CITY CRACKER

‘ปรากฏการณ์บ้านผี’ ญี่ปุ่นกำลังเจอปัญหาชานเมืองร้าง จากอัตราการเกิดที่ลดลง

ถ้าย่านของเราทุกแปดหลังมีบ้านร้างหนึ่งหลัง ความรู้สึกของย่านและของเมืองจะเป็นอย่างไร ?

เราพูดกันเรื่องสังคมสูงวัย- Aging Society ว่าเป็นปัญหาที่เรากำลังต้องเผชิญกันต่อไป แต่ปัญหาที่เป็นภาพใหญ่ๆ เราก็มักจะรู้สึกว่าสังคมมันน่าจะไม่เปลี่ยนอะไรมากมาย ปัญหาที่ว่าเป็นเรื่องที่ยังมาไม่ถึง แต่ดูเหมือนว่าหน้าตาของสังคมสูงวัยที่เรารู้สึกว่ายังมาไม่ถึงนั้น ที่ญี่ปุ่น ประเทศที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วนั้น ความเปลี่ยนแปลงเชิงประชากรกำลังทำให้หน้าตาและความรู้สึกเปลี่ยนไป เมื่อบ้าน เมืองและชานเมืองที่เคยเต็มไปด้วยผู้คนกลับเปลี่ยวร้าง เกิดเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า akiya หรือบ้านผีขึ้น

ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่ค่อนข้างเป็นตัวอย่างสำหรับบ้านเราได้ คือญี่ปุ่นพัฒนาอย่างรวดเร็วและเผชิญปัญหาที่เราก็มีแนวโน้มจะเผชิญเช่นเดียวกันในความเร่งที่ต่ำกว่าเล็กน้อย ความเปลี่ยนแปลงทั่วไปที่เรากำลังเจอคือวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่กำลังเปลี่ยน  ผู้คนครองตัวเป็นโสดมากขึ้น ความนิยมในการมีลูกน้อยลง ทำให้อัตราการเกิดของญี่ปุ่นตกฮวบ เกิดการหดตัวของจำนวนประชากรอย่างรวดเร็ว มีการคาดการณ์ว่าจำนวนประชากรของญี่ปุ่นจะลดลงเหลือต่ำกว่า 100 ล้านคนในอีก 20 ปีข้างหน้า

ปัญหาที่ฟังดูเป็นปัญหาเชิงสถิตินั้นในที่สุดย่อมส่งผลอย่างเป็นรูปธรรม และดูเหมือนว่าความเปลี่ยนแปลงจะเป็นที่ประจักษ์กันบ้างแล้ว เมื่ออัตราการเกิดลดลงสวนทางกับเมืองและความต้องการอสังหาริมทรัพย์ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา บัดนี้บ้านในญี่ปุ่นโดยเฉพาะในย่านชานเมืองและเมืองใกล้เคียงกำลังค่อยๆ อยู่ในภาวะรกร้างด้วยเจ้าของเดิมค่อยๆ ทยอยเสียชีวิตไปและไม่มีคนรุ่นใหม่ๆ เข้าอยู่ในเมืองในย่านอย่างเพียงพอ

ภาพของเหมือนของเปลี่ยวร้าง บ้านที่ค่อยๆ ไร้เงาของผู้คนจึงกำลังแผ่ขยาย และกลายเป็นปัญหาสำคัญของเมืองต่างๆ ในญี่ปุ่น ที่ญี่ปุ่นจึงเกิดปรากฏการณ์บ้านผีสิงหรือ akiya ที่หลายย่านหลายเมือง การหดตัวลงของประชากรทำให้เมืองนั้นเป็นเมืองร้าง ส่งผลกับความรู้สึกของเมืองและบรรยากาศของเมืองที่รวมไปถึงความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยที่ยังหลงเหลืออยู่ด้วย มีรายงานจากช่วงต้นปีพบว่าในญี่ปุ่นบ้านทุกๆ แปดหลัง จะมีหนึ่งหลังที่กลายเป็นบ้านผีสิง นึกภาพว่าถ้าในย่าน ในเมืองมีบ้านร้างในทุกๆ สิบหลัง ความรู้สึกของเราในเมืองนั้นย่อมเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน

 

rethinktokyo.com

Akiya บ้านร้างเมืองเดียวดาย

ถือเป็นข้อมูลที่คาดไม่ถึง เมื่อหลายสิบปีก่อนเรารับรู้ว่าญี่ปุ่นรวมถึงเมืองใหญ่เผชิญกับปัญหาประชากรที่แออัดจนเกินไป มีการขยายย้ายเมือง สร้างย่านหรือเมืองข้างเคียง แต่ปัจจุบันปัญหากลายเป็นกลับกันหลายส่วนของญี่ปุ่นทั้งในเมืองในชนบท ย่านพักอาศัยในเขตชานเมือง และอาจกำลังขยายตัวเข้าสู่เขตเมือง คือญี่ปุ่นกำลังมีบ้านมากกว่าผู้คน บ้านบางส่วนก็มีผู้ถือครองแต่จำต้องปล่อยให้รกร้างเพราะไม่มีผู้เช่า และไม่สามารถขายต่อไปได้

Akiya หรือบ้านผีสิง อันหมายถึงทรัพย์สินที่ถูกปล่อยให้รกร้างเป็นคำเรียกปรากฏการณ์และวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ระลอกใหม่อย่างลำลอง แน่นอนว่าสาเหตุสำคัญคือสัญญาณการมาของสังคมสูงอายุ การลดลงของอัตราการเกิด รวมไปถึงเงื่อนไขรายล้อมอื่นๆ เช่น ลักษณะการสร้างและใช้งานบ้านของญี่ปุ่นที่เน้นความคงทนที่ 30 ปี ไม่ค่อยมีการรื้อสร้างใหม่ ศักยภาพในการซื้อที่ลดลง กฏหมายที่เกี่ยวข้อง เช่นภาษีการถือครองบ้านหลังที่สองที่ล้วนเร่งให้บ้านและการถือครองบ้านค่อยๆ ลดลง

มีรายงานในปี 2018 ว่าบ้านทิ้งร้างไร้เจ้าของหรือ Akiya มีสัดส่วนสูงถึง 13.6% ของอสังหริมทรัพย์ทั้งหมดทั่วญี่ปุ่น และแน่นอนว่าทิศทางนั้นกำลังเป็นไปทางแย่ลง เงื่อนไขของบ้านและเมืองที่ค่อยๆ ร้างขึ้นก็สัมพันธ์ทั้งกับตัวพื้นที่ ในเขตชนบทเองก็มีแนวโน้มหรือเต็มไปด้วยบ้านรกร้างอยู่แล้ว หลายพื้นที่กลายเป็นว่าบ้านและที่ดินนั้นเป็นสิ่งที่ไม่คุ้มค่าที่จะครอบครอง ปัจจุบันแม้ในย่านชานเมืองที่อยู่ใกล้ๆ กรุงโตเกียวเองก็กำลังเผชิญภาวะย่านร้างอยู่ด้วย

New York Time รายงานถึงตัวเลขอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้งานในญี่ปุ่นว่ามีตัวเลขสูงถึง 8 ล้านอสังหาริมทรัพย์ และเกินครึ่งในแปดล้านนั้นที่เป็นที่ที่ถูกทิ้งโดยสมบูรณ์ คือไม่มีการปล่อยเช่าหรือทำประโยชน์ใดใด โดยทาง New York Time ได้พูดถึงย่าน Yokosuka ย่านชานเมืองสำคัญใกล้กับกรงโตเกียวที่กำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงจากปัญหาบ้านผีสิงนี้

 

tochikatsu-iroha.com

 

Yokosuka จากรุ่งเรืองถึงร่วงโรย

การเติบโตของเมืองสัมพันธ์กับความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นโดดเข้าสู่ความทันสมัย หนึ่งในอุตสาหกรรมที่เติบโตที่สุดของญี่ปุ่นอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ โตเกียวเติบโตและกลายเป็นเมืองชั้นแนวหน้า ย่านโยโกะซูกะ (Yokosuka) เองก็เป็นหนึ่งย่านชานเมือง และนับเป็นเมืองใหม่ที่เฟื่องฟูขึ้นในยุคหลังสงครามโลก

ตัวเมืองโยโกซูกะอยู่ห่างจากโตเกียวประมาณหนึ่งชั่วโมง ใกล้ๆ เป็นเขตโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งยังใกล้อ่าวอันเป็นพื้นที่ทางการทหาร ดังนั้นในยุคหลังสงคราม ที่ดินของโยโกซูกะจึงค่อนข้างมีราคาแพง แต่ด้วยความที่เป็นทำเลสำคัญผู้คนก็ยังคงหลั่งไหลเข้ามา และพากันสร้างบ้านขนาดเล็กขึ้นจำนวนมาก

แน่นอนว่าด้วยเงื่อนไขที่เปลี่ยนไปจากหลังช่วง 1950 ประมาณชั่วอายุคนถัดมา เมืองโยโกสซูกะก็เลยกลายเป็นแนวหน้าของปัญหาบ้านร้างของญี่ปุ่น จากบ้านขนาดเล็กชานเมืองโตเกียว ใกล้กับโรงงาน หรือใกล้กับท่าเรือที่สัมพันธ์กับการค้าขายในที่สุด เงื่อนไขความเฟื่องฟูทั้งหมดก็หายวับไป ลูกหลานรุ่นต่อมาไม่ต้องการบ้านเดี่ยวและเลือกเข้าไปใช้ชีวิตบนตึกสูงในเมือง และอุตสาหกรรมแบบเดิมและการขนส่งทางทะเลก็ค่อยลดความสำคัญลง

ทาง New York Time รานงานเสียงจากผู้อยู่อาศัยของโยโกะซูกะว่า ปัจจุบันตัวเมืองเต็มไปด้วยบ้านร้างที่เมืองและย่านนั้นเป็นเช่นนี้มาร่วม 20 ปีแล้ว ปัจจุบันที่ผู้อยู่อาศัยเดิมกำลังเผชิญคือประเด็นเรื่องความปลอดภัย พอบ้านร้างเยอะก็เกิดปัญหาโจรผู้ร้าย และแน่นอนว่าส่งผลกับความรู้สึกของผู้คนที่ต้องอยู่ในดินแดนที่เต็มไปด้วยบ้านที่ควรจะอบอุ่นแต่กลับว่างเปล่า

แน่นอนว่าภาระของบ้านร้านไม่ได้ก่อปัญหาแค่กับผู้คน ปัญหาสำคัญเช่นบ้านร้างนั้นในที่สุดกลายเป็นภาระทางกายภาพของผู้อยู่อาศัยอื่นๆ และรัฐ บ้านร้างที่ส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ในที่สุดมีความเสี่ยงที่จะพังทลายจากพายุและแผ่นดินไหว ที่บ้านที่ไร้ซึ่งการบำรุงรักษาเหล่านี้ก็จะส่งผลกระทบตกอยู่สาธารณะชนต่อไป

 

estate-research.com

แม้จะร้างแต่ก็จัดการยาก

ถึงแม้ว่าบ้านร้างและการขยายตัวของบ้านร้างที่กำลังค่อยๆ แผ่ขยายเป็นเหมือนจุดเล็กๆ ของเมืองใหญ่เป็นปัญหาที่ต้องจัดการ แต่แน่นอนว่าด้วยปัญหาเช่นความขัดแย้งทางกฏหมายและเงื่อนไขของสังคมที่เปลี่ยนไปนั้นทำให้รัฐเข้าจัดการบ้านร้างเหล่านี้ได้ยาก เมืองเช่นโยโกซุกะเองก็พยายามหาทางแก้ไข หรือในระดับรัฐก็ค่อนข้างต้องใช้มาตรการเชิงรุก กระทั่งมีการออกกฏหมายเพื่อเข้าจัดการ รื้อทำลายบ้านร้างเหล่านั้นและจัดการดูแลการใช้พื้นที่กันต่อไป

ที่เมืองโยโกซุกะเองก็พยายามจัดการซึ่งก็ไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่เช่นการจัดทำตลาดบ้านว่างในเมือง ที่แม้ว่าราคาบ้านในเมืองจะลดลงต่ำกว่า 70% จากยุครุ่งเรืองแล้ว มีบ้านแค่หลังเดียวที่ขายได้ และบ้านพร้อมสวนเล็กๆ ขายออกไปในราคาไม่ถึงเจ็ดแสนเยนหรือไม่ถึงสองแสนบาทไทย หลายเมืองใกล้เคียงก็แก้ปัญหาเมืองร้างและลงทุนมากกว่านั้น เช่นมีการเชิญชวนคนกลุ่มใหม่ๆ ให้เข้าไปอยู่ มีการเสนอเงินสดให้คนที่ซื้อบ้าน ซึ่งก็มีไม่มากที่เหล่าฟรีแลนซ์และศิลปินอิสระจะตามไปจากโครงการดังกล่าว

หนึ่งในโปรเจคที่น่าสนใจคือโครงการ Echigo-Tsumari Art Field โครงที่ศิลปินนำเอาอาคารร้างในย่านแถบตะวันตกเฉียงเหนือของโตเกียว แล้วสร้างเป็นงานศิลปะจัดแสดงแบบชั่วคราว ตัวงานก็ค่อนข้างเอาเรื่องคือศิลปินจะชวนให้คนไปนอนค้างในตึกร้างนั้น โดยในห้องจะมีที่ให้นอน บรรยากาศภายในห้องจะใช้แสงและการนอนที่เหมือนว่าผู้ชมจะได้หลุดเข้าไปในฝันที่ชัดเจน เป็นภาพฝันของบ้านในฝัน บ้านในฝันที่ย่าน ที่บ้านร้างๆ เหล่านี้เคยบรรจุฝันและอาจกลายเป็นบ้านในฝันใหม่ต่อไปได้

สำหรับโปรเจคนี้เจ้าของโปรเจคบอกว่าความสำคัญหนึ่งคือการรักษาโครงสร้างและสิ่งที่เป็นกายภาพของบ้านเรือนเอาไว้ให้อยู่ในลักษณะที่ดี ซึ่งในแง่ของการจัดการ ในหลายเมืองและหลายพื้นที่ทางภาครัฐเองก็กำลังกังวลและลงมือไปจัดการไม่ให้บ้านร้างที่หาเจ้าของและหาการพัฒนาไม่ได้เหล่านี้ อย่างน้อยก็ต้องทำการรื้อเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับเมืองต่อไป

 

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ Yokosuka ghost house
japantoday.com

 

กรณีบ้านผีสิงของญี่ปุ่นเป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก นอกจากญี่ปุ่นแล้วเมืองเล็กๆ และเมืองรอบนอกรวมถึงย่านพักอาศัยในหลายแห่งจากทั่วโลกก็มีรายงานในทำนองเดียวกันทั้งในยุโรปและเอเชีย หลายเมืองกลายเป็นเมืองทิ้งร้าง มีสรรพสัตว์และพืชพรรณขึ้นปกคลุม การหดตัวของประชากรและเทรนของโลกใหม่กำลังเข้าปะทะกับหน้าตาและความรู้สึกของเมืองอย่างจริงจัง

มองกลับมาที่ประเทศไทย มีการประเมินจากหลายทางที่บอกว่าเราเองก็กำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมพยากรณ์ว่าในปี 20 ปีข้างหน้า หรือก่อนปี 2583 ประเทศไทยจะมีประชากรสูงวัย 20 ล้านคน โดย 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรของเราจะเป็นผู้สูงอายุ

เมื่อคนลดลงและบ้านว่างขึ้น ปัญหาที่หลายประเทศกำลังเผชิญและค่อนข้างแก้ยังไม่ตก อาจกำลังคืบคลานเข้าสู่ย่านของเรา เข้าสู่บ้านข้างๆ และบ้านถัดไปที่อาจค่อยๆ ว่างร้างลงทีละหลัง

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

theguardian.com

nytimes.com

taipeitimes.com

bbc.com

reuters.com

asia.nikkei.com

isranews.org

 

Illustration by Montree Sommut
Share :