CITY CRACKER

Christmas Market ประวัติศาสตร์ย่อของตลาดคริสต์มาส และความอบอุ่นของเมืองในหน้าหนาว

ช่วงเวลาปลายปี แม้แต่ประเทศไทยเองก็เริ่มมีการจัดแสดงต้นคริสต์มาส ด้วยอากาศและบรรยากาศ หลายพื้นที่ก็เริ่มมีตลาดคริสต์มาส ตลาดเปิดโล่งที่สร้างบรรยากาศและสีสันให้กับช่วงปลายปี

สำหรับบ้านเรา ตลาดคริสต์มาสอาจยังเป็นพื้นที่เฉพาะกลุ่ม แต่เราเองก็มีเทศกาลออกร้านช่วงฤดูหนาว งานกาชาดเพิ่งจบไป หลายวัดใหญ่ๆ ก็เริ่มมีงานออกร้าน สร้างความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจและบรรยากาศอบอุ่นสนุกสนานส่งท้ายปี ตลาดคริสต์มาสรวมถึงงานเทศกาลออกร้านฤดูหนาวถือเป็นอีกกิจกรรมที่สร้างบรรยากาศพิเศษให้กับเมือง ทำให้หน้าหนาวและช่วงปลายปีมีบรรยากาศที่เฉพาะตัว อีกด้านก็นับเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและใช้พื้นที่สาธารณะคือจัตุรัสและลานกว้างในการทำกิจกรรมในช่วงเวลาที่เหมาะกับการออกมาใช้ชีวิตกลางแจ้ง

ในช่วงเวลาที่ลานหน้าห้าง เช่น เซ็นทรัลเวิลด์ หรือจัตุรัสของหลายหมู่บ้านยุคใหม่ๆ ที่เริ่มจัดตลาดคริสต์มาสของตัวเอง หรืองานออกร้านในวัดหรือสถานที่ราชการที่ทยอยจัด City Cracker ชวนอ่านที่มาและประวัติศาสตร์ย่อๆ ของตลาดคริสต์มาส ที่มาอาจจะคล้ายกับตลาดนัดที่เราคุ้นเคยคือเป็นงานที่สัมพันธ์กับเทศกาลทางศาสนา ใช้พื้นที่กลางเมือง ชวนดูการจัดตลาดในฐานะมรดกทางวัฒนธรรม รวมถึงย้อนทบทวนเรื่องความสำคัญของพื้นที่สาธารณะ และการใช้งานพื้นที่เมืองเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้วยมิติทางวัฒนธรรม

 

ตลาดนัดยุคกลางในวันสำคัญทางศาสนา

ที่มาของตลาดคริสต์มาสส่วนใหญ่จะยกให้เยอรมนีเป็นจุดเริ่มต้นโดยนับตลาดที่เมืองเดรสเดน (Dresden) ที่มีการจัดตลาดคืนวันคริสต์มาสอีฟในปี 1434 รวมถึงหลักฐานการเปิดตลาดนัดที่เมืองนูเรมเบิร์กที่คาดว่าจะเก่าถึงช่วงทศวรรษ 1530 อย่างไรก็ตามนักวิชาการมองว่าตลาดคริสต์มาสนั้นอาจเก่าแก่ได้มากกว่านั้น เพราะการจัดตลาดคริสต์มาสเป็นผลผลิตของยุคกลางทั้งคริสต์มาสที่สัมพันธ์กับคริสต์ศาสนาและเมืองในยุคกลางที่เป็นเมืองขนาดเล็ก มีศูนย์กลางเป็นโบสถ์และมักมีจัตุรัสหรือลานกลางเมืองอยู่

นักวิชาการชี้ให้เห็นว่าตลาดช่วงเทศกาลเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองยุคกลาง คือเมืองในยุคนั้นจะมีชุมชนที่กระจายตัวกันแต่ก็มีโบสถ์ตั้งอยู่ในระยะที่เดินถึง ทุกๆ วันสำคัญทางศาสนา ก็จะมีการจัดตลาดนัด คือเป็นตลาดเปิดโล่งที่ชาวเมืองนำสินค้าและสิ่งที่ตัวเองผลิตออกมาขาย โดยตลาดในช่วงฤดูหนาวนั้นมักเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด นอกจากที่เยอรมนีเองแล้วเมืองใกล้เคียงที่พูดภาษาเยอรมันและเคยอยู่ในอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ก็ล้วนมีการจัดตลาดโดยเฉพาะตลาดเดือนธันวาคมเช่นเดียวกัน

สำหรับตลาดเดือนธันวานั้นย้อนกลับไปไกลถึงปี 1296 ในเวียนนาเมื่อดยุกของเมืองอนุญาตให้ชาวเมืองจัดเทศกาลรื่นเริงได้ 14 วัน แต่งานที่เวียนนายังไม่มีนัยทางศาสนา เป็นการจัดงานในช่วงปลายปี ซึ่งหลักฐานที่สัมพันธ์กับการจัดตลาดและงานรื่นเริงที่สัมพันธ์กับวันทางศาสนาคือหลักฐานการจัดตลาดที่จัดในช่วงเดือน Advent month (ปลายเดือนพฤศจิกายนถึงคริสต์มาส) ของเมือง Bautzen ในเยอรมนี ในตอนนั้นพระราชาทรงอนุญาตให้พ่อค้าเนื้อขายเนื้อในตลาดที่จัดขึ้นกลางเมืองได้จนถึงวันคริสมาสต์- ตรงนี้ยังไม่เชิงว่าเป็นตลาดที่มีตีมวันคริสต์มาส แต่ทำให้เห็นว่าฤดูกาลรวมถึงเทศกาล สัมพันธ์กับการที่เมืองเปิดพื้นที่ให้ผู้คนเฉลิมฉลองผ่านตลาดชั่วคราวและตลาดกลางแจ้ง

 

ตลาดคริสต์มาสเยอรมนี ต้นทางและพัฒนาการสำคัญ

ตลาดคริสต์มาส อันหมายถึงตลาดนัดที่จัดเพื่อฉลองวันคริสต์มาส ที่มีการออกร้านค้าขายสินค้าของชาวเมือง ประดับประดาไฟ แสดงฉากกำเนิดของพระเยซู ร้องเพลงและเต้นรำนั้นมักให้เครดิตกับวัฒนธรรมเยอรมนีและนับว่าเยอรมนีเป็นต้นกำเนิดของตลาดคริสต์มาสก่อนจะได้รับความนิยมไปทั่วยุโรปและทั่วโลกในเวลาต่อมา โดยตลาดคริสต์มาสเองก็มีประวัติศาสตร์ยาวนานและส่วนใหญ่สัมพันธ์กับเยอรมนีทั้งจากตลาดยุคกลางจนถึงตลาดช่วงหลังยุคอุตสาหกรรม รวมถึงธรรมเนียมเยอรมนีที่สัมพันธ์กับการฉลองคริสต์มาส

ตลาดคริสต์มาสในเยอรมนีเรียกว่า Christkindlesmarkt คือ Christ Child Market โดยทั่วไปตลาดคริสต์มาสมักโยงไปยังเมืองดริสเดนและนูเรมเบิร์ก รวมถึงตลาดคริสต์มาสเองที่ค่อนข้างขยายตัวไปยังเมืองและชุมชนที่พูดภาษาเยอรมัน นอกจากนี้วัฒนธรรมเยอรมันยังเกี่ยวข้องกับการฉลองคริสต์มาสที่เป็นรูปธรรม เช่น การตั้งต้นคริสต์มาสที่เริ่มในราวศตวรรษที่ 16 หรือการที่เชื่อกันว่ามาร์ติน ลูเธอร์ นักปฏิรูปศาสนาเป็นผู้ที่นำเอาไฟขึ้นประดับต้นคริสต์มาสเป็นคนแรก

 

ผลผลิตทางวัฒนธรรมจากยุคนาซี

จากยุคกลางจนถึงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมดูเหมือนว่าเยอรมนีและเมืองแถบบาวาเรียก็มีธรรมเนียมและตลาดคริสต์มาสที่ขยายตัวขึ้นจนถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 19 เช่น มีรายงานจำนวนร้านค้าของตลาดคริสต์มาสในเบอร์ลินที่เพิ่มจาก 300 ร้านค้าเป็น 600 ร้านค้า ในปี 1840 แต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม การขยายตัวของเมืองและความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจกลับเป็นอุปสรรคของตลาดคริสต์มาส คือตลาดคริสต์มาสเป็นตลาดเปิดโล่ง ขายของจากร้านค้าชุมชน ทำให้ในยุคของห้างร้านขนาดใหญ่ ตลาดคริสต์มาสกลายเป็นพื้นที่ของสินค้าราคาถูกของคนชั้นแรงงานและถูกมองว่าเป็นพื้นที่ไร้ระเบียบ ในช่วงนี้เองที่ตลาดคริสต์มาสถูกผลักออกจากจากพื้นที่กลางเมือง ย้ายไปจัดในบริเวณพื้นที่นอกเมือง

ความน่าสนใจของประวัติศาสตร์คริสต์มาสคือ ตลาดคริสต์มาสกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งด้วยฝีมือของฮิตเลอร์  ในยุคนาซีนี้เองที่ตลาดคริสต์มาสคืนสู่กลางเมืองอีกครั้ง เมื่อนาซีเลือกใช้ตลาดคริสต์มาสเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายด้านวัฒนธรรม ตลาดคริสต์มาสจึงมีนัยหลายประการทั้งการต่อต้านทุนนิยม เป็นส่วนหนึ่งของวันหยุดทางศาสนาที่ให้ภาพการรักสันติสุข ทั้งยังเป็นการเฉลิมฉลองอัตลักษณ์ของความเป็นเยอรมนีผ่านธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลคริสต์มาส ตัวอย่างสำคัญคือการที่เมืองนูเรมเบิร์กย้ายตลาดกลับมาเปิดที่ใจกลางเมืองอีกครั้งในปี 1933 ส่วนประกอบหนึ่งของตลาดคือการให้ภาพของลูกหลานพระคริสต์ในงานเปิดตลาดที่เป็นภาพเด็กผู้หญิง ผมบลอนด์ ตาสีฟ้า หรือการเปิดตลาดคริสต์มาสเบอลินในปี 1934 ที่มีผู้นำระดับสูงของพรรคให้สุนทรพจน์ประกอบ

ตลาดคริสต์มาสจากยุคนาซีนั้นเป็นส่วนหนึ่งของงานใหญ่ในระดับรัฐ ในที่สุดการประดับตกแต่งและหน้าตาของตลาดคริสต์มาสยุคนาซี ทั้งของเล่น เครื่องประดับที่ผลิตในเยอรมนี ขนม ของหวาน ไส้กรอก ของทำมือ กลายเป็นภาพตลาดคริสต์มาสที่กลายเป็นประเพณีในทุกวันนี้ นอกจากนี้ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ผู้นำนาซีใช้ตลาดคริสต์มาสเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เป็นศูนย์กลางสินค้าของเยอรมนีโดยเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมกำลังใจให้ผู้คน

 

เศรษฐกิจของตลาดฤดูหนาว ความร่วมมือระหว่างเมือง

จากจุดเริ่มต้นในยุคกลางและการใช้ตลาดคริสต์มาสเป็นส่วนหนึ่งของเมือง พร้อมส่งเสริมตัวตนและวัฒนธรรมเยอรมันในยุคนาซี ตลาดคริสต์มาสกลายเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เฉพาะในเยอรมนีเองนับว่าตลาดคริสต์มาสได้กระตุ้นเศรษฐกิจตามที่นาซีได้คาดหวังไว้ โดยในปี 1934 ที่ตลาดเบอร์ลินเปิดตัว มีตัวเลขการเยี่ยมชมตลาดสูงถึง 1.5 ล้านคนซึ่งนับว่าสูงมากสำหรับการจัดตลาดครั้งแรก สองปีหลังจากนั้นที่เบอร์ลินมียอดคนไปงานทะลุ 2 ล้านคน อย่างไรก็ตามในช่วงปลายสมัยของนาซี ตลาดคริสต์มาสก็เฟื่องฟูได้ไม่นานเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 2

หลังจากสงครามโลกสงบ ตลาดคริสต์มาสก็กลับมาคึกคักและเริ่มขยายไปทั่วยุโรป เฉพาะเยอรมนีเอง เศรษฐกิจที่บูมหลังสงครามทำให้ตลาดคริสต์มาสเป็นการส่งออกทางวัฒนธรรมของเยอรมนีอย่างหนึ่ง ซึ่งนอกจากพื้นที่ใกล้เคียงของเยอรมนี เช่น ออสเตรีย ฝรั่งเศส อิตาลีแล้ว อังกฤษก็นับเป็นอีกประเทศที่หยิบยืมตลาดคริสต์มาสไปเปิดในเมืองของตน เมืองสำคัญ เช่น เบอร์มิงแฮมก็มีการลงนามร่วมเป็นความร่วมมือระหว่างเมืองแฟรงก์เฟิร์ตและเบอร์มิ่งแฮมในปี 1966 มีโครงการร่วมหลายด้าน รวมถึงการจัดตลาดคริสต์มาสแฟรงก์เฟิร์ตที่เมืองเบอร์มิงแฮมนับเป็นตลาดคริสต์มาสที่ใหญ่ที่สุดนอกจากเยอรมนีและออสเตรีย โดยในปี 2014 มีตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ตลาดดังกล่าวสูงถึง 5.5 ล้านคน แน่นอนว่าตลาดคริสต์มาสเป็นสิ่งที่เริ่มเกิดขึ้นในเมืองสำคัญๆ อื่นๆ อีกตั้งแต่อเมริกาจนถึงญี่ปุ่นและจีน

 

ตลาดคริสต์มาสมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

ข้อสังเกตสำคัญคือ ตลาดคริสต์มาสมีการพัฒนา ตัวมันเองไม่ใช่แค่ตลาดแต่สัมพันธ์กับบริบทประวัติศาสตร์และบริบททางวัฒนธรรม จากการพัฒนาของเมืองและความสัมพันธ์ของผู้คนในพื้นที่เมืองยุคกลาง การเติบโตของคริสต์ศาสนามาจนถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเยอรมัน นักวิชาการบางท่านจึงเสนอว่าตลาดคริสต์มาสควรจะถูกนับเป็นวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้อย่างหนึ่ง (intangible culture heritage) เนื่องจากตลาดคริสต์มาสไม่ได้เป็นพื้นที่สำหรับการซื้อของประดับช่วงเทศกาล แต่คือบรรยากาศ คือกลิ่นอายและความรู้สึก ถึงการที่ผู้คนออกมาอยู่ร่วมกันภายในพื้นที่หนึ่งๆ ในช่วงเวลาที่เฉพาะเจาะจง

นอกจากประเด็นการรับรู้ตลาดคริสต์มาสในฐานะมรดกทางวัฒนธรรม ข้อสังเกตและข้อวิจารณ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการจัดตลาดมีอีกหลายประการ เช่น การนำวัฒนธรรมเยอรมันไปไว้ในบริบทอื่นๆ หรือที่สำคัญคือการที่จิตวิญญาณของความเป็นชุมชนและการส่งเสริมสินค้าชุมชนที่ขาดหายไป ตลาดคริสต์มาสอาจกลายเป็นแค่เครื่องมือทางการค้าที่ไม่ได้นำไปสู่ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการขับเคลื่อนท้องถิ่นจากการใช้พื้นที่สาธารณะและความรู้สึกพิเศษของเมือง

 

POPS และมิติการพัฒนาพื้นที่สาธารณะเพื่องานเทศกาล

ข้อคำนึงของตลาดคริสต์มาสจึงกลับมาที่การใช้งานพื้นที่และบรรยากาศของเมือง ตลาดคริสต์มาสรวมถึงเทศกาลฤดูหนาวเป็นสิ่งที่แต่ละเมืองมีบริบทของตัวเอง การจัดเทศกาลนั้นๆ แง่หนึ่งจึงเป็นการดึงบรรยากาศที่สัมพันธ์กับเมืองทั้งบรรยากาศและประวัติศาสตร์ในเมืองนั้นๆ ออกมาในรูปแบบของกิจกรรมและความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ มีข้อวิจารณ์และข้อสังเกตที่น่าสนใจซึ่งเราอาจพิจารณาเข้ากับบริบทการพัฒนาเมืองได้ เช่น ข้อสังเกตจาก Rowan Moore นักข่าวและนักวิจารณ์ของเดอะการ์เดียนชี้ให้เห็นว่าตลาดคริสต์มาสสัมพันธ์กับพื้นที่เมือง (urban space) โดยเฉพาะตลาดที่จัตุรัสทราฟัลการ์มีความพิเศษกว่าที่อื่นๆ

ในข้อสังเกตเรื่องพื้นที่เมืองนั้นทำให้เห็นว่าพื้นที่เมืองและพื้นที่สาธารณะมีความสำคัญและช่วยส่งเสริมกิจกรรมพิเศษในช่วงเทศกาลต่างๆ แต่ทว่าพื้นที่เปิดโล่งที่กลายเป็นพื้นที่เทศกาล เช่น ลานกว้างที่ประดับประดาไฟ จอฉายกีฬาในแต่ละช่วงที่มาพร้อมกับป้ายโฆษณา ลานเสก็ตและความน่าตื่นตาใจ มักเป็นพื้นที่ที่เอกชนเป็นผู้พัฒนาในนามของ Privately Owned Public Space การพัฒนาที่มีความน่าตื่นใจนั้นไม่ได้ผิดอะไรแต่ก็ทำให้เห็นว่าลานสำคัญ เช่น ลานหรือพื้นที่สาธารณะของเมืองกลับพัฒนาและฉวยใช้บรรยากาศและบริบททางวัฒนธรรมที่รุ่มรวยในการพัฒนาและจัดการพื้นที่ที่ควรจะเป็นอัตลักษณ์ประจำชาติได้ไม่ดีนัก

ข้อวิจารณ์นี้จึงมีความน่าสนใจทั้งในแง่การพิจารณาตลาดคริสต์มาสและตลาดเทศกาลปลายปี ที่พื้นที่นั้นเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เมืองและย้อนกลับมาสัมพันธ์กับการลงทุนพัฒนา และการใช้พื้นที่สาธารณะที่บางส่วนอาจสัมพันธ์กับมิติที่ลึกซึ้งขึ้น เช่น ประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ประจำชาติอย่างที่เยอรมนีเคยใช้ การเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาและการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อาจเป็นความร่วมมือระดับเมืองและระดับรัฐ รวมถึงจิตวิญญาณและประโยชน์ต่อชุมชน ซึ่งการพัฒนาและกิจกรรมในพื้นที่เมืองนั้นอาจเป็นสิ่งที่เรากลับมาทบทวนถึงประโยชน์ชุมชนและผู้คนผ่านงานเทศกาลและมิติทางวัฒนธรรมต่างๆ ได้

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

nationalgeographic.co.uk

theconversation.com

birmingham.gov.uk

theguardian.com

smithsonianmag.com

researchgate.net

enventure.co.uk

theguardian.com

Share :