CITY CRACKER

ทำไมการพัฒนาพื้นที่สาธารณะจึงล้มเหลว

พื้นที่สาธารณะคุยกันมาก็หลายครั้ง แต่ทำไมเรายังขับเคลื่อนหรือแก้ปัญหาไม่ได้สักที อะไรคือต้นตอของปัญหา และอะไรคือแนวทางการแก้ไข (solution) ที่อาจเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ ให้พื้นที่สาธารณะเป็นกลไกต่อการขับเคลื่อนเมืองแห่งอนาคต 

วันเสาร์ที่ 19 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา City Cracker ได้จัดงานเสวนา ‘Open to Future’ ภายใต้หัวข้อ ‘Future Public Space’ ขึ้น และได้เชิญนักพัฒนาเมืองและพื้นที่สารณะในเมือง อาทิ นำชัย แสนสุภา นายกสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย (TALA) ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) ศรัณย์ ไม้ประเสริฐ ทีมงาน we!park รศ. ดร. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และผู้ก่อตั้งกลุ่ม Better Bangkok และอรยา สูตะบุตร ผู้ร่วมก่อตั้ง BIG Trees มานั่งคุย พร้อมแลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องการพัฒนาเมืองผ่านพื้นที่สาธารณะ และคาดการณ์อนาคตของพื้นที่สาธารณะที่จะเกิดขึ้นต่อไป

จากงานเสวนาครั้งนี้ที่ได้ชวนนักพัฒนาเมืองพูดคุยถึงปัญหาการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ ไปจนถึงคุยเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น สามารถสรุปประเด็นของหัวข้อ ‘Future Public Space’ ได้เป็น 2 ประเด็นคือปัญหาที่ทำให้เมืองอย่างกรุงเทพฯ ขาดแคลนพื้นที่สาธารณะ และแนวทางการแก้ไขเพื่อพัฒนาให้เมืองมีพื้นที่สาธารณะ กระทั่งนำเมืองนี้ไปสู่อนาคตที่ดีและให้ผู้อาศัยในเมืองได้มีความเป็นอยู่ที่ดีไปพร้อมๆ กัน 

 

Choduk Community Pocket Park

 

10 ปัญหาที่บอกว่าทำไมการพัฒนาพื้นที่สาธารณะให้คนเมืองถึงไม่สำเร็จเสียที

 

1. Mindset ดูจะเป็นต้นตอของปัญหาทั้งผู้กำหนดนโยบายและสังคม ที่มองว่าพื้นที่สาธารณะนั้นมีก็ได้ ไม่มีก็ได้ จะลงทุนไปทำไม เป็นบริการสาธารณะที่เป็นหน้าที่รัฐฝ่ายเดียวและมันคือพื้นที่ไว้ออกกำลังกายเท่านั้น กับดักความคิดนี้เองอาจเป็นตัวปิดกั้นไม่ให้เกิดการพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่ตอบโจทย์คนและยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะแท้จริงแล้วพื้นที่สาธารณะเป็นได้มากกว่านั้น ทั้งพื้นที่อาหาร พื้นที่นิเวศ พื้นที่สุขภาวะ พื้นที่รับภัยพิบัติ ดึงดูดนักท่องเที่ยว และพื้นที่สร้างโอกาส

2. ขาดการให้คุณค่าและมูลค่า เมื่อที่ดินที่เป็นพื้นที่ที่ควรทำเป็นพื้นที่สาธารณะถูกกลไกตลาดครอบให้เราให้มูลค่ากับการใช้เพื่อการปลูกสร้าง และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อทำรายได้ จึงไม่เหลือช่องว่างของการพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่แท้จริงแล้ว ซึ่งจริงๆ แล้วมีคุณค่าที่สามารถแปลงเป็นมูลค่าได้ คุณค่าต่อระบบนิเวศ ต่อการสร้างเสริมสุขภาพ ต่อการกักเก็บน้ำ ต่อการลดอูณหภูมิ จนถึงกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเมืองที่มีพื้นที่สีเขียว หรือพื้นที่สาธารณะที่ดีนั้น ได้พิสูจน์แล้วว่าพื้นที่เหล่านี้สร้างมูลค่าให้กับเมือง ซึ่งมีการประเมินกันว่า ราคาที่ดินริมพื้นที่สวนสาธารณะนั้นจะเพิ่มขึ้นราว 20% เมื่อเราไม่วัดค่า-ไม่ให้ค่ากับพื้นที่สาธารณะใครที่ไหนจะลงทุนทั้งรัฐและเอกชน

3. ขาดกฎหมาย ในที่นี้คือขาดกฎหมายที่จะกำกับดูแลพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะเพื่อให้ได้รับการปกป้องดูแลและสร้างอย่างมีคุณภาพ ผ่านการใช้ความรู้ นักออกแบบ และผู้เชี่ยวชาญ เราจึงเห็นการตัดต้นไม้ ทำลายพื้นที่สีเขียว ใช้เงินผิดประเภท หรือการออกแบบที่ขาดคุณภาพอยู่ทั่วไป

4. ขาดการพัฒนาเส้นเลือดฝอย เราลงทุนกับการพัฒนาสวนสาธารณะขนาดใหญ่ แต่ละเลยการพัฒนาสวนขนาดเล็ก ตลอดจนตรอกซอกซอยที่อยู่ใกล้ชิดกับชุมชนที่จะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ทำให้ผู้คนจำนวนมากขาดการเข้าถึง และไม่ได้ประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะอย่างแท้จริง

 

ซอกซอยชุมชนแออัดที่เป็นพื้นที่สาธารณะ

 

ซอกซอยชุมชนแออัดที่เป็นพื้นที่สาธารณะ

 

5. ขาดความเข้าใจในอุปสงค์ เราพัฒนาสวนสาธารณะเพื่อเติมสีเขียวให้กับเมือง แต่เราได้ถามและคิดนอกกรอบไหมว่า สวนตลอดจนพื้นที่สาธารณะที่รัฐลงทุนนั้น แท้จริงชุมชนต้องการใช้ทำอะไร

6. ขาดการมีส่วนร่วมในการกำหนดการใช้งบประมาณ เมื่ออำนาจรวมศูนย์ รัฐตัดสินใจแทนประชาชน เราจึงขาดการมีส่วนร่วม หรือหากเราสามารถมีอำนาจที่ร่วมตัดสินใจได้ว่าเงินภาษีเราจะไปทำอะไร พื้นที่สาธารณะอาจจะได้รับการดูแล และได้พลังในการขับเคลื่อนอีกมากจากพลเมือง

7. ขาดการแบ่งปันทรัพยากร เรามีที่ดิน ตลอดจนองค์ความรู้ ทรัพยากรมากมายที่อยู่ทั้งกับรัฐ เอกชน และประชาชน แต่เราไม่สามารถเชื่อมโยงทรัพยากรนั้นสู่การร่วมสร้างพื้นที่สาธารณะได้

8. ขาดเป้าหมายร่วม เมื่อแต่ละหน่วยงาน ในสังคมยังไม่มีเป้าหมายที่ชัดร่วมกัน ว่าเราจะพัฒนาพื้นที่สาธารณะไปเพื่ออะไร หรือพัฒนาอย่างไรกับอนาคต เราจึงขาดพลัง มีเป้าหมายไปคนละทิศละทางเพราะต่างคนต่างทำ

9. ขาดการใช้ผู้เชี่ยวชาญ เรามีนักออกแบบ เรามีองค์ความรู้มากมาย แต่ด้วยระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐที่เหมือนจะยุ่งยาก ทำให้เราไม่สามารถนำความรู้ความสามารถนั้นมาขับเคลื่อนหรือสร้างทางเลือก เพื่อให้สังคมได้งานที่ดีมีคุณภาพได้

10. ขาดกลไกรัฐที่มีประสิทธิภาพ ด้วยระเบียบ ขั้นตอนที่ยุ่งยาก ทำให้รัฐไม่สามารถเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่ทันยุคสมัย ด้วยการใช้นโยบายหรือเครื่องมือต่างๆ ที่รัฐมี

 

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

10 แนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพื้นที่สาธารณะของคนเมือง

แล้วอะไรคือแนวทางการแก้ไข (solution) ที่จะทำให้การขับเคลื่อนต่อจากนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

1. กลยุทธ์ (Strategy) เราต้องชัดในเป้าหมาย และกลยุทธ์ที่ต้องมองให้การพัฒนาพื้นที่สาธารณะเป็นกลไกต่อการพัฒนาเมือง ที่ไม่ใช่แค่บริการ (service) อย่างที่ผ่านมา แต่เป็นการมองยุทธศาสตร์เชิงรุกต่อการทำไประโยชน์ทั้งต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

2. การทำงานร่วมกัน (Synergy) เราต้องผสานความร่วมมือกับกับหลายภาคส่วน เพื่อดึงความรู้ความสามารถที่รัฐไม่มีในการร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องพื้นที่สาธารณะ

3. ชุมชน (Community) ชุมชนต้องเข้มแข็งและเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเพื่อเป็นหลักประกันได้ว่าการพัฒนานั้นจะตอบโจทย์และยั่งยืน

4. การใช้เครื่องมือทางภาษี Negative Land Tax เราควรเอาภาษีที่ดินที่จัดเก็บมาตั้งเป็นกองทุนเพื่อใช้สนับสนุนคืนกลับให้กับคนที่จะพัฒนาพื้นที่สาธารณะดีๆ หรือพื้นที่สีเขียวให้สังคม รัฐต้องให้มูลค่ากับพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่สีเขียวนั้น ให้ตลาดเห็นประโยชน์เพื่อสร้างกลไกทางตลาด -ที่การสร้างพื้นที่เหล่านั้นสร้างมูลค่าได้เช่นกัน

 

สวนครูองุ่น: อดีตพื้นที่ว่างกลางทองหล่อที่เปลี่ยนมาเป็นพื้นที่สาธารณะ

 

5. เปลี่ยนแนวคิดที่ว่าพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่สีเขียวคือการให้เปล่าเป็นการลงทุน เราต้องมองพื้นที่ว่างเป็นสินทรัพย์ที่สามารถลงทุนและสร้างรายได้คืนกลับให้รัฐหรือเอกชนได้ กระทั่งสร้างมูลค่าให้กับย่านและเมืองในระยะยาว เช่นการทำสวนเหนือที่จอดรถเก็บเงินไว้ใช้จ่ายดูแล อีกทั้งสามารถมีร้านค้าหารายได้ในสัดส่วนที่เหมาะสม

 

พื้นที่สาธารณะกับการสร้างคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจ

 

6. การรวมกลุ่มที่มีประสิทธิภาพ ทำให้การรวมกลุ่มเพื่อเสนอ หรือทำพื้นที่สาธารณะนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายไม่ยุ่งยาก ด้วยการสนับสนุนทุน ตลอดจนทรัพยากรจากภาครัฐ

7. บูรณาการการใช้ที่ดินของเมือง เอาสถานที่ราชการ หรือหน่วยงานที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในเมืองออกไป เพื่อแบ่งปันพื้นที่ต่อการเป็นพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียว ตลอดจนการเปิดรั้วให้เกิดการแบ่งปันพื้นที่ (share space) ให้ใช้ได้ตามช่วงเวลา

8. บูรณาการหน่วยงาน คือหน่วยงานต่างๆ ต้องมีเจ้าภาพและอำนาจที่ชัดเจน

9. กระบวนการมีส่วนร่วม สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมทั้งในการออกความเห็น กำหนดการใช้งบประมาณ และร่วมบริหารจัดการพื้นที่ นอกจากจะได้พื้นที่ที่ตอบโจทย์ ยังได้ความเป็นสังคม และถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ท้องถิ่นด้วย

10. สร้างกลไกผสานความร่วมมือ ในลักษณะแพลตฟอร์มที่ไม่จำเป็นต้องรอ top down แต่คล่องตัวมีอิสระในการเชื่อมโยงทรัพยากรจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะ

 

Choduk Community Pocket Park

 

ไม่มียุคสมัยไหนที่โลกมีความท้าทายเช่นในวันนี้ ทั้งจากปัญหาภาวะโลกร้อน โรคระบาด เศรษฐกิจและสังคม มันจึงถึงเวลาที่เราต้อง ‘เขย่า’ ความคิดให้ พื้นที่สาธารณะเป็นกลยุทธ์สำคัญ ที่จะปรับเมืองให้ตอบรับกับความท้าทายเหล่านั้น ซึ่งมันต้อง ‘ขยับ’ ร่วมกันอย่าง มีการทำงานร่วมกัน (synergy) ให้เห็นว่า พื้นที่สาธารณะไม่ใช่สิ่งสวยงาม หรือบริการ (service) ที่มีหรือไม่ก็ได้ แต่คือโครงสร้างพื้นฐานที่ ‘จำเป็น’ ต่อเมือง มันมีคุณค่า มันสร้างมูลค่าได้ ที่สำคัญเราต้อง ‘ลงทุน’ กับมันเพื่อสร้างโอกาสให้กับเราทุกคน เพราะถ้าเราไม่ลงทุนในวันนี้ เวลาจะทำให้เราเสียโอกาสที่เราจะอยู่รอ ดและอยู่ร่วมกับอนาคตได้อย่างยั่งยืน

เพื่อให้สิ่งนี้ ‘เขยื้อน’ ได้อย่างตีอเนื่อง ไม่เป็นแค่การสร้างตัวอย่างโครงการดีๆ แล้วจบไป เราต้องสร้าง Eco System หรือระบบนิเวศน์ของการทำพื้นที่สาธารณะให้เกิดขึ้น ตั้งแต่สร้างนโยบาย กลไกอุปสงค์และอุปทาน ธุรกิจ บุคลากร ตลอดจนระบบคุณค่าในสังคมให้ไปในทิศทางเดียวกัน เกื้อกูล และสร้างประโยชน์ต่อกันอย่างมีพลัง

 

ย้อนฟัง ‘Future Public Space’ ได้ที่ https://www.facebook.com/CityCracker/videos/198374745515181/

 

Illustration by Supatsorn Boontumma
  • Yossapon Boonsom

    ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker

Share :