CITY CRACKER

ดึงคนจากผับสู่สวนสีเขียว รู้จัก Bandstand พาวิเลียนเล็กๆ ของสวนสาธารณะ ที่ตั้งใจใช้เพื่อจรรโลงสังคม

นึกภาพการไปในสวนสาธารณะ และในสวนมีเสียงดนตรี​ มีกิจกรรมต่างๆ ที่ชวนให้รื่นรมย์ เราได้เห็นแล้วว่าการเล่นดนตรี​ เต้นรำในสวนได้สร้างชีวิตให้เมืองและผู้คนได้มากแค่ไหน ในแง่ของสถาปัตยกรรม​ สวนสาธารณะเองดูจะมีดนตรีเป็นองค์ประกอบมาตั้งแต่ยุคสร้างสวนสาธารณะ และเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่พักผ่อนใหม่ๆ ในยุควิคตอเรียนเป็นต้นมา​ 

ในการออกแบบภูมิทัศน์ของสวนมักจะมีสิ่งที่เรียกว่า Bandstand​ นึกภาพสวนสวยเก่าแก่ โดยเฉพาะสวนอังกฤษที่นอกจากจะมีสนามและพืชพรรณแล้ว ยังมักมีอาคารเล็กๆ เป็นศูนย์กลางที่ไม่ใช่แค่ศูนย์กลางในแง่สถาปัตยกรรม​ แต่ยังเป็นศูนย์กลางของกิจกรรม​ ของการแสดงดนตรีและสันทนาการ แปลว่าสวนตั้งแต่สมัยไหนต่างก็ทำหน้าที่สร้างความรื่นรมย์ และมีเสียงดนตรีเป็นส่วนประกอบของชีวิตในเมือง​ โดยนอกจากอังกฤษแล้วสกอตแลนด์ก็มีการสร้างศาลาจิ๋วนี้ โดยส่วนหนึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อร่วมแก้ปัญหาสังคม

 

bbc.com

 

เจ้าศาลาดนตรีหรือศาลาน้อยในสวนถือเป็นมรดกทางภูมิสถาปัตยกรรม​ เป็นส่วนหนึ่งของสวนแบบอังกฤษที่เมื่อเมืองเริ่มสร้าง หรือปรับสวนส่วนบุคคลออกเป็นสวนสาธารณะ ฟังก์ชันหรือการมีอยู่ศาลาดนตรีก็สัมพันธ์ทั้งบริบททางประวัติศาสตร์ รวมถึงความคิดเรื่องความสำคัญและหน้าที่ของสวนสาธารณะที่มีมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19​ แต่ว่าปัจจุบันเราอาจจะเห็นว่าสวนสาธารณะส่วนใหญ่อาจจะไม่ค่อยมีศาลาอันวิจิตรนี้เท่าไหร่แล้ว ส่วนหนึ่งศาลาน้อยได้รับความนิยมในสวนสาธารณะแถวสหราชอาณาจักรในทศวรรษ 1890 และค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงในช่วงทศวรรษ 1980 เนื่องด้วยราคาค่าก่อสร้างและการดูแลรักษาที่สูงได้รับผลกระทบการสงครามโลก

เบื้องต้น​ ศาลาดนตรีในสวนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตหรูหราของชาวอังกฤษ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องมาสู่แนวคิดการออกแบบและใช้งานสวนสาธารณะในเมืองในเวลาต่อมา​ ในสวนเก่าแก่และสำคัญส่วนใหญ่ของอังกฤษมักจะมีศาลาน้อยเป็นส่วนประกอบสำคัญอยู่เสมอ หนึ่งในศาลาน้อยที่เก่าแก่ที่สุดคือศาลาน้อยที่สวนเคนซิงตัน​ สร้างขึ้นในปี​ 1869 ก่อนจะย้ายไปไว้ที่สวนไฮด์ปาร์กในปี​ 1886 

 

heritagecalling.com

 

ถ้าเราสืบสาวกลับไปกว่านั้น ศาลาน้อยแห่งแรกของอังกฤษยังสัมพันธ์กับวิทยาการและการก้าวเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยระบุว่าศาลาน้อยแห่งแรกนั้นสร้างขึ้นในสวนของราชสมาคมพฤกษศาสตร์ในเซาธ์เคนซิงตัน​ ในพื้นที่ของความรู้และการเก็บรวบรวมพืชพรรณของจักรวรรดินั้น เจ้าศาลาน้อยก็นับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาการ 

ตัวศาลาสร้างขึ้นด้วยโครงเหล็กที่ดูบอบบางแต่แข็งแรงสะท้อนถึงเทคโนโลยีเหล็กกล้า​ ด้วยการก้าวเข้าสู่ยุคเหล็กกล้าที่อังกฤษสามารถผลิตเหล็กได้ ประกอบกับกระแสที่รัฐมองเห็นว่าสวนเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาพื้นที่ และชีวิตอันแห้งแล้งและปกคลุมไปด้วยฝุ่นควัน (ลอนดอนและเมืองใหญ่เคยเจอปัญหาฝุ่นจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมมาตั้งแต่ยุคแรกๆ) สวนที่ต้องการจุดศูนย์กลางที่สร้างขึ้นตามการเติบโตและความต้องการของเมือง ก็เลยมีศาลาแสดงดนตรีเป็นศูนย์กลางของสวนอังกฤษและประเทศในเครือจักรภพ​

นอกจากนี้เจ้าศาลาในสวนพฤกศาสตร์ยังสัมพันธ์กับการหลงใหลในบูรพคดีศึกษา​ หนึ่งในกระแสของลักษณะทางสถาปัตยกรรมของศาลาน้อยคือการใส่ลักษณะแบบตะวันออกลงไป เช่น บางศาลาน้อยมีลักษณะเหมือนเก๋งจีน บ้างก็ออกแบบเป็นเหมือนวัดของพวกแขกมัวร์ หรือบางแห่งก็ทำให้มีลักษณะแปลกประหลาดเหมือนมาจากนิยายไซไฟ

 

bbc.com

 

ในระดับความคิด​ การพัฒนาสวนรวมถึงพื้นที่สาธารณะและพื้นที่เปิดโล่งของประเทศแถบอังกฤษในยุคนั้น​ การพัฒนาว่าด้วยความศิวิไลซ์และการใช้สวนในฐานะพื้นที่แห่งการเยียวยารักษา โดยนอกจากสวนจะทำหน้าที่เป็นพื้นที่ที่ให้ความรื่นรมย์และเป็นที่รวมตัวของผู้คน​ ในการรวมตัวสมัยก่อนอาจจะยังไม่มีแนวคิดเรื่องการออกกำลังกายเหมือนการไปสวนร่วมสมัย แต่คนเมืองไปสวนเพื่อพักผ่อน ศาลาดนตรีจึงเป็นพื้นที่รวมตัวสำคัญสำหรับการฟังดนตรีและดูละครในยุคนั้น​

ในแง่ความนิยมของศาลาดนตรีในสวนนั้นถือว่าเป็นที่นิยมใช้ได้ หนังสือพิมพ์ในทศวรรษ 1890​ รายงานว่าในศาลาน้อยนั้นจะมีการแสดงดนตรีสามครั้งต่อสัปดาห์​ ในช่วงวันสำคัญมีบันทึกว่าบางสวนมีผู้คนเข้าไปรวมตัวเพื่อฟังดนตรีถึงหนึ่งหมื่นคน มีบทความในหนังสือพิมพ์ในปี​ 1937 บันทึกการไปฟังดนตรีที่สวน​สรุปความได้ว่า ‘แม้ว่าจะไปถึงสวน​ตามเวลา​ แต่เมื่อไปถึงแล้วจะหาที่นั่งลงนั้นก็ทำได้ยากได้ สุดท้ายจึงต้องใช้วิธียืนพิงต้นไม้​ ผู้คนนั่งอยู่บนม้านั่ง​ บนราว พิงอิงแอบกับร่มเงาและสนุกไปกับดนตรีร่วมกัน​ เด็ก​ที่ไปไม่เล่นลูกบอลก็ร้องเพลงเล่นอย่างสนุกสนาน​ พวกผู้ใหญ่ที่ทั้งยืนและนั่งต่างก็ฟังดนตรีอย่างมีความสุข’ อ่านแล้วช่างน่าอิจฉาชีวิตชาวลอนดอนในศตวรรษที่ 18

 

bbc.com

 

ทั้งนี้เจ้าเก๋งหรือศาลาน้อยไม่ได้สัมพันธ์แค่กับชีวิตอันหรูหราของคนชั้นสูงเพียงอย่างเดียว แต่พื้นที่สวนสาธารณะยังถูกมองว่าเป็นพื้นที่ที่ช่วยแก้ปัญหา  และเป็นพื้นที่ที่คิดเผื่อชนชั้นแรงงานที่เข้ามาทำงานในเมือง คือในยุควิคตอเรียนเราเกิดเมือง เกิดโรงงานอุตสาหกรรม​ บางส่วนของเมืองจึงเต็มไปด้วยคนที่เข้ามาทำอาชีพเป็นแรงงาน ในตอนนั้นนักพัฒนาก็มองว่าสวนจะต้องเป็นพื้นที่ที่ปลอบประโลมใจให้กับคนชั้นแรงงาน​ 

ตอนนั้นไม่ได้มองเป็นเชิงบวกมาก แต่ในแง่การพัฒนามองว่าคนชั้นแรงงานไม่มีเวลา ไม่มีเวลาพักผ่อนและพบว่าคนชั้นแรงงานมักไปใช้เวลาในผับ (นวัตกรรมการหย่อนใจใหม่ที่มาพร้อมเมือง) การไปอยู่ในผับนำไปสู่ปัญหา เช่น การดื่มสุรา​และการทะเลาะวิวาท ดังนั้นแล้ว หน้าที่ของสวนจึงเป็นทั้งพื้นที่ดึงคนชั้นแรงงานให้ออกไปพักผอนในพื้นที่เปิดโล่ง เจ้าศาลาดนตรีเลยกลายเป็นจุดดึงดูดผู้คนหลักด้วยเสียงดนตรี​ ทั้งยังมองว่าดนตรีและละครเวทีมีหน้าที่สำคัญในการกล่อมเกลาจิตใจของผู้คนด้วย​ ยุคหนึ่งของอังกฤษและโดยเฉพาะในสกอตแลนด์จึงมีการสร้างศาลาดนตรีเพื่อการหย่อนใจเป็นหลัก และดึงคนชั้นแรงงานออกจากผับบาร์

bbc.com

 

อย่างที่เราอาจพอสังเกตได้ ศาลาดนตรีอาจไม่ใช่ฟีเจอร์ที่พบได้ทั่วไปในสวนสาธารณะสมัยใหม่ ส่วนหนึ่งตัวศาลานี้เป็นองค์ประกอบที่ค่อนข้างมีราคาแพง ถือว่าเป็นของฟุ่มเฟือยทั้งในการสร้าง บำรุงรักษา และการจัดแสดงดนตรีก็เต็มไปด้วยค่าใช้จ่าย​ ภายหลังที่อังกฤษ ศาลาทั้งหลายเช่นศาลาที่สวนไฮด์ปาร์กก็ถูกนิยามว่าเป็นศาลาที่เละเทะ จากที่เคยยิ่งใหญ่และเป็นส่วนประกอบสำคัญ​ 

โดยผลกระทบสำคัญคือการมาถึงของสงครามโลกที่ทำให้โลหะและสินค้าต่างๆ แพงเกินกว่าจะจ่ายกับสิ่งที่ดูฟุ่มเฟือย​ ประกอบกับความบันเทิงที่ไปถึงบ้านของผู้คนมากขึ้น เช่น การเกิดขึ้นของโทรทัศน์และสถานีโทรทัศน์​ ความนิยมของโรงภาพยนตร์ ​รวมถึงความเป็นชุมชนที่ค่อนข้างแน่นแฟ้นน้อยลง การมารวมตัวกันในสวนเพื่อพบปะฟังดนตรีจึงลดน้อย และทำให้ศาลาน้อยรวมถึงเสียงดนตรีในสวนเริ่มเงียบลง​ ปัจจุบันอังกฤษก็พยายามฟื้นฟูศาลาจำนวนมากในฐานะมรดกทางประวัติศาสตร์ เพื่อให้ศาลาเหล่านี้กลับมามีสภาพใช้การได้

สุดท้ายศาลาน้อยจึงเป็นอีกหนึ่งหลักฐานและความคิดที่แฝงและเป็นแกนของสวนสาธารณะ การใช้และบทบาทของสวนต่อชีวิตของผู้คน​ การมีสวนท่เต็มไปด้วยเสียงเพลง คราคร่ำไปด้วยผู้คนที่ร่วมร้อง ร่วมกันเต้นรำ​ เป็นที่ที่เราสนุกสนานและหัวเราะด้วยกัน​ สวนและเสียงเพลงจึงดูเป็นอีกพื้นที่ที่จะช่วยเยียวยาเมืองอันชืดชาให้เย็นชาน้อยลงได้บ้าง

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

pavilionsformusic.co.uk

royalparks.org.uk

designingbuildings.co.uk

regentsparkmusicfestival.org.uk

bbc.com

heritagecalling.com

 

Graphic Design by Warunya Rujeewong

 

Share :