CITY CRACKER

เมื่อพื้นที่ระเบียงบ้านสำคัญกว่าที่คิดกับการใช้ชีวิตในยุค COVID-19

เมื่อโลกกว่าครึ่งอยู่ในภาวะกักตัว แน่นอนว่าตัวเราก็อยู่ในบ้านนี่แหละ แต่ด้วยความเป็นมนุษย์ เราก็โหยหาโลกภายนอก โหยหาการเชื่อมต่อกับผู้คน สรรพชีวิต หรืออะไรก็ได้ภายนอก ดังนั้น พื้นที่รอยต่อ อันเป็นเส้นแบ่งบางๆ ที่คั่นเราระหว่างข้างในกับข้างนอก ระหว่างพื้นที่สาธารณะกับพื้นที่ส่วนตัว ระหว่างถนนซอยกับพื้นที่บ้าน ในประเทศแถบยุโรป ที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในอพาร์ตเมนต์ หรือตัวบ้านมักมีระเบียงเล็กๆ เชื่อมระหว่างตึกอาคารออกมาเป็นที่นั่งเล่น รับอากาศภายนอก

 

ในยุคหลังโควิด เราจึงเริ่มเห็นภาพของผู้คนที่ออกมาใช้พื้นที่ระเบียงกันมาขึ้น แน่นอนว่าระเบียง สำหรับบ้านบางประเภทก็เป็นพื้นที่เดียวที่ผู้อยู่อาศัยสามารถมานั่งรับลม มองดู หรือทักทายสัมผัสกับโลกภายนอกได้ สำหรับประเทศแถบตะวันตก ในยุโรป โดยเฉพาะประเทศแถบเมดิเตอเรเนียน เช่นอิตาลี สเปนหรือบางส่วนของสหรัฐ เราจึงได้เห็นบทบาทและกิจกรรมบนพื้นที่ระเบียง เราเห็นคนตีปิงปอง เต้นแอโรบิกร่วมกัน ใช้พื้นที่ส่วนตัว เป็นเสมือนพื้นที่สาธารณะ กิจกรรมและการปฏิสัมพันธ์จึงเหมือนวัฒนธรรมแบบใหม่ ที่ระเบียงได้เปิดโอกาสให้ผู้คนเชื่อมโยงถึงกันในขณะกักตัว

ระเบียงอาจเป็นแค่ระเบียง พอๆ กับที่รั้วบ้านเราเป็นแค่รั้ว แต่ถ้าเรามองในมิติที่ลึกขึ้น พื้นที่เช่นระเบียงเป็นพื้นที่แบบที่เราเรียกว่า liminal space คือเป็นพื้นที่ที่ ‘ก้ำกึ่ง’ เป็นพื้นที่ๆ อยู่ตรงกลาง ระหว่างความหมายหนึ่งไปสู่อีกความหมายหนึ่ง ระเบียงเป็นจุดกึ่งกลางของภายในและภายนอกอาคาร ระหว่างพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ ระหว่างพื้นที่ด้านบนและพื้นที่ด้านล่าง ระหว่างธรรมชาติและสิ่งปลูกสร้าง ระเบียงถือเป็นพื้นที่พิเศษที่เต็มไปด้วยความหมาย มีพัฒนาการ และมีความซับซ้อน จากการเป็นพื้นที่ที่แสดงถึงสถานะ การแยกตัว การกักตัว เรื่อยมาจนกลายเป็นพื้นที่ส่วนกลาง และกลายเป็นจุดเชื่อมต่อของชุมชนไปโดยปริยาย

 

 

ฉากระเบียงอันโด่งดังของจูเลียต ที่อาจไม่มีในยุคเชกสเปียร์

 

‘O Romeo, Romeo! Wherefore art thou Romeo?

Deny thy father and refuse thy name;

Or, if thou wilt not, be but sworn my love,

And I’ll no longer be a Capulet.’

 

พูดถึงระเบียง ระเบียงอันโด่งดังย่อมตกเป็นของจูเลียต ฉากสำคัญในโรเมโอกับจูเลียต ที่หลายคนเรียกกันอย่างลำลองว่า Balcony Scene เป็นฉากที่โรเมโอลักลอบมาพบจูเลียต ฉากสำคัญอันลือลั่นของเรื่อง และแน่นอนฉากระเบียงนี้ก็สถิตความหมายอยู่ในนิยายรักสารพัดเรื่องหลังจากนั้น เป็นฉากความรักต้องห้าม การปีนป่ายขึ้นพบหญิงที่ไม่อาจเอื้อมหรือไม่เหมาะควร- ในเบื้องต้น ระเบียงจึงเป็นพื้นที่เฉพาะ ที่มีการละเมิดกฏเกณฑ์ขอบเขตบางอย่างเกิดขึ้น เช่นเดียวกันกับความรักของโรเมโอและจูเลียต

แต่อนิจจา ฉากระเบียงนี้ถือเป็น ‘ของใหม่’ คือใหม่- กว่าที่เชกสเปียร์ได้วาดไว้ พูดง่ายๆ คือตอนเชกสเปียร์เขียนโรเมโอกับจูเลียต กระทั่งมีการแสดงในช่วงปี 1600s คอนเซ็ปต์ของระเบียง หรือคำว่า Balcony ยังไม่ปรากฏในภาษาอังกฤษเลยด้วยซ้ำ Oxford English Dictionary ระบุว่าคำว่า balcone โผล่ขึ้นและมีใช้ในภาษาอังกฤษก็อย่างน้อยในปี 1618 สองปีหลังจากเชกสเปียร์ตาย- ในตัวบทดั้งเดิมนั้น ฉากที่จูเลียตปรากฏตัวขึ้นก็ใช้คำว่า window ไม่มีการพูดถึงระเบียงเป็นการเฉพาะแต่อย่างใด

คืองี้ ต้องเข้าใจว่าเรื่องของเชกสเปียร์เกิดจากการศึกษา วิเคราะห์และชำระทั้งตัวบทละครและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่างๆ เรารู้รายละเอียดเกี่ยวกับเชกสเปียร์น้อยมาก และหลังจากยุคเชกสเปียร์บทละครของเชกสเปียร์ได้ถูกนำกลับมาแสดงใหม่จนกลายเป็นภาพจำบางประการ และฉากระเบียงนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของศิลปะการละครเวที ที่ใช้การสร้างฉากเฉพาะเพื่อตีความและเล่าภาพการพบกันของคู่รักบันลือโลกขึ้นใหม่

แต่ฉากระเบียงนั้นก็ใช่ว่าจะมโนไปซะทั้งหมด เชคสเปียร์อาจจะไม่ได้นึกถึงระเบียงในฉากนี้ขนาดนั้น แต่ต้องอย่าลืมว่าฉากของโรเมโอกับจูเลียตนั้นเกิดขึ้นที่เมืองเวโรนา อันเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐเวเนเชี่ยน(Venetian Republic) และแน่นอนว่า ระเบียงเป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญของบ้านเรือนคหบดีและพระราชวังในสถาปัตยกรรมเวเนเชี่ยนที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่ทศวรรษ 1500 เป็นต้นมา

ตรงนี้เราจะเริ่มเห็นความลักลั่นเล็กน้อย แต่ก็มีประเด็นทางสถาปัตยกรรมและระเบียงในฐานะองค์ประกอบเป็นศูนย์กลาง นึกภาพอังกฤษ ไม่ว่าจะทศวรรษไหน อังกฤษเต็มไปด้วยความหนาวเหน็บ ดังนั้นคอนเซ็ปต์ของระเบียงจึงค่อนไปทางระเบียงรอบหอคอย หรือการใช้เป็นป้อมปราการบางอย่าง แต่ตรงข้ามกัน ในพื้นที่เขตอบอุ่น พื้นที่ชายฝั่งติดทะเลที่สวยงามเช่นแถบเวนิสนั้น แน่นอนว่าผู้คนย่อมรักที่จะเปิดตึกอาคาร ออกรับแดด รับลมกันเป็นเรื่องธรรมดา

มีหลักฐานว่าพระราชวังทั้งหลายของสถาปัตยกรรมแบบเวนิสนั้นมักจะมีระเบียงเป็นของธรรมดา ส่วนหนึ่งใช้เพื่อแสดงตัวตนของชนชั้นสูงหรือชนชั้นปกครอง เพื่อทั้งออกพบ ในขณะเดียวกันก็แยกตัวออกจากฝูงชนเบื้องล่าง ในทางกลับกัน ระเบียงก็ทำหน้าที่เป็นเหมือนพื้นที่กักกัน ในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยชนชั้นและข้อกำหนด สตรีสูงศักดิ์กระทั่งจูเลียตเองก็ถูกบิดากักตัวไว้กับบ้าน บังคับอยู่ในห้องของตัวเองที่ชั้นบน ซึ่งเจ้าระเบียงนี่แหละก็ทำหน้าที่ช่วยให้กรงทองของนกน้อย ไม่ดูเป็นคุกที่ดูโศกาจนเกินไป

 

 

จากระเบียงแยกชนชั้น สู่ระเบียงเชื่อมผู้คน

จากราวศตวรรษที่ 15 ยิงยาวมาจนถึงศตวรรษที่ 20 เมื่อเราเริ่มมีการสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ มีเบราว์เฮ้าส์ มีการสร้างอพาธเมนต์เพื่อตอบสนองความต้องการบ้านที่โตขึ้นพร้อมๆ กับเมือง ระเบียงก็ยิ่งกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของตึกสูง ที่แน่ล่ะว่า ระเบียงก็ยังคงทำหน้าที่แบบที่ทำกับจูเลียต คือเชื่อมต่อพื้นที่แคบๆ นั้นเข้าสู่โลกภายนอก

แต่การให้ความสำคัญกับระเบียงก็ดูจะสัมพันธ์กับบริบท กับรากฐานทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมอยู่พอสมควร บ้านเราเองระเบียงอาจไม่ได้ถูกออกแบบให้สลักสำคัญเท่ากับการเป็นที่ตากผ้าหรือที่ซักล้างนานๆ จะใช้สักครั้ง- ส่วนหนึ่งอาจมาจากแนวคิดเรื่องความเป็นส่วนตัว ที่ระเบียงเองก็เป็นพื้นที่ที่เปิดโล่ง ถูกมองเห็นได้ง่ายอันเป็นสิ่งที่วัฒนธรรมไทยอาจไม่นิยมนัก

ในทางกลับกัน ประเทศ เช่นอิตาลี จากการมีบริบทประวัติศาสตร์ระเบียงอันยาวนาน ประกอบกับการเกิดขึ้นของเคหะการ การสร้างบ้านราคาประหยัดให้ผู้คนโดยที่คำนึงถึงการออกแบบเพื่อชีวิตที่ดี ในหลังศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ในการออกแบบบ้านรัฐ(social house) ได้เกิดรูปแบบบ้านรัฐ- ที่แน่ละอาจจะไม่กว้างนัก แต่ก็ได้มีการออกแบบรูปแบบบ้านที่เรียกว่า ‘case di ringhiera’ อันเป็นรูปแบบอพาร์ตเมนต์แบบที่เราอาจจะพอนึกภาพออก คือเป็นอพาร์ตเมนต์ที่มีระเบียงร่วมกัน มีการวางไม้กระถาง แล้วตรงกลางก็อาจเป็นสวน หรือเป็นพื้นที่ที่ใช้งานร่วมกัน ตัวระเบียงนี้จึงทำหน้าที่เป็นพื้นที่สาธารณะภายใน เกิดเป็นรอยต่ออันเป็นพื้นที่พบปะ ตากผ้า ซุบซิบนินทาเพื่อนบ้าน อัพเดตข่าวสาร เกิดเป็นชุมชนย่อยๆ ในที่พักอาศัยขึ้น

 

ระเบียงในที่สุดจึงไม่ใช่แค่พื้นที่ทางสถาปัตยกรรม แต่ในทางกลับกันตัวสถาปัตยกรรมนี้แหละที่สัมพันธ์กับคุณค่า กับสถานะ และความสัมพันธ์กับผู้คนในสังคม จากการใช้ระเบียงเพื่อแยกยกชนชั้น มาสู่การสร้างพื้นที่และผลิตชุมชนและความสัมพันธ์ทางสังคมร่วมสมัยขึ้นผ่านพื้นที่ส่วนรวม จนกระทั่งมาถึงยุคโคโรน่าไวรัส ที่ระเบียงเองก็ยังทำหน้าที่ เป็นพื้นที่ที่ผู้คนได้เชื่อมโยงถึงกัน และได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อสื่อสาร และดำเนินชีวิตในยุคแห่งความยากลำบาก ให้ไม่ชืดชาและซึมเซาจนเกินไป

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

domusweb.it

myshakespeare.com

smithsonianmag.com

theatlantic.com

Share :