CITY CRACKER

Central Perks – เรียนรู้ Third place ผ่านมุมมองซีรีส์ดังตลอดกาลอย่าง F.R.I.E.N.D.S 

ในปีนี้ครบ 20 ปีพอดีของซีรีส์อันโด่งดังอย่าง F.R.I.E.N.D.S ซีรีส์เรื่องราวการรวมตัวกันของเพื่อน 6 คน ต่างอาชีพ ต่างชีวิต ที่เลือกแชร์อพาร์ตเมนต์เดียวกันถูกเล่าออกมาอย่างน่าสนใจตลอด 10 ซีซั่นที่ออนแอร์บนจอแก้ว ซึ่งสถานที่สำคัญหลายแห่งในซีรีส์ได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ทั้งอพาร์ตเมนต์ของมอนิก้าและเรเชล อพาร์ตเมนต์ห้องตรงข้ามของโจอี้และแชนด์เลอร์ ร้านกาแฟเจ้าประจำอย่าง Central perk หรือแม้กระทั่งคำติดหูอย่าง London baby!

นอกจากห้องอพาร์ตเมนต์ด้านบน ร้านกาแฟขนาดย่อมๆ อย่าง Cenrtal perk ที่ตั้งอยู่ชั้นล่างสุดของอาคารติดกับถนนด้านหน้าก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญของเหล่าเพื่อนๆ 6 คน และกลายมาเป็นสัญลักษณ์ที่เหล่าแฟนๆ ต้องพูดถึง หลายๆ ครั้งเรื่องราวสำคัญที่น่าจดจำก็มักจะเกิดขึ้นในนี้ ทั้งฉากเปิดตัวของเรื่อง ฉากสารภาพรักของเรเชลและรอสส์ หรือความจริงที่ว่าที่นี่เคยเป็นบาร์มาก่อน 

ในวาระครบ 20 ปีที่ซีรี่ส์เรื่องนี้ออกสู่สายตาผู้คนทั่วโลก City Cracker จึงขอหยิบร้านกาแฟสุดไอคอนนิกอย่าง Central perk มาเล่าใหม่ ในมุมมองความสำคัญของ Thrid place หรือพื้นที่ที่สาม รวมถึงความเป็นมาและความสำคัญในบริบทเมืองผ่านซีรี่ส์ดังยอดฮิตอย่าง F.R.I.E.N.D.S. กัน

 

 

The one with the third place  

Third place หรือ พื้นที่ที่สาม หมายถึงสถานที่ที่ไม่ใช่บ้าน (พื้นที่ที่หนึ่ง) และที่ทำงาน (พื้นที่ที่สอง) แต่สถานที่ที่สามคือ ‘จุดยึด’ ของวิถีชีวิตในชุมชน อำนวยความสะดวก และส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ในวงกว้างและสร้างสรรค์มากขึ้น เรียกง่ายๆ ว่ามันคือสถานที่สำหรับพักผ่อนในที่สาธารณะกับคนคุ้นเคย แต่ขณะเดียวกันก็มีโอกาสที่จะได้รู้จักคนใหม่ๆ เช่นกัน 

เรย์ โอลเดนเบิร์ก (Ray Oldenburg) นักสังคมวิทยาชาวอเมริกัน ได้ให้แนวความคิดเกี่ยวกับสถานที่ที่สามไว้ว่า พื้นที่ทางสถาปัตยกรรมแห่งนี้เริ่มปรากฏขึ้นเมื่อช่วงปฎิวัติอุตสาหกรรม ได้รับความนิยม และได้รับการหยิบยกขึ้นโดยธุรกิจขนาดเล็กต่างๆ แถมมักถูกอ้างถึงในวรรณกรรมการวางผังเมืองในประเด็นการพัฒนาธุรกิจ ที่เน้นชุมชนตลอดจนการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ เช่น โบสถ์ ห้องสมุด ร้านกาแฟ ร้านอาหาร บาร์ หรือพื้นที่ส่วนกลาง อาจเจาะจงหรือไม่เจาะจงในกิจกรรมก็ได้ ขึ้นอยู่กับผู้ใช้งานต้องการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปทิศทางใด

จากซีรี่ส์เรื่อง F.R.I.E.N.D.S ร้านกาแฟ Central perk ปรากฏตัวตั้งแต่ฉากแรก ทำให้จุดเริ่มต้นของเหล่าเพื่อนๆ ทั้ง 6 คนเกิดขึ้นที่นี่ และตลอดเวลา 10 ปีที่ซีรี่ส์เรื่องนี้ออกฉาย ร้านกาแฟขนาดย่อมแห่งนี้ก็โผล่มาให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง เรียกได้ว่าทุกๆ อีพีโดยมีเหล่าตัวละครรวมตัวกันตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม 6 คน หรือกลุ่มเล็กๆ ก็ตาม แสดงให้เห็นชัดถึงแนวคิดนี้ของการเป็นสถานที่ที่สามอย่างชัดเจน 

 

 

The one where FRIENDS hang out 

นอกจากคำว่า ‘พื้นที่ที่สาม’ ตามความหมายแล้ว ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ร่วมด้วยอีก 8 ข้อที่ทำให้พื้นที่ตรงนี้แตกต่างจากพื้นที่ทางสถาปัตยกรรมอื่นๆ คือ 

1. เป็นพื้นที่สาธารณะ 

2. เป็นสถานที่สำหรับทุกๆ คน 

3. ไม่ใช่เพียงแค่สถานที่เปิดกว้างสำหรับกิจกรรม แต่ร่วมถึงบทสนทนาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น

4. เข้าถึงง่าย มีเวลาเปิดให้ใช้บริการยาวในแต่ละวัน

5. ต้อนรับผู้คนใหม่ๆ เข้ามาเสมอ

6. ให้ความรู้สึกสงบ เรียบง่าย และเป็นกันเอง

7. รู้สึกสนุกสนาน เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ

8. ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน 

ใน 8 ข้อที่กล่าวมาทั้งหมด Central perk อยู่ในทุกข้อที่กล่าวมา อย่างที่เห็นกันในซีรีส์ว่าร้านกาแฟแห่งนี้เปิดเวลาทำการตลอดทั้งวัน ทั้งจากเรเชลที่เคยทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟตอนกลางวัน ฟีบี้ที่ร้องเพลงในยามค่ำคืนของร้าน และทั้ง 6 คนแทบจะใช้เวลาอยู่ที่นี่กันเกือบตลอด จนกลายเป็นอีกมุกหนึ่งในซิทคอมที่ว่า ทำไมเจ้านายของทุกคนถึงไม่ค่อยชอบหน้าพวกเขาเท่าไร กระทั่งโจอี้พูดขึ้นมาว่าอาจจะเพราะพวกเขานั่งอยู่ที่ร้านกาแฟในวันพุธ 11 โมงเช้า แทนที่จะไปทำงานกันละมั้ง 

นอกเหนือจากความแน่นขนัดของลูกค้าที่มาใช้บริการอย่างตลอดเวลาจนน่าแปลกใจที่ก๊วนเพื่อนได้นั่งที่โซฟาสีส้มกลางร้านเสมอๆ พื้นที่แห่งนี้ยังเต็มไปด้วยความสนุกสนาน เสียงหัวเราะ เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่แห่งการสนทนาอย่างแท้จริง เรื่องราวที่เกิดขึ้นในแต่ละอีพีมักจะเกิดเริ่มต้นด้วยบทสนทนาต่างๆ ที่ตัวละครหลัก 6 คนหรือตัวละครรับเชิญในแต่ละตอนใช้ร้าน Central Perk เป็นเสมือนพื้นที่สำหรับพูดคุย แชร์ประสบการณ์ เล่าเรื่องที่เจอกันในแต่ละวันให้ฟัง หรือแม้กระทั่งความประทับใจหรือความฮาต่างๆ ก็มักเกิดขึ้นที่นี้อยู่บ่อยคร้ัง เห็นได้ชัดว่าร้านกาแฟใต้ตึกที่พวกเขาอยู่เป็นมากกว่าแค่ร้านกาแฟและแสดงให้เห็นถึงบทบาทของการเป็น third place ได้อย่างชัดเจน

 

 

The one where we feel like home

อีกหนึ่งสิ่งที่เราตั้งคำถามคือ ‘แล้วทำไมเราต้องมีพื้นที่ที่สามด้วย ในเมื่อบ้านเองก็เหมือนจะเป็นที่สำหรับพักผ่อนให้กับเราได้’ เหตุผลง่ายๆ 3 ข้อ ตามที่โอลเดนเบิร์กแจกแจงไว้คือ 1) พื้นที่ที่สาม เปรียบเสมือนการรวมตัวกันของชุมชน หรือพื้นที่บริบทใกล้เคียง 2) เป็นพื้นที่ที่สร้างความรู้สึกของสถานที่โดยรอบมากขึ้น (sense of belonging) และ 3) เป็นพื้นที่ที่ไม่มีการตัดสิน ทุกคนสามารถใช้พื้นที่แสดงความเป็นตัวตนออกมาได้อย่างอิสระ บนพื้นฐานของความเป็นพื้นที่สาธารณะ  

ทั้งสามข้อนี้ทำให้ความรู้สึกผูกพันในอีกเชิง ซึ่งแตกต่างจากความรู้สึกของบ้าน สำหรับซิทคอมอย่าง F.R.I.E.N.D.S แม้ก่อนหน้าจะเคยเป็นบาร์มาก่อนปรับเปลี่ยนเป็นร้านกาแฟอย่างที่เราเห็น แต่พื้นที่นี้ก็ยังคงคอนเซปต์ของทั้งหมดที่กล่าวมา อย่างใน EP. The one with the flashback ที่ทำให้เราเห็นว่าร้านกาแฟ Central perk เคยเป็นบาร์มาก่อน เมื่อแชนด์เลอร์รู้ว่าพื้นที่ตรงนี้จะไปเปลี่ยนเขาก็แสดงความหงุดหงิดออกมา แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็นร้านกาแฟ พวกเขาก็ยังคงแฮงเอาต์กันที่เดิม ซึ่งตรงกันกับแนวความคิดที่ว่าสุดท้ายแล้วพื้นที่ที่สามสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น แต่สิ่งที่ยังคงอยู่คือความรู้สึกของการพักผ่อนในพื้นที่อื่นนอกจากบ้านและที่ทำงาน ทั้งยังเป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อการรวมตัวกันในระหว่างชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง 

อีกหนึ่งงานวิจัยจากลิซ่า แว็กซ์แมน (Lisa Waxman) อาจารย์จากมหาวิทยาลัยฟลอริดาสเตต (Florida State University) ยืนยันถึงความสำคัญของพื้นที่ที่สามโดยยกตัวอย่างถึงร้านกาแฟ ได้กล่าวว่า พื้นที่ที่สามนั้นเป็นเหมือนองค์ประกอบหลักของปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและการเชื่อมต่อกับชุมชนของผู้อยู่อาศัย โดยส่วนใหญ่ลูกค้าร้านกาแฟมักรู้สึกผูกพันกับร้านกาแฟที่พวกเขาเลือกและชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่  

เหล่าแก๊งเพื่อนๆ 6 คนนี้ก็เป็นข้อยืนยันให้เราเห็นได้ชัดเจนที่สุด เพราะไม่ว่ายังไงแล้วพวกเขาก็เลือกมาทานกาแฟ และนั่งเล่นกันที่นี่อยู่ดี และไม่เคยเปลี่ยนสถานที่ไปที่อื่น แม้กระทั่งอีพีสุดท้ายในซีซั่น 10 พวกเขาก็ยังชวนกันลงมากินกาแฟเป็นครั้งสุดท้ายที่ Central perk ก่อนจะแยกย้ายกันไปเติบโตกันตามทางของตัวเอง

 

 

The one with the memory

พื้นที่ที่สาม หรือ Third place จึงมีความสำคัญอย่างมาก ทั้งเป็นพื้นที่ส่วนกลางแบ่งปันเรื่องราวต่างๆ เป็นสถานที่ใกล้เคียงที่เราอาศัยหรือทำงาน ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย ใช้เวลากับตัวเองและเพื่อน ในขณะเดียวกับก็พร้อมจะเรียนรู้หรือรู้จักกับผู้คนใหม่ๆ ที่เข้ามา ซึ่งหลังจากซีรี่ส์เรื่องนี้ออนแอร์ หลายๆ ซิทคอมที่ตามมาก็ปรับรูปแบบให้มีการใช้พื้นที่ที่สามเป็นพื้นที่รวมตัวของเหล่าตัวละครหลักเหมือนกัน

ส่วนบนถนน 90 Bedford Street ที่อพาร์ตเมนของมอนิก้า และเหล่าผู้ชายอาศัยอยู่ตลอดสิบปีที่ผ่านมาตามเนื้อเรื่อง ปัจจุบันได้กลายเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่เหล่าแฟนๆ มักตามรอยไป โดยตัวอาคารบนพื้นที่จริงนั้นก็มีร้านขายของชำตั้งอยู่ชั้นหนึ่งของตึกเช่นเดียวกัน คาดเดาได้ว่าน่าจะเป็นสถานที่ที่ Cenrtal perks ตั้งอยู่ตามเซ็ตของตัวเนื้อเรื่องหลัก (แต่ฉากที่ใช้ถ่ายจริงๆ ถูกสร้างขึ้นใหม่และยังคงเก็บไว้อยู่ที่สตูดิโอ Warner bros.) แสดงให้เห็นถึงสถาปัตยกรรมรูปแบบหนึ่งของเมืองนิวยอร์กในยุคสมัยนั้น ที่เริ่มสร้างพื้นที่ที่สามและพื้นที่สาธารณะต่างๆ และยังคงส่งผลมาถึงปัจจุบันให้เราได้เห็นกัน ทำให้เราเห็นได้ว่าสถาปัตยกรรมไม่ได้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของเมืองเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันที่หล่อหลอมให้เราได้ทำกิจกรรม สร้างความสัมพันธ์รอบๆ ตัวบนพื้นที่ดึงดูดกลุ่มคนที่มีความสนใจเดียวกันเข้าหากัน กลายเป็นสังคมและความสัมพันธ์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจ 

 

 

จากระยะห่าง 97 ก้าวจากห้องของโจอี้และแชนด์เลอร์สู่ร้านกาแฟ Central perk รวมกับระยะเวลา 10 ปีเต็มที่ซีรี่ส์เรื่องนี้ออกฉายทำให้สถานที่นี้กลายเป็นอีกหนึ่งไอคอนิกที่เหล่าๆ แฟน F.R.I.E.N.D.S จะต้องพูดถึงเมื่อกล่าวถึง และไม่ว่าจะเป็นยังไง ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ผู้คนยังจดจำเรื่องราวและความสนุกต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดีย้อนดูซีรี่ส์เรื่องนี้กันอีกสักกี่รอบ ภาพจำของสถานที่เหล่านี้ก็จะ will be there for you เสมอ

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

medium.com

friends.fandom.com

gdg-architects.com

thetalko.com

6sqft.com

coffeeteaimagazine.com

steelcase.com

bork.hampshire.edu

ew.com

 

Share :