับกับดูแลที่เข้มแข็ง สร้างอาชีพบนฐานทรัพยากรต้นทุนและที่สำคัญคือการสร้างจิตสำนึกให้กับทุกคน

 

อย่าไปกวนเขามาก ให้ธรรมชาติเขาดูแลตัวเอง

 

นั่นคือสัจจะธรรมแสนจริงแท้ ที่คนรุ่นต่อรุ่นเรียนรู้ ส่งต่อ เพื่อย้ำเตือนให้เห็นว่า ไม่มีใครเข้าใจธรรมชาติดีกว่าธรรมชาติเอง และเมื่อใดที่เรากวนเขามาก มันย่อมส่งผลกระทบถึงตัวเราในท้ายที่สุด เพราะเราเป็นเพียงผู้อิงอาศัยไม่ใช่เจ้าของธรรมชาติ

 

  • Yossapon Boonsom

    ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker

Share :